แก่นพุทธศาสน์
เรื่อง ความว่าง (ตอนที่ ๑)


พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)
สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)
ในอุปการะของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
๕ มกราคม ๒๕๐๕


ท่านสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย

            การบรรยายในวันนี้จะได้ว่าด้วยเรื่องของ “ความว่าง” ทั้งนี้เป็นความต้องการของท่านผู้อำนวยการการอบรม เนื่องจากการบรรยายครั้งที่แล้วมาได้กล่าวถึงความว่างในฐานะที่เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง แต่โอกาสไม่อำนวยให้กล่าวถึงเรื่องนั้น แต่เรื่องเดียวโดยเฉพาะ เพื่อความเข้าใจที่ทั่วถึง เพราะฉะนั้น เรื่องความว่างจึงคลุมเครืออยู่บางประการ จึงได้มีการบรรยายเฉพาะเรื่อง ความว่างอย่างเดียวในวันนี้

            ท่านทั้งหลายควรจะทราบว่า ความว่าง นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุด ในบรรดาเรื่องของพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะว่า เป็นเรื่องหัวใจอย่างยิ่งของพุทธศาสนา นั่นเอง

            สิ่งที่เรียกกันว่าหัวใจ ก็พอจะมองเห็นหรือเข้าใจกันได้ทุกคนว่า หมายถึงสิ่งที่ลึก ที่ละเอียด สุขุม ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งการเดา หรือความตรึกไปตามความเคยชิน หรือตามกิริยาอาการของคน
ธรรมดา แต่จะเข้าใจได้ก็ด้วยการตั้งอกตั้งใจศึกษา

            คำว่า “ศึกษา” นี้ มีความหมายอย่างยิ่งอยู่ตรงการสังเกตสนใจ สังเกตพิจารณาอยู่เสมอ ทุกคราวที่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับใจ ที่เป็นความทุกข์หรือเป็นความสุขก็ตาม ผู้ที่มีความคุ้นเคยกับการสังเกตในเรื่องทางจิตใจเท่านั้นที่จะเข้าใจธรรมะได้ดี ผู้ที่เพียงแต่อ่านๆ ไม่สามารถจะเข้าใจธรรมะได้ บางทียิ่งไปกว่านั้นก็คือจะเฝือ แต่ถ้าเป็นผู้ที่พยายามสังเกตเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของตัวเอง โดยเอาเรื่องจริงในใจของตัวเองเป็นเกณฑ์อยู่เสมอแล้ว ย่อมไม่มีทางที่จะฟั่นเฝือ จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ และความดับทุกข์ได้ดี และในที่สุดก็จะเข้าใจธรรมะ คือจะไม่อ่านหนังสือก็จะรู้เรื่องดี ลักษณะอย่างนี้เราเรียกว่ามี Spiritual experienceมาก

            คนเราตั้งแต่เกิดมาจนกว่าจะตาย ย่อมเต็มไปด้วยสิ่งๆ นี้ คือการที่ใจของเราได้สัมผัสกันเข้ากับสิ่งแวดล้อมแล้วเกิดผลเป็นอะไรขึ้นมา คราวไหนเป็นอย่างไร และคราวไหนเป็นอย่างไร เพราะว่าเรื่องที่เป็นไปเองนั้น ย่อมมีได้ทั้งฝ่ายที่เป็นทุกข์ และทั้งฝ่ายที่ไม่เป็นทุกข์ คือทำให้ฉลาดขึ้น และมีจิตใจเป็นปกติ เข้มแข็งขึ้น

            เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราคอยสังเกตว่า ความคิดเดินไปในรูปใด มันก่อให้เกิดความว่างจากความทุกข์ อย่างนี้แล้วจะมีความรู้ดีที่สุด และมีความเคยชินในการที่จะรู้สึกหรือเข้าใจ หรือเข้าถึงความว่างจากทุกข์นั้นได้มากขึ้น

            เพราะฉะนั้น จะต้องทำในใจไว้อย่างนี้ จึงจะเข้าใจเรื่องที่เรียกว่าลึก หรือประณีต ละเอียดสุขุมเช่นเรื่องความว่างนี้ได้

            ท่านทั้งหลายควรจะระลึกถึงข้อที่ได้กล่าวในการบรรยายครั้งก่อนว่า พระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นแพทย์ในทางวิญญาณ และแบ่งโรคของคนเราออกเป็นโรคทางฝ่ายร่างกาย จิตใจ และโรคทางฝ่ายวิญญาณ โรคที่เราจะต้องไปโรงพยาบาลตามธรรมดา หรือไปโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาที่ปากคลองสาน เหล่านี้เรียกว่าโรคทางกายทั้งนั้น ส่วนโรคทางวิญญาณนั้น หมายถึงโรคที่ต้องแก้กันด้วยธรรมะ เพราะฉะนั้นจึงมีโรคทางจิต หรือทางวิญญาณ อีกประเภทหนึ่งต่างหากจากโรคทางกาย ข้อความในอรรถกถาเรียกโรคอย่างนี้ว่าโรคทางจิต

            แต่ว่าในภาษไทยเราเอาคำว่า “โรค” นี้มาใช้กับโรคทางกาย เช่น โรคที่จะต้องไปโรงพยาบาลที่ปากคลองสานนั้นเราเรียกกันว่า โรคจิต แต่โรคอย่างนี้ในภาษาบาลีในทางธรรมะ ยังเรียกว่าเป็นโรคทางกายอยู่นั่นเอง การแบ่งโรคเป็นโรคกายกับโรคจิตจึงมีต่างกันกับที่เราแบ่งกันในภาษาไทยเรา

            เพราะฉะนั้น อาตมาจึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะเข้าใจโรค ก็ควรจะแยกเป็นโรคทางกายแท้ๆ คือทาง Physical และโรคทางกายที่ลึกเข้าไปคือทาง Mental ทั้งสองอย่างนี้เอาไว้ทางฝ่ายร่างกาย

            ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ก็คือฝ่าย Spiritual คือโรคที่เกิดจากสติปัญญา ไม่ใช่ที่เกิดแก่ระบบประสาท หรือมันสมอง แต่เกิดแก่ระบบของสติปัญญา ที่จะรู้จะเข้าใจชีวิตหรือโลกตามที่เป็นจริง เพราะฉะนั้นท่านจึงมีความหลง หรืออวิชชา หรือความเข้าใจผิดที่เนื่องมาจากอวิชชานั้น จะมีการกระทำที่ผิดๆ จนต้องเป็นทุกข์ ทั้งที่เราไม่เป็นโรคทาง Physical หรือทาง Mental นี้เป็นความหมายข้อแรกที่ต้องกำหนดไว้เป็นพื้นฐาน

            ที่ว่าเมื่อเรามีโรคทาง Spiritual แล้วเราจะแก้กันด้วยอะไร? ถ้ากล่าวทางธรรมะ ต้องแก้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ความว่าง” นั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า สิ่งที่เรียกว่าความว่าง หรือ สุญญตา ในภาษาบาลีนั้น มันเป็นทั้ง ยาแก้โรค และเป็นทั้งความหายจากโรค เพราะว่าเราไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

            ยาที่จะแก้โรคก็คือความรู้ หรือการปฏิบัติ จนทำให้เกิดความว่าง ทีนี้ถ้าความว่างเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นยาแก้โรคและเมื่อหายจากโรค ก็ไม่มีอะไร นอกจากความว่างจากความทุกข์ หรือจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

            เพราะฉะนั้น คำว่า “ความว่าง” จึงหมายถึงทั้งยาแก้โรคและความหายจากโรค ความว่างมีขอบเขตกว้าง มีความหมายกว้างนั้น หมายถึงความว่างอยู่ในตัวมันเอง คือถ้าว่าเป็นความว่างแล้วต้องเป็นตัวเอง คือตัวมันเอง ไม่มีอะไรมาแตะต้อง ปรุงแต่งแก้ไข หรือทำอะไรกับมันได้ จึงถือว่าเป็นสภาพที่เป็นนิรันดร คือไม่ต้องเกิดในทีแรก แล้วดับไปในที่สุด มันจึงมี “ความมีความเป็น” อยู่อีกชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับความมีของสิ่งอื่นๆ ซึ่งมีการเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่เราก็ไม่มีคำอื่นใช้ เราจึงเรียกว่า ความมี มีสภาพที่เรียกว่า ความว่าง นี้อยู่เป็นนิรันดร

            ถ้าใครเข้าถึงหมายความว่า ถ้าจิตใจของผู้ใดเข้าถึงสิ่งๆ นี้ มันก็จะเป็นยาแก้โรค และเป็นความหายจากโรคขึ้นมาทันที เป็นสภาพที่ว่างนิรันดร คือไม่มีโรคนั่นเอง

            ท่านทั้งหลายลองพยายามคอยจับความหมายของคำว่า “ความว่าง” หรือที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “สุญญตา” นี้ให้ดีๆ ซึ่งอาตมาจะได้กล่าวเป็นลำดับไป

            สิ่งแรกที่สุดขอให้นึกว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่า บรรดาคำที่เป็นตถาคตภาษิต คือคำที่พระตถาคตกล่าวแล้วละก็ ต้องหมายถึงเรื่องความว่าง จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องอื่นเลย นอกนั้นที่ไม่ใช่เรื่องความว่างนั้น เป็นคำกล่าวของคนอื่น ไม่ใช่ของพระตถาคต คือจะเป็นคำกล่าวของสาวกชั้นหลัง ซึ่งนิยมความเยิ่นเย้อ พูดมากเรื่องไป เป็นเรื่องที่ตั้งใจจะแสดงความเฉลียวฉลาดหรือความไพเราะ ส่วนคำที่เป็นตถาคตภาษิตนั้น จะสั้นๆ ลุ่นๆ ระบุตรงไปยังเรื่องของความว่าง ว่างจากความทุกข์และว่างจากกิเลส ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เป็นส่วนสำคัญ

            แต่ถ้าจะกล่าว ยังกล่าวได้อีกมากมายว่า เป็นความว่างจากตัวตน ว่างจากความมีอะไรเป็นตัวตน หรือเป็นของตน เพราะว่าความว่างนี้ มันมีความหมายมากมายมหาศาล จะกล่าวอย่างไรก็ได้ มันมีลักษณะว่างก็จริง แต่ว่ามีอะไรๆ ที่แสดงให้เห็นอยู่ที่นั่นมากมายเหลือที่จะพรรณาได้

            ดังนั้น เราจะมุ่งหมายวินิจฉัยกันแต่เฉพาะ ความว่างจากความทุกข์ และ ว่างจากกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ความว่างจากความรู้สึกว่า มีตัวเรา หรือมีของเราเท่านั้น คำว่า ความว่างในลักษณะที่จะเป็นการปฏิบัตินี้ หมายถึงความว่างอย่างนี้

            ถ้าเราจะถามกันขึ้นว่า มีหลักพระพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอย่างไร? ที่จะเป็นหลักกันจริงๆ เราก็จะพบว่า โดยทั่วๆ ไป พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรารู้จักมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง คือบาลีว่า “สุญญโต โลกํ อเวกขัสสุ โมฆะราชะ สทา สโต” เป็นต้นนั้น คือมีใจความว่า “เธอจงมองดูโลกโดยความเป็นของว่าง มีสติอยู่อย่างนี้ทุกเมื่อ และเมื่อเธอมองเห็นโลกอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ความตายก็จะค้นหาตัวเธอไม่พบ” นี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งมีใจความว่า “ถ้าใครเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่แล้ว ผู้นั้นจะอยู่เหนืออำนาจของความทุกข์ ซึ่งมีความตายเป็นประธาน” หรือเรียกกันในนามของความตาย

            นี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นว้า การที่ทรงกำชับให้ดูโลก เห็นโลกโดยความเป็นของว่างนั้น เป็นสิ่งสูงสุดอยู่แล้ว ถ้าผู้ใดอยากจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความทุกข์ หรือความตายนี้ ก็ให้ดูโลกคือสิ่งทั้งปวงให้ถูกต้องตามที่มันเป็นจริง คือว่างจากความมีตัวเราหรือของเรา

            ทีนี้ พระพุทธภาษิตที่ถัดไป ก็คือแสดงอานิสงส์ว่า “นพพานํ ปรมํ สุญญํ” “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” ซึ่งแปลตามตัวพยัญชนะว่า ที่ว่างอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน และนิพพานคือเครื่องนำมาซึ่งความสุขอย่างยิ่ง นี้ท่านต้องเข้าใจให้ชัดลงไปว่า สิ่งที่เรียกว่า “นิพพาน” ที่แปลว่า ดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้น มีความหมายว่า เป็นความว่างอย่างยิ่ง คือเล็งถึงสิ่งซึ่งเป็นความว่างอย่างยิ่ง

            เพราะฉะนั้น เราจะต้องเข้าใจว่า ว่างที่ไม่ใช่อย่างยิ่งนั้น ก็มีอยู่เหมือนกัน หมายความว่ารู้เรื่องความว่าง เข้าถึงความว่างที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือไม่ถูกต้องเต็มที่ อย่างนี้ยังไม่เป็น ความว่างอย่างยิ่ง เราจะต้องเข้าถึงด้วยสติปัญญาอย่างยิ่ง เต็มที่ จนไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน หรือของตนโดยประการทั้งปวงจริงๆ จึงจะเรียกว่า ปรมํ สุญญํ คือความว่าง หรือของว่างอย่างยิ่ง

            ส่วนที่ว่า ความว่างอย่างยิ่งเป็นนิพพาน หรือเป็นอันเดียวกับ นิพพาน นั้น หมายความว่า ถ้ามันว่าง มันก็คือดับหมดของสิ่งที่ลุกโพลงๆ อยู่ หรือของสิ่งที่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเป็นกระแสเป็นสาย เป็นวงกลม เป็นต้น อยู่ จึงจะเรียกว่าดับอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ว่างอย่างยิ่ง กับ ดับอย่างยิ่ง มันจึงเป็นของอันเดียวกัน

            ที่ว่า นิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง คือถ้าว่างอย่างยิ่งแล้วก็เป็นนิพพาน และเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น ข้อนี้เป็นคำพูดอย่างสมมติ ที่เรียกว่าพูดโดยโวหารสมมติ พูดโดยภาษาชาวบ้านทำนองเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้สนใจ เพราะว่า คนทั่วไปนี้ หลงในความสุข โดยไม่ต้องการสิ่งอื่นเลย จึงต้องบอกว่าเป็นสุข และเป็นสุขอย่างยิ่งด้วย แต่ถ้าว่าโดยที่แท้แล้ว มันยิ่งกว่าสุข มันเหนือไปจากสุข เพราะว่าเป็นความว่าง ไม่ควรที่จะกล่าวว่า สุข หรือ ทุกข์ เลย เพราะอยู่เหนือความสุขและความทุกข์ที่คนธรรมดาเขารู้จักกันอยู่

            ความว่างย่อมอยู่เหนือคำว่า “ความสุข” และ “ความทุกข์” แต่ถ้าพูดอย่างนี้คนก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น จึงพูดว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นคำพูดสมมติตามภาษาชาวบ้าน ไม่พูดว่า ว่างอย่างยิ่ง แต่พูดว่าสุขอย่างยิ่ง ขึ้นมาอีกโวหารหนึ่ง อีกคำหนึ่ง หรืออีกความหมายหนึ่ง

            เมื่อเป็นดังนี้ จะต้องถือเอาความหมายนี้ให้ถูกตรง คือว่าถ้าพูดถึงความสุขจริงๆ กันแล้ว มันต้องไม่ใช่ความสุขอย่างที่คนทั่วไปเขามองเห็น หรือมุ่งหมาย แต่ต้องเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง มีความหมายอีกแบบหนึ่ง คือว่างจากสิ่งที่ปรุงแต่งไหลเวียนเปลี่ยนแปลง อะไรต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น นั่นแหละจึงจะเรียกว่าน่าดูจริงๆ น่าชื่นใจ หรือน่าปรารถนาจริงๆ เพราะว่าถ้ามันยังไหลเวียนเปลี่ยนแปลง คือโยกเยกโคลงเคลงอยู่เสมอ มันจะเป็นความสุขได้อย่างไร

            เพราะฉะนั้นความสุขทางเนื้อหนัง ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ทำนองนี้ มันจึงเป็นมายา และไม่กล่าวว่าเป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้าจะกล่าวก็เป็นความสุขตามความหมายของคนธรรมดาสามัญทั่วไป ไม่ใช่สุขอย่างที่เป็นนิพพาน หรือความว่าง

            เพราะฉะนั้น การที่ได้ยินคำว่า นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง นั้น อย่าเพ่อตะครุบเอาว่ามันตรงกับที่เรามุ่งหมายแล้วก็เลยฝันถึงนิพพาน โดยไม่เข้าใจความหมายว่าเป็น ความว่างอย่างยิ่ง ดังนี้เป็นต้น

            ทีนี้ พระพุทธภาษิตที่แสดงถึงหลักปฏิบัติเกี่ยวกับความว่างนั้น คือพระพุทธภาษิตที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา อาตมากำลังเอ่ยถึงคำว่า “หัวใจของพุทธศาสนา” ฉะนั้นขอให้สนใจสักหน่อย นั่นคือพระพุทธภาษิตที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเราของเรา” ถ้าเป็นบาลีก็ว่า “สัพพเพ ธัมมา นาลํ อภินิเวสายะ” แปลว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” สั้นๆ เท่านี้ ตามตัวหนังสือมีเพียงเท่านี้ แต่ถ้าขยายความในภาษาไทยไปอีกหน่อยก็ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเรา หรือของเรา นี่ฟังดูให้ดีอาจจะเข้าใจได้ในตัวประโยคนั้นเองว่า อันใครๆ (คือไม่ยกเว้นใคร) ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น คือทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นของของเรา เป็นตัวเรา คือยึดมั่นว่า อัตตาเป็นความรู้สึกที่ว่า อหังการ เป็นของเรา ก็คือ เป็น อัตนียา แปลว่า เนื่องด้วยตัวเรา เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า มมังการ

            เพราะฉะนั้น อย่าได้มีอหังการ หรือมมังการ ในสิ่งใดๆ หมด นับตั้งแต่ฝุ่นที่ไม่มีราคาอะไรเลยสักเม็ดหนึ่ง ขึ้นมาจนถึง วัตถุที่มีค่า เช่น เพชร นิล จินดา กระทั่ง กามารมณ์ กระทั่งสิ่งที่สูงไปกว่านั้น คือ ธรรมะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มรรค ผล นิพพาน อะไรก็ตาม ไม่ควรจะถูกยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา นี่คือหัวใจของพระพุทธศาสนา

            เรื่องนี้ก็ได้กล่าวไว้ละเอียดแล้วในการบรรยายในบางที่บางแห่ง หาอ่านดูได้ มันยืดยาวเหมือนกัน ว่าอะไรคือหัวใจของพระพุทธศาสนา ด้วยการพิสูจน์กันอย่างไร ในที่นี้จะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันด้วยพระองค์เองว่า นี่แหละคือบทสรุปของคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้นของตถาคต

            ถ้าได้ยินคำเช่นนี้ คือคำว่า ด”สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” นี้แล้ว ก็เป็นอันว่าได้ยินได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ ก็เป็นอันได้ปฏิบัติทั้งหมด ถ้าได้ผลมาจากข้อนี้ ก็คือได้ผลทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องกลัวว่า มันจะมากเกินไปจนเราเข้าใจไม่ได้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเทียบว่า สิ่งที่ตรัสรู้นั้นเท่ากับใบไม้ทั้งป่าทั้งดง แต่สิ่งที่นำมาสอนให้พวกเธอปฏิบัตินั้นกำมือเดียว ก็หมายถึง หลักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดโดยความเป็นตัวตน หรือของตน นั่นเอง

            ที่ว่าถ้าได้ยินสิ่งนี้เป็นได้ยินทั้งหมดนั้น ก็เพราะว่าทุกเรื่องมันสรุปรวมอยู่ที่นี่ เพราะว่าเรื่องทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้น ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากความทุกข์กับเรื่องความดับทุกข์ ทีนี้ความยึดมั่นถือมั่นนี้ เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ ในขณะที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นแหละเป็นความทุกข์ แล้วในขณะที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น คือว่างจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น ในขณะนั้นไม่มีทุกข์ การปฏิบัติก็ปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นให้เด็ดขาดลงไป เป็นว่างตลอดกาล ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นกลับมาอีกเท่านี้ก็พอแล้ว ไม่มีเรื่องอะไรอีกแล้ว

            ที่ว่าปฏิบัติในข้อนี้เป็นการปฏิบัติทั้งหมดนั้น หมายความว่า ท่านลองคิดดูว่ามันมีอะไรที่เหลืออยู่ ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เพราะในขณะที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะเป็น นาย ก. นาย ข. นาย ค. อะไรก็ตาม มีจิตใจปราศจากความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้น ในขณะนั้นเขาก็มีอะไรบ้าง ขอให้ลองคิดดู เราไล่ไปตั้งแต่สรณาคมณ์ แล้วก็ ทาน แล้วก็ศีล แล้วก็ปัญญา มรรค ผล นิพพาน เป็นลำดับ ในขณะนั้นเขาเป็นคนเข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยที่ไม่ต้องตะโกน พุทธํ สรณํ คจฉามิ เป็นต้นเลย การร้องว่า พุทธํ สรณํ คจฉามิ เป็นต้น นั้น มันเป็นพิธี เป็นแบบพิธีที่เริ่มต้นด้วยของข้างนอก ยังไม่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่จิตใจ และถ้าในขณะใด คนใดก็ตาม มีจิตใจว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ ว่าเรา-ว่าของเราแล้ว แปลว่าจิตใจกำลังว่าง เข้าถึงความว่าง มีความสะอาด สว่าง สงบอยู่ เป็นอันเดียวกันกับหัวใจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้น ชั่วขณะเวลาที่จิตว่างอย่างนี้ ถือว่าเป็นผู้มี สรณาคมณ์ คือถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

            ทีนี้เลื่อนขึ้นมาถึง การให้ทาน การบริจาค การให้ทาน การบริจาคนี้ก็หมายความว่า ให้ออกไป ให้หมดความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู หรือของกู ส่วนการทำบุญที่คิดว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาหลายเท่า เช่น ทำบุญหน่อยหนึ่งก็ขอให้ได้วิมานหลังหนึ่ง อย่างนี้มันเป็นการค้ากำไรเกินควร ไม่ใช่การให้ทาน การให้ทานต้องเป็นการบริจาค สลัดสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเรา-ว่าของเรา นั่นแหละออกไป เพราะฉะนั้น ในขณะที่ผู้ใดมีจิตว่างจากความรู้สึกตัวว่าตัวเรา-ว่าของเรา ในขณะนั้นเรียกว่าบุคคลนั้นได้บริจาคทานถึงที่สุด เพราะว่าแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่มีแล้วจะเอาอะไรมาเหลืออยู่ ส่วนของเราก็พลอยหมดไปตามความที่ไม่มีตัวเรา เพราะเมื่อหมดความรู้สึกว่ามีตัวเรา สิ่งที่เป็นของเราก็สลายตัวลงไปเอง เพราะฉะนั้น ในขณะใดผู้ใดมีจิตใจว่างจากตัวตน ผู้นั้นได้ชื่อว่าได้บำเพ็ญทานอย่างยิ่ง แม้แต่ตัวเราก็บริจาคไปจนหมดสิ้น และพ่วงความรู้สึกว่าของเราเข้าไปด้วยจนหมดสิ้น ดังนั้น ในขณะที่มีจิตว่างอันแท้จริงนั้น จึงได้ชื่อว่ามีการบำเพ็ญทานถึงที่สุด

            ทีนี้เลื่อนขึ้นมาถึง เรื่องศีล คนที่จิตว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่น ตัวตน-ของตนนั้น เรียกว่าเป็นคนที่มีศีลที่แท้จริง และเต็มเปี่ยมถึงที่สุดด้วย ศีลนอกนั้น เป็นศีลล้มลุกคลุกคลาน คือศีลที่ตั้งเจตนาว่า เราจะเว้นอย่างนั้น เราจะเว้นอย่างนี้ แล้วก็เว้นไม่ได้ ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่นั่นเอง เพราะว่าไม่รู้จักปล่อยวางตัวตนเสียก่อน ไม่รู้จักปล่อยวางของของตนเสียก่อน คือไม่มีความว่างจากตัวตนเสียก่อน ศีลก็มีขึ้นไม่ได้ แม้จะมีก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เป็นอริยกันตศีล คือไม่เป็นศีลชนิดที่เป็นที่พอใจของพระอริยะเจ้าได้ เป็นโลกียศีลที่ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่เรื่อย ไม่เป็นโลกุตรศีลขึ้นมาได้ ถ้าเมื่อใดมีจิตว่างแม้ชั่วขณะหนึ่ง วันหนึ่ง หรือคืนหนึ่งก็ตาม มันก็มีศีลที่แท้จริงตลอดเวลาเหล่านั้น

            ทีนี้ถ้าพูดถึง สมาธิ จิตว่างนั้น เป็นสมาธิอย่างยิ่ง เป็นจิตที่ตั้งมั่นอย่างยิ่ง สมาธิที่พยายามปลุกปล้ำล้มๆ ลุกๆ มันก็ยังไม่ใช่สมาธิ และยิ่งสมาธิที่มีความมุ่งหมายเป็นอย่างอื่น นอกจากเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์แล้ว ล้วนแต่เป็นมิจฉาสมาธิทั้งนั้น ท่านต้องทราบไว้ว่ามันมีทั้งมิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ เพราะฉนั้นคำว่า “สมาธิ” ในที่นี้ เราหมายถึง สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิอย่างอื่น ก็เป็นมิจฉาสมาธิไปหมด จิตที่ว่างจากความยึดมั่นว่าเราว่าของเราเท่านั้น ที่จะมั่นคงเป็นสมาธิได้อย่างแท้จริงและสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีจิตว่างจึงเป็นผู้ที่มีสมาธิอย่างถูกต้อง

            ทีนี้มาถึง ปัญญา เลื่อนขึ้นมาถึงปัญญา ยิ่งบ่งชัดว่ารู้ความว่าง หรือเข้าถึงความว่าง หรือเป็นตัวความว่างนั้นเองก็ตาม นั้นเป็นตัวปัญญาอย่างยิ่ง เพราะว่า ขณะที่มีจิตว่างนั้น เป็นความเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ขณะที่เป็นความโง่อย่างยิ่งก็คือ ขณะที่โมหะ หรือ อวิชชาเข้ามาครอบงำอยู่แล้ว ทำให้ยึดมั่นถือมั่นนั่นนี่ ว่าเป็นตัวตน หรือของตน ลองคิดดูก็จะเห็นได้ง่ายๆ ชัดแจ้งด้วยตนเองว่า พอสิ่งเหล่านี้ออกไปแล้ว มันจะโง่ได้อย่างไร เพราะว่าความโง่มันเพิ่งเข้ามาต่อเมื่อมีอวิชชา ไปหลงยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ว่าของเรา ขณะที่จิตว่างจากความโง่อย่างนี้ ก็เข้าถึงความว่างจากตัวเรา ว่างจากของเรา มันก็ต้องเป็นความรู้ หรือเป็นปัญญาเต็มที่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉลาดเขาจึงพูดว่า ความว่างกับปัญญา หรือสติปัญญานี้เป็นสิ่งเดียวกัน ไม่ใช่เป็นของสองสิ่งที่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นสิ่งๆ เดียวกันเลย ข้อนี้ย่อมหมายความว่า ปัญญาที่แท้จริง หรือถึงที่สุดของปัญญานั้น ก็คือความว่างนั่นเอง คือว่างจากโมหะที่หลงยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง หมายความว่า พอเอาโมหะอันนี้ออกไปเสีย จิตก็ถึงสภาพเดิมของจิตที่เป็นจิตเดิมแท้ คือปัญญา หรือสติปัญญา

            แต่คำว่า “จิต” อย่างที่กล่าวในที่นี้ มีความหมายเฉพาะในเรื่องที่กล่าวมานี้เท่านั้น คนอื่นอาจให้ความหมายแก่คำว่าจิตเป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ได้เป็นจิตที่เป็นอันเดียวกันกับปัญญาอย่างนี้ก็ได้ ฉะนั้นท่านทั้งหลายอย่าได้เอาไปปนกัน ที่พูดว่า จิต ๘๙ ดวง จิต ๑๒๑ ดวงนั้นไม่ใช่เรื่องนี้ ตนละเรื่องกัน สิ่งที่เราเรียกว่าจิตเดิมแท้ ที่เป็นอันเดียวตัวเดียวกันกับปัญญานั้น เราหมายถึงจิตที่ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน