แก่นแกนของชีวิต
โดย อุบาสก ชอบทำงาน

 

          ในจักรวาลนี้ ไม่ใช่จะมีแต่โลกมนุษย์กลม ๆ เบี้ยว ๆ ใบนี้ใบเดียวนะครับ ที่ไกลออกไป ระยะเวลาการ การเดินทางเป็นร้อย ๆ พัน ๆ หมื่น ๆ ล้านปีแสง ก็ยังมีโลกมนุษย์แบบนี้อีกมากมายมหาศาลมากซะยิ่งกว่าเม็ดทราย ในท้องทะเล อย่าคิดว่าผมเพ้อเจ้อ เอาทฤษฎีใครมาถกนะครับ ข้อความเหล่านี้เป็นพุทธพจน์ที่ตรัสไว้นานแล้วครับ

          ท่านบอกว่า บางโลกพระพุทธเจ้ากำลังประสูติ บางโลกก็อาจจะกำลังปรินิพพานบางโลกกำลังเริ่มอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ และบางโลกก็เจริญก้าวหน้าทางวัตถุเหลือเกิน ที่กำลังเข่นฆ่ากันอยู่ก็มีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ถ้า "บ้านทรายทอง" จะเปลี่ยนจากคุณฉลองมาเป็นคุณศรราม หรือจากคุณอรัญญามาเป็นหนูจอยรินลณี

          กำเนิดโลก กำเนิดชีวิต มีสูตรมีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างตายตัว จะแตกต่างก็ในรายละเอียดเท่านั้น การเกิดสรรพสิ่งของชีวิตเป็นไปได้เสมอ เมื่อทุกอย่างพร้อม มีเหตุปัจจัยครบถ้วน คำว่ามนุษย์ต่างดาวก็หมายถึงมนุษย์จากโลกอื่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่โอกาสจะเจอ ยังเป็นเรื่องที่ต้อง ถกเถียงกันต่อไป

          โลกแต่ละโลกนั้นอยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน โอกาสที่จะมาเยี่ยมเยือนกันจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด บางทีก็ห้ำหั่น ฆ่ากันตายเรียบร้อย เครื่องไม้เครื่องมือถูกทำลายย่อยยับ นี่คือเหตุผลว่าทำไม เราถึงไม่เจอมนุษย์จากโลกใบอื่น

          แท้จริงแล้ว ทุกโลกนั้นเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของโลกของเราก็เท่านั้น บางช่วงมนุษย์มีกิเลสตัณหา ราคะ

          บางช่วงก็เบาบาง ต่างอยู่กันอย่างรักใคร่ปรองดอง
          ครับ บ้านทรายทอง โลก อื่นเขาก็เล่นเหมือนกัน
          ถามว่า จักรวาลหรือเอกภพนี้กว้างใหญ่ขนาดไหน ?

          ผู้รู้ท่านตอบว่า "ในโลกนี้มีหลายอย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุด หรือไม่มีจุดจบ (Infinity) เรื่องที่ ๑ เรื่องเวลา มีแต่เดินหน้าเป็นนิรันดร เรื่องที่ ๒ ที่สุดของเอกภพนี้ไม่มี นักวิทยาศาสตร์เรียก Time and space" รู้เรื่องโลก เรื่องจักรวาลมนุษย์โลกนี้อาจจะรู้สึกเจียมตัวเจียมตนขึ้นบ้าง หายซ่าอีกหน่อยก็ได้ ยิ่งมารู้เรื่องชีวิตจากสารคดีต่าง ๆ ที่ถ่ายทำกัน ชีวิตสัตว์โลกในป่าในเขา หลากหลายสารพัดสารพัน ทั้งบนดิน ใต้ดิน ในน้ำ เราจะรู้สึกเลยนะครับว่า ชีวิตนั้นเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มหาศาล มนุษย์ เรานั้นแท้จริงแล้วก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวบางส่วนของชีวิต รู้สึกให้มากก็หายซ่า หายมัวเมา หายหลงตัวเอง ได้อีกเยอะครับ

          พระพุทธองค์ท่านชี้แนะสาวกที่มีฤทธิ์เดชในเรื่องการระลึกชาติให้ทบทวนชาติเก่าๆ ของตัวเองชาติเก่า ๆ ของคนอื่น ของชีวิตอื่น ๆ หยั่งรู้ไปเรื่อย ๆ เกิดดับเกิดดับ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เก่งแค่ไหนก็ให้หยั่งรู้เข้าไป แล้วเห็นให้ได้ว่าแท้จริง ชีวิตนี้ ช่างไร้แก่นสาร หาความจริงไม่ได้ เหมือนฟองสบู่ เหมือนพยับแดด ทรงอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็หายไป

          อรหันต์ประเภทนี้ท่านเรียกว่า "แบบเตวิชโช" คือไหน ๆ ก็มีญาณวิเศษที่เป็นโลกียะ เอามาปรับเป็น โลกุตระก็ใช้ได้

          ครับ ยิ่งเข้าใจชีวิต ก็ยิ่งถ่อมตน เจียมตน จะไปฆ่าแกงใครนั้นอย่าหวัง ยิ่งจะเดินทางไปกวาดต้อนคนมา เป็นขี้ข้า มาใช้เหมือนวัวเหมือนควายก็ยิ่งไม่มีทาง แต่…แสงแห่งปัญญาไม่ใช่จะมีง่ายนะครับ

          ถ้าจะพูดแบบลิเกหรือมีตัวตนก็ต้องใช้ศัพท์เทคนิคของเขา ก็จะต้องบอกว่า เบื้องบนก็จะส่งมหาบุรุษส่งพระโพธิสัตว์ลงมาชี้แนะ แต่ละพื้นที่ แต่ละสภาพเทคนิคก็แตกต่างกันไปแต่เป้าหมายสุดท้ายก็คือให้อยู่กันอย่างเอื้อเฟื้ออยู่กันอย่างรักใคร่ ปรองดอง อยู่กันอย่างไม่มัวเมา อยู่กันอย่างมีคุณธรรม เพราะธรรมชาติของคนเรานั้น เปรียบประดุจน้ำที่มักไหลลงสู่ทางต่ำ ถ้าไม่ฉุดไม่รั้งไว้ มนุษย์เราก็จะมีแต่ฆ่าฟันห้ำหั่นกัน

          บทบาทนี้ ศาสดาทุกพระองค์ในแต่ละยุค ท่านเป็นผู้รับผิดชอบเป็นผู้แบกภาระอันหนักอึ้งนี้ไว้ ศาสนาจึงเป็นเรื่อง "จำเป็น" และ "สำคัญ" มากเลยครับ สภาพของมนุษย์นั้นเป็น "สัตว์ฉลาด" อยู่แล้ว แต่ "ประเสริฐ" หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรมของเจ้าตัว

          "เรื่องความฉลาด" เป็นซีกของโลกโลกียะ เขาเดินหน้าเหยียบคันเร่งจมมิดอยู่แล้วครับ นอกจากจะมี ศาสดาใหญ่ ๆ มากมายเหลือเกิน ศาสดาเล็ก ๆ ก็ยังมาช่วยกันอีก ศาสดาเล็ก ๆ ก็ใช่ใครที่ไหนตัวเราเองนั่นแหละศาสดาเล็ก ครับ นี้ก็เป็นซีกศาสดาด้านศาสนาซาตาน

          เรื่อง "ความประเสริฐ" เป็นซีกที่อ่อนแรงมากครับ ศาสดาองค์ใหญ่ก็มีน้อย น้อยก็จริง แต่ก็จุติมาเป็นระยะ มีศาสดาองค์เล็กคือนักปราชญ์ พระอริยเจ้า ท่านผู้รู้มาช่วยสริม มาช่วยติว ครับ

          ซีกด้านพระเจ้าหรือด้านคุณธรรมยังขาดบุคลากรนับล้าน ๆ ตำแหน่ง เชื่อไหมครับ ? หลายสิบปีก่อน ยังจำได้ไหม เมื่อกระทรวงศึกษาธิการประกาศเลิกสอนวิชาศีลธรรม แถมยังอวดดีต่อว่า ไม่สอนก็จริงแต่จะสอดแทรกอยู่ในทุกวิชา

          ครับ พวกเก่งแต่ทฤษฎีพวกกบอยู่ในกะลา ลำพังตัวครูสอนเองยังไปไม่รอด กลับจะให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทรกคุณธรรมจริยธรรมลงในชั่วโมงการเรียนการสอน โชคดีครับ ที่หายนะธรรมยังไม่ทันโตตั้งตัว ประชาชนตลอดจนผู้รู้รวมพลกันประท้วงจนสำเร็จ

          แต่ผมก็คลางแคลงใจว่า "จะหมกเม็ดหรือไม่ ?" เพื่อสาระแก่นแกนของชีวิต จึงเสนอให้ "หันมาศึกษาหลักธรรมในศาสนาของตัวเอง" บ้าง เพื่อจะได้มีสติ

          เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา คงจำกันได้นะครับ ว่าวันสำคัญของชาวพุทธอีกวันหนึ่ง ก็คือ "วันวิสาขบูชา" วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน วันที่ใครคนหนึ่งได้ค้นพบพระสัทธรรมอันยิ่งใหญ่ และนำมามอบให้แก่มวลมนุษยชาติ มาเป็นวัคซีนคุ้มครองโลกคุ้มครองชีวิต

          ธรรมะบทแรกที่พระพุทธองค์ตรัสสอนสาวกก็คือ "ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร" พระสูตรนี้ว่าด้วยความสุดโต่ง ของมนุษย์สองด้าน

                    ด้านหนึ่งคือการทรมานตนจนเกินไป (อัตกิลมถานุโยค)
                    สองคือการตั้งตนอยู่บนกองกามแห่งความสุข(กามสุขขัลลิกานุโยค)

          หลาย ๆ ท่านอาจจะตกใจถ้าทราบว่า ศาสนาพุทธไม่ส่งเสริมให้คนเราแสวงหาความสุขในรูป-รส-กลิ่น- เสียง-สัมผัส สุขจากการเสพย์อาจจะมีก็เป็นไปตามฐาน แต่จริงกว่านั้นจะต้อง "ลดละเลิก"
พุทธธรรมมีทั้งระดับประถมและมัธยม

          แต่ชาวพุทธกลับเรียกร้องขอจมปลักอยู่แค่ชั้นประถม มิหนำซ้ำยังโวยวาย ยังรังเกียจคนที่มาชี้แนะ ระดับมัธยม และซ้ำร้ายกว่านั้น ผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้รู้ ผู้ชำนาญ กลับพยายามจะให้ฆราวาสพอใจในสถานภาพของตัวเอง อยู่ฐานต้น ๆ ดีแล้ว อย่าไปใฝ่สูงเลย บุคลากรทางศาสนาก็เป็นไป

          สุขโลกียะนั้น พระพุทธเจ้าแบ่งเอาไว้ชัดเจนมี ๓ ระดับคร่าว ๆ คือ อบายมุข กามคุณ และ โลกธรรม ต้องเรียนรู้ศึกษาเพื่อมิให้ชีวิตตกต่ำ ตัวเองไม่สูงก็ต้องยอมรับว่า ชีวิตไม่สูงกว่านี้ ยังทำไม่ได้ มิใช่ตอบโต้ แค่นี้ดีแล้ว สูงกว่านี้ไม่จำเป็น สัมมาทิฎฐิเป็นประธานความเข้าใจว่าอะไรเป็นเปลือกเป็นแก่นก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ

          ศาสนาพุทธไม่เน้นสวรรค์ไม่เน้นการแสวงหาความสุขจากวัตถุ แม้สุขทางใจก็มิใช่ให้แสวงหาไขว่คว้า "นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง สุขอื่นเสมอความสงบ เป็นไม่มี" เน้นสันติคือความสงบ โดยสุขเป็นผลพลอยได้ มิใช่วิ่งแสวงหาโลกสวรรค์อาจเป็นเรื่องจริง แต่มิใช่เป็นเป้าหมาย ไปไม่ถึงนิพพาน ยังไง ๆ ก็ต้องพักที่สวรรค์อยู่แล้ว เพราะเป็นสถานีผ่าน อย่าว่าแต่สวรรค์หลังตาย แม้สวรรค์ขณะมีชีวิตอยู่ เราก็ยังต้องลดละ
                    ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
                    ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่
                    และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป

          ครับชีวิตมีแต่ทุกข์ที่เกิดดับนี่มิใช่การมองโลกแง่ร้าย แต่เป็นสัจธรรม เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ สุขไม่มี มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดดับตลอดกัปตลอดกัลป์ จะแตกต่างก็ตรงทุกข์มากทุกข์น้อย

          ปรัญญาชีวิตที่ไม่ยอมรับความทุกข์เป็นธรรมดาของชีวิต คนที่พบอุปสรรค พบปัญหาแม้เล็กแม้น้อย ก็จะเป็นจะตาย มนุษย์จัดการกับความทุกข์ไม่เป็น เพราะเขาไม่เคยคิดว่า ความทุกข์นั้น แท้จริงก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คำสอนที่เน้นสวรรค์ จึงเป็นสัทธรรมปฏิรูป บิดเบือน ทำพระบาทพระพุทธองค์ให้ห้อพระโลหิต

          ครับ สาระของชีวิตตัวที่ ๒ นั่นก็คือ การยอมรับความทุกข์เป็นสิ่งปกติของชีวิต ทุกข์ไหนที่จำเป็นก็ต้องมีสติ ทุกข์ไหนที่ไปแส่หาเอง ก็พยายามเอาชนะใจตัวเอง พรากออกมาให้ได้

          โลกตะวันตก พิสูจน์ทฤษฎีชีวิตบทนี้มาให้แล้วนะครับ ความสุขของรูป รส กลิ่น เสียง ฯลฯ ลัทธิบริโภคนิยมให้ผลร้ายอย่างไร ? สังคมวิกฤต ผู้คนเริ่มกลายเป็นสัตว์ร้าย แต่ละคนเห็นแก่ตัว อ่อนแอ บ้าวัตถุ หลงแฟชั่น ตื่นเต้นสินค้าใหม่ ๆ

          บทเรียนบทนี้ ใช้ประชากรทั้งโลกมาพิสูจน์เลยนะครับ ความสุขกับความไม่เห็นแก่ตัวนั้น เป็นปฏิภาคผกผัน ระหว่างกัน ยิ่งสุข-ความไม่เห็นแก่ตัวยิ่งเพิ่ม การเข้าสู่อุดมการณ์ การเข้าถึงสาระของชิวิต เจ้าตัวจึงจำเป็นต้องตัดเจียนความสุขออกไปเรื่อย ๆ ครับ

          สาระเรื่องนี้ทำใจยาก ฟังแล้วก็ปวดใจ บอกแล้วไงครับว่า วิชาสัจจธรรมของชีวิตมีหลายชั้น ในความมัวเมา ในความหลง ระเริง ที่ชีวิตจะต้องมี จะต้องเป็น จะต้องให้ได้ ตามค่านิยมที่ชาวโลก ปลุกระดมสร้างขึ้นมา ที่นับวันจะรุนแรงขึ้น โดยมีเครื่องมือสื่อสารเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ก่อเกิดการเบียดเบียน แก่งแย่ง ชิงดีชิ่งเด่น ที่สุดแม้กระทั่งการฆ่าฟันทำร้าย ทำลาย เราจึงจำเป็นต้องตระหนัก ไม่มีอะไรที่เกิดโดยไม่มีผลกระทบ ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

          กฎแห่งกรรมเป็นปรากฎการณ์ของธรรมชาติที่จะต้องทำความเข้าใจ จะได้ไม่เพลี่ยงพล้ำ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมอยู่กันเป็นหมู่กลุ่ม จำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์ในการดำรงชีวิต การเข่นฆ่า หรือการเกื้อกูล การเบียดเบียนหรือการช่วยเหลือ การเอาแต่ใจหรือการเสียสละ ฯลฯ

          คุณค่าหรือราคาของชีวิต วัดกันที่ "ประโยชน์" การไม่เบียดเบียน เป็นคุณค่าระดับต้น, การทำตัวเป็นประโยชน์ คือคุณค่าระดับต่อมา, กรรมนี้มีผล หว่านเมล็ดพืชพันธุ์ใด ย่อมได้พืชพันธุ์นั้น สรรพสิ่งไม่มีสูญหาย จากสสารกลายเป็นพลังงาน จากพลังงานแปรเป็นสสาร

          กรรมดี-กรรมชั่ว กระทำลงไปทุกครั้งครา แปรรูปเป็นพลังงานสะสมไว้ จังหวะการเกิดปฏิกิริยาแตกตัว แตกผล มีได้ทุกขณะ ไม่ว่าหลับหรือตื่น

          "ศีล" จึงเป็นเกราะป้องกันตัวได้ทรงประสิทธิภาพ เป็นรั้วของชีวิตที่ทำให้ยับยั้งชั่งใจ ไม่รุกราน ชีวิตของผู้อื่น เป็นธรรมนูญชีวิตที่พึงปฏิบัติ มนุษย์เรียนรู้ "ศีล" จากความต้องการของตัวเอง ใจเรา-ใจเขา เราอยากได้ เขาก็คงอยากได้ เราไม่อยากให้ใครมาร้าย เขาก็คงไม่อยากให้ใครมาร้าย เรียนรู้ความต้องการของคนอื่นโดยใช้ตัวเองเป็นห้องปฏิบัติการ

          ท่านขงจื้อกล่าวไว้อย่างชัดเจน "พึงปฏิบัติต่อเพื่อบ้าน เหมือนกับที่ท่านต้องการให้เพื่อนบ้านปฏิบัติต่อท่าน"

          ข้าวโพดฝักที่สมบูรณ์ เป็นข้าวโพดที่มีคุณภาพ ปลูกลงเมื่อใดก็จะได้ต้นใหม่ที่สมบูรณ์ กรรมไม่ว่าดีหรือเลว ก่อลงคราใด คือเมล็ดข้าวโพดที่เล็ก ๆ ๑ เมล็ด วันนี้ฝักข้าวโพดของเรามีเมล็ดเรียงเต็มหรือฟันหลอ ?

          สาระของชีวิตที่จะต้องรู้เท่าทัน เพื่อการเดินไม่ตกเหว และมีกำลังใจที่จะฟันฝ่า จึงคือ "ความเชื่อมั่นและ ศรัทธาในกฎแห่งกรรม" เป็นปรากฎการณ์ที่พิสูจน์ได้ถ้าหมั่นศึกษา สังเกตก็ได้นะครับ ทฤษฎีชีวิต ทฤษฎีโมเลกุล ทฤษฎีดาราศาสตร์ ทฤษฎีหลากหลายต่างมีกฎเกณฑ์ ต่างมีกฎเหล็ก มีกฎระเบียบของตัวเองทั้งสิ้น

          มนุษย์ที่ช่างสังเกต เขาก็จะค้นพบ ปรากฎการณ์ไม่กี่ครั้ง นักวิทยาศาสตร์บางคนก็พบทฤษฎีวาง กฎเกณฑ์ออกมาได้ ปรากฎการณ์ เป็นล้าน ๆ ครั้ง นักวิทยาศาสตร์บางคนจึงค่อยค้นพบเรื่องของธรรมะ ไม่ตัองรอให้เกิดมากขนาดนั้น ก็น่าจะวิจัยกันได้ ถ้าเพียงหัดสังเกต หัดวิเคราะห์ชีวิตของตัวเอง ชีวิตของคนอื่นซะบ้าง จากผลของการเป็นนักแสวงหาความสุขก่อเกิดลัทธิบริโภคนิยมแปลเป็นไทยก็คือ กิน สูบ ดื่ม เสพย์ อะไรที่เป็นความสุขบนฐานของอบายมุข อะไรที่เป็นความสุขบนฐานของรูป รส กลิ่น เสียง

          อะไรที่เป็นความสุขบนฐานของโลกธรรม ๘
          ความสุขทั้งหมดทั้งมวลหากตีอวนได้ ก็จะตีโอบเอามาเป็นของตัวไม่มีที่สิ้นสุด เพียงเพราะความยึดถือ "ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อแสวงหาความสุข"

          ปรัชญาชีวิตบทนี้ แท้จริงเป็นปรัชญาที่เกิดจากสัญชาตญาณของมนุษย์ ไม่ตัองมีใครมาแนะนำสั่งสอน สุขที่เกิดจาก "การได้" เรียนกันจนช่ำชอง แต่สุขที่เกิดจากการ "เสียสละ" จะมีได้สักกี่คน ?

          การบริโภคความสุข ก่อเกิดลัทธิบูชาเงินตรา เงินคือพระเจ้าความมั่งมีคือเป้าหมายที่ต้องกระเสือกกระสน ให้ถึง ทั้งนี้ยังมิได้พูดถึงผลกระทบที่ก่อเกิดสิ่งแวดล้อมเป็นพิษปรากฎการณ์เรือนกระจก รูโอโซนรั่ว ภัยธรรมชาติ โหมกระหน่ำ ฯลฯ

          ความมัวเมาหลงใหลในค่านิยม "ความสุข" เกิดปฏิกิริยาตัวที่ ๒ คือ การบริหาร ปรนเปรอตัวเอง เหตุเพราะชีวิตจะสง่างามได้เขาจะต้องทำตัวให้มีคุณค่า ลัทธิบูชาความสุข จึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือเปลี่ยนสภาพจากมนุษย์ กลายเป็นแค่เศษขยะสกปรกชิ้นหนึ่ง

          คุณค่าของชีวิตได้มาจากการบริการผู้อื่น ยิ่งลดเวลาปรนเปรอตัวเองมากเท่าใด เราก็ยิ่งจะมีเวลาที่จะดูแลช่วยเหลือผู้อื่นมากเท่านั้น กินน้อย ใช้น้อย ทำงานให้มาก ที่เหลือเจือจุนสังคม วาทะนักการเมืองที่เคยเป็นผู้ว่า กทม. มาแล้ว เป็นรองนายกรัฐมนตรีมาแล้ว เป็นผู้ต่อสู้เพื่อบ้านเมืองมาแล้ว ถ้าตั้งใจระลึกดูก็คงจะกะกันได้ว่าเป็นผู้ใดและนี่ก็เป็นสาระของชีวิตอีกข้อหนึ่งที่จะต้องฝึกฝนปฏิบัติให้สำเร็จ ลดบริการตัวเองในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเรื่องการกินอยู่หลับนอน ขณะเดียวกันก็หันไปเพิ่มการบริการรับใช้ ช่วยเหลือผู้อื่น มาถึงจุดนี้ เราคงมาถึงจุดที่ตายตาหลับ ไม่เสียดายที่เกิดมาได้เป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง เป็นไม้ที่ที่แก่น เป็นดาวก็ดาวฤกษ์ มิใช้แค่เทหวัตถุอับแสง

ที่มา: วารสาร "ดอกหญ้า" อันดับที่ ๘๙ หน้า ๓-๑๒ คอลัมน์ "รอบบ้านรอบตัว"

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี