ปาฐกถาธรรมเรื่อง
จิตตภาวนา ก็คือชีวิตพัฒนา (ต่อ)
โดย
พุทธทาส ภิกขุ

สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ปาฐกกถาธรรม
๘ มกราคม ๒๕๒๖



            

การพัฒนาจิตต้องทำให้เลื่อนสู่พุทธศาสตร์.

            เราจะต้องพัฒนาจิตของเรา ให้พ้นจากระดับสัตวศาสตร์, ให้พ้นจากระดับไสยศาสตร์ มาสู่ระดับพุทธศาสตร์ให้จนได้ นี่จะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ บางคน ดูจะยอมแพ้เสียแล้วเห็นว่ายุ่งยากลำบากนัก และไม่รู้ว่าจะได้อะไร; ถ้าอย่างนี้ละก็ ก็ป่วยการละ ป่วยการที่มาศึกษาพุทธศาสนาครึ่งท่อนแล้วก็ยอมแพ้ แล้วก็ไม่เอาไปทำให้ถึงที่สุดจุดหมายปลายทาง. นี้เราเรียกว่า จิตตภาวนา ระดับสุดท้ายจะต้องมาถึงพุทธศาสตร์ ก้าวล่วงสัตวศาสตร์ ก้าวล่วงไสยศาสตร์มาเสียได้, มันเป็นเรื่องของจิตที่จะต้องอบรม.

            เมื่อตะกี้นี้ที่พูดว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น ๓ ระดับนั้น ขอพูดเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า มันเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา จิตตภาวนาในระดับศีล ระดับสมาธิ ระดับปัญญา มันแยกกันไม่ได้ดอก. ในชีวิตมนุษย์เรานี้จะอยู่อย่างไม่มีศีลไม่ได้ดอก มันก็ตีกันตาย มันก็ฆ่ากันตาย มันก็เดือดร้อนผิดพลาดในบ้านเรือนหมด. ฉะนั้นต้องมีศีล, ชีวิตคนต้องมีศีล จะอยู่คนเดียวก็ตาม จะอยู่หลายคนก็ตาม ต้องมีระบบศีล; แล้วก็ต้องมีระบบจิตที่ถูกต้อง เพราะว่ามีศีลดีแล้วมันก็ง่าย ที่ระบบจิตมันถูกต้อง เมื่อระบบจิตมันถูกต้องแล้วระบบปัญญามันก็ถูกต้องเองแหละ ระบบจิตมันถูกต้องแล้ว ระบบปัญญามันจะถูกต้องเอง ฉะนั้น การที่เลื่อนมาจากสัตวศาสตร์มาสู่ไสยศาสตร์ มาสู่พุทธศาสตร์นี้ มันต้องมาตามแนวนี้ตามธรรมชาติ ซึ่งมันไม่แยกกัน เราลองอยู่ให้ดีให้ถูกเรื่อย ๆ ไปเถอะ มันจะสูงขึ้นมากขึ้นมาตามกฎเกณฑ์อันนี้.

จิตเป็นสมาธิแล้ว จะมีศีล ปัญญา เกิดขึ้น.

            ที่เห็นได้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ก็เช่นว่า ตั้งจิตทำสมาธิเถิด ตั้งจิตทำสมาธิเถิด, แล้วศีลจะมีเป็นของพลอยได้, เป็นของพลอยได้ ที่เราเรียกว่าพลอยได้ไม่ต้องลงทุนอะไร by product ตั้งจิตทำสมาธิท่าเดียวแหละ แล้วความเป็นศีล ความมีศีลจะรวมอยู่ในนั้นเอง โดยไม่ต้องตั้งใจ; นี่เพราะว่ามันแยกกันไม่ได้. แต่ว่าที่อื่น อาจารย์อื่นเขาอาจจะสอนอย่างอื่นนะ เขาเกณฑ์ให้ทำพิธีรับศีล สมาทานศีลอะไรกันก่อน จึงจะไปทำสมาธิอย่างนี้เบื้องต้น ก็ตามใจเขา; เราไม่มีหน้าที่คัดค้านเขา แล้วเราก็ไม่อยากจะคัดค้านแต่เราบอกว่ามันแยกกันไม่ได้ ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาเจริญสมาธิเถอะแล้วรวบรวมกำลังกายกำลังจิตเจริญสมาธิ ความหมายแห่งศีลจะมีขึ้นมาทันที, จะมีศีลอยู่ในการเจริญสมาธิ.

            ทีนี้ พอเจริญสมาธิ, ขอให้จริงเถอะ เจริญสมาธิเถอะ ปัญญามันจะออกมา; เพราะว่าการเจริญสมาธินั้น มันเป็นการปรับปรุงจิตที่ดีที่สุด ความรู้ที่ไม่รู้ที่มันอยากจะรู้อยู่ข้างใน มันจะค่อย ๆ ออกมา. พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า สมาหิโต นถาภูตํ ปชานาติ; คล้าย ๆ กับพูดเล่นง่าย ๆ ว่าผู้มีจิตเป็นสมาธิ แล้วย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง. มนุษย์อยากรู้อยู่แล้วโดยไม่รู้สึกอยู่ใต้สำนึก มันอยากรู้นั่นอยากรู้นี่ อยากรู้อยู่พร้อมไปหมด เพราะจิตไม่เป็นสมาธิ เพราะจิตมันที่เห็นว่าจะต้องรู้ หรือว่าเป็นอันตราย. ความอยากรู้มีอยู่แล้ว แต่มันรู้ไม่ได้ เพราะจิตไม่เป็นสมาธิ เพราะจิตมันหมกมุ่นบ้าง พัวพันบ้าง เศร้าหมองบ้าง พอทำจิตให้เกลี้ยง ความรู้นั้นมันจะออกมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ว่าอย่างนั้นดีกว่า.

            พอจิตเป็นสมาธิ ความรู้หลายอย่าง หลายประการจะออกมา ตามที่เราน้อมนึกอยู่ : น้อมนึกอยู่เดี๋ยวนั้นก็ได้ : หรือว่าน้อมนึกอยู่ในจิตใจใต้สำนึกไม่รู้สึกได้ มันจะออกมา; เมื่อจิตสบายดีมันนึกอะไรออกนี้ ขอให้สังเกตกันทุกคน พอเรานอนพักผ่อนสบายดี นอนหลับพักผ่อนสบายดีแล้วความรู้ความคิดพรูออกมาทีเดียว : เพราะว่าจิตมันเหมาะที่จะรู้. เพราะฉะนั้นเมื่อตั้งจิตทำสมาธิ ศีลจะมีมาเอง; เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วปัญญาจะค่อย ๆ ไหลออกมาเอง ตามที่เราน้อมนึกเพื่อจะรู้โดยเจตนาหรือไม่เจตนา.

            ฉะนั้น ขอให้รู้ว่า เราทุกคนนี่แหละ มันอยากรู้อะไรอยู่แล้วโดยที่เราไม่รู้สึกตัว หรือว่าโดยที่เราเคยรู้สึกอยาก, แล้วเราก็เลยไป เปลี่ยนไป มันก็เก็บไว้ว่าอยากจะรู้แล้วก็ไปอยากรู้เรื่องอื่นต่อไป ไม่มีที่สิ้นสุด. แต่ว่าเรื่องที่เราอยากรู้ มันจะเก็บไว้เป็นปัญหา เป็นความอยากจะรู้ : เมื่อจิตดีจิตเหมาะที่จะรู้ มันก็ออกมา, คำตอบมันก็ออกมา. นี้มันจึงคิดอะไรได้มาก, ไม่น่าเชื่อ, จะคิดอะไรได้มากไม่น่าเชื่อ จะรู้อะไรได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะว่าพยายามทำจิตให้เหมาะที่จะรู้.

            ฉะนั้นจึงขอร้องให้สนใจ ทำจิตให้เป็นสมาธิ นี่เป็นตัวแกนกลาง แกนกลางยืนโรงอยู่ ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ศีลมันจะมาตลอดเวลาที่เราตั้งจิตทำสมาธิพึงที่สุด, จะไปทุศีลขาดกันไม่ได้ดอก เมื่อตั้งใจจะทำสมาธิอยู่ แต่ถ้ามันขาดศีลอยู่ก่อนโน้น ก็ตามเรื่อง นั้นก็ทำไป ไปชะล้างกันเสียก่อน; ไปปลงอาบัติกันเสียก่อน, ไปทำอะไรกันเสียก่อน, แล้วมาตั้งหน้าตั้งตาทำสมาธิ แล้วศีลก็จะมีมาเองอย่างเพียงพอ แล้วปัญญาก็จะค่อย ๆ ออกมาอย่างเพียงพอแล้วมันก็เกิดความเพียงพอทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา. นี้เรียกว่า จิตตภาวนา การเจริญจิต หรือการอบรมจิต.

            ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่อาจแยกกันได้ เรียกว่า โดยธรรมชาติแล้วศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้ไม่อาจแยกกัน; ถ้าจะให้ทำการงานอะไรสักอย่างแล้ว ไม่อาจแยกกัน; ไม่ต้องพูดถึงเรื่องธรรมะ เรื่องธรรมดาสามัญในบ้านในเมืองเราจะทำอะไรอย่างนี้ มันต้องมีการควบคุมมือ, หรือควบคุมสิ่งที่จะทำ, แล้วก็ควบคุมจิตแล้วก็มีปัญญาที่จะทำ.

            อย่างเราจะผ่าฟืน เลวอย่างต่ำที่สุด เราจะผ่าฟืน เราต้องควบคุมมือนี้มันเป็นศีล; เราต้องควบคุมจิตนี้มันเป็นสมาธิ, แล้วต้องมีความรู้พอที่จะผ่าอย่างไร สำหรับไม้ชิ้นนี้ มันก็เป็นปัญญา ฉะนั้นในการกระทำของมนุษย์ที่จะสำเร็จประโยชน์แล้ว จะต้องมีพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ขาด; ถ้าขาดแล้วทำไม่ได้ ตัวอย่างผ่าฟืนนั่น ลองขาดการควบคุมมือ เดี๋ยวมันก็ตัดเอาตีนแหละ แทนที่จะไปตัดไม้ฟืน, มันก็ทำไม่ได้ดอก, ไม่ว่าจะทำอะไร. คุณจะทำเลข คุณจะเรียนหนังสือ คุณจะทำอะไรมันจะต้องมีลักษณะแห่งศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมกันอยู่ที่นั่น แล้วกลมกลืนกันเป็นอันเดียวกัน ไม่แยกกันเป็น ๓ อย่างดอก.

            นี้เป็น หลักสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ว่าจะต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ตามสัดส่วน แล้วกลมกลืน เป็นอันเดียวกัน; เขาเรียกว่า ธัมมสมังคี ความสมังคีแห่งธรรมะ. สมังคี แปลว่า มีส่วนประกอบเสมอพอดี, พอดีกัน คือเหมาะส่วน ถ้าแจกเป็นแปด เป็นอริยมรรคมีองค์แปด แล้วก็เรียกว่า มัคคสมังคี, มรรคทั้งแปดองค์ต้องมาพร้อมกันหมดเลย ทั้ง ๘ องค์ มาเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วก็ทำหน้าที่ตัดกิเลส มรรคมีองค์แปดก็คือศีล สมาธิ ปัญญา เพียงแต่ว่ากระจายออกเป็น ๘ ส่วน. ไม่ว่าอะไร ๆ ละ มันจะรวมอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา จะลดให้น้อยลงก็ได้จะให้พูดมากออกไปก็ได้ แต่แล้วต้องมาด้วยกันทั้งนั้นแหละ. ฉะนั้นเรารู้เรื่องธรรมชาติ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มันไม่เคยแยกกัน ถ้ามันจะต้องทำงานหรือทำหน้าที่.

ลักษณะของความมีสมาธิ

            ทีนี้ จะพูดถึงเรื่องความมีสมาธิ ความมีสมาธินั้นคืออย่างไร? นี่นักเรียน นักศึกษาอาจจะรู้อยู่แล้วว่า นั่งทำสมาธิตัวแข็งอยู่ เรียกว่า มีสมาธิ อย่างนี้ไม่ถูกตามความจริง. คำว่ามีสมาธิ คือจิตอบรมเป็นสมาธิแล้ว เดินอยู่ก็ได้ นั่งอยู่ก็ได้ ยืนอยู่ก็ได้ นอนอยู่ก็ได้ ไม่จำกัด แต่ขอให้จิตมันมี ลักษณะเป็นสมาธิ. เป็นสมาธิในที่นี้ พระบาลีจำกัดความไว้หลายคำ แต่คำที่เป็นหัวข้อสำคัญมีอยู่ ๓ คำ เท่านั้นแหละ คือ จิตบริสุทธิ์ เรียกว่าจิตมันบริสุทธิ์, ตอนนั้นไม่มีนิวรณ์ ไม่มีกิเลสรบกวน : จิตบริสุทธิ์ คำแรก ปริสุทฺโธ; ทีนี้จิตตั้งมั่นนี้เรียกว่า สมาหิโต; แล้ว กมฺมนีโย จิตว่องไวในหน้าที่ของจิต; สามอย่างนี้เรียกว่าเป็นองค์ประกอบ, เป็น factor ที่ขาดไม่ได้ของความเป็นสมาธิ.

            อันแรกต้องบริสุทธิ์ เป็นความบริสุทธิ์ของจิต เรียกว่า ปริสุทฺโธ จะเรียกว่า pureness, cleanliness อะไรก็ตามเถอะ ขอแต่ให้มันเป็นเรื่องสะอาดบริสุทธิ์. ทีนี้ ต่อมามันก็เป็น สมาหิโต ตั้งมั่น firm, firmness, stableness; แล้วแต่จะใช้คำไหนว่า จิตมันตั้งมั่น มั่นคง รวมกำลังแล้วมั่นคง ทีนี้ อีกคำหนึ่งก็ว่า กมฺมนีโย แปลว่า ควรแก่การกระทำ ภาษาฝรั่งเขาก็มีใช้กันอยู่แล้ว คำว่า active active ความหมายตรงกันเลย ควรแก่การกระทำ activeness มันมีความควรแก่การกระทำการงานของจิต. เขาจะนั่งอยู่ เดินอยู่ นอนอยู่ เดินคิดอยู่ อะไรก็ได้ สามอันนี้จะมีเต็มที่; นี้คือว่าจิตเป็นสมาธิ ไม่หมาย--ความว่าไปนั่งตัวแข็งเป็นท่อนไม้ อยู่ในฌานในสมาบัติ; นั้นเกินไป, ไม่ต้อง, ไม่ต้องหมายความอย่างนั้น หรือว่าเวลานั้นเป็นเวลาที่เราไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ไปฝึกสุดโต่ง ไปฝึกอย่างสุดโต่ง นั่งแข็งเป็นท่อนไม้อยู่ในฌานในสมาบัติ นั้นก็เรียกว่าสมาธิได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่สมาธิที่ใช้งานหรือที่ต้องการจะใช้งาน.

หลักปฏิบัติในการทำสมาธิ.

            เราเริ่มกระทำ เริ่มกระทำสมาธิ เป็นสมาธินิดหน่อยก็เรียกว่า ปริกัมมสมาธิ เริ่มทำสมาธิพอสักว่าเริ่มทำ เช่นเริ่มกำหนดลมหายใจ มันก็เริ่มเป็นสมาธิหน่อยหนึ่ง ๆ ตามแบบนั้น, แล้วทำไป ทำไป ดีขึ้น ๆ เฉียด ๆ สมาธิสูงสุดก็เรียกว่า อุปจารสมาธิ. ทีนี้ทำต่อไป ๆ เป็นอัปปนาสมาธิ นั้นมันจะเงียบ หยุดถึงขั้นสูงสุดที่ว่าแม้แต่ลมหายใจนี้; อันนั้นเอามาใช้อะไรไม่ได้ มันเป็นบทเรียนว่าทำให้ไปถึงนั่น, ไปถึงที่สุดนั่น เสร็จแล้วก็ถอยกลับออกมาอยู่ตรงที่ว่า เฉียด เฉียด, อุปจารสมาธิ คือ เฉียด.

            ฉะนั้นจะมาเดินอยู่ก็ได้ มานั่งอยู่ก็ได้ มาคิดนึกอะไรอยู่ก็ได้ ความเป็นสมาธิของจิตยังอยู่ แม้มาเดินคิดอะไรอยู่ เดินจงกรมอยู่ คิดอะไรอยู่ มันก็มี ปริสุทฺโธ คือจิตบริสุทธิ์ มี สมาหิโต-จิตตั้งมั่นแน่วแน่, แล้วก็เป็น กมฺมนีโย คือว่องไวต่อการคิดของจิต; นี่พอแล้ว พอแล้วสำหรับสมาธิที่จะใช้เป็นประโยชน์พิจารณา เห็นปัญญาดับทุกข์ได้. ถ้าเกินกว่านั้น ก็เข้าไปเก็บตัวเงียบอยู่ในฌานเป็นสมาบัติ อันนั้นจะใช้ประโยชน์อย่างนี้ไม่ได้; เขาใช้อย่างอื่น ใช้ไปในทางอยู่เป็นสุข, หรือว่าจะฝึกให้มันมาก ๆ ไว้ ฝึกให้ถึงขั้นที่สุดไว้ แต่พอเวลาใช้จริงนั้นไม่ใช้ในลักษณะอย่างนั้น ต้องออกมาจากสมาบัติ, ต้องออกมาจากอัปปนาสมาธิมาอยู่ในขั้นสมาธิธรรมดาสามัญ ที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ; เราก็คิดได้ เดินคิด นั่งคิด นอนคิดอะไรอยู่ก็ได้.

            นี่คือ จิตประกอบด้วยองค์แห่งความเป็นสมาธิ คือบริสุทธิ์ หนึ่ง, ตั้งมั่นหนึ่ง, ควรแก่หน้าที่การงานของจิตหนึ่ง, นี่จำเป็นอย่างยิ่งแม้แก่ลูกเด็ก ๆ นักศึกษา นิสิตนักศึกษา อะไรก็ตาม; ถ้าต้องการจะให้จิตตภาวนาเป็นประโยชน์แก่พวกท่านทั้งหลายแล้วก็ ทำสมาธิอย่างนี้ให้ได้แล้ว เอามาใช้ให้ได้, คือสามารถทำจิตให้ว่างจากกิเลสนิวรณ์รบกวน เป็นบริสุทธิ์ได้ ทำจิตตั้งมั่นรวมกำลังทั้งหมดไม่มีฟุ้งซ่านได้แล้วจิตนั้นกำลังอ่อนไหว รวดเร็วในการทำหน้าที่ของจิต เราก็คิดนึกได้. นี่สมาธิชนิดนี้เป็นสมาธิที่เรียกว่า เอามาใช้ประโยชน์ได้ อย่างที่เรียกกันว่ามัน practical คือมันกำลังใช้เป็นประโยชน์อยู่ได้, มันไม่เกินจนเป็นของเก็บ, แล้วมันก็ยังไม่น้อยจนว่าใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้. ฉะนั้นพยายามทำให้สามาถใช้จิตที่พัฒนาดีแล้วนี้ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด.

เทคนิคของสมาธิ.

            ทีนี้ ก็จะพูดต่อไปถึงเรื่องที่เนื่อง ๆ กันอยู่ ว่าองค์ประกอบ ที่จะรวมกันเข้าเป็นเรื่องของสมาธิ จะเรียกว่าเทคนิคก็ได้ มันคำเดียวกันนั่นแหละต้องมีส่วนที่ต้องการมาครบถ้วนถูกต้อง เป็นเทคนิค. ส่วนประกอบที่จะเกิดความมีสมาธิขึ้นมาได้นี้ เราจะพูดเป็นเค้า ๆ; เพราะว่าแบบของสมาธิก็มีมาก, แบบของสมาธิก็มีมาก. พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็มากแบบเหมือนกัน แต่พอมาชั้นหลังอาจารย์ชั้นหลัง ยิ่ง เพิ่มแบบมากขึ้นไปอีกจนจำไม่ไหว, แล้วมันน่าหัวที่ว่า เดี๋ยวนี้เกิดมีแบบวัดนั้นแบบวัดนี้ แบบอาจารย์นั้นแบบอาจารย์นี้. ฟังดูเป็นเรื่องบ้า สมาธิแบบวัดนั้น สมาธิแบบวัดนี้ แบบอาจารย์นั้นแบบอาจารย์นี้ มันเป็นเรื่องบ้า. สวนโมกข์ไม่มีแบบ ไม่มีสมาธิแบบสวนโมกข์ มีแต่แบบของพระพุทธเจ้า ที่เราไปศึกษาแล้วเลือก เอามาใช้หลาย ๆ แบบเหมือนกัน แบบของพระพุทธเจ้า, ไม่มีแบบของสวนโมกข์.

            นี้ต่อให้เป็นแบบของพระพุทธเจ้า นี้พูดไม่ใช่จ้วงจาบพระพุทธเจ้า มันก็ยังเป็นแบบของธรรมชาติ เพราะว่าพระพุทธเจ้าจะตั้งแบบตั้งกฎอะไรขึ้นมาไม่ได้ดอก พระพุทธเจ้าจะตั้งกฎของธรรมชาติให้จิตเป็นสมาธินั้นไม่ได้ดอก มันเป็นแบบของธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ. ท่านตรัสรู้แล้วท่านค้นพบแบบของธรรมชาติแล้วท่านเอามาสอนพวกเรา. จะสอนได้กี่แบบ ท่านก็สอนหมด เรียกว่าแบบของพระพุทธเจ้า ที่ท่านค้นเอาของธรรมชาติได้. ฉะนั้น อาจารย์ไหนมาเรียกว่าแบบของตัว แบบของวัดนั้น แบบของวัดนี้ อาจารย์ขี้ตู่ทั้งนั้นแหละ, เล่นไม่ซื่อแหละ, ลูกศิษย์ก็เหมือนกันแหละ อย่าไปพลอยโง่ เรียกแบบวัดนั้นแบบวัดนี้ขึ้นมา มันเป็นไปไม่ได้, มันเป็นแบบของพระพุทธเจ้า ที่ท่านไปค้นเอามาจากธรรมชาติ.

            ในบรรดาแบบหลาย ๆ แบบ ที่พระพุทธเจ้าท่านชี้แนะไว้ เราชอบแบบที่เรียกว่า อานาปานสติภาวนา แบบนี้มันเรียบ เงียบ เย็นสนิท ไม่ตื่นตูม ไม่น่ากลัว ไม่เหมือนกับแบบบางแบบ เช่น กายคตาสติ หรือสุภกัมมัฏฐาน เป็นต้น นั้นมันน่ากลัวโกลาหลวุ่นวาย. แบบกำหนดลมหายใจนี้เงียบสงบ เย็นตลอดเวลา. ที่นี่เราชอบแบบอานาปานสติ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงสรรเสริญ ท่านแนะไว้โดยเฉพาะว่า "แบบอานาปานสติดีที่สุด เรียกว่าสงบ เงียบที่สุด เยือกเย็นที่สุด; แม้แต่ตถาคตก็อาศัยอานาปานสติ ภาวนาในการตรัสรู้". แบบที่พระพุทธเจ้าท่านก็ได้ใช้และตรัสรู้. นี่เรียกว่าแบบอานาปานสติภาวนา.

            ทีนี้ จะมีกี่แบบ โดยรายละเอียดปลีกย่อย, มันจะมีกี่แบบก็ ตามใจ; แต่เนื้อแท้ของสมาธิจะตรงกันหมดแหละ จะตรงกันหมด ในการที่จะทำสมาธิได้ คือว่า :-

            ข้อแรก จะต้องมีความเหมาะสม, ความเหมาะสมของสิ่งที่แวดล้อม. เราจะทำสมาธิสักที เราก็หาเลือกที่ที่พอเหมาะสม; ร่างกายก็เหมาะสม ไม่เจ็บไข้อยู่ ไม่เป็นไรอยู่ ไม่มีเรื่องรบกวนอยู่. นี้ต้องได้ความเหมาะสมเกี่ยวกับร่างกาย เกี่ยวกับที่ที่เราจะนั่งทำสมาธิ คือปรับปรุงร่างกาย สิ่งแวดล้อมนี่ ให้เหมาะสมซิ แล้วก็ได้อารมณ์ของสมาธิที่เหมาะสม; เช่น อานาปานสติ, ใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ นี้ก็เรียกว่าเหมาะสม.

            ข้อที่ ๒. มีกัลยาณมิตรที่จะให้ความช่วยเหลือ, มันน่าแปลกที่เรียกว่า กัลยาณมิตร. คำนี้ขอให้นักศึกษาทั้งหลายทราบไว้ด้วยว่า ครูสอนกัมมัฏฐานนั้นเขาไม่เรียกอาจารย์ หรือไม่เรียกครู, ไม่เรียก กลับเรียกว่ากัลยาณมิตร. ใช้กันมาแต่เดิม แต่ว่าเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแล้ว บางสำนักเขาเปลี่ยนเป็นให้เรียกนั่นเรียกอะไรที่คล้าย ๆ กับว่ามันดีกว่ากันมาก, แต่ของเดิมแล้วก็ใช้คำว่ากัลยาณมิตร. จะเล่าให้ฟัง.

            พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายมีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดานี่ ถ้าได้อาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้ว; เป็นกัลยาณมิตรแล้ว ที่มีความเกิดจะพ้นจากความเกิด, ที่มีความแก่จะพ้นจากความแก่, ที่มีความเจ็บจะพ้นจากความเจ็บ, ที่มีความตายจะพ้นจากความตาย อย่างนี้เป็นต้น. ท่านใช้คำว่ากัลยาณมิตร ไม่ใช่ใช้คำว่าอาศัยเราเป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นผู้นำ เป็นอะไร, ไม่เคยใช้คำนั้น; ใช้คำว่ากัลยาณมิตร คือเป็นเพื่อนที่ดี แล้วก็ปรากฏว่าไม่ใช้กันมาอย่างนี้แหละ. แม้ในหนังสือเก่า ๆ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเองก็ดูจะใช้คำนี้ ใช้คำว่ากัลยาณมิตร แล้วคงจะได้ใช้กันมาเรื่อย ๆ ในหมู่กัมมัฏฐาน สอนกัมมัฏฐาน; แม้กระทั่งบ้านเรานี้ที่ไชยา นี้แหละเขาจะเรียกอาจารย์ผู้สอนกัมมัฏฐานว่ากัลยาณมิตร กันทั้งนั้นแหละ ติดปากมาในยุคที่เขาทำกัมมัฏฐานกันเป็นประจำ เป็นของธรรมดา เพราะว่าเมื่ออาตมาไปเรียนที่กรุงเทพฯ เรียนบาลีแล้วกลับมานี่; อาจารย์กัมมัฏฐานคนหนึ่งในชั้น อาจารย์รุ่นแรก ๆ นู้นที่เหลืออยู่ ท่านมาแสดงความยินดีด้วยกับอาตมาว่า "ยินดี ๆ ต่อไปนี้เราจะได้กัลยาณมิตรอีกคนหนึ่ง"; หมายความว่าให้อาตมานี้เป็นกัลยาณมิตรของท่าน ทั้งที่ท่านก็เป็นผู้สอนกัมมัฏฐานจนใครเรียกว่าอาจารย์ นี้แปลว่าท่านใช้ถ้อยคำเหล่านี้กันมาถูกต้องแล้ว เรียกว่า กัลยาณมิตร ฉะนั้น เราต้องมีกัลยาณมิตร.

            ในการทำสมาธิต้องมีกัลยาณมิตร คือผู้ที่ให้ความรู้ หรือคอยให้คำปรึกษาช่วยเหลือตามสมควร แต่ต้องไม่ใช่อาจารย์ผูกขาดเก็บภาษี, เดี๋ยวนี้พวกอาจารย์เหล่านี้ไว้ใจไม่ค่อยได้ เป็นอาจารย์เก็บภาษีเสียโดยมาก ไม่ใช่กัลยาณมิตรด้วย. มีกัลยาณมิตรที่บริสุทธิ์ คอยให้คำปรึกษาที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่มานั่งคุมอยู่ข้าง ๆ ทั้งวันทั้งคืนเหมือนบางแบบ. ในสมัยพุทธกาลก็เหมือนกันแหละ เข้ารับกัมมัฏฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วไปปฏิบัติล้มลุกคลุกคลาน, ล้มลุกคลุกคลาน, ล้มลุกคลุกคลาน, อยู่จนถึงที่สุดแล้วจึงจะค่อยมาทูลถามให้แก้ปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ไม่ใช่ถามทุกวัน ไม่ใช่มีอะไรนิดหนึ่งก็ต้องถาม.

            เดี๋ยวนี้ก็มีปัญหาที่ว่า พอไปทำสมาธิเข้าแล้วมันก็เกิดอาการประหลาด ๆ น่ากลัวก็มี, น่าอัศจรรย์ก็มี ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของจิต เป็นอย่างนั้นเอง แล้วคนนั้นก็กลัว แล้วก็ไม่รู้จะถามใคร เลยวุ่นวายกันใหญ่ ถ้าถือตามแบบโบราณก็ไม่ต้องกลัว; ไม่ต้องกลัว, พอลงมือทำสมาธิแล้วเห็นอะไรแปลก ๆ รู้สึกอะไรแปลก ๆ เป็นปรากฏการณ์แปลก ๆ ก็ไม่ต้องกลัว, ช่างหัวมัน, ไม่ใช่, เราไม่ต้องการ. เราต้องการแต่ความสงบ เราเปลี่ยนหาความสงบ, ตั้งต้นทำไปใหม่จนกว่าจะสงบ; เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นจะต้องมีกัลยาณมิตรมานั่งคุมแจอยู่ข้าง ๆ ดอก นาน ๆ พบกันทีก็ได้. นี่ขอให้รู้ไว้ว่า จะต้องมีกัลยาณมิตร คือที่ปรึกษาก็แล้วกัน คนหนึ่ง.

            ทีนี้ ข้อที่ ๓ กำหนดอารมณ์ในขั้นเริ่มแรก ที่เรียกว่า ปริกัมมภาวนา ซึ่งได้รับคำอธิบายหรือได้รับการเล่าเรียนมาพอสมควร ก็ทำเถอะ มันก็ล้มแหละ, ทำเถอะมันก็ล้ม ทำ-ล้ม, ทำ-ล้ม, เหมือนกับขี่รถจักรยาน ไม่มีใครขึ้นขี่รถจักรยานทีเดียวไปได้ ทั้งที่เห็นอยู่ : สอนกันอย่างไร, ขี่ให้ดูอย่างไร, คนนั้นพอขึ้นมันก็ล้มแหละ เพราะฉะนั้นมันต้องขึ้นอีกแหละ ล้มก็เอาอีก, ล้มก็เอาอีก, ล้มก็เอาอีกไม่กี่ล้ม ไม่กี่ ๒๐-๓๐ ล้ม มันก็ขี่ได้. เพราะฉะนั้นให้การงานนั่นแหละมันสอนดีกว่า อย่าให้คน สอนกันนัก มันจะโง่. ให้คนสอนกันนักนี่มันจะโง่ ให้การกระทำนั่นแหละ สอนจะเป็นผลดีกว่า แล้วจะได้, ได้จริง.

            ฉะนั้นเราก็ทำซิ ปริกัมมภาวนา ทำเถอะ-ทำเถอะ-ทำเถอะ-ทำเถอะ แล้วมันก็ไม่ได้, แล้วมันก็ไม่ได้, แต่มันค่อย ๆ ได้ขึ้นมาทุกที เหมือนกับเด็ก ๆ มันจะสอนยืน เด็กทารกมันได้แต่นั่งนอนแล้วมันจะสอนยืนมันก็ล้มแหละ, มันก็ล้มแหละ, แต่แล้วมันก็ยืนเรื่อยแหละ มันก็ค่อย ๆ ได้ ค่อย ๆ ได้มันจนตั้งไข่ได้อย่างนี้ เป็นต้น. นั่นแหละคือธรรมชาติสอน. แม้แต่จะพายเรืออย่างนี้ มันก็ต้องหัดพายกันหลายสิบครั้งแหละ กว่าเรือมันจะตรง ไม่ใช่เห็นอยู่อย่างนี้แล้วก็ทำแล้วมันจะได้. ฉะนั้นขอให้การทำซ้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ซ้ำแหละเป็นผู้สอน มันก็จะค่อย ๆ ได้เหมือนกับหัดพายเรือหรือเหมือนกับเด็กมันหัดยืน แล้วมันหัดเดิน, หรือว่าเหมือนกับหัดขี่รถจักรยาน. ตอนนี้เป็นปริกัมมภาวนาทั้งนั้น คือเราต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก, ซ้ำแล้วซ้ำอีก.

            ทีนี้ ก็ทำต่อไปซิขั้นที่ ๓ ก็จะถึงขั้นที่เรียกว่าเฉียด, เฉียดไปข้างฝ่ายโน้นน่ะ ก็เรียกว่าอุปจารภาวนา. จิตมันจะเริ่มสงบ; พอจิตมันเริ่มสงบมันก็อยู่ในสภาพอื่นแล้ว ไม่เหมือนทีแรกแล้ว ก็ทำให้มัน อย่างนั้นแหละ, ให้มันมากขึ้น ๆ, ทำซ้ำซ้ำอยู่นั่นแหละ, มันดีขึ้น ๆ จนมันถึงขั้นสุดท้ายคือขั้นแน่วแน่.

            ฉะนั้นมันจึงอยู่ในขั้นที่เรียกว่าเริ่มกระทำ, แล้วขั้นที่เรียกว่า เฉียดเข้าไปแล้ว, แล้วขั้นที่ว่าแน่วแน่แล้ว. นี้จะมีอยู่สามอย่างนี้ ทุกแบบ ทุกแบบ ไม่ว่าจะแบบไหน. ฉะนั้นเราอย่าไปกลัว เมื่อรู้สึกอะไรแปลกประหลาด หรือมันเห็นอะไรแปลกประหลาด มันเป็นอย่างนั้นเองตามแบบของจิต, ไม่กลัว; ถ้ามันไม่ใช่เรื่องความสงบแล้ว ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ไม่ชี้ ทำต่อไปเพื่อความสงบ.

            ในขั้นที่เรียกว่า ริเริ่ม มันก็โกลาหลวุ่นวายเป็นธรรมดา, ไม่ต้องกลัว, แล้วมันค่อย ๆ สงบ ค่อย ๆ สงบลง นี้มันเฉียดเป็น อุปจาระเฉียดเข้าไปแล้ว, ทำต่อไปอีกมันจะเป็นอัปปนา คือแน่วแน่. แล้วมันแน่วแน่ถึงขั้นที่เป็นฌาน. พอเข้าฌานได้ มันก็แน่วแน่ มันไม่มาทำอะไรได้ดอก ที่อยู่ในฌานนั้น จะมาคิดนึกเดินยืนอะไรไม่ได้. อยู่ในฌานมันต้องอยู่ในอิริยาบถที่แน่แน่วคือนิ่งนั่นแหละ แล้วฌานนั้นถ้าไปหยุดอยู่นาน หยุดอยู่ในฌานนาน เขาเรียกว่าสมาบัติ. เริ่มเข้าฌาน แล้วหยุดอยู่ในฌาน แล้วกว่าจะออกจากฌาน นี้เรียกว่าสมาบัติ. ทำจนเฉียด เฉียดแล้วก็ถึงขั้นแน่วแน่ คือเข้าฌานได้ แล้ว ระยะที่อยู่ในฌาน นานตามต้องการนี้เรียกว่าสมาบัติไม่ต้องสนใจดอก, แล้วไม่ใช่สำหรับทุกคน; จะบอกให้รู้ว่า ที่จะเข้าฌานหรืออยู่ในสมาบัตินั้น ไม่ใช่เรื่องสำหรับทุกคน ธรรมชาติไม่ได้กำหนดมาสำหรับทุกคน. แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนไว้ในฐานะเป็นสำหรับทุกคน; แต่ว่าทุกคนทำจิตให้เป็นสมาธิอย่างที่ว่า นี้ ปริสุทฺโธ สมาหิโต กมฺมนีโย, นี้ทำได้ทุกคน อยู่ในชั้นที่เรียกว่า เฉียด หรือ อุปจาระ

            ทีนี้ ถ้าว่าทำถึงชั้นแน่วแน่ได้ มันก็มีความเป็นสมาธิมาก เรียกว่ามันประกอบอยู่ในจิตแหละ จึงเอามาใช้ได้; เมื่อออกจากฌาน, เมื่อออกจากสมาบัติแล้วมาอยู่ในชั้นที่มีความตื่นตัวรู้สึกอยู่นี้ มันก็มีอานุภาพของสมาธิมากพอที่จะทำอะไรได้ดีกว่า. แต่คำว่า สมาธิ ที่เราทุกคนจะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์นั้น มันเป็นชั้นอุปจารสมาธิทั้งนั้น คืออานุภาพของสมาธิ เมื่อฝึกมันมาอยู่ในจิต จิตนี้มันจะยังบริสุทธิ์หรือว่ายังตั้งมั่น หรือยังว่องไวอยู่; แม้ว่าเราจะออกจากฌานแล้ว ออกจากสมาธิแล้วก็มาอยู่ในสมาธิในความหมายทั่วไปนี้. ฉะนั้นเขาจึงเดินคิดก็ได้ นอนคิดก็ได้ นั่งคิดก็ได้ หรือว่าจะทำอะไรก็ได้ ด้วยจิตเป็นสมาธิ ทำอะไรก็ได้ด้วยจิตที่เป็นสมาธิ คือลักษณะ ปริสุทฺโธ สมาหิโต กมฺมนีโย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนหนังสือที่ยาก ๆ

            นี่เรียกว่า องค์ประกอบที่มันจะต้องถูกลักษณะของสมาธิ มันจะต้องมีอย่างนี้ : มีสิ่งแวดล้อมพอสบาย, มีอารมณ์พอสบาย, แล้วมีที่ปรึกษาที่เหมาะสม, แล้วก็เจริญอย่างปริกัมม์, แล้วก็เจริญอย่างอุปจาระ, แล้วก็เจริญอย่างอัปปนา แล้วก็หมด. เรื่องมันก็จบ เรารู้จักทำเป็นไปตามกฎเกณฑ์อันนี้.

รู้จักคำว่า สมถะ, วิปัสสนา ให้ถูกต้อง.

            ทีนี้ ไหน ๆ พูดแล้วก็พูดให้จบเสียดีกว่า เพราะมันจะต้องพูดครั้งเดียวเท่านั้น. นี้ถ้อยคำที่กำลังสับสนกันอยู่มีอยู่ ๒ คำ คือว่า สมถะ กับคำว่า วิปัสสนา. สมถะ แปลว่า สงบรำงับ. วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง. ทำสมาธิในขั้นแรกเรียกว่า สมถะ สงบจิต. ขั้นต่อไป เรียกว่าวิปัสสนา คือเห็นแจ้ง.ความหมายมันชัดเจนอยู่แล้ว สมถะทำให้สงบ ไม่ได้เกี่ยวกับคิดเลย ไม่ได้เกี่ยวกับคิดหรือใคร่ครวญ ทำให้สงบ ทำให้สงบ ให้เป็นสมาธิเถอะ. เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ความรู้จะค่อย ๆ แสดงตัวออกมา.

            ทีนี้ คำว่า วิปัสสนา นี้แปลว่า เห็นแจ้ง ก็ไม่ใช่คิด ไม่ใช่พิจารณา. เดี๋ยวนี้มักจะเข้าใจว่าเรื่องคิด เรื่องพิจารณา เรื่องใช้เหตุผล อย่างนี้กันเกือบจะทั้งนั้น. อาตมาเองก็เคยเข้าใจผิด เพราะว่าเรียนมาในโรงเรียนเขาสอนอย่างนั้น มันกลายเป็นเรื่องของการคิดด้วยเหตุผล, คิดด้วยวิธีคิดไปเสียหมด; ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องของการคิด. สมถะเป็นเรื่องของการดู, วิปัสสนาเป็นเรื่องของการเห็น. เราต้องดูเสียก่อนมันจึงจะเห็น. ในระยะที่ดูนั้นมันเป็นสมถะ ในระยะที่เห็นนี้มันเป็นวิปัสสนา; ฉะนั้นเราจะต้องเริ่มด้วยการดู ตานี่ดูเสียก่อนซิ พอดูแล้วมัน จึงจะเห็น.

            นี้เริ่มด้วยการดู นี้ดูมันยังดูไม่ได้ เพราะว่าตามันมัว ต้องทำตาให้ใสให้กระจ่างเสียก่อน; ฉะนั้น จึงทำสมาธิขจัดนิวรณ์, นิวรณ์ห้า; ดูจะเข้าใจกันดีอยู่แล้วนิวรณ์ห้า ขจัดนิวรณ์ห้าออกไป มันเหมือนกับของสกปรกที่มาเปื้อนแว่นตา แล้วแว่นตามันดูไม่เห็น. นิวรณ์ห้า เหมือนของสกปรกที่แว่นตา เช็ดออกไปเสีย แล้วแว่นตามันก็จะใส จะดูเห็น.

            นิวรณ์ห้า คือความเคยชินตามธรรมชาติ ไปในทางเพศ กามฉันทะ, ในทางพยาบาท คือหงุดหงิด ไม่ค่อยชอบใจอะไรอยู่ เป็นธรรมดา, แล้ว ถีนมิทธะ ความหดหู่ ห่อเหี่ยว ลดต่ำ, อุทธัจจกุกกุจจะ มันฟุ้งซ่านไปทางตรงกันข้าม, แล้ว วิจิกิจฉา คือความลังเล ใจมันลังเล ไม่แน่ใจในสิ่งที่กระทำ; นี่เรียกว่า นิวรณ์ห้า มีอยู่ตามธรรมชาติ มันจะคอยรบกวนจิตอยู่เสมอ. แล้วยังมีธรรมะอื่น ๆ ที่เนื่องกันอยู่กับนิวรณ์ มันก็ยังมีอยู่เหมือนกัน แต่รวมสงเคราะห์เรียกว่านิวรณ์ห้าก็พอแล้ว ต้องเช็ดออกไปเสียจากตาหรือจะเรียกว่า แว่นตาก็ได้ หรือจะเปรียบเหมือนกับเอาน้ำยาล้างตา มาล้างตาให้มันสะอาดเสียก่อน.

            นี่เป็นเรื่องของสมาธิ หรือสมถะ ทำจิตให้สงบ คือทำตาให้เหมาะสำหรับที่จะดู พอมันเหมาะที่จะดูแล้ว ทีนี้ก็ทำวิปัสสนาคือถึงขั้นที่เห็น. สมถะ คือ "ดู", วิปัสสนา คือ "เห็น". รวบรวมปรับปรุงจิตให้เหมาะที่จะดู แล้วมันก็จะเห็น แล้วมันไม่ค่อยแยกกันดอก ดูแล้วเห็นนี่ไม่ค่อยแยกกัน เพราะว่าเราอาจจะเช็ดแว่นตาให้สะอาดที่สุด แล้วดู แล้วก็เห็น. ถ้าเช็ดแว่นตาไม่ได้ เต็มไปด้วยฝ้าเปรอะไปหมดมันก็ไม่เห็น แม้จะดูมันก็ไม่เห็น. ฉะนั้นหัดทำสมาธิเหมือนกับการเช็ดแว่นตา เสร็จแล้วก็ดู แล้วก็เห็น คือวิปัสสนา. แต่ว่าบางทีเขาเรียกรวมกันทั้งสองอย่างนี้ว่า วิปัสสนาก็มี เช่น เขาพูดกันว่าไปทำวิปัสสนา, ไปทำวิปัสสนา, นี้เขารวมทั้งสองอย่างนี้เข้าเป็นคำเดียวกัน เรียกว่าไปทำวิปัสสนา. แต่เนื้อแท้มันจะแยกกันอยู่เป็น ๒ ตอน คือสมถะเหมือนกับเตรียมการดู วิปัสสนาคือการเห็น; ส่วนศีลนั้น ฝากเนื้อฝากตัว อยู่ในสมถะในสมาธิแล้ว.

            ฉะนั้น เข้าใจคำว่า วิปัสสนา ให้ดี ๆ มันเป็นเรื่องดู ไม่ใช่เรื่องคิด; ถ้าเรื่องคิดด้วยเหตุผลแล้ว ความคิดหรือความรู้ของเราจะนำ นำความคิด แล้วไปกันผิดทางได้, คือมันคิดไปตามความรู้ที่ได้เล่าเรียนมา; ฉะนั้นจึงทำวิปัสสนาไม่สำเร็จ เพราะเขาไปมัวคิดตามที่ได้เล่าเรียนมา; ไม่ใช่เช็ดแว่นตาให้ดี แล้วดูอย่างเป็นอิสระแล้วก็เห็นจริง, ไม่ใช่; นี่เรียกว่า สมถะและวิปัสสนา.

เมื่อจิตสงบก็ดูให้เห็นตถตา.

            ดูหลังจากเช็ดนิวรณ์ ที่เปื้อนแว่นตาออกไปแล้ว ทีนี้ ก็เห็น ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ เห็นไตรลักษณ์นั่นแหละ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเรียกว่า เห็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา; นี่ก็เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือจะเรียกรวม ๆ กันว่าเห็นสุญญตาก็ได้. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ล้วน แต่เป็นสุญญตา คือว่างจากตัวตน. เรียกให้ไพเราะก็ว่าเห็นตถตา คือเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง; ถ้าเห็นก็เห็นสรุปยอดว่าเห็นเช่นนั้นเอง ไม่น่ายึดถือ ไม่น่ายึดมั่น ไม่น่าไป หลงรัก หลงโกรธ หลงเกลียด หลงกลัว อาลัยอาวรณ์ อิจฉาริษยา หึงหวงอะไรต่าง ๆ นี้เรียกว่า เห็นตถตา.

            พูดให้ดีกว่านั้นอีก ก็คือเห็นพระตถาคตแหละ; เมื่อเห็นตถตา จิตนั้นจะเป็นจิตตถาคต. ตถาคต แปลว่า ผู้ถึงซึ่งตถา, ผู้ถึงซึ่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือสุญญตา. ฉะนั้น ผู้ที่ทำวิปัสสนาสำเร็จ เห็นตถตาเป็นต้นแล้ว ก็คือเห็นพระพุทธเจ้านั่นเอง; เห็นตถาคต เห็นพระตถาคต หรือจะเรียกว่าเห็นพระอรหันต์. พระอรหันต์ทุก ๆ องค์เป็นตถาคต คือพระอรหันต์ทุกองค์ถึงแล้วซึ่งตถา ถึงแล้วซึ่งความจริงของความเป็นเช่นนั้นเอง. พระพุทธเจ้าเป็นจอมพระอรหันต์เท่านั้นแหละ; แต่ก็เรียกว่าตถาคต ได้เหมือนกัน แล้วพระองค์ก็ทรงเรียกพระองค์เองด้วยคำว่า ตถาคต คือผู้ที่ถึงแล้วซึ่งตถา.

            ฉะนั้นการเห็นของวิปัสสนานี้ไม่ใช่เล่น จะเห็นธรรมทั้งปวง แล้วจะเห็นพระตถาคต เห็นความเป็นตถาคต. นี่เรียกว่า "เห็น". "ดู" แล้ว "เห็น" ก็ได้อานิสงส์, ได้อานิสงส์ทุกอย่างที่มันควรจะได้. ที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะความโง่ว่ามีตัวตน, มันก็เลิกเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะไม่มีตัวตน.

            ทีนี้แม้ว่าอยู่ในโลกนี้ ประกอบการงานเหงื่อไหลไคลย้อยอยู่ แต่ถ้าเห็นธรรมะเห็น ตถตา แล้ว มันจะไม่เป็นทุกข์, มันจะสนุกอยู่ในการทำงาน; เพราะมันเช่นนั้นเอง, มันเช่นนั้นเอง. จะทำนา ทำสวน ค้าขาย หรือทำอะไรก็ตาม มันเช่นนั้นเอง จะเป็นนักเรียนนักศึกษา เรียนอะไรยากลำบากอยู่ มันก็เช่นนั้นเอง แล้วมันก็ไม่เป็นทุกข์; เรียกว่าทำงานไปพลางสนุกไปพลาง นั่นแหละวิเศษที่ตรงนั้น. คนที่ไม่มีธรรมะ มันก็ทำงานไปพลาง ด่าตัวเองไปพลาง เป็นทุกข์ไปพลาง ด่าผีสางเทวดาไปพลาง คนที่ไม่มีธรรมะ. คนที่มีธรรมะ เอ้า, มันเป็นเช่นนั้นเอง ก็ทำไปซิ, เอ้า, ก็พอใจที่ทำได้มันก็พอใจ.

            ที่อาตมาบอกว่ามันเป็นชีวิตแบบผีเสื้อ ผีเสื้อเที่ยวทำมาหากิน ดูดเกษรดอกไม้ที่สวย ๆ ในป่า สวย ๆ นั้น ได้เลี้ยงชีพด้วย แล้วก็ได้เป็นสุขสนุกสนานในการเลี้ยงชีวิตนั้นด้วย ไม่มีความทุกข์เลย. ถ้า-มนุษย์เราสามารถจะใช้ความรู้ตถตาประกับกันอยู่กับหน้าที่ การงานที่กระทำแล้ว เขาจะพอใจเป็นสุขในการงานที่กระทำ เป็นชีวิตแบบผีเสื้อ แต่ไม่ใช่หมายความว่าผีเสื้อนี้อ่อนแอ เดี๋ยวก็ตายไม่ทันรู้ ไม่ใช่อย่างนั้น. เราเอาความหมายแต่ว่า ทำงานด้วย แล้วเป็นสุขอยู่ในการงานนั้นด้วย; เมื่อเรียนอยู่ก็เป็นสุข, เมื่อเป็นครูอาจารย์ก็เป็นสุข, ในขณะที่ทำการงานนี่สามารถจะทำให้การงานเป็นความสุข เป็นความสนุกสนานอยู่ในตัวการงานนั้น เพราะมีจิตเป็นอย่างนี้.

            ทีนี้ ทางสังคม เขาเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัวแล้วปัญหาทางสังคมก็ไม่มี เขารักผู้อื่น เพราะไม่เห็นแก่ตัว; เมื่อเขารักผู้อื่น เขาก็ฆ่าใครไม่ได้ ขโมยใครไม่ได้ ล่วงกาเมฯ ใครไม่ได้ พูดเท็จไม่ได้ ดื่มน้ำเมาให้ใครเกลียด เหม็น ก็ไม่ได้, มันก็เป็นการดีในทางสังคม. ผู้ที่มีจิตประกอบด้วยธรรมะมันจะดีในทางสังคม คือเป็นสุขไปด้วยกันทั้งหมด, แล้วเขาก็จะหยุดเวียนว่ายไปในกองทุกข์ คือไม่มีการเวียนว่ายในกองทุกข์อีกต่อไป. นี่สรุปยอดมันเป็นอย่างนี้.

            ขอให้มีจิตตภาวนา การอบรมจิตให้สมบูรณ์ เรียกว่า ทั้งส่วนศีล สมาธิ ปัญญา ให้ละเสียซึ่งส่วนต่ำ ๆ แล้วก็สูง ๆ ขึ้นไป ละจากสัตวศาสตร์ มาสู่ไสยศาสตร์พักหนึ่ง แล้วก็ละจาก ไสยศาสตร์ไปสู่พุทธศาสตร์ถึงที่สุด นี่คือจิตตภาวนา. จะทำอย่างไรได้เล่า เราเกิดมาจากท้องแม่ มันไม่มีความรู้ติดมาด้วยนี่ มันโง่มาจากในท้องแม่ นี่, แล้วพอคลอดออกมาแล้ว ยังถูกทำให้โง่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก จนได้รับความทุกข์, จนได้รับความทุกข์. เอ้า, พอมาเห็นความทุกข์นี่จึงค่อยมีความคิดว่า โอ๊ะ, ต้องทำกลับอย่างตรงกันข้าม เพื่อจะไม่ต้องเป็นทุกข์. นี้เราจึงตั้งต้นทำจิตตภาวนา แล้วก็เอาชนะได้ ไม่ต้องมีความทุกข์อีกต่อไป. เป็นอันว่าจิตตภาวนานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ใช่เหลือวิสัย ไม่ใช่สุดวิสัย แล้วก็ยังจะทำได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดยุค ไม่จำกัดสมัย,. ถ้าคนมันมีปัญญาเห็นความทุกข์ ที่เกิดอยู่ในชีวิตแล้วมันก็ต้องทำได้แหละ เพราะมันเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้.

ทุกสิ่งรวมอยู่ที่จิตจึงต้องพัฒนาจิต.

             เอาละ, เป็นอันว่า ทุกสิ่งมันรวมอยู่ที่จิต จะเป็นเหตุก็รวมอยู่ที่จิต จะเป็นผลก็รวมอยู่ที่จิต จะเป็นกระแสแห่งการปรุงแต่งของเหตุและผล มันก็รวมอยู่ที่จิต, อะไร ๆ มันรวมอยู่ที่จิต, เราก็จัดการกับจิต เรียกว่าจัดการกับจิต จิตตภาวนา หรือชีวิตพัฒนา. ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาใช้กันมาก คำว่าพัฒนา ๆ แต่เขาพัฒนาผิดทาง ยิ่งพัฒนายิ่งบ้าก็มี, ยิ่งพัฒนาให้เจริญยิ่งมีปัญหามาก ยิ่งมีความทุกข์มากก็มี, นั้นมันเป็นพัฒนาผิด. เราเอากันแต่ที่พัฒนาถูก และพัฒนาที่ต้นเหตุอันเป็นภายใน คือพัฒนาจิต. พัฒนาจิตก็คือการพัฒนาชีวิตชนิดที่ถูกต้อง ไม่ใช่พัฒนาให้มันมาก ให้มันรกรุงรัง ให้มันเพิ่มปัญหา เหมือนโลกที่กำลังพัฒนา. โลกยุคนี้ยิ่งเจริญยิ่งพัฒนา; แต่ยิ่งเพิ่มปัญหา ยิ่งเพิ่มความทุกข์ยากลำบาก อย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่. เขาจะต้องหันไปพัฒนาส่วนลึกในทางจิตใจ ให้จิตใจมันถูกต้องเสียก่อน ให้มันมีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องเสียก่อน, แล้วมันก็จะเดินไปในทางที่ไม่ให้เกิดความทุกข์แต่ประการใด.

            เอาละ, เป็นอันว่า ความประสงค์ของอาตมา ที่ตั้งใจจะบรรยายธรรมะเล่มน้อย ในบทที่ ๒ มันมีอยู่อย่างนี้ คือ การพัฒนาจิต. อะไร ๆ รวมอยู่ที่จิต. ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺข จ เกวลา -ชีวิตก็ดี อัตตภาพก็ดี ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี อะไร ๆ ทั้งปวงก็ดี; เอกจิตฺตสมายุตฺตา -เนื่องเฉพาะอยู่ที่จิตดวงเดียว; ลหุโส วตฺตเต ขโณ -ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปเร็วมาก. เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายจงอย่ารีรอ อย่าเฉื่อยชา จงรีบกระทำให้ทันกับขณะที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก แล้วประสบความสำเร็จในการที่ได้มาเป็นมนุษย์ และพบพระพุทธศาสนา ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ.

            การบรรยายสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ เป็นโอกาสให้พระคุณเจ้าได้สวดบทพระธรรมคุณสาธยาย ส่งเสริมกำลังใจให้เข้มแข็งในการปฏิบัติธรรมะสืบต่อไป.