มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ควรทราบก่อน

๑. พจนานุกรมนี้ เหมาะแก่ครูและนักเรียนนักธรรม มากกว่าผู้อื่น
ความหมายและคำอธิบายหลายแห่งเขียนอย่างคนรู้กัน คือ ผู้มีพื้นความรู้อยู่บ้างแล้ว จึงจะเข้าใจชัดเจนและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ว่าโดยส่วนใหญ่ คนทั่วไปที่สนใจทางพระศาสนา ก็ใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
๒. ศัพท์ที่อธิบาย มุ่งวิชาธรรม พุทธประวัติ และวินัย เป็นใหญ่
ศัพท์ที่ควรอธิบายในวิชาทั้งสามนี้ พยายามให้ครบถ้วน เท่าที่มีในแบบเรียน
นักธรรมทั้งชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก แม้ว่าในการจัดทำที่เร่งด่วนยิ่งนี้ ย่อมมีคำตกหล่นหรือแทรกไม่ทันอยู่บ้างเป็นธรรมดา; อย่างไรก็
ตาม ศัพท์เกี่ยวกับศาสนพิธีบางอย่าง และเรื่องที่คนทั่วไป และนักศึกษาอื่น ๆ ควรรู้ ก็ได้เพิ่มเข้ามาอีกมิใช่น้อย เช่น กรวดน้ำ ผ้าป่า สังฆทาน อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร อาราธนาธรรม วิสุทธิมรรค จักกวัตติ
สูตร เป็นต้น
๓. ลำดับศัพท์ เรียงอย่างพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เว้นต้นศัพท์มี -ะ
คำที่เป็นต้นศัพท์ หรือแม่ศัพท์ แม้มีประวิสรรชนีย์ ก็เรียงไว้ก่อนคำที่อาศัยต้นศัพท์นั้น เช่น เถระ เรียง
ไว้ก่อน เถรวาท, เทวะ เรียงไว้ก่อน เทวดา เทวทูต เป็นต้น
๔. การสะกดการันต์ มีปะปนกันหลายอย่าง ให้ถือว่าใช้ได้ทั้งหมด
ศัพท์ส่วนมาก เก็บจากแบบเรียนนักธรรม ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อศตวรรษล่วงแล้วแทบทั้งสิ้น คือ ก่อนมีพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นเวลานาน แบบเรียนเหล่านั้น แม้เขียนคำศัพท์เดียวกันก็สะกดการันต์ไม่
เหมือนกัน แต่ก็ถือว่าถูกต้องด้วยกัน ยิ่งกว่านั้น พจนานุกรมฉบับ
ราชบัณฑิตยสถานยังเปิดโอกาสสำหรับคำที่เป็นธรรมบัญญัติให้เขียน
เต็มรูปตามภาษาเดิมได้ด้วย ดังนั้น จึงไม่พึงถือการสะกด
การันต์ไม่คงที่ในหนังสือนี้ ว่าเป็นข้อผิดพลาด ตัวอย่างคำเขียนหลายแบบ เช่น กรรมฐาน กัมมัฏฐาน, อริยสัจจ์, อริยสัจ, นิคคหะ, นิคหะ, ญัติกรรม ญัตติกรรม ญัตติกัมม์, บริเฉท ปริเฉท, ธรรมวิจัย ธัมมวิจยะ, จุลลวรรค จุลวรรค จุลลวัคค์ เป็นต้น
ในกรณีที่เขียนศัพท์รูปแปลก และควรทราบว่าพจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถานเขียนอย่างไรได้เขียนกำกับไว้ด้วยว่า พจนานุกรม เขียนอย่างนั้น ๆ คำว่า พจนานุกรม ในที่นี้ พึงทราบว่า หมายถึงพจนา-
นุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๕
๕. คำที่พิมพ์ตัว เอน มีคำอธิบายในลำดับอักษรของคำนั้น
ถ้าพบคำศัพท์ที่ยังไม่เข้าใจ อยู่ในคำอธิบายของคำอื่น พึงค้นหาความหมายของคำนั้นที่ลำดับอักษรของมัน
โดยเฉพาะคำที่พิมพ์ตัว เอน; แม้คำที่ไม่พิมพ์ตัวเอน โดยเฉพาะคำบอกข้อในหมวดธรรมภายในวงเล็บท้าย
คำอธิบายของศัพท์ต่าง ๆ เช่น ที่คำ “ทมะ” ข้างท้ายมี (ข้อ ๒ ในฆราวาสธรรม ๔) เป็นต้น พึงทราบว่า คำเหล่านั้นก็มีคำอธิบายอยู่ในลำดับ
อักษรของตน ๆ
๖. พจนานุกรมนี้ เป็นกึ่งสารานุกรม แต่ให้มีลักษณะทางวิชาการเพียงเล็กน้อย
คำอธิบายของคำจำนวนมากในหนังสือนี้ มิใช่แสดงเพียง
ความหมายของศัพท์หรือถ้อยคำเท่านั้น ยังให้ความรู้อันพึง
ทราบเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อีกด้วย เช่น จำนวน ข้อย่อย ประวัติย่อ สถานที่และเหตุการณ์แวดล้อม เป็นต้น เข้าลักษณะสารานุกรม แต่ก็คงชื่อเป็นพจนานุกรมตามความตั้งใจเมื่อเริ่มทำ และเป็นการ
จำกัดขอบเขตไว้ ให้หนังสือนี้ยังแตกต่างจากสารานุกรมพุทธศาสตร์
ที่กำลังจัดทำค้างอยู่; เพื่อทราบว่าพจนานุกรมนี้มีลักษณะและขอบเขตอย่างไร พึงค้นดูศัพท์ต่าง ๆ เช่น กรวดน้ำ จำพรรษา กาลามสูตร กาลิก
สารีบุตร พุทธกิจ นาลันทา สันโดษ ชีวก ไตรปิฎก สังคายนา ผ้าป่า ราหุล วรรค สังเวช สังฆราช
เป็นต้น
อนึ่ง หนังสือนี้เกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์จำเพาะหน้า เรียกได้ว่าเป็นงานฉุกเฉินนอกเหนือไปจากโครงการที่มีอยู่เดิม แม้ว่าจะอิงสารานุกรมพุทธศาสน์ฉบับกลาง ที่กำลังจัดทำค้างอยู่ก็จริง แต่เพราะเป็นงานผุดขึ้นกลางคัน จึงไม่ได้คิดวางรูปวางแนวหรือวางแผน
การจัดทำไว้ให้ชัดเจน เนื้อหาจึงมีความลักลั่นกันอยู่บ้าง เช่น คำศัพท์ประเภทเดียวกัน บางคำอยู่ต้นเล่มอธิบายสั้น บางคำอยู่ตอนปลายเล่มอธิบายยาวกว่า ดังนี้เป็นต้น และเมื่อแรกทำ คิดเพียงแค่ว่าให้สำเร็จประโยชน์เป็นอุปกรณ์การศึกษาเบื้องต้นและให้มีขนาดไม่
หนานัก (กะไว้ประมาณ ๒๕๐ หน้า) เพราะเวลาพิมพ์กระชั้นและกำลังทุนจำกัด จึงคิดจำกัดไม่ให้หนังสือมีลักษณะทางวิชาการมากนัก เช่น คำอธิบายศัพท์ให้มีเพียงเท่าที่ควรรู้โดยตรง ไม่มีขยายความเชิงวิชาการและ
ยังไม่บอกที่มาสำหรับผู้ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม แม้ว่าบัดนี้ หนังสือนี้จะเป็นงานที่บานปลายออกไป แต่โดยทั่วไปยังรักษา
ลักษณะจำกัดทางวิชาการทั้งสองข้อนี้ไว้ได้ โดยเฉพาะที่มาไม่ได้บอกไว้เลย ซึ่งความจริงเมื่องานบานปลายออกแล้วเช่นนี้ จะเลือกบอกไว้บ้าง ก็คงเป็นการดี (ได้ตกลงใจว่า ถ้ามีการพิมพ์ครั้งใหม่ จะเลือกบอกที่มาบางอย่างเท่าที่จำเป็น แต่ก็จะจำกัดขอบเขตไม่ให้เป็นเหมือนสารานุกรมพุทธศาสน์ฉบับกลาง
ซึ่งจะมีเนื้อหามากกว่าพจนานุกรมนี้ประมาณ ๑๐ เท่า มีความหมายภาษาอังกฤษ และมีที่มาสำหรับค้นคว้าอ้างอิง)