แก่นพุทธศาสน์ เรื่อง
วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง
พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)

ธรรมกถาในโอกาสพิเศษ ณ ชุมนุมศึกษาพุทธธรรม (ศิริราช)
ในอุปการะของคณะแพทย์ศาสตร์และศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
๒๑ มกราคม ๒๕๐๕


ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย

            การบรรยายในวันนี้จะได้กล่าวเฉพาะ วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง หลักทั่วๆ ไปเกี่ยวกับความว่างมีอยู่อย่างไร ได้อธิบายพิจารณากันแล้วอย่างละเอียดเมื่อคราวก่อนนี้ จึงเหลืออยู่แต่วิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะสำเร็จประโยชน์แก่ทุกคนทั่วๆ ไปทุกคน แม้ที่มีการศึกษาน้อย แม้ที่ไม่ได้เล่าเรียนปริยัติโดยตรง

            หัวข้อเรื่องมีอยู่ว่า “วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง” เพราะฉะนั้น จะต้องสนใจในคำว่า “เป็นอยู่ด้วยความว่าง” มีชีวิตเป็นอยู่ ด้วยสุญญตาก็ได้ แล้วแต่จะเรียก เมื่อเอ่ยชื่อสุญญตา ก็ขอให้เข้าใจว่า หมายถึงความว่าง เพราะเป็นคำบาลี ภาษาไทยเราก็ว่าความว่าง ทีนี้จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยความว่าง หรือเป็นจิตที่ว่าง?

            เกี่ยวกับเรื่องนี้ จะต้องรู้จักสังเกตให้ละเอียดลออสักหน่อย คือจะต้องสังเกตคำบางคำ ให้เข้าใจความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ คำว่า รู้ คำว่า เห็นแจ้ง คำว่า เข้าถึง คำว่า เป็นอยู่ด้วย หรือคำว่า มีความว่างอยู่ กำลังว่างอยู่ และคำว่า เป็นความว่างเสียเอง พูดโดยโวหารชาวบ้านธรรมดาก็ว่า เรารู้ คือเรารู้ความว่าง เราเห็นแจ้ง ก็คือเราเห็นแจ้งความว่าง เราเข้าถึง ก็คือเข้าถึงความว่าง เราเป็นอยู่ด้วย ก็คือ อยู่ด้วยความว่างนั่นเอง เรากำลังว่างอยู่ ก็คือเรากำลังว่างอยู่ด้วยความว่างนั่นเอง หรือว่าเราเป็นตัวความว่างเสียเอง บรรดาที่ออกชื่อว่า ว่าง-ว่างทั้งหมดนี้มันมีความหมายตื้นลึกกว่ากันอย่างไร? แล้วแต่จะมองกันในแง่ไหน จึงจะมีความหมายอย่างเดียวกัน หรือในระดับเดียวกันได้?

            อันแรกอย่างว่า เรารู้ความว่าง คนทั่วๆ ไปเขาจะคิดว่า เราเรียน เราพูด เราปรึกษาหารือกันเรื่องความว่าง ถ้าหมายเพียงเท่านั้นแล้ว เรารู้ความว่างอย่างนี้ยังไม่ถูก

            คำว่า “รู้” ในภาษาธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงรู้เพราะเรียน เพราะฟัง หรืออะไรทำนองนั้น หรือแม้แต่พูดว่า เราเข้าใจความว่าง ก็ยังไม่ใช่การรู้ถึงความว่างอยู่ดี

            คำว่า “รู้” คำว่า “เข้าใจ” ตามภาษาชาวบ้านตามธรรมดานี้ เป็นเรื่องอ่านๆ ฟังๆ คิดๆ นึกๆ คำนวณไปตามเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น กิริยาเหล่านี้ใช้กันไม่ได้กับการรู้ความว่าง

            การรู้ความว่างนั้น ต้องหมายถึงรู้สึกต่อความว่างที่จิตกำลังว่างอยู่จริงๆ เราต้องรู้ต่อสิ่งที่กำลังมีอยู่ในจิตใจจริงๆ ถ้าเรารู้ความว่าง ก็ต้องมีความว่างปรากฏอยู่ในขณะนั้น แล้วเรารู้ว่ามันเป็นอย่างไร อย่างนี้จึงเรียกว่า “รู้ความว่าง”

            ที่เราฟังกันมาตั้งสองครั้งแล้ว และเอาไปคิดไปนึกดูตามเหตุผลว่า มันควรจะเป็นได้ หรือมันเป็นสิ่งที่อาจจะเป็นได้อย่างนั้นๆ อย่างนี้ยังไม่เรียกว่า “รู้ความว่าง” ในที่นี้ แต่ก็เป็นความรู้หรือเป็นความเข้าใจตามภาษาคนธรรมดา คำว่า รู้ ในที่นี้ ขอให้ถือว่า มีความหมายเฉพาะ ตามหลักของธรรมะในพระพุทธศาสนา

            ถ้ารู้ธรรมะ ก็หมายความว่า กำลังมีธรรมะอยู่ทีเดียว และรู้สึกต่อธรรมะนั้นอยู่ จึงจะเรียกว่ารู้ธรรมะ ในที่นี้ก็เหมือนกัน “รู้ความว่าง” ก็หมายถึงมีความว่างปรากฏอยู่ในความรู้สึก

            เพราะฉะนั้นจึงได้แนะให้สังเกต แนะแล้วแนะอีก ในคราวก่อนๆ นั้นว่า ในขณะใดที่จิตมีความว่างอยู่บ้าง แม้ไม่ใช่ว่างเด็ดขาด ไม่ใช่ว่าสมบูรณ์ ก็ขอให้รู้จักมันไว้เรื่อยๆ ไป ในฐานะที่มันมีอยู่มากเหมือนกันในวันหนึ่งๆ หากแต่ว่ามันยังไม่แน่นอน ไม่เป็นความว่าง ที่เด็ดขาด ตายตัวลงไป ยังกลับไปกลับมาอยู่ แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นการดีมาก ถ้าใครอุตส่าห์สังเกต สนใจรู้จักความว่าง ในทำนองนั้น ไปก่อน จะเป็นเหตุให้พอใจในความว่าง และเป็นการง่ายที่จะปฏิบัติให้ลุถึงจริงๆ เพราะฉะนั้นในที่นี้ คำว่า เรารู้ความว่าง จึงหมายถึงว่า มีความว่างปรากฏอยู่ในความรู้สึก

            ทีนี้คำว่า เห็นแจ้งความว่าง ก็ต้องอย่างเดียวกันอีก คือเห็นแจ้งประจักษ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อเรารู้สึกว่าว่างอย่างไรแล้ว เราพิจารณาดู หรือทำความรู้สึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจะได้ชื่อว่าเห็นแจ้ง หรือเห็นแจ้งแทงตลอด คือรู้อย่างทั่วถึง

            สำหรับคำว่า เราเข้าถึงความว่าง ก็อย่างเดียวกันอีก หมายความว่า ในขณะที่เราได้เข้าถึงตัวความว่าง พูดได้อย่างสมมติก็ว่า เราเข้าถึงความว่าง ถ้าพูดอย่างความจริง อย่างไม่ใช่สมมติก็ว่า จิตเข้าถึงความว่าง หรือว่าความรู้สึกนั้นเป็นผู้รู้สึกต่อความว่าง และเข้าถึงความว่าง

            สำหรับคำว่า เป็นอยู่ด้วยความว่าง นั้น ย่อมหมายถึง สุญญตาวิหาร คือการเป็นอยู่ มีลมหายใจอยู่ด้วยความรู้สึกต่อความว่างนั้น ตลอดเวลา อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่ด้วยความว่าง

            คำว่า ว่างอยู่ ก็หมายความว่า ไม่มีความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตัวหรือของตน ตัวเราหรือของเรา ตัวกูหรือของกู เหล่านี้ ซึ่งเป็นการปรุงแต่งของตัณหาอุปาทาน เมื่อว่างจากสิ่งเหล่านั้นอยู่ ก็คือว่างอยู่ อะไรมันว่าง? ก็หมายถึงจิตอีกนั่นเอง ว่าง คือ ว่างจากความรู้สึก ว่าตัวตน หรือ ว่าของตน ไม่มีทั้งอย่างหยาบ และอย่างละเอียด อย่างหยาบ เราให้ชื่อมันว่า ตัวกู-ของกู อย่างละเอียด เราให้ชื่อมันว่า ตัวตน-ของตน ถ้าจิตมีความว่างทั้งขนาดว่า ไม่มีตัวตนอย่างละเอียด ก็เรียกว่า เป็นความว่างเสียเอง คือจิตนั้น เป็นความว่างเสียเอง

            สมกับที่คำสอนในพุทธศาสนาบางพวก บางนิกาย เขาพูดว่า จิตคือความว่าง ความว่างคือจิต ความว่าง คือพุทธะ พุทธะคือความว่าง ความว่างคือธรรมะ ธรรมะคือความว่าง มันมีเพียงสิ่งเดียงเท่านั้น

            เป็นอันว่า อะไรทั้งหมดทั้งสิ้น ในบรรดาที่เรารู้จักนี้ ไม่มีอะไร มีแต่ความว่าง ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นต่อไป โดยการพิจารณาคำว่า “ว่าง” นี้ กันอีกครั้งหนึ่ง

            คำพูดว่า ว่าง หรือ ความว่าง นี้ มันเล็งถึงของ ๒ สิ่ง คือเล็งถึงลักษณะ ๒ ลักษณะ คำว่า ว่าง ในลักษณะที่หนึ่งนั้น หมายถึงลักษณะของสิ่งทั้งปวง ขอให้กำหนดจดจำว่า ลักษณะของสิ่งทั้งปวงคือความว่าง

            คำว่า สิ่งทั้งปวง นี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า มันหมายถึงทุกสิ่งจริงๆ คำว่าทุกสิ่งนี้ หมายถึงรูปธรรม และ นามธรรม อย่างที่จะใช้โวหารเรียก นับตั้งแต่ฝุ่น อนุภาคเล็กนิดหนึ่งขึ้นไป จนกระทั่งของมีค่า จนกระทั่งนามธรรม จนกระทั่งนิพพาน เป็นที่สุด จากฝุ่นอนุภาคหนึ่งไปจนถึงนิพพานเป็นที่สุด นี้เรียกว่า “สิ่งทั้งปวง”

            ทีนี้สิ่งทั้งปวงทุกสิ่งๆ แต่ละวิ่งๆ นี้ มีลักษณะคือความว่าง ความว่างที่หมายที่หนึ่งเป็นอย่างนี้ ต้องเข้าใจให้ดีเหมือนกัน ว่าในฝุ่นเม็ดหนึ่ง มันมีความว่างจากตัวตน ทีนี้สูงขึ้นมาเป็นในเงินในทอง ในเพชรพลอยอะไรก็ตามนี้ มันมีความว่างจากตัวตน เป็นลักษณะของมัน กระทั่งมาเป็นเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องความคิดนึก ความรู้สึกในสิ่งเหล่านั้นแต่ละสิ่ง ก็มีความว่างเป็นลักษณะของมัน คือว่างจากตัวตนนั่นเอง กระทั่งถึงการเรียนหรือการปฏิบัติธรรม มีลักษณะเป็นความว่างจากตัวตน กระทั่งถึงสิ่งที่เรียกว่า มรรถ ผล นิพพาน เป็นที่สุด ก็มีลักษณะที่เป็นความว่างจากตัวตนอยู่ที่นั่นด้วยกันทั้งนั้น แต่แล้วเราไม่เห็นเอง แม้แต่นกกระจอกที่กำลังบินไปบินมา อยู่นี้ ก็มีลักษณะแห่งความว่างโดยสมบูรณ์อยู่ที่นกกระจอกนั้น แต่เราก็ไม่เห็นเอง

            ขอให้คิดดู ให้พิจารณาดู ให้สังเกตดู ให้คำนวณดู จนกระทั่งเห็นว่า ที่สิ่งทุกสิ่งมีความว่าง คือมีลักษณะแห่งความว่างแสดงอยู่ทั้งนั้น แต่ว่าเรามองไม่เห็นเอง แล้วจะโทษใคร? เหมือนอย่างปริศนาของพวกนิกายเซ็น ที่เขาเรียกว่าโกอานนี้ อย่างมีพูดว่า ต้นสนแก่คร่ำคร่า ต้นหนึ่ง กำลังแสดงธรรมอยู่ แม้อย่างนี้ก็หมายถึงข้อที่ว่า แม้แต่ต้นสนแก่นั้น มันก็แสดงความว่างได้เหมือนกัน คือมันมีความว่าง เหมือนกับทุกสิ่ง แต่คนก็มองไม่เห็น หรือว่าไม่ได้ยิน ในข้อที่มันแสดงธรรม คือแสดงลักษณะของความว่างอยู่ทุกเมื่อ

            ขอให้เราจับให้ได้ว่า ความว่างนั้นมีอยู่ที่สิ่งทุกสิ่ง เพราะว่าเป็นลักษณะของสิ่งทุกสิ่ง สิ่งทุกสิ่งนี้มีลักษณะคือความว่าง นี่แหละคำว่าว่างในลักษณะทีแรก คือลักษณะของความว่างที่มีอยู่ที่สิ่งทุกสิ่ง จึงเรียกว่าว่าง นี่แหละเล็งถึงลักษณะของสิ่งทุกสิ่ง

            ลักษณะว่างอย่างที่สอง ว่างนี้เล็งไปยังลักษณะที่จิตกำลังไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงนั้นแหละ เรียกว่า “ความว่าง” เหมือนกัน

            ข้อที่หนึ่งนั้นชี้ว่า สิ่งทั้งปวงมีลักษณะ ว่าง ว่างคือลักษณะของสิ่งทั้งปวง ข้อที่สองชี้ไปยังจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวง

            ข้อนี้ขอให้เข้าใจว่า ตามธรรมดา แม้แต่ตัวจิตเองมันก็ว่าง ว่างจากตัวตน แต่จิตนั้นไม่อาจจะรู้สึกว่าตัวมันเองว่าง เพราะมันมีอะไรมาหุ้มห่อรบกวนอยู่เรื่อย ได้แกความคิดปรุงแต่งที่เกิดขึ้น เพราะการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางผิวหนัง เป็นต้นนั่นเอง จิตจึงไม่รู้สึกต่อความว่างในตัวมันเอง หรือต่อความว่างในสิ่งทั้งปวง แต่เมื่อจิตปลดเปลื้องสิ่งที่หุ้มห่อออกไปเสียได้หมด กล่าวคือปลดเปลื้องความยึดมั่นถือมั่นด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้นั่นแหละออกไปเสียหมด เมื่อนั้นจิตก็มีลักษณะว่าง เพราะไม่ยึดมั่นสิ่งทั้งปวง

            ความว่างในลักษณะที่สองนี้ จึงหมายถึงว่างที่เป็นลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวง ผิดกับอย่างที่หนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่างที่เป็นลีกษณะของสิ่งทั้งปวง

            ว่างทั้งสองอย่างนี้มันเนื่องกัน ถ้าสิ่งทั้งปวงมันมีลักษณะโดยแท้จริง คือว่างจากตัวตนที่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะว่ามันว่างอย่างนี้ เราจึงเห็นความจริงว่ามันว่างได้ ถ้าตามความจริงมันเป้ฯสิ่งที่ไม่ว่างจากตัวตนแล้ว เราก็ไม่อาจเห็นว่ามันว่างได้เลย

            แต่ทีนี้ตรงกันข้าม ทั้งๆที่สิ่งทั้งปวงเป็นของว่าง เราก็เห็นเป็นไม่ว่างเสียหมด เพราะว่าจิตชนิดที่ถูกกิเลส ถูกอวิชชาห่อหุ้มนั้น ไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนไปหมดไม่ว่าในอะไร แม้แต่ในฝุ่นสักเม็ดหนึ่ง อนุภาคน้อยๆ อันหนึ่งนี้ ก็ยังยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนของฝุ่นนั่นเอง รู้สึกเป็นบุรุษที่สองจากเราขึ้นมาทีเดียว เราเป็นบุรุษที่หนึ่ง คือตัวเรา บุรุษที่สองคือสิ่งต่างๆ นอกจากตัวเรา นั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ ล้วนแต่เป็นตัวเป็นตนของมันเองทั้งนั้น

            เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักคำว่า “ว่าง” นี้ว่าหมายถึงอะไรให้ถูกต้องที่สุด ซึ่งสรุปแล้ว ก็ให้รู้จักว่า ว่างนี้คือลักษณะของสิ่งทั้งปวง อย่างหนึ่ง แล้วว่างนี้คือลักษณะของจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งทั้งปวงนี้อีกอย่างหนึ่ง

            ว่างทีแรก เป็นวัตถุแห่งความรู้สึกหรือการเข้าถึง ว่างที่สองคือจิตว่างนี้ เป็นลักษณะของจิต ที่ว่างเพราะเข้าถึงความจริง คือความว่างนั้น

            ดังนั้น จิตจึงมองเห็นความว่างในสิ่งทั้งปวง รวมทั้งตัวมันเอง มันจึงสลายไปเอง เหลืออยู่แต่ความว่าง คือมันได้กลายเป็นความว่าง เสียเอง และจะเห็นทุกๆ สิ่งเป็นความว่างหมด นับตั้งแต่ฝุ่นเม็ดหนึ่ง ไปจนถึงนิพพาน ดังที่กล่าวแล้ว จะเป็นสิ่งของหรือเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เป็นสถานที่ เป็นเวลา เป็นอะไรต่างๆ เป็นธรรมะไม่ว่าในลักษณะไหนหมด ล้วนแต่หลอมตัวเป็นสิ่งเดียวกัน คือเป็นความว่าง เพราะความที่มารู้ความจริงข้อนี้ นี่คือความหมายของคำว่า “ว่าง”

            เพราะฉะนั้น เท่าที่กล่าวมานี้ ท่านทั้งหลายย่อมจะพอสังเกต หรือจับได้ด้วยตนเองแล้วว่า คำว่า ว่าง นี้ มันเท่ากับ ความดับไม่เหลือ แห่งตัวกู-ของกู คำว่า “ว่างๆ” นี้มันเท่ากับความดับไปไม่เหลือแห่งความรู้สึกว่าตัวเรา หรือของเรา ว่างเท่ากับความดับไม่เหลือแห่งตัวตน

            ตัวตนนั้นมันเป็นเพียงสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะความยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ไม่เห็นเป็นว่าง เห็นเป็นตัวตนขึ้นมาเสีย ก็เพราะ ความยึดมั่นถือมั่น ด้วยอวิชชา ด้วยกิเลส จึงไปยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องแกล้งยึด เพราะมันไม่รู้ มันจึงเกิดความรู้สึกยึดขึ้นมาเอง ไม่ใช่ว่าเราต้องไปตั้งเจตนายึด หรือตั้งข้ออย่างนั้นอย่างนี้ให้มันว่ามันเป็นตัวเป็นตน เมื่อจิตประกอบไปด้วยอวิชชา ความไม่รู้ แล้ว มันย่อมรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ เป็นตัวตนไปเสียหมดเอง ไม่ต้องแกล้งทำ ไม่ต้องตั้งเจตนาอะไร

            ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องเกิดขึ้น มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงแล้ว มันก็จะเห็นของจริงว่า ความว่างนั้นแหละคือความดับไปไม่เหลือแห่งตัวตน ฉะนั้นจึงได้กล่าวเพื่อเป็นหลักว่า “ว่าง” นี้คือความดับไปไม่เหลือแห่งตัวตน เพราะฉะนั้น เราต้องสนใจคำว่า “ดับไม่เหลือๆ ๆ “ นี้กันให้ถูกต้อง

            ดับอย่างไรเหลือ ดับอย่างไรไม่เหลือ ดับมีส่วนเหลือ ก็หมายความว่า มันเพียงแต่เปลี่ยนรูป จากรูปหนึ่งไปสู่รูปหนึ่ง รูปทีแรกดับไปมันก็มีเชื้อเหลืออยู่สำหรับเป็นรูปใหม่ เป็นรูปอื่น อย่างนี้เรียกว่า “ดับเหลือ” คือยังมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ แล้วไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนี้ แล้วไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งโน้นเรื่อยไป อีกทีหนึ่งก็คือว่า สติปัญญาหรือความรู้ธรรมะที่ยังไม่ถึงที่สุดนั้น มันจะดับความยึดมั่นถือมั่นได้แต่เพียงบางสิ่ง บางอย่าง หรือบางส่วนโดยเอกเทศเท่านั้นเอง

            บางคนอาจเห็นว่าฝุ่นนี้ไม่ใช่ตัวตน แต่ไปเห็นนกกระจอกเป็นตัวตนก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงคน เพียงเห็นสัตว์เป็นตัวเป็นตนก็ได้ และบางคนอาจมองเห็นต้นไม้หรือสัตว์ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ไปเห็นคนว่าเป็นตัวตนเข้าก็ได้ ที่เห็นว่าเป็นตัวตนนี้ บางทีก็เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนแล้ว แต่ว่าส่วนจิตใจที่เป็นศูนย์กลางนั้นยังเห็นเป็นตัวตนอย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้เรียกว่ามันดับไม่หมด มันดับบางส่วนเหลืออะไรเป็นตัวตนบางส่วนอยู่เสมอไป กระทั่งถึงว่าจิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าคุณสมบัติอะไรบางอย่างของจิต เช่นธรรมะนี้เป็นตัวตนขึ้นมาก็ได้ หรือว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนแล้ว สิ่งที่อยู่ถาวรเป็นอนันตกาล เช่นนิพพานธาตุนี้เป็นตัวตนก็ได้ อย่างนี้ดับมีเชื้อเหลืออยู่เรื่อย จนกว่าเมื่อใดจะกวาดทิ้งไปหมด แม้แต่นิพพานธาตุก็ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้มันจึงจะเรียกว่าดับไม่เหลือแห่งตัวตน หรือดับไม่เหลือแห่งตัวกูที่แท้จริง

            เพราะฉะนั้นคำว่า “ดับไม่เหลือแห่งตัวกู” นี้ ก็คือการที่ไม่อาจเกิดความรู้สึกว่าตัวกูนั่นเอง แต่เป็นการปฏิบัติ ต้องหมายความว่า เราปฏิบัติในทำนองที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าตัวกูขึ้นมาได้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้อยู่ได้เรื่อย ก็เรียกว่าดับไม่เหลือแห่งตัวกุได้เหมือนกัน และการปฏิบัติที่ถูกต้องและเป็นไปอย่างสมบูรณ์ถึงที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงการปฏิบัติชนิดที่ตัวกูหรือความรู้สึกว่าตัวกูนี้ไม่มีทางจะเกิดอีกต่อไป ก็แปลว่าไม่ให้ตัวกูเกิดขึ้นมาได้อยู่ตลอดเวลา ด้วยการกระทำที่ถูกต้องนั้น

            เท่าที่กล่าวนี้ ก็พอจะเข้าใจกันได้ทุกคนว่า คำว่าเกิดแห่งตัวกู “เกิด” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเกิดจากท้องบิดามารดา แต่ หมายถึงเกิดในห้วงแห่งความนึกคิดในทางจิตใจเท่านั้น จะเรียกว่าปฏิสนธิ หรือจะเรียกว่าคลอดออกมา หรือจะเรียกว่าอะไรก็สุดแท้ ต้องหมายถึงปฏิสนธิหรือคลอดออกมาในความรู้สึกเท่านั้น คือในความรู้สึกของจิตเท่านั้น

            อย่างเรารู้สึกว่า เราเป็นเรา ฉันเป็นฉัน ขึ้นมานี้ มันรู้สึกที่ไหน ก็ขอให้เข้าใจว่า มันเกิดที่จิตนั่นแหละ การเกิดหรือการคลอดออกมามันอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้น การเกิดนี้จึงหมายถึงการเกิดในทางจิตใจ ไม่ใช่เกิดทางเนื้อหนังร่างกาย

            ต้องเข้าใจว่าการเกิดทางเนื้อหนังร่างกาย แม้จะคลอดออกมาแล้วจากท้องแม่ แต่ถ้ายังไม่มีการเกิดทางจิตใจ คือไม่เกิดความรู้สึกว่า กูเป็นกู เราเป็นเรา อย่างนี้แล้วละก็ ให้ถือว่า การเกิดทางร่างกายนั้นยังไม่มีความหมายอะไรเลย ยังเหมือนกับก้อมอะไรก้อนหนึ่ง หรือดุ้นอะไรดุ้นหนึ่งเท่านั้น จนกว่าเมื่อใดจะมีความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนเสียก่อน เมื่อนั้นการเกิดทางร่างกายดุ้นนั้นจึงจะสมบูรณ์ คือในภายในมีความรู้สึกเป็นตัวตน

            เพราะฉะนั้น ความเกิดมันจึงจำกัดความหมายอันแท้จริงอยู่ที่ความรู้สึกว่าตัวตนนั่นเอง เมื่อเด็กนั้น เกิดขึ้นมาแล้วขณะใด มีความรู้สึกว่าตัวตนอยู่ในใจ เมื่อนั้นเรียกว่าเขาเกิด พอเขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวตนอย่างนั้น เมื่อนั้นก็คือเขาตาย กลายไปเป็นดุ้นหรือเป็นก้อนอะไรทางเนื้อหนังอยู่ตามเดิม ความรู้สึกอย่างอื่นไม่อาจช่วยให้เกิดความหมายว่าตัวตนได้ จึงไม่อาจทำให้เกิดความหมายว่าเขาเกิดอยู่ได้ มันจึงเท่ากับเขาตายอยู่ แต่ประเดี๋ยวเดียว ถ้ามีอะไรมากระทบ มีอารมณ์มากระทบแล้วก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวตนขึ้นมาได้อีก เพราะฉะนั้น เขาจึงเกิดขึ้นมาอีก และประเดี๋ยวเขาก็ตายไปอีก จึงว่าวันหนึ่งๆ เกิดได้หลายครั้งหลายหน

            เพราะฉะนั้น การปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่างนั้น มันก็อยู่ที่ตรงนี้เอง คืออยู่ตรงที่ ปฏิบัติอย่าให้เกิดความรู้สึกว่าตัวตนขึ้นมาในดุ้นหรือในก้อนนี้ ในรางกายก้อนนี้ดุ้นนี้ อย่าให้เกิดจิตใจชนิดที่เป็นความรู้สึกว่าเป็นตัวตนหรือเป็นตัวเราขึ้นมา ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง ใจความมันมีอยู่อย่างนี้

            ทีนี้รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัตินี้ ก็ควรจะมองดูให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่าจะปฏิบัติอย่างไร? ปฏิบัติในขณะไหน? ที่ว่าปฏิบัติอย่างไรนั้น ก็ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ว่าปฏิบัติอย่างที่ไม่ให้เกิดตัวตน แต่ว่ายังไม่ชัดเจน จะต้องอธิบายพร้อมกันไปกับข้อที่ว่า จะปฏิบัติในโอกาสไหน ในขณะไหน อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจึงแบ่งแยกการปฏิบัตินี้ว่า มีโอกาสปฏิบัติในขณะไหนบ้าง ให้เห็นชัดเจนเป็นโอกาสๆ ไป เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะขอแบ่งเพื่อให้เห็นง่ายๆ สัก ๓ โอกาส หรือ ๓ ขณะคือ

            ในขณะตามปกติ หรือโอกาสที่เป็นปกติอย่างหนึ่ง

            ในขณะที่มีอารมณ์มากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางผิวหนัง เป็นต้น นี้อีกอย่างหนึ่ง เป็นอย่างที่สอง

            แล้วอีกขณะหนึ่ง ซึ่งขอผนวกเข้าไว้เลย นี้คือขณะที่จะดับจิต ที่เราเรียกกันว่า โอกาสจะตาย คือตายทางร่างกาย ตายชนิดที่เป็นความแตกดับของร่างกาย ในขณะที่จะตายอย่างนั้น มีการปฏิบัติสำหรับโอกาสนั้น อีกอย่างหนึ่ง

            นี่แหละขอทบทวนใหม่ว่า ขณะที่ไม่มีอารมณ์มากระทบ ทางตา ทางหู นี้อย่างหนึ่ง แล้วในขณะที่มีการกระทบกับอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น นี้อย่างหนึ่ง แล้วอีกขณะหนึ่งก็คือขณะที่จะดับจิต คือ ตาย อย่างที่ชาวบ้านเรียก

            การปฏิบัติในโอกาสอย่างแรก คือในปกติที่ไม่มีอารมณ์มากระทบนั้น เราจะทำอย่างไร? ในขณะปกติอย่างนี้ก็หมายถึง เมื่อเราทำการทำงานอะไรอยู่ตามปกติลำพังเรา เวลาปกติอย่างนี้ เราจะทำการทำงานประจำวันอยู่ก็ได้ หรือว่าเราจะใช้เวลาปกตินั้นไปทำกัมมัฏฐาน วิปัสสนาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ นี่เรียกว่า ยังไม่มีอารมณ์มากระทบ ยังไม่มีปัญหาเรื่องที่อารมณ์มากระทบ เราทำการงานตามประสาชาวบ้านนี้อยู่ก็ได้ แต่ต้องในขณะที่ไม่มีอารมณ์มากระทบ หรือเรามีเวลาว่าง เราจะอ่านหนังสือก็ได้ เราจะนึกคิดอะไรก็ได้ จะทำวิปัสสนาก็ได้ นี่เราจะต้องปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการศึกษา เป็นการทำให้เห็นแจ้งยิ่งขึ้น ว่าสิ่งทั้งปวงว่างอยู่อย่างไร แล้วจิตนี้มันว่างได้อย่างไร จิตจะไม่หลงผิดในสิ่งทั้งปวงได้อย่างไร ให้นึกคิด ศึกษาด้วยตนเอง หรือไต่ถาม ปรึกษาหารือผู้อื่นอยู่เป็นประจำและทำไปเรื่อย

            โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางปริยัติ สำหรับผู้ที่เป็นชาวบ้านกระทั่งไม่รู้หนังสือ ไม่ได้เคยบวชเคยเรียนเรื่องปริยัติ ก็ยังมีวิธีลัดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็มีความหมายแบบเดียวกัน มีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือให้รู้สิ่งๆ เดียวกัน คือรู้ความว่างของสิ่งทั้งปวงเหมือนกัน แต่เราไม่อาจพูดถึงความว่างอย่างนั้นได้ เพราะเขาจะยิ่งไม่เข้าใจใหญ่

            เพราะฉะนั้น เราจึงพูดไปอีกทำนองหนึ่งว่า ให้ดูว่าสิ่งต่างๆ มีอะไรบ้างที่น่าเอาหรือน่าเป็น ให้คนธรรมดาทั่วไปตามปกตินั้น เป็นอยู่ด้วยการพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าได้ หรือน่าเป็น ที่ว่าเอา หรือได้นี้ เช่นได้เงิน ได้ทอง ได้ของ ได้เกียรติยศ ได้อำนาจวาสนา นี้เรียกว่าเอาหรือได้ มีอะไรบ้างที่น่าเอา หรือน่าได้ แล้วมีอะไรที่น่าเป็น เป็นอย่างไรบ้างที่ว่า น่าเป็น เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเศรษฐี เป็นขอทาน เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นราษฎร เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอย่างไหนบ้าง ที่ไหนบ้างที่น่าเป็น

            เราต้องเข้าใจว่า “เอา” ว่า “เป็น” ให้ถูกต้องกันเสียก่อน คำว่า เอา ว่า เป็น นี้ หมายความถึงความยึดถือโดยตรง ถ้าไปรู้สึกว่า เอา หรือ ได้ นี้มันต้องมีความยึดถือโดยตรง ถ้าไปรู้สึกว่าเอา หรือได้ นี้มันต้องมีความยึดถือที่จะเอามาเป็นของเรา ถึงจะเข้าขั้นที่เรียกว่า “เอา” หรือ “ได้” เต็มตามความหมาย เช่นเราเอาเพชร เอาพลอย มากองไว้เต็มห้องอย่างนี้ ถ้าไม้มีความยึดถือว่าเราได้ เราเป็นเจ้าของ เราเอามาได้ อย่างนี้มันก็เท่ากับว่าไม่มีการเอา ไม่มีการได้ เพชรพลอยก็กองอยู่ที่นั่นเอง ไม่มีความหมายอะไร ถ้าเกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นอุปาทานว่าตัวเรา ตัวเราเอามาได้ ตัวเราได้มาแล้ว อย่างนี้มันจึงจะเรียกว่า “เอา” หรือ “ได้” ขอให้เข้าใจความหมายของคำว่า เอา ว่า ได้ อย่างนี้

            แล้วถามอีกทีว่า เอาอะไรบ้าง มันน่าเอา น่าได้ เอาอันไหนบ้าง จะไม่ทำให้บุคคลนั้นให้เป็นทุกข์ มันมีแต่จะแผดเผาบุคคลนั้น ทิ่มแทงบุคคลนั้น ร้อยรัดบุคคลนั้น พัวพันบุคคลนั้น หุ้มห่อบุคคลนั้น ครอบงำบุคคลนั้น หากเข้าไปเอา ไปเป็นมันเข้า แต่ถ้าเพชรพลอยที่กองอยู่เต็มห้องนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่าเอา ว่าเป็น มันก็ไม่มีอาการแผดเผา พัวพัน หุ้มห่อ ร้อยรัด แต่ประการใดเลย นี่เรียกว่าไม่เอาไม่เป็น มีอันไหนบ้าง ที่ไปเอา ไปเป็นเข้าแล้ว จะไม่เป็นทุกข์

            ถ้าไปมีความรู้สึกว่าเอา ว่าเป็น เข้าแล้ว ไม่ต้องมาอยู่ในห้อง ต่อให้อยู่ในป่า หรืออยู่คนละประเทศ ข้ามทวีป ข้ามสมุทรอย่างนี้ ใจมันก็ยังเป็นทุกข์ได้ ลองมีลูกมีหลานอยู่ที่อเมริกา แล้วก็มีความยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเราดูซิ มันก็จะทำให้นอนไม่หลับ และมากเข้าก็เป็นโรคเส้นประสาทได้ นั่นแหละคือความหมายของคำว่า “เอา” ว่า “เป็น”

            ตามปกติขอให้พิจารณาดูว่า มีอะไรบ้างที่น่าเอา น่าเป็น ที่ไปเอาไปเป็นเข้าแล้ว จะไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ เมื่อพบความจริงว่า ไม่มีอะไรที่น่าไปรู้สึกเอา หรือ เป็น มันก็วางเฉยกับสิ่งทุสิ่ง แต่จะจัด จะทำ จะมี จะเก็บ จะรักษา จะบริโภคใช้สอย ก็ทำไปตามเรื่อง จิตใจอย่าไปเอา อย่าไปเป็น อย่าไปรู้สึกว่าเป็นตัวเราเอา, เป็น, มี, ขึ้นมา ให้นึกถึงหลักธรรมะที่ว่า “ทำโดยไม่ต้องมีผู้ทำ การกระทำได้ทำเสร็จไปแล้ว แต่ตัวผู้ทำหามีไม่ การเดินทางได้เดินถึงที่สุดแล้ว แต่ตัวผู้เดินหามีไม่” นี้หมายถึงพระอรหันต์ ท่านปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดแล้ว คือว่าทำการปฏิบัติธรรมะถึงที่สุดแล้ว หรือว่าเดินไปตามทางของอริยมรรคนี้ถึงที่สุดแล้ว บรรลุนิพพานแล้ว แต่ตัวผู้เดินหามีไม่

            หลักอันนี้จะต้องนำเอามาใช้กับชีวิตประจำวันของเรา จะกินอยู่ นั่ง นอน ยืน เดิน บริโภค ใช้สอย แสวงหา ทำอะไรต่างๆ เหล่านี้ ต้องมีสติปัญญาเพียงพอที่จะไม่ให้เกิดความรู้สึกว่า เรามีอยู่ เราเป็นผู้ทำ ผู้กิน ผู้เดิน ผู้นั่ง ผู้นอน ผู้บริโภคใช้สอย นี้เรียกว่าทำให้มันว่างจากตัวเราอยู่เสมอ ให้เป็นปกติ เป็นอยู่ด้วยความรู้สึกที่ว่า ไม่มีอะไรน่าเอา น่าเป็น

            การปฏิบัติธรรม สามารถจัดทำพร้อมกันไปได้กับการทำการงาน หรือการเคลื่อนไหวในการงานประจำวันนั่นเอง เป็นการปฏิบัติธรรมะอย่างสูงยิ่งไปเลย ไม่ต้องแยกจากกัน ขอแต่ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างนี้อยู่ งานก็ได้ผลดีด้วย ไม่ผิดพลาดด้วย และธรรมะก็เจริญก้าวหน้าอย่างยิ่งพร้อมกันไปในตัวการงานนั้นด้วย นี้เรียกว่าเป็นอยู่ตามปกติในเรื่อง ไม่มีการเอา ไม่มีการได้

            สำหรับการเป็น นั้นยิ่งง่ายขึ้นมาอีก คือขอให้คิดดูว่า “เป็นอะไรบ้าง ที่จะไม่ต้องเป็นทุกข์ไปตามความเป็นนั้นๆ” นี่เป็นสูตร เป็นใจความสำคัญ คือว่าเป็นตัวสูตรตัว Formula เลยว่า “เป็นอะไรบ้างจะไม่ต้องเป็นทุกข์ไปตามความเป็นนั้นๆ” คำว่า “เป็น” นี้ก็เหมือนกัน หมายเอาแต่เป็นที่มีอุปาทาน เป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า เราเป็น เช่นเดียวกับคำว่า “ได้” หรือ “เอา” เหมือนกัน

            ยกตัวอย่าง เช่นมีทองกองอยู่เต็มห้องนี้ ถ้าไม่รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของ มันก็ไม่มีการได้หรือมีการเอา การเป็นนี้ แม้โดยทางโลกจะสมมติ ทางกฎหมายจะรับรองว่า ใครเป็นนั่นเป็นนี่ คนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้อยู่ก็จริง แต่ในใจของเราจริงๆ นั้น อย่าไปรู้สึกอย่างนั้นเข้า อย่าไปหลง ไปเข้าใจผิดตามสมมติอย่างนั้นเข้า เช่นว่า คนหนึ่งคลอดบุตรออกมา คนผู้คลอดก็ต้องเป็นแม่ คนที่เขาคลอดออกมาก็ต้องเป็นลูก นี้ก็เป็นตามธรรมชาติ ถ้าอย่าไปยึดถือว่าเป็นแม่ มันก็ไม่เป็นแม่หรอกเพราะไปหลงเอาเอง ไปว่าเอาเอง ไปเข้าใจผิดเอาเองว่าเป็นแม่ มันก็เป็นแม่ อย่างนี้ควรถือว่าเป็นสัญชาตญาณของสัตว์ (Animal Instinct) คือว่าสัตว์มันก็รู้สึกเป็น แม่ไก่ แม่สุนัข แม่วัว แม่อะไร มันก็รู้สึกว่ามันเป็นแม่และรักลูกเป็น นี้ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องทำ ไม่ต้องสร้าง มันเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสัตว์

            ถ้าถึงขั้นที่เป็นสติปัญญา มันต้องดีกว่านั้น มันต้องรู้จักทำลายความยึดถือ ที่มาจากความไม่รู้ อย่างนั้นเสียได้

            คนบางคนคงจะคิดว่า แหม! เหี้ยมโหดทารุณจริง ไม่ให้รู้สึกว่าเป็นแม่ ไม่ให้รักลูกอย่างนั้นหรือ? ฟังให้ดี ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คือว่าการเป็นแม่นี้ เป็นด้วยสติปัญญาก็ได้ เราจะปฏิบัติหน้าที่ของแม่อย่างไรก็ทำไปด้วยสติปัญญาได้ ไม่ต้องทำด้วยตัณหา อุปาทาน ซึ่งมันจะทำให้มีความทุกข์ทุกประการ ต้องน้ำตาไหลบ่อยๆ ต้องเหี่ยวแห้งใจบ่อยๆ ต้องเป็นอะไรบ่อยๆ แล้วไม่มีความสุขเลย นั่นแหละค่าที่เป็นแม่ไม่เป็น เป็นแม่ไม่ถูกวิธีของธรรมะ ต้องเป็นทุกข์เพราะลูก นี้เรียกว่าความทุกข์ของแม่

            เมื่อเป็นแม่ ก็ต้องทุกข์อย่างแม่ เมื่อเป็นลูกก็ต้องทุกข์อย่างลูก เมื่อเป็นพ่อก็ต้องทุกข์อย่างพ่อ นี่ลองถามตัวเองดูทีว่าเกิดมาเป็นแม่เขานี่สนุกไหม? เกิดมาเป็นพ่อเขานี่สนุกไหม? คนที่สูงอายุที่ได้ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว อย่างที่เรียกว่ามีประสบการณ์ดีมาแล้ว ลองคิดดูซิว่าจะเป็นอย่างไร จะตอบว่าอย่างไร ถึงไม่ตอบก็คงสั่นหัวทั้งนั้น เป็นพ่อเขาสนุกไหม เป็นแม่เขาสนุกไหม อย่างนี้นี่คือสิ่งที่จะต้องศึกษา หรือรู้สึกอยู่เป็นปกติ แม้ในเวลาที่ไม่มีอารมณ์มากระทบ