แบนหลวงป๋า ขึ้นเทศน์วันนี้
รุมสวดรัฐปิดปาก ยิ่งกว่ายุค "สฤษดิ์"

คม ชัด ลึก ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

          รุมประณามรัฐห้ามพระเทศน์ "หลวงพ่อปัญญา" ระบุแม้ "สฤษดิ์" เคยให้เขียนส่งก่อนเทศน์ก็ไม่ทำ พระพยอมติงเหมือนฆ่าปราชญ์ของแผ่นดิน ล่าสุด "หลวงป๋า" ถูกเบรกออกวิทยุวันอาทิตย์นี้ "สุภิญญา" ชี้รัฐคิดแบบอำนาจนิยมที่ห้ามใครขัด เพราะทุกนโยบายของรัฐสวนทางหลักธรรม จึงทนฟังไม่ได้

          ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่รัฐออกโรง "เซ็นเซอร์" การเทศน์ของพระสงฆ์ หลังผู้บริหารประเทศแสดงความไม่พอใจ เนื่องจากพระภาวนาวิสุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เทศน์ออกอากาศในรายการ "ปาฐกถาธรรม" ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 08.00 น. วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิ.ย. ในหัวข้อ "ธรรมาภิบาล" จนทำให้ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ออกมาแก้ข่าวว่า เป็นการห้ามเนื่องจากเป็นช่วงเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เบรก "หลวงป๋า" เทศน์ตั้งแต่อาทิตย์นี้

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันเสาร์ที่ ๑๗ ก.ค. ได้มีญาติโยมศิษยานุศิษย์พระภาวนาวิสุทธิคุณ หรือหลวงป๋า โทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงเรื่องการถูกห้ามเทศน์ออกอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคำถามสำคัญคือ เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ก.ค.นี้ จะมีการเทศน์ออกอากาศต่ออีกหรือไม่ ซึ่งได้มีการแจ้งกลับไปว่า เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือระบุว่า ในช่วงนี้จะไม่มีการนิมนต์หลวงป๋าไปเทศนา โดยไม่มีการกำหนด ทำให้หัวข้อที่หลวงป๋าเตรียมไว้เทศน์ในเรื่องซีอีโอ ไม่มีโอกาสนำเสนอต่อไป

          อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าว "คม ชัด ลึก" ได้ติดต่อสอบถามไปยังพระภาวนาวิสุทธิคุณ ได้รับคำอธิบายว่า ความจริงแล้วเรื่องซีอีโอนั้น ไม่ได้กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังกล่าวถึงการทำงานของภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรทางสังคม รวมทั้งวัดด้วย อย่างที่วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ก็ใช้หลักการซีอีโอมาบริหาร มาจัดการ ซึ่งหลักซีอีโอนั้น ประกอบด้วย ถูกต้อง เหมาะสม บริสุทธิ์ และยุติธรรม หลักเหล่านี้อยู่ในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่น ในข้อความบริสุทธิ์นั้น การทำงานต้องไม่มีความลำเอียง เพราะเหตุความรักใคร่หรือเพราะเหตุความไม่ชอบขี้หน้ากัน

ยันพระก็รักชาติไม่แพ้คนอื่น

          หลวงป๋า ยืนยันว่า การแสดงปาฐกถาธรรมเป็นการวิเคราะห์ปัญหาสังคม ไม่ได้มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

          "อาตมาเป็นนักวิจัยมาก่อน ได้วิจัยปัญหาทางสังคม โดยใช้เหตุปัจจัยและหลักธรรมเข้าไปแก้ปัญหา การแสดงปาฐกถาต่อคนหมู่มาก แน่นอนที่สุดว่า มันต้องไม่ถูกใจใครบางคน แต่อาตมาไม่มีเจตนา อาตมาเป็นพระก็รักประเทศชาติไม่แพ้คนอื่น" หลวงป๋า กล่าว

          พระภาวนาวิสุทธิคุณ กล่าวด้วยว่า เมื่อเห็นสิ่งใดผิดไปจากศีลจากธรรม ก็ต้องชี้แนะเตือนสติ ถ้าพระไม่ทำหน้าที่ แล้วใครจะทำ การแสดงปาฐกถาธรรมจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องยกปัญหาและเหตุการณ์ในสังคมมาใส่หลักธรรม เช่น ชี้ให้เห็นโทษของการหลงในกาม การติดในอบายมุข การเที่ยวเตร่ค้าประเวณี ปัญหาเหล่านี้ล้วนแก้ได้ด้วยหลักธรรมของพระพุทธเจ้า มันขึ้นอยู่กับว่าจะหยิบมาใช้หรือเปล่า

          สำหรับการแสดงปาฐกถาธรรมของหลวงป๋านั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มีการนิมนต์ท่านให้ไปแสดงธรรมอยู่เป็นประจำ ล่าสุดผู้ว่าฯกาญจนบุรี ได้นิมนต์ไปแสดงปาฐกถาธรรมเรื่องซีอีโอให้ข้าราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 1,000 คนฟังด้วย นอกจากนี้ยังมีวัดต่างได้นิมนต์ไปแสดงปาฐกถาธรรมเรื่องการจัดการบริหารวัดแบบซีอีโอเช่นกัน

"หลวงพ่อปัญญา" ไม่เคยเจอ

          หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เจ้าอาวาสบอกว่า ตลอดชีวิตของการเป็นพระนักเทศน์ ไม่เคยเขียนต้นฉบับเลยสักครั้งเดียว แม้กระทั่งในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ออกคำสั่งให้พระเขียนต้นฉบับออกอากาศส่งให้รัฐบาลตรวจก่อน แต่ก็ไม่เคยคิดจะเขียน ซึ่งก็สามารถเทศน์ได้มาถึงทุกวันนี้ แต่ก็ครั้งหนึ่งเคยถูกห้ามเทศน์ออกอากาศ แต่กรมประชาสัมพันธ์ทนเสียงด่าจากผู้ฟังไม่ไหว จึงไปนิมนต์กลับมาเทศน์เช่นเคย

          "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ถ้ามีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับการเมืองใดน่าสนใจก็จะยกมาเป็นตัวอย่าง อาตมาเคยเทศน์สอนมาหลายรัฐบาล ส่วนจะเทศน์เรื่องใดนั้นสุดแท้แต่เหตุการณ์การเมืองในช่วงนั้นๆ แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาถึงกับห้ามเทศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเลย ถ้าให้เทศน์ช่วงนี้ อาตมาก็ยกตัวอย่างเรียนการปิดโรงเรียนเพื่อประชุมเอดส์ว่า ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาใช้โรงเรียนเป็นที่ประชุมเอดส์โลกหรืออย่างไรถึงต้องสั่งปิดโรงเรียน เหมือนก่อนหน้านี้ที่สั่งปิดโรงเรียนเพื่อประชุมเอเปค แล้วเขาประชุมที่โรงเรียนหรือเปล่า" หลวงพ่อปัญญา กล่าวและว่า

          การเทศน์ของพระ เกิดขึ้นหากผู้นำประเทศเผลอเดินออกนอกลู่นอกทาง ไม่อยู่ในศีลยึดมั่นในธรรม ก็ต้องมีการเตือนสติกันบ้าง ในฐานะประชาชนก็เป็นเจ้าของประเทศคนหนึ่งต้องบอกต้องเตือน ถ้าห้ามไม่ให้บอกไม่ให้เตือนถือว่ากีดกันเสรีภาพของมนุษย์ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งถ้ามีการตัดเสียงดูดเสียงในช่วงการแสดงปาฐกถาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล ยิ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องเข้าไปใหญ่ ถือว่าไม่รับฟังคำเตือนของมหาชน เพราะพระนักเทศน์ถือว่าเป็นคนพิเศษของมหาชน

          "พระมีหน้าที่สอนคนทุกคน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ก็เป็นคนธรรมดาที่ยังไม่สิ้นกิเลส หากเห็นว่าออกนอกลู่นอกทางพระก็เตือน คนที่ถูกเตือนก็ควรรับฟัง อย่ารังเกียจ ถ้าหากไม่รับฟังแสดงว่ายังโง่อยู่ พระเตือนอย่าไปโกรธพระ ถ้าพระไม่เตือนแล้วใครจะเตือน เพราะทุกคนล้วนแต่มีการศึกษากันด้วยการทั้งนั้น มีการศึกษาไม่ได้หมายความว่าจะมีปัญญาและมีสติ คนมีการศึกษาแต่ด้อยปัญญาและไร้สติก็มีถมไป" หลวงพ่อปัญญา กล่าว

แนะใช้ธรรมะแก้ปัญหา

          สำหรับความสำคัญของหลักธรรมาภิบาลนั้น หลวงพ่อปัญญาอธิบายให้ฟังว่า เป็นหลักการใช้ธรรมรักษา เพื่อแก้ไขปัญหาและเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ รักษาคน รักษาชาติ รักษาประเทศ ถ้าไม่มีธรรมะปัญหาต่างๆ ก็จะเลอะไปหมดทั้งประเทศ คนไม่มีธรรมะเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ไม่มีระเบียบ ไม่มีกฎเกณฑ์ เพราะกฎหมายที่ใช้ควบคุมสังคมทุกวันนี้ก็มาจากหลักธรรมะทั้งสิ้น คนที่ทำผิดกฎหมายคือคนไร้ธรรมะ ไม่มีความละอายต่อบาป

          "ทุกวันนี้ ธรรมะของประเทศไทยเกือบไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ถือว่าเป็นยุคอบายมุขครองเมือง เล่นการพนันเต็มเมือง ขี้เมาเต็มเมือง ความสุรุ่ยสุร่ายเต็มเมืองความเกียจคร้านเต็มเมือง ความสนุกสนานทางกามอารมณ์เต็มเมือง ซ่องเต็มบ้าน อาบ อบ นวด เต็มเมือง สิ่งเหล่านี้เราต้องควบคุมให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม อย่างเห็นแก่เงินอย่าเห็นแก่ได้" หลวงพ่อปัญญา กล่าวและว่า

          ขอฝากธรรมถึงรัฐบาลด้วยว่า “พระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังต้องมีปุโรหิต หรือองคมนตรีคอยช่วยเหลือบริหารข้าราชการแผ่นดิน เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาก็นิมนต์พระไปเทศน์ให้ฟัง พระสงฆ์ถือว่าเป็นปุโรหิตของประเทศชาติ มีหน้าที่คอยเตือนสติประชาชน รัฐบาลก็มาจากประชาชน ถ้าพระให้สติรัฐบาลไม่ได้ ก็ถือว่ารัฐบาลเสียสติ ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งผู้นำอีกต่อไป คนไม่เชื่อฟังพระมีแต่จะเสื่อมถอย เพราะพระเตือนด้วยความเมตตากรุณา ไม่ได้มุ่งร้ายต่อใคร”

"พระพยอม" ติงอย่าฆ่าปราชญ

          ในขณะที่พระพิศาลธรรมพาที หรือพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว บอกว่า ถ้าห้ามพระเทศน์เตือนสตินักการเมืองและผู้บริหารประเทศ ก็น่าจะเรียกว่ายุคฆ่านักปราชญ์ของแผ่นดิน ซึ่งในอดีตนั้นจะมีพราหมณ์ ปุโรหิตเป็นที่ปรึกษาพระราชา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เป็นพระราชายังต้องมีคนคอยเตือนสติไม่ให้ลุแก่อำนาจ คนในรัฐบาลก็เป็นปุถุชนคนสามัญธรรมดา ถ้าไม่มีใครเตือนสติก็อาจจะทำให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นผิดเป็นชอบ ในที่สุดก็จะทำให้ประเทศไทยล่มจม

          "การแสดงปาฐกถาของพระนั้น ส่วนใหญ่จะพูดเพื่อเตือนสติพุทธศาสนิกชนคนฟังทั้งประเทศ พระไม่ได้เจาะจงเทศน์สอนคนใดคนหนึ่ง ถ้าฟังดีๆ และนำไปคิดนำไปใช้ก็ได้ประโยชน์มหาศาล เว้นเสียแต่ว่าคนฟังนั้นจะมีอคติหรือเป็นคนตรงกันข้ามกับคำสอนของพระก็จะรู้สึกโกรธเป็นธรรมดา เมื่อโกรธก็จะกลายเป็นความเกลียด ในที่สุดก็จะกลายเป็นความแค้นบันดาลโทสะ" พระพยอม กล่าวและว่า นักการเมืองทุกคนล้วนมีการศึกษา มีวุฒิภาวะที่จะเรียนรู้ธรรมะ ซึ่งสิ่งสำคัญของนักการเมือง คือการใช้ปัญญาและสติแก้ไขปัญหาของชาติ การรับฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะการติติงถือว่าเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย

"มหาต่วน" ติงทำให้ไร้ประโยชน์

          ด้าน พระมหาต่วน อดีตรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ให้ข้อคิดว่า การกระทำเช่นนั้น ก็เหมือนฆราวาสเป็นคนกำหนดหัวข้อ ตรวจสอบต้นฉบับเอง ก็ทำไมไม่เทศน์เสียเองเลย เพราะเมื่อมีการควบคุมเช่นนี้ก็ทำให้ผู้ฟังจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะพระยึดหลักการเทศน์ คือเทศน์ให้ถูกจริตของผู้ฟัง การเทศน์ให้ถูกจริตนั้นก็ต้องเอาเหตุการณ์ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง มาประกอบ ถ้าเทศน์เรื่องธรรมะล้วนๆ ใครจะฟัง เทศน์แบบนี้ถือว่าเป็นศิลปะในการเทศน์

          “ถ้าห้ามไม่ให้พระเทศน์เกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง ถ้าห้ามพระไม่ให้ยุ่งการเมือง การเมืองก็ต้องไม่ยุ่งเรื่องของพระด้วย เราต้องยอมรับว่าทุกคนล้วนเป็นเจ้าของประเทศไทย เมื่อใครพาประเทศชาติไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็ต้องมีการให้สติเตือนสติกัน เช่น การประชุมโรคเอดส์โลก แทนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วยธรรม กลับแสดงยั่วยุอารมณ์ทางเพศ” พระมหาต่วน กล่าว

ยันมีคนโทรมาห้าม

          ขณะที่ พระมหาโชว์ ทสฺสนีโย ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการวุฒิสภา กรรมการกิตติมศักดิ์พุทธศาสนิกสงเคราะห์กัมพูชา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ยอมรับว่า มีตัวแทนสำนักข่าวกรองโทรศัพท์มาแจ้งให้ทราบว่า พระนักเทศน์ทุกรูปห้ามวิพากาษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ทำให้ส่วนตัวคิดว่าน่าเป็นห่วงว่า รัฐบาลกำลังปกปิดการทำงานที่ไม่โปร่งใส เป็นการปิดหูปิดตาประชาชน ดังนั้น การห้ามไม่ให้พระนักเทศน์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ เพราะเป็นเรื่องปกติที่มีคนวิจารณ์การทำงานของคนทั่วไป การวิจารณ์ในที่นี้ก็เป็นการติเพื่อก่อ ไม่ได้มุ่งหวังทำลายให้คนใดคนหนึ่งเสียหาย การที่ผู้นำประเทศสั่งห้ามในลักษณะเช่นนี้ยิ่งเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยของประเทศไม่น้อย

          "ปัญหานี้อาตมาคงต้องมีการหารือกับโยม ดร.วิษณุ เครืองาม (รองนายกฯ) ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ความเห็นหรือการวิจารณ์ของพระนักเทศน์ จริงๆ อาตมาก็ไม่เห็นว่ามันจะหนักหน่วงตรงไหน ดีด้วยซ้ำไปว่า การวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในเชิงคุณธรรม ก็จะทำให้รัฐบาลได้มองเห็นข้อผิดพลาดที่ผ่านมา สิ่งใดก็ตามที่มีการวิจารณ์น่าจะส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะอย่างน้อยก็เป็นมุมมองให้การทำงานหรือการบริหารงานของรัฐบาลอยู่ในกรอบโปร่งใสมากยิ่งขึ้น" พระมหาโชว์ กล่าวทิ้งท้าย

แจงเหตุผลเทศน์ตามสถานการณ์

          พระครูสิริธรรมภาณ เลขานุการ รองเจ้าคณะจังหวัดนนทบุรี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดละหาร พระนักเทศน์ที่ได้รับการนิมนต์ไปเทศน์ในรายการวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ทุกวันอาทิตย์ กล่าวว่า โดยปกติเวลาเทศน์ พระจะพยายามไม่ให้กระทบกระเทือนใครอยู่แล้ว โดยจะพยายามใช้เป็นสาธารณนาม เช่น นายกฯ ผู้นำ ผู้บริหารประเทศ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน

          "คำว่านายกฯ อาจจะไม่ได้หมายถึงนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร เพราะคำว่า นายกฯ มีตั้งแต่นายกสมาคมฌาปนกิจศพ นายกสมาคมรถบรรทุก ซึ่งล้วนเป็นผู้นำทั้งสิ้น เมื่อได้รับฟังคำเทศนา จะได้นำไปใช้ในการปฏิบัติได้" พระครูสิริธรรมภาณ กล่าวและว่า เคยคิดว่าจำเป็นต้องเทศน์เกาะติดสถานการณ์บ้านเมือง เพราะการยกตัวอย่างเหตุการณ์สมัยพุทธกาล เช่น เรื่องนกกระเรียนพูดกับนกกระจอก แมวหมาพูดได้ใครจะเข้าใจ จึงต้องยกเหตุการณ์ปัจจุบันขึ้นมา เช่น ช่วงเกิดเหตุการณ์โจรสะพานลอย โจรฆ่าพระ ก็ต้องยกเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาพูด เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจหลักธรรม

          พระครูสิริธรรมภาณ กล่าวยกตัวอย่างว่า นายกฯ พูดว่า โจรใต้เป็นโจรกระจอก เป็นโจรห้าร้อย ถือเป็นการพูดแบบขาดศีลธรรม เพราะขึ้นชื่อว่าโจร ไม่ว่าจะเป็นโจรเล็กโจรน้อย ก็สร้างความเดือดร้อนทั้งสิ้น ถ้านายกฯ พูดเปลี่ยนจากโจรกระจอกมาเป็นโจรเฉยๆ จะถือว่าผู้พูดมีหลักธรรม

          พระครูสิริธรรมภาณ กล่าวอีกว่า เคยคิดว่าจะจัดรายการวิทยุแบบวิเคราะห์ข่าวด้วยหลักธรรม โดยหยิบเอาข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์มาวิเคราะห์ให้เห็นเลยว่า เหตุของการเกิดข่าวนั้น เกิดจากการขาดหลักธรรมข้อใด แล้วจะแก้ด้วยหลักธรรมข้อใด หรือรายการเกี่ยวกับเพลง ละครที่พูดถึงหลักธรรม เพราะสิ่งบันเทิงเหล่านี้ล้วนหมิ่นเหม่ต่อหลักศีลธรรมทั้งสิ้น แต่ไม่มีหน่วยงานใดออกมาให้สติและข้อคิดอย่างจริงจัง

ครป.โวยรัฐแทรกแซงสถาบันสงฆ์

          นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวกรณีมีการขึ้นบัญชี ๔ พระนักเทศน์ชื่อดัง เนื่องจากเกรงว่าจะมีการเทศน์พาดพิงถึงการบริหารงานของรัฐบาลว่า เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล เพราะปกติพระท่านก็สามารถเทศนาธรรมเตือนสติ หรือชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิตที่ควรจะเป็นให้กับฆราวาสได้อยู่แล้ว ในอดีตก็ถือได้ว่า พระเป็นปัญญาชนที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือ การพูดถึงความเป็นไปของบ้านของเมืองก็เป็นเรื่องปกติ

          "ผมไม่เคยเห็นพระมาชุมนุมไล่รัฐบาลแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลต้องกลัว การห้ามพระที่เทศนาธรรมวิจารณ์รัฐบาลถือเป็นการแทรกแซงสถาบันสงฆ์ แม้พระจะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ควรไปห้ามพระวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รัฐบาลนี้ปิดปากชาวบ้านยังไม่พอ กำลังจะปิดปากพระ ต่อไปแม้แต่จิ้งจกร้องทักก็อาจถูกเล่นงาน ผมคิดว่าไม่เคยเห็นรัฐบาลที่ไหนเขาทำกัน แม้แต่รัฐบาลเผด็จการก็ไม่คิดแบบนี้" นายสุริยะใส กล่าวและสรุปว่า ปัญหาเรื่องนี้คงเป็นเพราะรัฐบาลเริ่มไม่เชื่อมั่นในคะแนนนิยมของตัวเอง ที่ความเสื่อมขยายตัวไปทุกวงการ

เลขาธิการ คปส.อัดคิดแบบอำนาจนิยม

          น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ให้ความเห็นกรณีรัฐเซ็นเซอร์พระไม่ให้ออกอากาศเพราะเกรงว่าจะกระทบภาพลักษณ์ของรัฐบาลว่า สะท้อนให้เห็นวิธีคิดอำนาจนิยมและความกลัวลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ในใจรัฐบาลนี้ โดยสะท้อนให้เห็นว่า ๑.เป็นการปลุกผีการเซ็นเซอร์ในยุคสมัยเผด็จการ ต้องตรวจต้นฉบับคนพูดก่อน ถือเป็นการทำให้สื่อไทยย้อนยุคลงไปมาก ๒.รัฐบาลนี้รับไม่ได้กับความคิดเห็นที่แตกต่างทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โดยเซ็นเซอร์แนวคิดทางพุทธศาสนา เพราะนโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาลนี้สวนทางกับหลักพุทธ นั่นคือนโยบายที่เน้นการบริโภคนิยม ทุนนิยม การใช้เงินนำทาง การเสี่ยงโชคและความไม่รู้จักพอ และการปิดปากพระครั้งนี้ นอกจากปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของพระแล้ว ยังเป็นการท้าทายหลักธรรมทางศาสนาพุทธอีกด้วย

          "ขอเรียกร้องให้เครือข่ายเอ็นจีโอด้านศาสนาโดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งได้รับเลือกเป็นกรรมการสรรหา กสช. ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ให้สังคมได้รับรู้และให้บทเรียนกับรัฐบาลบ้าง" น.ส.สุภิญญา กล่าว..


******************