ศีลวัตร, ศีลพรต - ศีล ๑๐

ศีลวัตร, ศีลพรต ศีลและวัตร, ศีลและพรต, ข้อที่จะต้องสำรวมระวังไม่ล่วงละเมิด ชื่อว่า ศีล ข้อที่พึงถือปฏิบัติชื่อว่า
วัตร, หลักความประพฤติทั่วไปอันจะต้องรักษาเสมอกัน ชื่อว่า ศีล ข้อปฏิบัติพิเศษเพื่อฝึกฝนตนให้ยิ่งขึ้นไป ชื่อว่าวัตร

ศีลวิบัติ ดู สีลวิบัติ

ศีล ๕ สำหรับทุกคน คือ ๑. เว้นจากทำลายชีวิต ๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้ ๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
๔. เว้นจากพูดเท็จ ๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท; คำสมาทานว่า ๑. ปาณาติปาตา
เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ๒. อทินฺนาทานา ๓. กาเมสุมิจฺฉาจารา ๔. มุสาวาทา ๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา (คำ
ต่อท้ายเหมือนข้อ ๑); ดู อาราธนาศีล ด้วย

ศีล ๘ สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ
หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ ๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วม
ประเวณี ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่น
อันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ๘. เว้นจาก
ที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่างจากศีล ๕) ว่า ๓. อพฺรหฺมจริยา ๖. วิกาลโภชนา ๗. นจฺจ-
คีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา ๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา (คำต่อท้ายเหมือนข้อ ๑
ในศีล ๕); ดู อาราธนาศีล ด้วย

ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้ หัวข้อเหมือนศีล ๘ แต่แยกข้อ ๗ เป็น ๒ ข้อ (= ๗-๘) เลื่อนข้อ ๘
เป็น ๙ และเติมข้อ ๑๐ คือ ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ฯลฯ ๘. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ฯลฯ ๙. เว้นจากที่นอนอัน
สูงใหญ่ ฯลฯ ๑๐ เว้นจากการับทองและเงิน; คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่าง) ว่า ๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา ๘. มาลาค-
นฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา ๙. อุจฺจาสยนมหาสยนา ๑๐. ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา (คำต่อท้าย เวรมณี สิกฺขาปทํ
สมาทิยามิ เหมือนกันทุกข้อ); ดู อาราธนาศีล ด้วย