วันอาสาฬหบูชา
เรียบเรียงโดย
พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล
ป.ธ.๕, น.ธ.เอก, ศษ.บ.
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๖
และ ครูใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดกรวด (สามัญศึกษา)
****************************

วันอาสาฬบูชา คือ การบูชาในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือน ๘ ถือว่าเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา

อีกวันหนึ่ง เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ คือ โกณทัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ) เมื่อพาราณสี เป็นเหตุให้โกณฑัญญะได้บรรลุธรรมตามพระพุทธองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกผู้เป็นสักขีพยานการตรัสรู้ ของพระพุทธองค์ ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา วันนี้จึงถือว่า เป็นวันที่พระรัตนตรัยเกิดขึ้น ในโลกอย่างสมบูรณ์
ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนจะประกอบพิธีบูชา เช่นเดียวกับการประกอบพิธีบูชา

ในวันสำคัญในวันอื่น วันวิสาขบูชาเป็นวันบูชาพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชาเป็นวันบูชาพระธรรม และวันอาสาฬบูชา เป็นวันบูชาพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระสังฆรัตนะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

ถ้าเราจะนับย้อนขึ้นไปก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ตามหลีกฐานทางพุทธประวัตินั้น เป็นปีที่พระพุทธองค์

ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันวิสาขปุณณมี วันเพ็ญเดือน ๖ ที่โพธิมณฑลริมผั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในกาลต่อมา พระพุทธองค์ได้ทรงพิจารณาถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่า เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง พิจารณาเห็นได้ยาก รู้ตามยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต ตรึกเอาเองไม่ได้ เป็นธรรมที่ละเอียด รู้ได้เฉพาะผู้ที่เป็นบัณฑิต แต่พระพุทธองค์มีพระกรุณาในหมู่สัตว์ ปรารถนาจะช่วยให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ จึงได้ทรงพิจารณาเห็นถึงความแตกต่างกันไปแห่งอัธยาศัยของหมู่สัตว ์ว่า
คนบางพวก สามารถรู้เข้าใจได้ฉับพลันเพียงยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง อุปมาเหมือนดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำ
พอต้องแสงของอาทิตย์เท่านั้นก็บานออกทันที บุคคลประเภทนี้เรียกว่าอุคฆติตัญญู
คนบางพวกสามารถรู้เข้าใจได้เมื่ออธิบายความแห่งหัวข้อธรรมพิสดารออกไปอุปมาเหมือนดอกบัวที่อยู่
ู่เสมอน้ำ คอยเวลาที่จะโผล่พ้นน้ำจะบานในพรุ่งนี้ บุคคลประเภทนี้เรียกว่าวิปจิตัญญู
คนบางพวก เป็นผู้ที่พอจะแนะนำได้ คือผู้ที่พอจะชี้แจงแนะนำได้ด้วยวิธีการฝึกสอนอบรมต่อไป อุปมาเหมือ
นดอกปทุมที่อยู่ใต้น้ำ คอยเวลาที่จะโผล่พ้นน้ำจะบานในวันต่อไป บุคคลประเภทนี้เรียกว่า เนยยะ
คนบางพวก เป็นผู้มีบทอย่างยิ่ง คือผู้มีปัญญาน้อย สอนให้รู้เพียงตัวบทคือ พยัญชนะ หรือด้วยถ้อยคำเท่านั้น
ไม่สามารถเข้าใจในอรรถ คือความหมายได้ อุปมาเหมือนดอกปทุมที่อยู่ใต้น้ำที่จะเป็นภักษาของปลาและเต่า
บุคคลประเภทนี้เรียกว่า ปทปรมะ
เมื่อพระพุทธองค์ได้ทราบอย่างชัดเจนอย่างนี้แล้ว จึงทรงดำริที่จะแสดงธรรมแต่นั้นจึงได้พิจารณาคัดเลือก
บุคคลผู้ควรสดับปฐมเทศนา ได้เห็นอาจารย์ ทั้ง ๒ คือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส เป็นผู้ควรสดับฐมเทศนา เพราะ
เป็นผู้ได้ ฌาณสมาบัติ แต่ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านทั้ง ๒ ได้กระทำกาลกิริยา (ตาย) แล้ว จึงได้พิจารณาถึง
ปัญจวัคคีย์ว่า เป็นผู้ควรที่จะสดับปฐมเทศนาได้ทราบว่าท่านเหล่านั้นอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
พระองค์ได้เสด็จพุทธดำเนินไปยังสถานที่นั้น เพื่อแสดงปฐมเทศนาโปรดท่านเหล่านั้น
พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมจักกัปปวัตตนสูตร คัดค้านลัทธินิยมที่สุด ๒ อย่างอันเป็นที่นิยม
นับถื่อว่า เป็นของประเสริฐที่สุดของพวกเขา ที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาโดยลำดับ คือ
ประเภทที่ ๑ สำหรับผู้อยู่ครองเรือน สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของพวกเขาก็คือ กามสุข ดังนั้นพวกเขาจึง
ใช้ชีวิตหมกมุ่นอยู่กับการเสพกาม เพราะพวกเขาคิดว่า ความสุขที่นับว่าเป็นยอดคือสูงสุด ได้แก่
ความสุขที่เกิดจากเสพกาม เป็นความสุขที่วิเศษสุดเหนือกว่าความสุขอื่นใดประเภทนี้เรียกว่า
กามสุขัลลิกานุโยค คือลัทธิที่หย่อนจนเกินไป
ประเภทที่ ๒ สำหรับนักบวช สิ่งที่เป็นยอดของนักบวชคือการบำเพ็ญตบะ ดังนั้นพวกนักบวชปจึงได้บำเพ็ญตบะ
คือการทรมานตนให้ได้รับความลำบากด้วยวิธีต่าง ๆ เพราะพวกเขาคิดว่า สิ่งที่เป็นยอดคือสูงสุดของ นักบวชได้แก่ การทรมานตนให้ได้รับความลำบากมากจนถึงที่สุด นั่นคือการปฏิบัติอันเป็นที่สุดแห่งการ
ประพฤติพรหมจรรย์ ประเภทนี้เรียกว่า อัตถิลมถานุโยค คือลัทธิที่ตึงจนเกินไป
พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษแห่งลัทธิทั้งสองอย่างว่าไม่ใช่ทางแห่งการตรัสรู้ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ เพราะ

เพราะเมื่อประพฤติปฏิบัติแล้วกลับเป็นการเพิ่มทุกข์ให้แก่ตนเอง บุคคลเมื่อหวังการหลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะ
จำต้องละลัทธินิยมทั้ง ๒ อย่างโดยสิ้นเชิงแล้ว จึงทรงแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง อันไม่หย่อนจนเกินไป
และไม่ตึงจนเกินไป ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลายที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ซึงมีชื่อเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
หรือทาง ๘ ทาง ได้แก่

๑.สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ
๒.สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔.สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
๖.สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗.สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘.สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

ทางทั้ง ๘ ทางนี้สามารถที่จะนำผู้ปฏิบัติให้บรรลุพถึงจุดมุ่งหมายปลายทาง ซึ่งก็คือความหลุดพ้นจากความทุกข์
ทั้งปวงได้โดยความสวัสดี

ในลำดับต่อมา พระพุทธองค์ทรงประกาศถึงสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองมิเคยได้ยินได้ฟัง
มาจากใคร ๆ มาก่อนเลย สิ่งนั้นก็คือ อริยสัจ ของจริงอย่างเสริฐ หรือความจริงแห่งพระอริยเจ้า อริยสัจนั่น มี ๔ ประการ คือ
๑. ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเดือดร้อนใจ ทุกข์เพราะเกิด - ดับ ความไม่สมหวัง
ความพรัดพรากจากคนรัก สิ่งของที่รัก และชอบใจ และทุกข์อันเนื่องมาจากขันธ์ ๕
๒. สมุทัย คือ เหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งได้แก่ตัณหา ๓ อย่าง ได้แก่
๒.๑ กามตัณหา ความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ น่าชอบใจ
๒.๒ ภวตัณหา ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่
๒.๓ วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ กำจัดกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไป จิตสงบจากกิเลสและนิวรณ์
๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์, มรรคนี้ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
และเมื่อกล่าวโดยย่อก็ได้แก่สิกขา ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

ในตอนสุดท้าย พระพุทธองค์ทรงเน้นถึงว่า เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ทรคงค้นพบ คือตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการนี้

พระพุทธองค์ทรงกล้าปฏิญญาว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
การที่จะเรียกว่าตรัสรู้อริยสัจนั้น ต้องเป็นความรู้ที่มีวนรอบคือ รู้ ๓ ชั้น ด้วยพระญาณทั้ง ๓ คือ
๑.สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
๒.กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
๓.กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว
เมื่อรู้อริยสัจ ๔ อย่าง อย่างละ ๓ ชั่น ความรู้จึงเกิดเป็นอาการ ๑๒ ความรู้ดังกล่าวมานี้จึงเรียกว่า "ตรัสรู้"
พระพุทธองค์ได้รู้อริยสัจ ๔ ด้วยพระญาณทั้ง ๓ ดังกล่าวมา จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่า เป็นผู้ตรัสรู้อนุตตร สัมมาสัมโพธิญาณ
โกณฑัญญพราหมณ์ ได้ฟังปฐมเทศนานั่นแล้ว ได้เข้าใจถึงสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้น มีความดับเป็นธรรมดา” เรียกว่า ได้ดวงตาเห็นธรรม ตาม พระพุทธองค์และได้ขอบวชในพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีกระะกรุณาธิคุณในหมู่เวไนยสัตว์ ทรงประกาศพระศาสนาแสดงพระปัญญาคุณของ
ของพระองค์ให้ประจักษ์ตาแก่ชาวโลกด้วยพระหฤทัยอันบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินทั้งมวล
ในวันอาสาฬบูชานี้ ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศพระศาสนา
๒.เป็นวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือปฐมเทศนา มีชื่อเรียกว่า ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
ประกาศสัจจ ธรรมอันเป็นองค์แห่งสัมมาสัมโพธิญาณให้ประจักษ์ตาแก่ชาวโลก
๓. เป็นวันแรกที่พระอริยสงฆ์สาวกบังเกิดในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุ-
อุปสัมปทาในวันนั้น
๔. เป็นวันแรกที่พระสังฆรัตนะบังเกิดขึ้นในโลก เป็นเหตุให้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ
และพระสังฆรัตนะ สมบูรณ์บริบูรณ์ในวันนี้
อาศัยปรากฏการณ์อันเป็นอุดมมงคลอย่างยิ่งดังกล่าวมาคณะสังฆมนตรีจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าในวันอาสาฬหะนี้ ควรมี
การประชุมกระทำพิธีบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อประกาศพระเกียรติคุณและเทิดทูนพระคุณ ส่วนอัตสมบัติ และ ปรหิตปฏิบัติของพระองค์ให้สมกับที่พระองค์เป็นศาสนาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จะได้เป็นเครื่องเตือนใจให้
พุทธศาสนิกชนทั้งหลายให้ซาบซึ้งในพระคุณของพระรัตนตรัย เจริญภาวนา บำเพ็ญบุญกุศลเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง สืบเนื่องกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

คำถวายดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา

ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง

โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, สัตเตสุ การุญญัง ปฏิจจะ กรุณายะโก, หิเตสี อะนุกัมปัง อุปาทายะ, อาสาฬหะปุณณะมิยัง พาราณะสิยัง, อิสิปะตะเน มิคะทาเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง, อะนุตตะรัง ธัมมะจักกัง ปะฐะมัง ปะวัตเตตะวา, จัตตาริ อะริยะสัจจานิ ปะกาเสสิ ฯ ตัสมิญจะ โข สะมะเย, ปัญจะวัคคิยานัง ภิกขูนัง ปะมุโข, อายัสมา อัญญาโกณฑัญโญ, ภะคะวะโต ธัมมัง สุตะวา, วิระชัง วีตะมะลัง ธัมมะจักขุง ปะฏิละภิตะวา, ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง, สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ, ภะคะวันตัง อุปะสัมสะทัง ยาจิตวา ภะคะวะโต ธัมมะวินะเย อะริยะสาวะกะสังโฆ โลโก ปะฐะนัง อะโหสิ พุทธะระตะนังธัมมะระตะนัง สังฆะระตะนัง สังฆะระคะนันติ ติระตะนัง สัมปุณณัง อะโหสิฯ มะยัง โข ตะระหิ อิมัง อาสาฬหะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ธัมมะจักกัปปะวัตตะนะกาละสัมมะตัง อะริยะสาวะกะสังฆะอุปปัตติกาละสัมมะตัญจะ ระตะนัตตะยะสัมปุณณะกาละสัมมะตัญญจะ ปัตวา อิมัง ฐานัง สัมปัตตา อิเม สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา อิมัง ถูปัง (อิมัง พุทธะปะฏิมัง) ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ ยะถาคะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานาฯ สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเค สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะฯ
เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระองค์ใดแล้ว ว่าเป็นที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด เป็นศาสดา
าของเราทั้งหลาย อนึ่ง เราทั้งหลายชอบใจซึ่งพระธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น
เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง ทรงอาศัยความการุณ ในสัตว์ทั้งหลาย ทรงพระกรุณาแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงอาศัย
ความเอ็นดู ได้ยังพระธรรม จักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป ทรงประกาศอริยสัจ ๔ เป็นครั้งแรกแก่พระภิกษุปัญจวัคคีย์
ทีป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสีในวันอาสาฬหปุณณมี อนึ่ง ในสมัยนั้นแล ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ
ผู้เป็นหัวหน้าของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ธรรมจักษุอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทินว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้น มีความดับเป็นธรรมดา” จึงทูลขออุปสมบท กะพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นองค์แรกในโลก
อนึ่ง ในสมัยนั้นแล พระสังฆรัตนะได้บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกพระรัตนตรัย
คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะและพระสังฆรัตนะ ได้สมบูรณ์แล้วในโลก บัดนี้ เราทั้งหลาายแล มาประจวบมงคล
สมัยอาสาฬหะปุณณมี วันเพ็ญอาสาฬหมาส ที่รู้พร้อมกันว่า เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงประกาศ
พระธรรมจักรเป็นวันที่เกิดขึ้นแห่งพระอริยสงฆ์สาวก และเป็นวันที่ประรัตนตรัยสมบูรณ์ด คือ ครบ ๓ รัตนะ จึงมา
ประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ถือสักการะเหล่านี้ ทำกายของตนให้เป็นดังภาชนะรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณตาม
ความเป็นจริงทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จจักทำประทักษิณสิ้นวาระสามรอบซึ่งพระสถูป (พระพุทธปฏิมา)
นี้ บูชาอยู่ด้วยสักการะอันถือไว้แล้วอย่างไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพาน
นานมาแล้ว ยังปรากฎอยู่ด้วยพระคุณสมบัติอันนข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ จงทรงรับ
เครื่องสักการะ อันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
สิ่นกาลนาน เทอญ.
บรรณานุกรม
รมการศาสนา.คู่มือการศึกษานักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี.กรุงเทพมหานคร.โรงพิมพ์การศาสนา
กรมการศาสนา . พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๓๘, ๑๑๒ หน้า
ธ.ธรรมศรี, ตอบปัญหาศาสนพิธี เล่ม ๑, โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ, กรุงเทพฯ, มปป., .
บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล,พระมหา. คู่มือศาสนพิธี เล่ม ๑ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓).โรงพิมพ์สิทธิประเสริฐ, สุราษฎร์ธานี,
๒๕๓๓.
มหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จพระ. คำอธิบายธรรมวิภาคปริจเฉทที่๑. กรุงเทพมหานคร.
โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๒๘, ๑๐๘ หน้า.
ศรีวิสุทธิญาณ, พระ. ศาสนพิธีสังเขป. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ / ๒๕๓๑
องค์การศึกษา, ศาสนพิธี เล่ม ๑, โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพ ฯ, มปป.
อรุณธรรมรังษี(เอี่ยม สิริวณฺโณ), พระครู. มนต์พิธี. โรงพิมพ์อักษรสมัย, กรุงเทพมหานคร, ๒๕๓๔.
กลับไปหน้าแรก
กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี