คำนำ

          ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระไปตั้งสวนโมกขพลารามในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านเป็นบุคคลร่วมสมัยที่เห็นวิกฤตการณ์ก่อนใคร ๆ เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ท่านพร่ำตะโกนบอกคนไทยเป็นทำนองว่า "วิกฤตแล้วโว้ย ๆ" แต่ก็มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ยิน เพราะกระแสวัตถุนิยมเชี่ยวกรากประดุจช้างตกมัน เป็นไปทั้งโลก บัดนี้ประเทศไทยประสบความล่มสลายทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยประสบมาก่อน และโลกทั้งโลกก็จะวิกฤตยิ่งขึ้น ๆ เพราะอย่างไร ปรัชญา "กำไรสูงสุด" ก็ไปไม่ได้โดยไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ เพราะ "กำไรสูงสุด" ไม่ใช่ "ความถูกต้องสูงสุด" ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนเรื่องความถูกต้องสูงสุด

          ในยามวิกฤตเช่นนี้ ถ้าหันไปศึกษาพุทธทาสธรรมกันให้มาก จะเกิดสติเกิดปัญญา อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ทั้งระยะใกล้และระยะไกล เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์พุทธทาสในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๑ นี้ คุณอรศรี งามวิทยาพงศ์ ผู้ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสไว้มาก จนอาจเรียกว่าเป็นผู้ชำนาญในวิชาพุทธทาสศาสตร์ ได้รวบรวมเกร็ดธรรมะท่านอาจารย์พุทธทาสจากผู้ใกล้ชิดมาบันทึกไว้ เรื่องเหล่านี้เป็นเกร็ดจริง ๆ อย่างที่ชื่อหนังสือบอกไว้ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เรียบเรียง "แก่นพุทธศาสน์" ไว้มาก ทั้งในชื่อนี้และชื่ออื่น ผู้ที่เคยศึกษาพุทธทาสธรรมมาแล้วอย่างโชกโชน ถ้าอ่าน "เกร็ด" ก็เห็นองค์ท่านอาจารย์พุทธทาสเลย สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสพุทธทาสธรรม ก็หวังว่าคงจะสาวจาก "เกร็ด" ไปหา "แก่น" และได้ประโยชน์ทางจิตวิญญาณลึกซึ้งยิ่ง ๆ ขึ้นไป

          มิติทางจิตวิญญาณเป็นคุณสมบัติทางความเป็นมนุษย์และมนุษย์ขาดมิติทางจิตวิญญาณไม่ได้ ถ้าขาดจะขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง เมื่อขาดความสมบูรณ์ในตัวเองก็จะต้องไปหาสิ่งภายนอกมาเติม เช่น ยาเสพติด ความต้องการทางเพศที่เกินเลยและความฟุ่มเฟือยต่าง ๆ แต่สิ่งเหล่านี้ก็ทดแทนมิติทางจิตวิญญาณไม่ได้ มนุษย์จึงยิ่งวิกฤตมากขึ้นเพราะสิ่งเหล่านี้

          พุทธทาสธรรมนั้นเป็นไปเพื่อพัฒนาการทางจิตวิญญาณ (Spiritual Development) ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุด และเป็นพัฒนาการแห่งความเป็นมนุษย์ ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ผลิตพุทธทาสธรรมไว้เป็นปริมาณมโหฬารรอให้ท่านมาลิ้มชิมรส เพื่อจักรู้รสอร่อยของธรรมะด้วยตัวท่านเอง เราจักฟังคำบรรยายของรสอร่อยของแกงเท่าไร ๆ เราก็ไม่รู้รสอร่อยนั้นจนกว่าจะชิมธรรมะนั้นมีรสอร่อย การรู้รสอร่อยของธรรมท่านเรียกว่าสันทิฐิโก หรือการเห็นได้ด้วยตนเอง พุทธทาสธรรมเป็นสันทิฐิกธรรม

ประเวศ วะสี
๖ พฤษภาคม ๒๕๔๑

 

คำนำบรรณาธิการ

          วิกฤตการณ์รุนแรงอันรุมเร้าบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ ยิ่งทำให้เราเห็นถึงอัจฉริยภาพและคุณูปการของท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นอีก เพราะเป็นเวลานับสิบ ๆ ปีมาแล้วก่อนที่เศรษฐกิจฟองสบู่จะแตกวินาศ ท่านอาจารย์ได้กล่าวเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า สังคมจะถึงหายนะ เพราะมีทัศนะในการพัฒนามนุษย์และสังคมที่ผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ถึงแม้ว่าคำเตือนของท่านจะมีน้อยคนนัก ที่นำไปคิดไตร่ตรองตาม โดยเฉพาะหมู่ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง คำกล่าวของท่านอาจารย์จึงมิอาจยับยั้งหายนภัยที่เกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน แต่คุณูปการสำคัญยิ่งที่ทำให้เราโชคดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ที่เผชิญวิกฤตการณ์แบบเดียวกันก็คือ สังคมของเรายังมีภูมิปัญญาจากพุทธธรรม อันมาจากการอุทิศตนศึกษาค้นคว้า และก่อร่างสร้างฐานของขบวนการปฏิรูปพุทธศาสนาในนามสวนโมกข์ ด้วยความวิริยะอุตสาหะของท่านอาจารย์พุทธทาส และสหายธรรมแห่งท่าน ทุนสำรองธรรมหรือเสบียงปัญญาเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์อย่างอเนกอนันต์เมื่อบ้านเมืองอับจนทางออก หรือหาทางเยียวยาบาดแผลจากมิจฉาพัฒนาไม่สำเร็จ มิหนำซ้ำยังเลวร้ายลงเป็นลำดับด้วย ทุนสำรองทางความคิดนี้ จะช่วยให้เราไม่บาดเจ็บนานนัก มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่าผู้ที่จะต้องตั้งต้นคลำหาทางออก หรือหาทางออกจากทุกข์เหมือนชาติอื่น ๆ

          ธรรมะของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น จึงมิใช่มีขึ้นเพียงเพื่อเยียวยาความทุกข์ในชีวิตของปัจเจกชนเท่านั้น หากท่านยังสนใจใส่ใจ และมีข้อเสนอแนะในการจัดสร้างสังคมที่มีธรรมด้วย ดังแนวคิดธรรมิกสังคมนิยม ซึ่งท่านเสนอไว้ในยุคสมัยที่อุดมการณ์ทางการเมืองแยกเป็น ๒ ขั้ว สุดโต่ง ๒ ฝ่าย (ทุนนิยม / คอมมิวนิสต์) เป็นปฏิปักษ์หักล้างกัน อันมิใช่สภาวะจริงของธรรมชาติที่มีความเชื่อมโยงกันอิงอาศัยกัน ถึงแม้จะแบ่งแยกแต่ก็เชื่อมโยงอย่างกลมกลืนกันทั้งหมด ธรรมะของท่านอาจารย์จึงมิใช่มุ่งเพียงช่วยปัจเจกชนให้หลุดพ้นจากทุกข์เฉพาะตนเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงการจัดวางสังคมที่จะเป็นธรรมิกสังคมนิยม คือมีโครงสร้างระบบที่เป็นธรรม มีอิสรภาพแต่ก็มีความเชื่อมโยงอิงอาศัยกันและกันด้วย และแน่นอนที่สุดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างธรรมะระดับปัจเจกและระดับสังคมนี้ จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มิอาจแยกสนใจเพียงส่วนใดส่วนเดียว เพราะนั่นย่อมแสดงว่า เราเข้าไม่ถึงความจริงของโลกที่แท้ ว่าสรรพสิ่งสัมพันธ์กัน

          หนังสือเกร็ดธรรมะจากเกร็ดชีวิตของพุทธทาสภิกขุ : จากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิดนี้ แม้โดยเนื้อหาจะเป็นเรื่องธรรมของปัจเจกชน แต่หากไตร่ตรองให้ลึกซึ้งแล้ว เราย่อมจะเห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว ธรรมวินัยของพระศาสดานั้น มิใช่เรื่องของคน ๆ เดียว หากเป็นความเกี่ยวข้องระหว่างบุคคลกับบุคคล และบุคคลกับสังคม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในลักษณะปฏิสัมพันธ์ ดังนั้น แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะจัดทำขึ้น โดยมีเกร็ดชีวิตของท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระเป็นสาระหลัก แต่ที่จริงแล้ว ผู้จัดทำยังมุ่งหวังที่จะให้ผู้อ่านได้เห็นว่า ความเจริญงอกงามแห่งธรรมนั้น นอกจากจะขึ้นจากเหตุปัจจัยหรือภูมิหลัง (กรรม) ของบุคคลแล้ว กัลยาณมิตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ล้วนเอื้อต่อการงอกงามแห่งสติปัญญาทั้งสิ้น ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างกัลยาณมิตร และสิ่งแวดล้อมทางสังคมและธรรมชาติที่ดีงามให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมจำเป็นจะต้องมีโครงสร้าง ระบบ และกลไก เครื่องมือ หรือการบริหารจัดการอย่างไร จึงจะเกิดสิ่งดังกล่าวได้ นี่คือประเด็นสำคัญประการหนึ่งของการจัดทำหนังสือเล่มนี้ เพราะเราแน่ใจว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสไม่พึงประสงค์ให้ใครมายกย่อง ยึดติด บูชาท่าน มากไปกว่าการสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ท่านได้สร้างนำไว้ทั้งแก่บุคคลและสังคม โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตการณ์ปัจจุบัน การยึดถือคนดีเพียงคนเดียว หรือการสร้างเสริมคนดีจำนวนหนึ่ง คงไม่เพียงพอจะแก้หายนะของบ้านเมืองที่มีขนาดมหึมาและกำลังคืบคลานเข้ามาทุกขณะได้ เราจึงหวังที่จะให้เกร็ดชีวิตของท่านอาจารย์เล่มนี้ เป็นสื่อให้เราได้คิดกว้างคิดไกลดังเช่นกับที่ท่านอาจารย์คิดในปณิธาน ๓ ข้อของท่าน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องเกี่ยวพันกับสังคมทั้งสิ้น

          เรื่องราวที่นำเสนอทั้งหมดนี้ มาจากการเรียบเรียงเนื้อหาที่ถอดเทปจากการอภิปราย การสัมภาษณ์บุคคลตามที่กล่าวไว้ในวาระและโอกาสต่าง ๆ กัน แม้ว่าจะมีการตรวจทาน ตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ว่าถูกต้องแน่นอนแล้ว แต่หากยังมีข้อผิดพลาดบกพร่องอันใดเกิดขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ บรรณาธิการและผู้จัดพิมพ์ก็ขออภัยอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าเนื้อหาหลักทั้งหมดยังคงสาระถูกต้อง ส่วนที่อาจจะมีผิดพลาดตกหล่น เป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น ซึ่งเรายินดีอย่างยิ่งที่จะน้อมรับเพื่อการแก้ไขปรับปรุงในโอกาสต่อไป

          สุดท้ายนี้ อานิสงส์ใด ๆ ที่อาจจะบังเกิดมี จากการที่ท่านได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คณะผู้จัดทำขอน้อมถวายเป็นอาจาริยบูชาองค์ท่านอาจารย์พุทธทาสมหาเถระ ด้วยความสำนึกในพระคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ท่านมีต่อเราทุกคนและแก่สังคมโลก และหวังว่าเราทั้งหลายจะนำสติปัญญาดังกล่าวมาร่วมกันถักทอให้เกิดเป็นภูมิปัญญาทางธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งของชีวิตตนเองและสังคม ตามปณิธานของท่านอาจารย์ด้วย

อรศรี งามวิทยาพงศ์
พฤษภาคม ๒๕๔๑

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง

  • การเสวนา "เกร็ดชีวิตจากคนใกล้ชิดท่านพุทธทาส"
    นำเสวนาโดย พระพรเทพ ฐิตปัญโญ
    วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๕
  • การอภิปราย "เกร็ดชีวิตท่านอาจารย์พุทธทาส" โดย
    พระครูปลัดศีลวัฒน์ (โพธิ์ จันทสโร)
    พระสิงห์ทอง เขมิโย
    นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
    นายเมตตา พานิช
    นายประชา หุตานุวัตร ดำเนินรายการ
    วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๗
  • การสัมภาษณ์ พระพรเทพ ฐิตปัญโญ พระสิงห์ทอง เขมิโย และแพทย์หญิงเสริมทรัพย์ ดำรงรัตน์ ในเรื่องเกร็ดชีวิตด้านสุขภาพและกิจวัตรทั่วไปของท่านอาจารย์พุทธทาส โดย นางสาวอรศรี งามวิทยาพงศ์
    วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๖