ปาฐกถาธรรมเรื่อง
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

โดย
พุทธทาส ภิกขุ



สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย

            นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
            
สจิตฺตป ริ โยทปนนฺติ ธมฺโม สกฺกจฺจํ โสตพฺโพ ติ

            ณ บัดนี้จะได้ วิชาสัชนาพระธรรมเทศนา เนื่องในวันมาฆบูชาในวันนี้ ต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนามาแล้ว ในตอนต้นแห่งราตรีธรรมเทศนาที่กล่าวค้างไว้นั้น ก็ คือปรารถเรื่อง สจิตฺตปริ โยทปนํ กล่าวคือการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว

จิตผ่องแผ้วเท่ากับจิตเศร้าหมอง

            ท่านทั้งหลายควรจะได้ทราบว่าการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วนั้นมันกินความหมายกว้าง; คือมันเท่ากันกับสิ่งที่มาทำจิตใจให้เศร้าหมอง สิ่งที่ทำจิตใจให้เศร้าหมองมันมีมากมาย ฉะนั้นในการที่จะทำจิตให้ผ่องแผ้ว มันก็ต้องมีมากมายไปตาม มูลเหตุของสิ่งที่ทำจิตให้เศร้าหมอง

            ในบรรดาสิ่งที่จะทำจิตใจให้เศร้าหมองที่มีมากมายนั้น ในที่นี้จะกล่าวแต่เฉพาะบางอย่างซึ่งเป็นของละเอียดและเรื้อรัง ความโลภ ความโกรธ ความหลง โดยกิริยาอาการอันหยาบนั้น ก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า เป็นเครื่องทำจิตให้เศร้าหมอง

ความลังเลสงสัย - ความยึดมั่นถือมั่น

            ยังเหลืออยู่ในส่วนที่เป็นความละเอียด ประณีตลึกซึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความสงสัย ความลังเล ความไม่แน่ใจ ; แม้ที่สุดแต่ว่าจะมีความสงสัยว่า เรานี้ตายแล้วจะเกิดหรือไม่ นี่ก็เป็นเครื่องทำจิตให้ไม่ผ่องใส ถ้ายังมีความลังเลอยู่ แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ว่าเราจะได้รับบุญกุศลที่ได้กระทำไว้นี้ ต่อหลังจากตายแล้วหรือไม่? นี่ก็ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เนื่องอยู่ในเรื่องเดียวกัน คือเรื่องที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นั่นเอง

            คนบางคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไปมีมติตามวิถีทางของตัว แล้วแต่ว่าจะมีความยึดมั่นในชั้นไหน มีความสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ นี้ก็เป็นเครื่องรบกวนใจให้เศร้าหมอง หรือว่าจะมีความยึดมั่นว่าตายแล้วต้องเกิดอีก อย่างนี้มันก็เป็นความเศร้าหมองอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน แม้ยืนยันว่าตายแล้วไม่เกิดอีก แต่เป็นความยึดมั่นของตัวเองซึ่งไม่ถูกตรงกับความจริง อย่างนี้มันก็เป็นความเศร้าหมอง

            ดังนั้นจึงน่าจะพิจารณาให้เห็นกันว่า แม้แต่ปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดนี้ก็แตกแยกแขนงออกไปสำหรับจิตใจจะได้สงสัยลังเลเป็นความเศร้าหมองได้มากมายหลายประการ

            ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ย่อมจะไม่มีความลังเลสงสัย คือมีจิตบริสุทธิ์ขาวผ่องถึงที่สุด ไม่มีความมืดมัว หรือสลัวด้วยความสงสัย

ส่วนคนธรรมดาก็ยังมีความสงสัยที่กลับไปกลับมา เดี๋ยวก็ว่าตายแล้วคงจะเกิด เดี๋ยวก็ว่าตายแล้วคงจะไม่เกิด และเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาที่ไม่มีที่สิ้นสุด

มนุษย์กับปัญหาตาย - เกิด

            คนสมัยนี้ส่วนมากไม่เชื่อว่าตายแล้วจะเกิด ก็มีความเศร้าหมองเพราะความเชื่อที่ผิด ๆ ก็ได้ หรือแม้จะพูดอยู่ว่าตายแล้วไม่เกิด แต่ในใจมันก็อดลังเลไม่ได้ ปัญหาจึงไม่มีที่สิ้นสุด ถึงขนาดที่เรียกกันว่าเป็นปัญหาโลกแตก

            คิดดูให้ดีว่าเราไปถามใครว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่; เมื่อเขาตอบว่าตายแล้วเกิดอีก หรือว่าตายแล้วไม่เกิดอีกก็ตาม ก็ไม่มีอะไรที่มายืนยันให้เห็นจริงได้ ; มันก็หลับตาเชื่อ อย่างนี้มันก็ป่วยการ; ไปคิดปัญหาอื่นเสียจะยังดีกว่า อย่างน้อยก็เช่นปัญหาที่ว่า ที่ยังไม่ตายนี้จะต้องทำอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะหน้าแล้ว ที่จะต้องทำให้ถูกต้อง ให้สิ้นสุดกันไป; จะมามัวถามปัญหาที่ต้องหลับตาถามแล้วก็หลับตาตอบ แล้วก็หลับตาเชื่อกันอยู่อย่างนี้ มันก็คงจะเสียเวลา

พระพุทธเจ้ากับปัญหาตาย - เกิด

            ทีนี้เราก็ตั้งปัญหาสมมติขึ้นมาว่า ถ้าเราไปทูลถามพระพุทธเจ้าหรือว่าเราไปถามพระอรหันต์ทั่ว ๆ ไปก็ดี ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่อย่างนี้ ท่านก็พิจารณาดูว่าควรจะตอบอย่างไรอยู่ด้วยเหมือนกัน

            ถ้าว่าผู้ถามเป็นปุถุชนธรรมดาสามัญอยู่มาก ๆ และเป็นการถามปัญหาในทางของศีลธรรมเพื่อประโยชน์แก่ศีลธรรม พระพุทธองค์ก็จะทรงตอบไปในทำนองที่เป็นประโยชน์แก่ศีลธรรมของคนทั่วไป ท่านจะตอบไปในทางที่ว่า ความเชื่ออย่างไหนมันจะมีประโยชน์มากกว่ากัน คือว่าถ้าเชื่อว่าตายแล้วเกิด มีประโยชน์มากกว่าที่จะเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด หรือว่าตายแล้วไม่เกิดมีประโยชน์มากกว่าที่จะเชื่อว่าตายแล้วเกิด

            ในที่สุดผู้ถามเองจะเป็นผู้ตอบได้เอง เพราะว่าถ้าเราเชื่อว่าตายแล้วเกิดอย่างนี้มันได้เปรียบกว่า ในเมื่อเราก็ไม่รู้ทั้งนั้นว่าตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิดแน่ ไม่มีอะไรมาเป็นพยานหลักฐาน แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ทรงกระทำไปในลักษณะที่จะทำให้คนนั้นเชื่อ อย่างที่เรียกว่างมงายหรือหลับตาเชื่อ ท่านจึงต้องมาตั้งปัญหาให้เขานึกเอาเอง ว่าในสองอย่างนี้ควรเชื่ออย่างไหนดี

            ถ้าเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดอีก มันมีทางที่จะเป็นอันตรายคือจะทำอะไรไปในทางที่ไม่เผื่อไว้ว่ามันจะเกิดอีก ก็อาจจะทำความชั่ว ทำบาป ได้โดยง่ายกว่าพวกที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก

การปฏิบัติเกี่ยวกับปัญหาตาย - เกิด

            ในข้อที่ว่าเมื่อเราทำความดีไว้เผื่อการเกิดอีก นี่ก็ไม่มีทางที่จะขาดทุนเป็นที่มั่นใจได้ว่า เมื่อเราทำความดีให้มาก ๆ เข้าไว้ มันก็ได้รับผลของความดีนั้นทั้งหมดทั้งสิ้น ในปัจจุบันนี้ ; แม้ว่าไม่เกิดอีกมันก็ไม่ขาดทุน เพราะเราได้รับผลของการทำความดีไว้ทั้งหมดทั้งสิ้น

            ในปัจจุบันนี้แม้ว่ามันเผอิญไปเกิดอีกเข้าจริงๆ ก็ไม่ขาดทุน แต่ยิ่งได้กำไร อย่างนี้ทำให้แน่ใจเพราะฉะนั้นเราถืออย่างนี้ดีกว่า ถ้าเราไม่อาจจะมองเห็นชัดลงไปในข้อที่ว่าเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก เราก็มองเห็นชัดลงไปว่า ถ้าเชื่อว่าเกิดอีกมันมีทางที่จะได้กำไรแน่นอน

            ความเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก เชื่อกันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาลแล้วเป็นเรื่องของศีลธรรม คือช่วยให้คนมีศีลธรรมดี ประพฤติแต่ความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยถือเสียว่าทั้งหมดนี้จะต้องเกิดอีก ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ ศีลธรรมมันก็ดี คือไม่เบียดเบียนกัน

            เดี๋ยวนี้คนสมัยนี้จะไม่คิดอย่างนี้ จิตใจมันก็เลยคับแคบในการที่จะทำความดีให้มากเข้าไว้ ถือเอาประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นใหญ่ ก็เลยทำเป็นลักษณะที่กระทบกระทั่งผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น เอาประโยชน์มาเป็นของตัวให้มากเข้าไว้ ศีลธรรมมันจึงได้เสื่อม

การตอบปัญหาตาย- เกิดของพระพุทธเจ้า

            นี่แหละเขาให้ สังเกตให้ดีไว้ทีหนึ่งก่อนว่าถ้ามีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ ว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ แล้วคน ๆ นั้นก็เป็นคนที่ยังเป็นคนธรรมดาสามัญเกินไป ยังมีปัญหาทางศีลธรรมมากกว่า พระองค์ก็จะทรงตอบไปในทางที่จะให้เขามีความเชื่อในการที่จะทำความดีหรือมีศีลธรรมนั้นให้ถึงที่สุด

            อีกทางหนึ่งเรียกว่าไม่เหมือนกัน หรือจะถึงกับตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนที่มีสติปัญญา พอที่จะเข้าใจเรื่องสัจธรรม หรือปรมัตถธรรม ในส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่งได้ พระพุทธเจ้าก็จะตรัสตอบไปในทางอื่น คือว่า อย่ามาพูดถึงเรื่องตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดเลย มาพูดกันถึงเรื่องว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความทุกข์ อะไรที่จะดับทุกข์เสียอย่างนี้ก็ดีกว่า ก็คือพูดกันเรื่อง อริยสัจจ์ดีกว่า

            สิ่งทั้งสองนี้จะต้องคู่กันไป หมายความว่า เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ก็ยึดกันไปในหลักพื้นฐานของศีลธรรมยังไม่อาจจะเข้าใจในส่วนของ ปรมัตถธรรม

            แต่ถ้าคนได้ทำดีถึงที่สุดโดยหลักที่ว่า สพพ ปาปสส อกรณํ - ไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมปทา - ทำกุศลให้ถึงพร้อม ก็มีศีลธรรมดี มีกุศลดี มีอะไรพร้อมแล้วมันก็ยังรู้สึกว่า ทำไมยังเป็นทุกข์อยู่ ทำไมยังมีปัญหาเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องอะไรทำนองนี้อยู่ ศีลธรรมไม่ช่วยแก้ปัญหาของบุคคล โดยเฉพาะในเรื่องอันลึกซึ้ง โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นจึงต้องก้าวหน้าต่อไปอีกชั้นหนึ่งตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ว่า สจิตตปริ โยทปนํ จะต้องทำจิตของตนให้ขาวผ่อง

            ผู้ใดต้องการจะมีจิตบริสุทธิ์ผ่องใสที่เรียกว่า ปริ โยทปนํ ผู้นั้นจะต้องชำระจิต ให้หมดจดจากความลังเล สงสัยในทุกประการ แม้แต่ความลังเลที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ให้มันหมดสิ้นไปเสียว่า ไม่ได้มีคนแน่นอน มิได้มีคน มีสักว่าธาตุเป็นไปตามอำนาจปรุงแต่ง ตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของสิ่งที่เรียกว่าธาตุนั้นเอง นี่ก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องทาง ปรมัตถธรรมขึ้นมาอย่างนี้ ศีลธรรมก็ไม่ต้องเลิก คงปล่อยไว้ในขั้นที่ว่า บุคคลสามัญธรรมดาจะไม่ทำบาป แล้วก็จะทำบุญหรือทำดีให้ถึงพร้อมไม่ต้องยกเลิก แม้จะมีความคิดว่าตายแล้วเกิด ก็ไม่เป็นไร เพราะมันยังดีกว่าที่จะคิดว่าตายแล้วไม่เกิด

ศาสนากับปัญหาตาย - เกิด

            ศาสนาทุกศาสนามีประโยชน์แก่โลก แก่สังคมแล้วจะมีการสอนไปในทำนองที่ว่า ตายแล้วเกิดทั้งนั้น จะผิดกันอยู่แต่ว่าไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ คือตายแล้วเกิดเสร็จแล้วก็ไปรออยู่สำหรับที่จะไปเสวยสุข เสวยทุกข์ตามกรรมของตน

            รวมความแล้วก็ยังกล่าวได้ว่ามันอยู่ในพวกที่ถือว่าตายแล้วเกิดอยู่นั้นเอง ก็ต้องทำความดีด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่น ๆ ก็คล้ายกัน จะสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกมันก็ยังมุ่งหมายอยู่ในข้อที่ว่าจะต้องทำความดีนั่นแหละเป็นส่วนใหญ่

คำสอนของพระพุทธเจ้ากับปัญหาตาย - เกิด

            คนที่เขาเชื่อว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด เป็นวัฎฎสงสารนั้นเขาเชื่อกันมาก่อนครั้งพุทธกาล พอพระพุทธเจ้าท่านบังเกิดขึ้นมาในโลกก็มาเผชิญกับปัญหานี้ ในข้อที่ว่ามันควรจะให้เขาเชื่อว่าอะไรดี จะลบล้างของเก่า หรือว่าจะให้เชื่อของใหม่ ในคำสอนที่ว่าไม่มีบุคคลดี ในที่สุดก็กลายเป็นว่าเมื่อคนมันไม่เหมือนกัน ก็ต้องมีคำสอนที่เหมาะสมแก่คนเหล่านั้นเป็นพวก ๆ ไป

            นี่ก็เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเรื่องทางศีลธรรม คล้ายๆ กับว่ามีตัวมีตน แต่ท่านไม่ยืนยันในข้อที่ว่ามีตัวมีตน ยืนยันว่าถ้าถือว่าอย่างนี้ละก็จงทำอย่างนี้ ทีนี้ถ้าคนไม่อาจจะเห็นถึงขนาดนี้ก็ยอมรับว่า เอ้า! ถ้าอย่างนี้ก็มีตัวตนเวียนว่ายตายเกิดมันก็ทำความดีให้เผื่อไว้สำหรับคนที่จะเวียนว่ายตายเกิด

            เราจะหาว่าพระพุทธเจ้า ท่านตรัสไม่คงที่ไม่แน่นอนไม่คงเส้นคงวา อย่างนี้ก็ไม่ได้ มันอยู่ที่คนฟังนั้นต่างหาก เขาอยู่ในระดับอย่างไร พระพุทธองค์จะต้องทรงตอบเขาไปในลักษณะที่เป็นประโยชน์แก่เขาที่สุดเท่านั้น เพราะว่าท่านทำไปด้วยความเมตตา ให้คน ๆ นั้นได้รับประโยชน์ไม่มีความทุกข์และท่านทำไปด้วยปัญญา ท่านจึงทราบว่าควรจะพูดกับคน ๆ นี้ว่าอย่างไร

            ท่านมีทั้งปัญญา ท่านมีทั้งเมตตา ฉะนั้นจึงให้คำตอบที่ดีที่เป็นประโยชน์แก่เขาให้มากที่สุดได้

            ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูในข้อนี้ แล้วก็จะไม่เห็นไม่รู้สึกว่าพระพุทธเจ้านี้ ท่านตอบไม่คงเส้นคงวา ตอบแก่คนนี้อย่างหนึ่ง ตอบแก่คนโน้นอย่างหนึ่ง ตอบแก่คนหนึ่งก็สอนในทำนองที่ว่ามันเกิดอีก ให้ทำความดีเข้าไว้

            ตอบแก่อีกคนหนึ่งว่ามันไม่มีตัวไม่มีตนที่ไหน มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หรือว่าถ้าจะให้มันกลมกลืนกันไปได้ทั้งสองอย่าง ก็ให้ถือว่า อ้ายสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลมีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั้นแหละ ขอให้มันรับผิดชอบมันเอง ให้เหตุปัจจัย หรือสิ่งที่เป็นผลเกิดมาจากเหตุจากปัจจัยนั้นแหละ มันรู้สึกคิดนึกเอาเองว่าถืออย่างนี้ดีกว่า ปลอดภัยกว่า เพราะว่าเมื่อต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้วมันก็จะต้องทำแต่ฝ่ายที่ดี พอไปทำฝ่ายที่ชั่วเข้า มันก็เดือดร้อนเท่านั้นเอง มันจะเป็นตัวเป็นตนหรือจะไม่เป็นตัวเป็นตนก็สุดแท้ แต่ถ้าปรุงแต่งไปในทางที่ไม่ดีแล้วจะต้องเป็นทุกข์