จริยธรรม : มาตรวัดความเป็นตำรวจหรือความเป็นโจร
โดย วสิษฐ เดชกุญชร

             คำว่า "จริยธรรม" ตามพจนานุกรมแปลว่า ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ หรือศีลธรรม จริยธรรมตำรวจจึงหมายถึงธรรมที่ตำรวจพึงประพฤติปฏิบัติ

             คำว่าจริยธรรมไม่ใช่คำใหม่สำหรับตำรวจ ตำรวจรู้จักคำนี้มาอย่างน้อยก็ ๒๒ ปีแล้ว เพราะในปี พ.ศ.๒๕๒๕ กรมตำรวจได้ออกคำสั่งที่ ๑๓๘๘/๒๕๒๕ กำหนดโครงสร้างจริยธรรมตำรวจและวิธีการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจ หลังจากนั้นมาก็มีความพยายามที่จะปลูกฝังจริยธรรมตำรวจด้วยวิธีต่าง ๆ มาตลอดเวลา

             จริยธรรมเป็นวิชาบังคับวิชาหนึ่งในหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

             เมื่อปีกลายนี้ พ.ศ.๒๕๔๖ รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ก็ได้เสนอแนะธรรม ๕ ประการสำหรับตำรวจ ซึ่งมีจริยธรรมตำรวจรวมอยู่ด้วย แต่คำว่าจริยธรรมตำรวจนั้น อาจารย์ไชยาหมายโดยเฉพาะถึงความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ

             ในแบบติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชน ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๖ ก็มีการประเมินกิจกรรมเพื่อพัฒนาด้านคุณธรรมและจริยธรรมแก่ข้าราชการตำรวจด้วย

             รวมความว่า ตำรวจควรจะตระหนักในความสำคัญของจริยธรรมมานานแล้ว

             การที่ตำรวจยังมีพฤติกรรมที่ส่อความไร้จริยธรรมอยู่ จึงทำให้สรุปเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากว่า ความพยายามที่จะปลูกฝังและเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจนั้น ล้มเหลว อย่างน้อยก็สำหรับตำรวจพวกหนึ่ง

             เรามักจะได้ยินอยู่เสมอ (และยอมรับ) ว่าองค์กรตำรวจเป็นองค์กรใหญ่ มีคนมาก จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องมีทั้งคนดีคนเลวปะปนกันอยู่ และตำรวจส่วนมากเป็นคนดี ส่วนน้อยเท่านั้นที่เลว

             แต่เราก็ต้องยอมรับว่าความเลวของตำรวจส่วนน้อยนั้น ทำความเสียหายให้แก่สังคมได้อย่างลึก กว้างขวาง และยืดเยื้อ ข่าวตำรวจ (เลว) ละเมิดกฎหมาย ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย ทำทารุณกรรม "อุ้ม" คนไปฆ่า ฯลฯ นั้น เมื่อเป็นข่าวขึ้นมาแล้ว สื่อมักจะเผยแพร่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทั้งในรูปของข่าวและบทความวิพากษ์วิจารณ์ จึงทำให้ประชาชนหวาดผวาและไม่วางใจตำรวจ

             ตำหนิสื่อไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องเสนอทั้งข่าวความดีและข่าวความเลว

             ตำหนิประชาชนก็ไม่ได้ เพราะตำรวจเป็นผู้ "พิทักษ์สันติราษฎร์" เมื่อกลายเป็นผู้ "พิชิตสันติราษฎร์" ขึ้นมา จะให้รักและวางใจได้อย่างไร

             เมื่อเกิดพฤติการณ์อันแสดงความไร้จริยธรรมของตำรวจขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงควรถือเป็นเรื่องใหญ่พิเศษ ที่จะต้องนำไปพิจารณาทบทวนทันทีว่า โครงสร้างจริยธรรมตำรวจที่กำหนดไว้เมื่อ ๒๒ ปีมาแล้วนั้น ยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ และมาตรการการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจเท่าที่ทำมาแล้วนั้นได้ผลสมตามความมุ่งหมายหรือไม่

             ถ้าปรากฏว่าโครงสร้างจริยธรรมตำรวจบกพร่องก็จะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติม และถ้าปรากฏว่ามาตรการเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจก็ไม่ได้ผล ก็จะต้องหาให้พบว่าไม่ได้ผลเพราะอะไร และรีบแก้ไขโดยเร็ว

             จริยธรรมตำรวจที่ไม่ได้ผลนั้น ก็เพราะตำรวจไม่เห็นความสำคัญของจริยธรรม เมื่อผู้บังคับบัญชากำหนดให้ทำกิจกรรมอันเป็นการเสริมสร้างจริยธรรม ก็ซังกะตายทำพอให้มีผลงานเอาไปรายงานหรือประเมิน ทำแล้วก็แล้วกัน จริยธรรมกลายเป็นแต่ศัพท์เพราะ ๆ เก๋ ๆ ให้ใช้พอคล่องปาก ทั้ง ๆ ที่จริยธรรมนั้นจะต้องใช้เป็นหลักกำกับชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง ใช้จนเป็นนิสัย

             ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ ผู้บังคับบัญชาตำรวจซึ่งควรจะเป็นตัวอย่างของผู้มีจริยธรรม กลับประพฤติตัวเป็นตัวอย่างของผู้ไร้จริยธรรม ไม่มีศีลธรรมหรือละเมิดกฎหมายเสียเอง ผู้ใต้บังคับบัญชาจึงพลอยเห็นดีเห็นงามและเอาอย่าง

             ความรู้เรื่องกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญา และความรู้เรื่องอาวุธและยุทธวิธีนั้น จำเป็นสำหรับตำรวจอย่างแน่นอน และสมควรที่จะต้องประสิทธิ์ประสาทปลูกฝังให้ตำรวจให้แน่นแฟ้นต่อไป

             แต่ถ้าไม่มีจริยธรรม ตำรวจก็อาจจะนำความรู้เหล่านั้นไปใช้โดยผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือโดยเจตนาก็ตาม

             รัฐบาลนี้ได้เริ่มทำและกำลังทำสงครามเบ็ดเสร็จกับผู้ผลิตและค้ายาเสพติดให้โทษ ในเวลาเดียวกันรัฐบาลจะต้องเริ่มทำสงครามเบ็ดเสร็จกับตำรวจเลว ๆ ที่จงใจทำลายจริยธรรม ด้วยการกำจัดออกเสียจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับฟื้นฟูเสริมสร้างจริยธรรมตำรวจอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

             ถ้ามิฉะนั้นแล้ว การทำสงครามกับผู้ผลิตและค้ายาเสพติดและกับอาชญากรรมรูปแบบอื่น ๆ จะไร้ผล และรัฐบาลจะแพ้

             เพราะถูกบ่อนทำลายโดยตำรวจอันเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเอง..

******************

ที่มา : มติชนรายวัน วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๗ ฉบับที่ ๙๕๓๑

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร