ตักสิลา

ตักสิลา ชื่อนครหลวงแห่งแคว้น คันธาระ ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นแห่งชมพูทวีป ตักสิลามีมาแต่ดึกดำ
บรรพ์ก่อนพุทธกาล เคยรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาต่าง ๆ เป็นสถานที่มี่ชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุคโบราณ เรียกกันว่า
เป็นเมืองมหาวิทยาลัย สันนิษฐานกันว่า บัดนี้ อยู่ในเขตราวัลปินดิ ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถาน
ตักสิลาเป็นราชธานีที่มั่งคั่งรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายศตวรรษ ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๑
มีเรื่องราวเล่าไว้ในชาดกเป็นอันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ตักสิลาเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์
สั่งสอนศิลปวิทยาต่าง ๆ แก่ศิษย์ซึ่งเดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป แต่ในยุคก่อนพุทธกาลชนวรรณะสูง
เท่านั้นจึงมีสิทธิเข้าเรียนได้ บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักสิลา
เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมารภัจ และองคุลิมาล เป็นต้น ต่อมาภายหลัง
พุทธกาล ตักสิลาได้ถูกพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชกษัตริย์กรีกยึดครอง มีหนังสือที่คนชาติกรีกกล่าวถึงขนบธรรม
เนียมประเพณีของเมืองตักสิลา เช่นว่าประชาชนชาวตักสิลา ถ้าเป็นคนยากจนไม่สามารถจะปลูกฝังธิดาให้มีเหย้า
เรือนตามประเพณีได้ ก็นำธิดาไปขายที่ตลาดโดยเป่าสังข์ตีกลองเป็นอาณัติสัญญาณ ประชาชนก็พากันมาล้อมดู ถ้าผู้
ใดชอบใจก็ตกลงราคากันนำไปเป็นภรรยา หญิงที่สามีตายจะต้องเผาตัวตายไปกับสามี
นับแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา ตักสิลาได้เป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนา ซึ่งเจริญขึ้นมา
เคียงข้างศาสนาฮินดู เป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของการศึกษาพระพุทธศาสนา ดังมีซากสถูปเจดีย์ วัดวาอาราม และ
ประติมากรรมแบบศิลปะคันธาระจำนวนมากปรากฏเป็นหลักฐาน
ต่อมาราว พ.ศ. ๙๔๓ หลวงจีนฟาเหียนได้มาสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ยังได้มานมัสการพระสถูปเจดีย์ที่
เมืองตักสิลา แสดงว่าเมืองตักสิลายังคงบริบูรณ์ดีอยู่ แต่ต่อมาราว พ.ศ. ๑๐๕๐ ชนชาติฮั่นยกมาตีอินเดียและได้ทำลาย
พระพุทธศาสนา ทำให้เมืองตักสิลาพินาศสาปสูญไป ครั้นถึง พ.ศ. ๑๑๘๖ หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซัมจั๋ง) มาสืบ
พระพุทธศาสนาในอินเดีย กล่าวว่าเมืองตักสิลาตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม เป็นเพียงเมืองหนึ่งที่ขึ้นอยู่ในแคว้นกัษมี
ระ โบสถ์วิหารสถานศึกษา และปูชนียสถานถูกทำลายหมด จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏเรื่องเมืองตักสิลาอีก ; เขียนเต็ม
ตามบาลีเป็น ตักกสิลา เขียนอย่างสันสกฤตเป็นตักษศิลา อังกฤษเขียน Taxila