ตจะ - ตถาคต

ตจะ หนัง

ตจปัญจกกัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า, กัมมัฏฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็น
อารมณ์ คือ กัมมัฏฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของ
ปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตาม
อำนาจกิเลส พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กัมมัฏฐานเบื้องต้น)

ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุข กับ เอกัคคตา

ตถตา ความเป็นอย่างนั้น, ความเป็นเช่นนั้น,ภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของมันอย่างนั้นเอง คือเป็นไปตามเหตุ
ปัจจัย (มิใช่เป็นไปตามความอ้อนวอนปรารถนา หรือการดลบันดาลของใคร ๆ) เป็นชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกกฎ ปฏิจจสมุป
บาท
หรือ อิทัปปัจจยตา

ตถาคต พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรง เรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความ
หมาย ๘ อย่าง คือ ๑. พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น
เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๒. พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชา
สละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ อย่างไรก็อย่างนั้น ๓. พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ
ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง ๔. พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มัน
เป็น
คือ ตรัสรู้อริยสัจ ๔ หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน ๕. พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่า
ทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลกตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบและพากันแสวง
หา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง ๖. พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จน
เสด็จดับขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น ๗. พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใดทำอย่างนั้น
ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น ๘. พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูง
สุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจเป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหม
เหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสะ