๘ ก.ค. ครบรอบปีมรณกาลท่านพุทธทาส

โดย

สันต์ หัตถีรัตน์


             ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ (อินทปัญโญ) ได้จรรโลงพุทธศาสนาให้เป็นพุทธศาสนาที่แท้จริงตามหลักธรรม "ธรรม" ในความหมายของท่านคือ

                          ๑. ธรรมชาติ

                          ๒. กฎของธรรมชาติ

                          ๓. หน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ

                          ๔. ผลที่ได้รับจากการทำหน้าที่

             พุทธศาสนาตามหลักธรรมหรือพุทธธรรม จึงเป็นวิทยาศาสตร์ รู้เองเห็นเองได้ (สนทิฏฐิโก) ไม่ขึ้นกับกาลเวลา (อกาลิโก) และเป็นของจริงที่พิสูจน์ได้ (เอหิปสสิโก)

             ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า "พุทธศาสนา" ที่ต้องพึ่งพาพิธีกรรม ไสยศาสตร์ การปลุกเสก การมอมเมาและอื่น ๆ ที่ตื่นตกอยู่ในปัจจุบัน

             แม้แต่ "การตาย" "ความตาย" และ "เหตุการณ์หลังตาย" ของท่านก็ยังสามารถจรรโลงพุทธศาสนาให้เป็นไปตามหลักธรรม เป็นบทเรียนอันทรงคุณค่าแก่พุทธศาสนิกอย่างยิ่ง

             ครบรอบปีมรณกาลของท่าน จึงควรแก่กาลแห่งการรื้อฟื้นความหมายของ "การตาย" และ "ความตาย" อีกครั้งหนึ่ง เพราะในปัจจุบันมีการเข้าใจผิดกันมากในเรื่องนี้

             เมื่อเข้าสู่วัยชรา ท่านพุทธทาสอาพาธหนักหลายครั้งเช่น

             ในเดือนตุลาคม ๒๕๔๓ ท่านเกิดภาวะหัวใจวายจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คณะแพทย์ต้องการนิมนต์ท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ ท่านตอบว่า "สำหรับกรุงเทพฯนั้น ไม่ถูกกับอาตมา โดยรูป โดยกลิ่น โดยเสียง โดยรส โดยโผฏฐัพพะ มันไม่ถูกกับอาตมา" แล้วท่านก็รักษาตนอยู่ที่วัดและหายอาพาธได้เรียบร้อย เช่น เดียวกับการอาพาธจากโรคหลอดเลือดในสมองแตกในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕

             ในการอาพาธหนักครั้งสุดท้ายด้วยโรคหลอดเลือดสมองแตกอีกในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ในเช้าวันนั้นก่อนที่ท่านจะอาพาธ ท่านกล่าวกับท่านพรเทพ (พระที่ช่วยงานท่าน) ว่า "น่ากลัวอาการเดิมจะมา อาการเดิมที่เป็นคราวก่อน…พรเทพเอาย่ามของเราไปเก็บ แล้วเอากุญแจในกระเป๋านี่เอาไปด้วย เราไม่อยากจะตายคากุญแจตู้เอกสาร…."

             แสดงว่าท่านทราบล่วงหน้าด้วยตัวท่านเองแล้วว่าวันนั้นท่านจะอาพาธอีกและไม่รอด จึง "ไม่อยากจะตายคากุญแจตู้เอกสาร" แล้วเย็นวันนั้นเอง ท่านก็หมดสติจากหลอดเลือดสมองแตก และคงจะได้จากไปอย่างสงบตามธรรมชาติในวัดที่ท่านได้สร้างและพำนักมาโดยตลอด และไม่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานใดๆ ที่ไม่จำเป็น

             แต่แล้วท่านก็ถูกยื้อยุดฉุดคร่าไปโรงพยาบาลและไปรักษาที่กรุงเทพฯ ทำให้ท่านต้องผ่านกระบวนการ "การตาย" ที่ผิดธรรมชาติจนถึงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ ผู้รักษาท่านจึงยินยอมให้ท่านตาย (หลังจาก "ทรมาน" ท่านไว้เดือนเศษ)

             "การตาย" ของท่านจึงทำให้สังคมได้ฉุกคิดว่า

             ๑. การยื้อยุดฉุดคร่าผู้ป่วยไปรับการรักษา ทั้งที่ผู้ป่วยได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนหลายครั้งว่าไม่ปรารถนาเช่นนั้น ถูกต้องหรือไม่ ถูกกฎหมายหรือไม่?

             ๒. การกระทำเพื่อยืดการตาย (หรือที่ชอบเรียกกันว่ายืดชีวิต) ของ "ผู้ป่วยที่หมดหวัง" ซึ่งทำให้ผู้ป่วยญาติ และสังคมต้องได้รับความทุกข์ทรมานมากขึ้น และนานขึ้นนั้นสมควรหรือไม่?

             ๓. การตายในโรงพยาบาลเป็นการตายที่ดีที่สุดหรือ? การตายที่ต้องผ่านกระบวนการทุบอกกระแทกอกเพื่อนวดหัวใจ การใส่ท่อช่วยหายใจ การใส่สายระโยงระยางต่างๆ การเจาะคอเป็นการตายที่น่าปรารถนาหรือ?

             อันที่จริง "การตายในโรงพยาบาล" เกือบทั้งหมดเป็นการตายที่ผิดธรรมดา - ผิดธรรมชาติ เพราะเป็นการตายที่ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ โดยน้ำมือของผู้อื่น

             การตายที่ผิดธรรมดา - ผิดธรรมชาติ ตายโดยน้ำมือของผู้อื่น (น้ำมือแพทย์ - พยาบาล) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ เรียกว่า "ตายโหง"

             แล้วทำไมคนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนร่ำรวยหรือมีอำนาจวาสนา จึงชอบตายในโรงพยาบาล จนวัฒนธรรมแห่ง "การตายในโรงพยาบาล" ได้แผ่ไปครอบงำคนไทยทุกชั้นวรรณะ ยิ่งได้ตายในไอซียู (Intensive care unit ) ซีซียู (Cardiac care unit) หรือยูพิเศษอื่นๆ ยิ่งรู้สึกโก้เก๋จนต้องนำไปโอ้อวดกัน ประหนึ่งว่าญาติของตนได้รับการรักษาที่ดีที่สุด และได้ตายดีที่สุดแล้ว

             "การตาย" ของท่านพุทธทาสจึงได้กระตุกผู้คนให้ตื่นขึ้นและเริ่มพินิจพิจารณาถึง "แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง" อย่างจริงจัง

             แต่ก็น่าเสียใจที่ผ่านไป ๗ ปีแล้ว ยังไม่มี "แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง" อย่างเป็นทางการจากแพทยสภา แพทยสมาคม วิทยาลัยและราชวิทยาลัยแพทย์ สภาการพยาบาล สภาสังคมสงเคราะห์ สภาทนายความ เถรสมาคม สมาคมสังคมศาสตร์และสถาบันอื่นๆ

             "ผู้ป่วยที่หมดหวัง" จึงมักถูกถูลู่ถูกังและปู้ยี้ปู้ยำไปตามกิเลสของผู้ที่เกี่ยวข้อง จนแม้แต่ใน "คำประกาศสิทธิผู้ป่วย ๑๐ ประการ" ของแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะที่ประกาศได้ตั้งแต่วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๑ ก็ยังไม่ครอบคลุมถึง "สิทธิที่จะตายตามธรรมชาติและโดยธรรมชาติ" และ "สิทธิที่จะกำหนดการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง" ของผู้ป่วย ทั้งที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันได้เน้นสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ผู้ป่วยและใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ แล้ว

             ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึง "การตาย" ว่ามี ๒ ชนิด

             ๑. การตายในภาษาคน คือ การสิ้นชีวิต หรือการแตกดับของร่างกาย

             ๒. การตายในภาษาธรรมคือ การตายจากกิเลส การตายจาก "ตัวกู-ของกู"

             ท่านเรียก "การตายโดยไม่อยากตาย" ว่าเป็น "การตายโหง" ด้วยเพราะเป็นการตายที่ยังดิ้นรนต่อสู้ อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่ชีวิตก็ถูกดับไป

             ผู้ที่ "ตายไม่เป็น" จึงเป็นผู้ที่ไม่รู้ว่า การตายอย่างไรดีที่สุด เพราะไม่ได้เตรียมตัวตายไว้ก่อนนั่นคือ ไม่ได้ "ตายก่อนตาย" นั่นเอง

             ท่านพุทธทาสกล่าวว่า

             "พระพุทธเจ้าตายเสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ นั่นคือ ตายจากกิเลส ตายจากตัวกู-ของกู…

             การตายให้เป็น คือ การให้ร่างกายมันแตกดับไปในลักษณะที่เหมาะสม แม้ยังไม่เป็นพระพุทธเจ้า หรือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ทำตามอย่างท่านได้ เท่าที่จะทำได้

             เราจึงเห็นได้ว่า เรื่องการตายนั้นเมื่อควรตายก็ให้มันตายอย่างที่เรียกว่า ปลงสังขาร ปลงอายุสังขาร จะต้องไปดิ้นรนต่อสู้ให้ยุ่งยากลำบากไปทำไม

             เรื่องผ่าตัดเอาหัวใจไปใส่ใหม่นี้ ถือว่าเป็นเรื่องบ้า ๆ บอ ๆ ของคนที่ไม่รู้จักตาย ตายไม่เป็น ก็ต้อง "ตายโหง" อยู่ดี คือ ตายด้วยจิตใจที่ไม่อยากตาย เรียกว่า "ตายโหง" หมด…

             อย่าต้องตายโดยไม่อยากตาย อย่าเป็นคนโง่ เป็นคนไม่รู้ว่าธรรมขาติต้องเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นอย่าให้มันยุ่งยากมากนัก เมื่อควรตายก็ต้องตายเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่า สามเดือนจากวันนี้จักปรินิพพาน หมายความว่า ให้ร่างกายแตกดับไปตามธรรมขาติ ส่วนนิพพานของกิเลส นิพพานเสร็จแล้วตั้งแต่วันตรัสรู้ เมื่อเรามีธรรมะในเรื่องนี้ก็ไม่มีการตายโหง"

             แล้วท่านพุทธทาสยังสอนว่า

             "ความตายในภาษาคน แก้ได้ด้วยความตายในภาษาธรรม

             หนามยอกก็เอาหนามบ่งได้ แค่ไม่ใช่หนามอันเดียวกัน แม้เป็นหนามชนิดเดียวกัน จากต้นไม้ต้นเดียวกันอันหนึ่งทำหน้าที่ยอก อีกอันหนึ่งทำหน้าที่บ่ง"

             นั่นคือ การตายในภาษาธรรม (ตายจากกิเลส) จะช่วยกำจัด (บ่งหนาม) ความกลัวตายในทางร่างกาย ทำให้การตายในทางร่างกาย (การสิ้นชีวิต) หมดความหมายอีกต่อไป

             "พระอรหันต์ไม่กลัวตาย เพราะหมดตัณหาอุปาทาน ส่วนพวกอันธพาลไม่กลัวตาย เพราะตัณหาอุปาทานเดือดจัด ระวังอย่าเอาไปปนกัน มันคนละอย่าง…

             ความกลัวตายในภาษาโลก (เช่น กลัวอดตาย กลัวถูกฆ่าตาย) นำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรม ความหมดศีลธรรม ความวินาศในที่สุด เพราะเห็นแค่ว่ากูไม่ตายก็แล้วกัน มันก็ทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ไม่มีศีลธรรม

             ความกลัวตายในภาษาธรรม เช่น มรณสติ ทำให้มีการเจริญสติ เพื่อความไม่ประมาท จะได้ทำหน้าที่ที่ต้องทำเสียโดยเร็ว…"

             ท่านพุทธทาสได้เล่าถึง "วัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัท" ไว้ดังนี้

             "สมัยเมื่ออาตมาเป็นเด็กเล็ก ๆ โยมแม่เล่าให้ฟังถึงการตายของตา ตาได้ตายอย่างวัฒนธรรมของพุทธบริษัทตามประเพณีวิธีของพุทธบริษัท

             ตาเป็นคนแก่อายุมากแล้ว แต่ไม่ใช่แก่หง่อม เมื่อถึงเวลาที่จะตาย บอกว่า ไม่กินอาหารแล้ว กินแต่น้ำและยา ต่อมาบอกว่า ยาก็ไม่กินแล้ว กินแต่น้ำ

             พอถึงวันที่ตาย แกนั่งพูดกับลูกหลานรวมทั้งโยมแม่ด้วยถึงเรื่องที่จะตายแล้วก็ไล่คนที่ร้องไห้ออกไป คงเหลืออยู่คนเดียวที่กล้า ที่บังคับตนเองได้ ที่ไม่ร้องไห้พูดตามที่จะพูด ซึ่งก็หลายนาทีอยู่เหมือนกัน แล้วจึงขอนิ่งแล้วขอตาย

             นี่วิธีตายตามธรรมเนียมโบราณของพุทธบริษัทที่ดีที่ประพฤติที่อบรมกันมาอย่างดี เขาทำได้แม้กระทั่งว่าจะตายลงในการหายใจครั้งไหน เป็นการหายใจครั้งสุดท้ายแบบปิดสวิตซ์ไฟฟ้า…

             เดี๋ยวนี้เราไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ประสีประสากับการเป็นอย่างนั้น มีการต่อสู้ดิ้นรนอย่างผิด ๆ ที่จะไม่ให้ตายเอาไว้เรื่อย ๆ มันก็ไม่มีที่จะตายอย่างปิดสวิตซ์ไฟได้"

             เพราะถึงเวลาจะตาย มีคนมาทุบหน้าอก ใส่ท่อหายใจ ใส่สายโน่นสายนี่ ทำให้เกิด "เวทนา" แก่กล้าอย่างนั้นย่อมยากที่จะตั้งสติและสงบใจได้

             อย่างไรก็ตาย ท่านพุทธทาสได้สอนไว้ด้วยว่า จะเป็นคนชั่วคนดีอย่างไร ถ้าอยากจะตายดีแล้ว ในนาทีสุดท้ายต้องตั้งสติให้ได้และปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ดับความเป็น "ตัวกู-ของกู" ให้หมดสิ้น แล้วก็จะตายดีได้ดังนี้

      "อย่าเข้าใจไปว่าต้องเรียนมาก

ต้องปฏิบัติลำบากจึงพ้นได้

ถ้ารู้จริงสิ่งเดียวก็ง่ายดาย

รู้ดับให้ไม่มีเหลือเชื่อก็ลอง

เมื่อเจ็บไข้ความตายจะมาถึง

อย่าพรั่นพรึงหวาดไหวให้หม่นหมอง

ระวังให้ดีดีนาทีทอง

คอยจดจ้องให้ตรงจุดหยุดให้ทัน

      ถึงนาทีสุดท้ายอย่าให้พลาด

ตั้งสติไม่ประมาทเพื่อดับขันธ์

ด้วยจิตว่างปล่อยวางทุกสิ่งอัน

สารพันไม่ยึดครองเป็นของเรา

ตกกระไดพลอยโจนให้ดีดี

จะถึงที่มุ่งหมายได้ง่ายเข้า

สมัครใจดับไม่เหลือเมื่อไม่เอา

ก็ "ดับเรา" ดับตนดลนิพพาน"

             ท่านพุทธทาสได้วางแผนการตายของท่านและเหตุการณ์หลังตายของท่านไว้เป็นอย่างดี ตามแบบฉบับของวัฒนธรรมการตายของพุทธบริษัทที่ดี แต่ก็มี "มารผจญ" จนการตายของท่านต้องผิดธรรมดา-ผิดธรรมชาติ และไม่เป็นไปตามความปรารถนาของท่านดังที่ท่านได้ปลงสังขารไว้

อย่างไรก็ตาม เหล่าศิษย์และญาติโยมของท่านสามารถทำให้การปลงศพของท่านเป็นไปอย่างเรียบง่าย และไม่ยืดเยื้อดังที่ท่านปรารถนา ทำให้ "เหตุการณ์หลังตาย" ของท่านเป็นที่ชื่นชมกันโดยทั่วไปสมกับความเป็น "พุทธทาส" โดยแท้

      "พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย

แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง

ร่างกายเป็นร่างกายไปไม่ลำเอียง

นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา

ทำกับฉันอย่างกะฉันไม่ตายเถิด

ย่อมจะเกิดผลสนองหลายแขนง

ทุกวันนัดสนทนาอย่าเลิกแล้ง  

ทำให้แจ้งที่สุดได้เลิกตายกัน"

             ขอน้อมนำคำสั่งสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ มาเผยแพร่ให้พุทธบริษัทและศาสนิกในศาสนาอื่นได้ร่วมกันศึกษา เพื่อให้ผู้ที่ศึกษารู้จัก "ตายเป็น" และ "ตายดี" ได้ ดังคำของท่านพุทธทาสว่า

             "ดีอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง นิพพานอยู่ที่ตายเสียก่อนตาย" นั่นเอง


หมายเหตุ.-ข้อมูลคัดจาก มติชนรายวัน วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ซึ่งคัดลอกจาก http://dhnr.hypermart.net/dhnr/13/prayuk2132.html
ธรรมานุรักษ์ ฉบับที่ ๑๓ , สิงหาคม ๒๕๔๓