ชีวิต สังคม การพัฒนากับ คติชาวบ้าน

 

           " เพื่อความเข้าใจชีวิต การดำรงชีวิต และการพัฒนาคุณภาพชึวิต จะต้องเข้าใจชีวิต สังคม การพัฒนาไปพร้อมๆกัน และสิ่งหนึ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่ไปด้วยคือ คติชาวบ้าน" เพราะผู้เขียนมุ่งหวังให้ผู้ศึกษาวิชาเอกภาษาไทย และผู้ที่ศึกษา "คติชาวบ้าน" สามารถนำความรู้จากการเรียนคติชาวบ้าน ในวิชาภาษาไทยไปประยุกต์ใช้ในชีวิต ในสังคม และนำไปช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่พี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในชนบทยากไร้ ห่างไกลจากสังคมเมือง แต่มั่นคงในความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ เขายังคงมีวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ เมื่อมีคนจากเมืองเดินทางไปสู่ชนบท ได้นำวัฒนธรรมจากถิ่นอื่นเข้าไปด้วย สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลอย่างไรบ้างต่อชุมชน ผู้เป็นครูและผู้ที่เข้าไปพัฒนาท้องถิ่น และพัฒนาบุคคลในชนบท น่าจะได้ศึ กษาและสำนึกต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย โดยยึคความเป็นเอกลักษณ์ที่ดีงามของคติชาวบ้านนั้นๆ ไว้เพื่อความมั่นคงของคนในชาติ

           ชีวิตจะเจริญเติบโตมาได้ต้องได้รับการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนอย่างดี และเติบโตในแวดวงของคติชาวบ้าน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมกลุ่มย่อยของวัฒนธรรมแห่งชาติ คนมิได้มีความเป็นมนุษย์มาแต่กำเนิด ความเป็นมนุษย์ของคนเกิดขึ้นเพราะคนเข้ามาอยู่ในสังคม เรียนรู้ระบบ ระเบียบของสังคม คือ วัฒนธรรม จึงจะเป็นมนุษย์ทั้งทางกายและทางจิตใจ ซึ่งแสดงออกมาทางพฤติกรรม มีนิทานเรื่อง " เมาคลีลูกหมาป่า" และ "กมลา" ซึ่งหมอสอนศาสนาพบในป่าเบงกอลของประเทศอินเดีย เป็นอุทาหรณ์ว่า มนุษย์ในนิทานทั้งสองเป็นมนุษย์ทางกายเท่านั้น พฤติกรรมที่แสดงออกเป็นเยี่ยงสัตว์เพราะไปอยู่กับสัตว์ มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉานเพราะมีวัฒนธรรม การพัฒนาความเป็นอยู่ในสังคมของมนุษย์ มาเป็นระบบต่างๆ จนเป็นระเบียบ สามารถจัดระบบให้คนอยู่ในคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมได้นั้น หมายความว่า มนุษย์รู้จักการพัฒนาตนเองและสังคมมาพร้อม ๆ กัน โดยมีคติชาวบ้านและวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานสำคัญ ความเป็นระเบียบของสังคมเกิดขึ้นเพราะการรู้จักจัด " ระบบ" ฉะนั้น จึงขอกล่าวถึงระบบไว้ในที่นี้ด้วย เพราะระบบมีความสำคัญต่อชีวิต สังคม และการพัฒนาเพื่อให้มีคุณภาพด้วย

ระบบ ( System ) เกิดขึ้นได้อย่างไร

           ระบบเกิดขึ้นได้จากความคิดขั้นสูงของคน ที่ต้องการให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่มาอยู่รวมกันเป็นสังคม มีระเบียบแบบแผน มีรูปร่าง มีกระบวนการ

           " ระบบ เป็นการรวมของส่วนต่าง ๆ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ส่วนต่าง ๆ หรือกิจกรารมต่าง ๆ เหล่านั้น จัดรวมกันเข้าอย่างมีระเบียบ การสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันของส่วนต่างๆ ของปรัชญาใดปรัชญาหนึ่งถือว่าเป็นระบบ รวมทั้งระบบการสื่อสาร ระบบการขนส่ง หรือระบบเศรษฐกิจ จะเป็นระบบอะไรก็ตาม ลักษณะที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน จะต้องกลมกลืนในการนำไปปฏิบัติและมีบูรณาการในโครงสร้างของมัน" ฉะนั้นระบบจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้ง ชีวิต สังคม และการพัฒนาทุกอย่าง จึงจะทำให้สิ่งนั้นไปสู่เป้าหมายได้ตามจุดประสงค์

           เมื่อเข้าใจชีวิต การพัฒนาของชีวิตที่ต้องอาศัยคติชาวบ้าน และวัฒนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองชีวิตให้เจริญงอกงามและพัฒนาแล้วนั้น สังคมที่แวดล้อมชีวิตก็ควรจะพัฒนาและสนองตอบชีวิตด้วย สังคมจะพัฒนาได้ดีแค่ไหน อย่างไร จึงจะทำให้ชีวิตมีคุณภาพ ก่อนที่เราจะทราบว่าสังคมจะพัฒนาไปอย่างไร เราควรทราบหน้าที่
ของสังคม และคนในสังคมด้วย

หน้าที่ของสังคม

           สังคมจะมั่นคงได้เพราะระบบ ( System ) ระบบที่ดีอยู่บนรากฐานของหน้าที่ และบทบาทของคนในสังคม และสังคมจะเป็นตัวควบคุมโดยธรรมชาติของสังคมเอง ฉะนั้น สังคมต้องมีหน้าที่ ต่อไปนี้

           ๑. สังคมมีหน้าที่ให้ความคุ้มครอง ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน หน้าที่นี่กินคำได้กว้างขวางมาก ความปลอดภัยในชีวิตมีอะไรบ้าง เช่น มนุษย์เกิดมาแล้ว ต้องมีคนเลี้ยงดู พ่อ แม่ไม่ได้เลี้ยงดูก็มีความผิดและถ้าเอาลูกไปทิ้ง หรือตีลูก ทารุณลูก ก็มีความผิด จะคิดว่าลูกของเรา ฉะนั้นเราตจะทำอะไร ทารุณอย่างไรก็ทำได้ เป็นความคิดที่ผิดจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย สังคมก็ต้องดูแล เพื่อให้มีชีวิตสืบสายชีวิตในสังคมไว้ ประสบภัยพิบัติ สังคมก็ต้องรับผิดชอบ ให้ความช่วยเหลือ ใครทำร้ายให้ได้รับบาดเจ็บ หรือป่วยไข้ พิการสังคมก็ต้องให้ความคุ้มครอง ป้องกัน ทรัพย์สินบ้านเรือน และของทุกอย่าง สังคมต้องจัดระบบและจัดเจ้าหน้าที่ดูแล มีระเบียบกฎหมายในการควบคุม คุ้มครองให้ทรัพย์สินปลอดภัย

           ๒. สังคมมีหน้าที่ให้บริการแก่ชีวิตของคนในสังคมอย่างทั่วถึง เช่น
           -ให้การศึกษาเล่าเรียน
           -ให้การรักษาพยาบาล
           -ให้การสาธารณูปโภคที่ดี ปลอดภัย สะดวก เหมาะสมกับสถานะภาพ เช่น การประปา ไฟฟ้า ถนนหนทาง ยานพาหนะขนส่ง การติดต่อสื่อสาร ฯลฯ

           ๓ สังคมมีหน้าที่ผลิตเครื่องอุปโภค และบริโภค ฉะนั้น สังคมมีหน้าที่ดำเนินการในด้านการผลิต การแจกแจงสินค้า เพื่อบริการแก่สมาชิกในสังคม

           ๔. สังคมมีหน้าที่กำหนดงาน และการแบ่งงานกันทำตามความสามารถของบุคคล ได้แก่ แบ่งหน้าที่ตามอาชีพต่าง ๆ เช่น
           -พวกใช้วิชาชีพ ได้แก่ ครู แพทย์ สถาปนิก ฯลฯ
           -พำวกใช้แรงงาน ได้แก่ กรรมกรขนส่ง กรรมกรท่าเรือ ฯลฯ
           -พวกใช้ฝีมือ ได้แก่ ช่างไม้ ช่างปูน ช่างสี ฯลฯ

           ๕. มีหน้าที่ส่งเสริมการผลิตสมาชิกใหม่ และการควบคุมสมาชิก ( การชะลอการเกิด) ให้สืบแทนสมาชิกเก่าของสังคมที่ต้องล้มตาบยลงไป และรวมใถึงการรับสมาชิกใหม่จากสังคมอื่น เข้ามาในสังคมด้วย

           ๖. ให้การอบรมเรื่องระบบ ระเบียบของสังคม และวัฒนธรรมให้แก่สมาชิก
           ๗. รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี และกฎหมาย
           ๘. เสริมสร้างคุณค่า ความหมาย ให้สมาชิกได้ตระหนักในหน้าที่ ระเบียบ วินัย ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

หน้าที่ของคนในสังคม

           สังคมมีหน้าที่เพื่อคนในสังคม คนในสังคมจึงต้องมีหน้าที่ต่อคนในสังคมด้วย หน้าที่ของคนในสังคมจะต้องประพฤติปฏิบัติดังนี้

๑. รับใช้สังคมด้วยการเป็นทหาร
๒. มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษี และแสดงรายได้อย่างสุจริต ยุติธรรม
๓. ทำหน้าที่ที่ได้รับจากสังคมให้ดีที่สุด และเต็มความสามารถไม่บิดพลิ้วและละเลย
๔. ใช้สิทธิ เพื่อรักษาหน้าที่ของตนเองในฐานะเป็นสมาชิกของคนในสังคม เช่น การเลือกผู้แทน การแสดงความคิดเห็นเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของสังคม ฯลฯ
๕. มีหน้าที่รักษาป้องกันให้สังคมเจริญและปกติสุข จากเหตุการณ์และบุคคลที่ไม่ประสงค์ดีต่อสังคม
๖. มีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียน ประกอบอาชีพและประพฤติตนเป็นคนดี มีประโยชน์ต่อสังคม
๗. มีหน้าที่ต้องสืบสายโลหิต เพื่อทดแทนชีวิตที่ต้องล้มตายลงไป
๘. ต้องอบรมเลี้ยงดูสายโลหิตให้เป็นคนดี เป็นหน่วยของสังคมที่ดี
๙. ต้องพยายามขัดเกลานิสัยสันดาน และควบคุมกิเลศตัณหาราคะของตนเอง เป็นสมาชิกที่พึงปรารถนาของสังคม ไม่ภาระและปัญหาให้กับสังคม
๑๐. ต้องฝึกปฏิบัติให้พึ่งตนเองได้ และรู้จักจุนเจือผู้อื่น

           ชีวิตจะพัฒนาได้ต้องอาศัยสถาบันต่างๆ ในสังคมช่วยกันทำหน้าที่ให้เต็มความสามารถและอยู่บนหลักการ และปรัชญาเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือแก่งแย่งกันทำ หรือเกี่ยงกันทำจนทำให้ประชาชน เกิดความสับสน เคว้งคว้าง ว้าเหว่ ไม่จุดยืนที่แน่นอนในการพัฒนาตนและสังคมไปสู่การมีคุณภาพ ฉะนั้นจึงควรรู้จักสถาบันทางสังคม เพื่อจะได้เข้าใจ รู้จักแนวทาง สายงาน บทบาทและหนาที่ของแต่ละสถาบัน เพื่อกำหนดแผนการพัฒนาชีวิตและสังคมให้เหมาะสมกัน ไปตามแต่ละท้องที่ ซึ่งมีวัฒนธรรมเฉพาะถ่น หรือคติชาวบ้านทั้งต่างกัน และร่วมกันอยู่

สถาบันทางสังคม

           " สถาบัน" พจนาณุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า " สถาบัน คือ สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม ค์อ สังคม จัดตั้งให้มีขึ้น เพราะเห็นประโยขน์ว่ามีความต้องการและจำเป็น แก่วิถีชีวิตของคน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง" " สถาบัน" ในความหมายทั่วไปมีความหมาย ๒ นัย คือ

         ๑. สถาบันทางรูปธรรม ได้แก่ องค์การหรือสมาคม เช่น องค์การขนส่งมวลชน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

        ๒. สถาบันทางนามธรรม ได้แก่ ระเบียบหรือประสบการณ์ที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมหนึ่งๆ สถาบันทางสังคมที่สำคัญ ๆ ซึ่งเรียงไปจากความใกล้ชิดบุคคลได้ดังนี้                        

๑. สถาบันทางครอบครัว
๒. สถาบันทางศาสนา
๓. สถาบันทางการศึกษา
๔. สถาบันนันทนาการ
๕. สถาบันทางเศรษฐกิจ
๖. สถาบันการสื่อสาร

๑. สถาบันทางครอบครัว
         ครอบครัวจัดเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุดของสังคม มีหน้าที่ผลิตสมาชิกใหม่ และถ่ายทอดวัฒนธรรม ค่านิยม หากสถาบันนี้ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก และเครือญาติขาดความรัก ความอบอุ่น สามัคคีปรองดอง
สถานภาพทางเศรษฐกิจต่ำ แนวทางชีฝวิตที่ยึดถือไม่ดี ก็อาจมีผลให้ชีวิตและสังคมล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นผู้ที่เป็น พ่อ แม่ ของคน จึงควรเป็นคนที่ได้รับการศึกษา มีธรรมในการครองชีวิต อาจศึกษาจากการศึกษานอกระบบ คือ คติชาวบ้าน จากวัด หรือศึกษาจากสถาบันการศึกษาของรัฐ ทั้งในและนอกระบบ พอที่จะนำมากำหนดชีวิตตนเอง และแนะนำลูกหลานได้ ครอบครัวนั้นก็เป็นครอบครัวที่พัฒนาขึ้น

๒. สถาบันทางศาสนา
         เป็นสถาบันที่สำคัญของทุกสังคม ทั้งนี้มนุษย์จะเติบโตเฉพาะแต่ร่างกายหาได้ไม่ จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทางจิตใจให้มีคุณธรรม จริยธรรม ไปพร้อม ๆ กัน คำสอนของพระศาสดาในแต่ละศาสนา ได้กำหนดแนวทางประพฤติปฏิบัติที่ดี ที่เหมาะสมเพื่อชีวิตในสังคมนั้น ๆ ไว้แล้ว สถาบันทางศาสนามีอทธิพลต่อชีวิตพอ ๆ กับคติชาวบ้านในสังคมเดิมก่อนที่คนจะได้รับการศึกษาในระบบ คือ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ฉะนั้นพระภิกษุในศาสนาพุทธ นักบวช และผู้นำคำสั่งสอนของพระศาสดามาเผยแผ่ จะต้องเข้าใจธรรมนั้นอย่างลึกซึ้ง และสามารถนำมาปฏิบัติได้ถูกต้อง โดยยึดสำคัญของศาสนานั้น ๆ ไว้ คือ ทำดีม้ศีลธรรม ละทำชั่ว ผู้ที่เผยแผ่คำสั่งสอนของศาสนาได้ดี คือ ผู้ที่รู้จักผสมผสานลัทธิความเชื่อ คติชาวบ้าน กับพระธรรมวินัย ในศาสนานั้นได้อย่างกลมกลืน

๓. สถาบันทางการศึกษา
         ได้แก่ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานทางการบริหารทางการศึกษา เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ทบวง มหาวิทยาลัย ศุนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งจัดการศึกษาตามแนวนโยบายของรัฐหลักสูตรที่กำหนด เป็นหลักสูตรที่ตั้งความหวังและเป้าหมายในการผลิตคนเพื่อรับใช้สังคมในแต่ละยุคอย่างเหมาะสมกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ ฯลฯ ฉะนั้น ผู้ กำหนดหลักสูตรจึงควรนำคติชาวบ้าน คำสอนของศาสนา ลักษณะอาชีพ วิถีชีวิตของคนในสังคมมาศึกษา เพื่อกำหนดหลักสูตรให้เหมาะสม กลมกลืน และมีแผนอันกว้างไกล เพื่อรับกับความเจริญของสังคม และวัฒนธรรมต่างชาติที่จะเข้ามาในลักษณะการติดต่อทางการพาณิชย์ การฑูต การทหาร และ ฯลฯ โดยกำหนดแผนเป็นระยะ ๆ ดังที่รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนามาเป็นระยะนั้นเอง จากลักษณะและหน้าที่ของสถาบันการศึกษานั้นเอง ถ้าหากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำมาปฏิบัติในหน้าที่ที่ทำอยู่อย่างสอดคล้องกัน เยาวชนของชาติก็สามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นหน่วยที่สำคัญของชาติในทุกสาขาอาชีพได้นอกจากนั้นถ้าผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติการทางการศึกษาทุกระดับได้เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และมี
นโยบายนำการศึกษาทุกรูปแบบให้ประชาชนสัมผัสโดยทั่วถึงกันประสานสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่น ๆ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ประชาชนโดยทั่วไป จะได้รับรู้ เข้าใจ สามารถนำมาแนะนำหรือสนองตอบความต้องการของลูก ๆ และเยาวชนในปกครองได้อย่างดี ชีวิตจะมีความหมายและสามารถพัฒนาต่อไป เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพได้

๔. สถาบันนันทนาการ
         นันทนาการเป็นกิจกรรมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ สนุกสนานรื่นเริงเพื่อผ่อนคลายความเครียด พร้อมทั้งเพิ่มพูนอนามัยที่ดี ใช้เวลาว่าง ให้เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ต่าง ๆ และสนองความต้องการทางสังคม และการรวมกลุ่มของมนุษย์ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมด้วย จึงต้องมีอาคาร สถานที่รองรับ
กิจกรรมเพื่อนันทนาการ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เป็นกิจกรรมที่มีมาแต่โบราณ ดึกดำบรรพ์ หรืออาจพูดได้ว่ามีมาคู่กับมนุษย์ก็ว่าได้ เช่น การละเล่นของเด็ก การร้องรำทำเพลงต่าง ๆ แต่เนื่องจากสังคมมนุษย์ในสมัยก่อนไม่สลับซับซ้อนเหมือนสังคมปัจจุบัน กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนันทนาการในสมัยนั้นจึงจัดง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน นอกจากนั้นจุดมุ่งหมายก็ไม่กว้างขวางเหมือนปัจจุบัน
นันทนาการเป็นการกระทำอิสระ โดยสมัครใจ และสนองความต้องการของแต่ละบุคคลไม่มีการบังคับ หรือจูงใจ ให้สินจ้างรางวัลใด ๆ โดยเฉพาะ นันทนาการเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบัน เพราะมีสิ่งทำให้เกิดความเครียด ความกดดันต่าง ๆ ต่อชีวิตมากมาย ถ้าบุคคลไม่รู้จักผ่อนคลาย แสวงหากิจกรรมนันทนาการเพื่อความเพลิดเพลิน และพักผ่อนหย่อนใจบ้างก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้มาก
นันทนาการประกอบด้วยการละเล่นเกมต่าง ๆ การเล่นกีฬา กรีฑา พักผ่อนหย่อนใจ การหาความสนุกเพลิดเพลิน ทำงานอดิเรก และการท่องเที่ยว เป็นต้น นันทนาการเป็นเรื่องของความสนใจ เจตคติความต้องการ และความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ต้องอาศัยอาคาร สถานที่ เช่น สวนสาธารณะ สระว่าน้ำ สนามกีฬา ฯลฯ
และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อจะได้จัดบริการประชาชน ให้ได้ไปศึกษาวิถีชีวิต หรือคติชาวบ้าน ทั้งศิลปะ สถาปัตยกรรม เพลงพื้นบ้าน ตำนานของท้องถิ่น งานรื่นเงตามเทศกาล และความเชื่อของแต่ละถิ่น เป็นการช่วยประชาชนในแต่ละถิ่นแต่ละภาคเข้าใจกัน มีความภูมิใจซึ่งกันและกัน และรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมไปในตัว

๕. สถาบันทางเศรษฐกิจ
        สังคมเดิมของมนุษย์ การทำมาหากินไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่มีเรื่องของการเงิน การตลาด การผลิต การขนส่ง การกำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราเช่นปัจจุบันฉะนั้นปัจจุบันจึงจำเป็นต้อง มีสถาบันทางเศรษฐกิจ เข้ามาจัดระะบบต่างๆ ขึ้นเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ต่างในประเทศ และโลก ฉะนั้น จึงมีสถาบันการเงิน คือ ธนาคารเกิดข้น ธนาคารได้เปลี่ยนแปลง รูปและระบบ วิธีการไม่เพียงแต่จัดการกับการเงินเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนวิธีการเป็นธนาคารเพื่อการเกษตร ธนาคารพาณิชย์ เพื่อปกป้องคุ้มครองรายได้ ผลผลิต ผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้า คือประชาชนโดยทั่วไป ฉะนั้น การเก็บเงินใส่กระบอกไม้ไผ่ ใส่ตุ่ม ใส่หีบซุกซ่อน หมดไป เปลี่ยนเป็นนำเงินมาฝากธนาคาร เพื่อธนาคารนำไปจัดการให้กู้ยืมเพื่อการลงทุน นำกำไรมาเฉลี่ยโดยคิดอัตราดอกเบี้ยให้ตามประเภทเงินฝาก ในขณะเดียวกันก็สามารถกู้เงินจากธนาคาร เพื่อไปลงทุนประกอบธุรกิจได้เช่นกัน การจัดการระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันนี้เอง ผู้ที่จะไปพัฒนาชนบท ควรจะได้มีความรู้เกี่ยวกับสถาบันต่าง ๆ เหล่านี้ และไปแนะนำ ประชาสัมพันธ์ให้แก่ชาวชนบท ได้เข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้อง เป็นการพัฒนาระบบชีวิต ตามสังคมยุคใหม่ได้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

๖. สถาบันการสื่อสาร
         ได้แก่ สถาบันหนังสือพิมพ์ องค์การสื่อสารมวลชน กรม ประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ สถาบันการสื่อสารคือสถาบันที่มีความ-หมายทั้งทางรูปธรรม ได้แก่ องค์การ สมาคม ฯลฯ และทางนามธรรม ได้แก่รเบียบหรือระบบที่ปฏิบัติกันอยู่ในสังคม สถาบันการสื่อสารมีความสำคัญมากในปัจจุบัน เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงและสลับซับซ้อนมากขึ้น การติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกเป็นไปอย่างกว้างขวางต่อเนื่องไม่มีเวลาหยุดนิ่ง ว่างเว้น อาจกล่าวได้ว่าทุกคนที่มีชีวิตอยู่และตื่นอยู จะต้องเกี่ยวข้องกับสถาบันการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ตามความต้องการของแต่ละบุคคลทั้งสิ้น สถาบันการสื่อสารได้ผลิตสื่อเพื่อให้มวลชนรับรู้
ฉะนั้น สื่อสารมวลชน ซึ่งได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนต์ สื่อมวลชนเหล่านี้ต่างก็มุ่งกระทำเพื่อเป็นผลต่อมวลชน หรือคนจำนวนมากให้ได้รับรู้ข่าวสารทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนั้น สื่อมวลชนยังมีหน้าที่ ถ่ายทอดวัฒนธรรม ให้ความบันเทิง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต แก่ผู้รับสารในปัจจุบันด้วย
         ฉะนั้น สื่อมวลชนควรเลือกสรรวิทยาการ ความบันเทิงต่าง ๆ ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ความคิดความเชื่อเดิม ๆ ที่รับถ่ายทอดมาจากคติชาวบ้าน ซึ่งเป็นความคิด ความเชื่อที่งมงาย ก็ควรใช้วิธีการอันแยบคาย ให้ประชาชนมองเห็นถึงความไม่มีประโยชน์ ที่อาจจะหยุดยั้งความเจริญและทำลายคุณภาพชีวิตของพวกเขาเสีย แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้เป็นการดูถูกดูหมิ่นชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นได้ ด้วยเหตุที่สถาบันการสื่อสารมีความสำคัญต่อสังคมในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น สื่อที่สถาบันการศึกษาผลิตขึ้นเพื่อมวลชน จึงควรเป็นสื่อที่น่สนใจ สื่อบางอย่างควรควบคุมเนื้อหาซึ่งเป็นสารที่จะส่งให้แก่มวลชนนั้น ควรมีเป้าหมายและจุดประสงค์ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่สร้างความสับสนให้แก่มวลชน
ปกติคนทั่วไปมักเข้าใจความหมายของการเป็นสารมากกว่าการเข้าใจสื่อมวลชน
ซึ่งได้แก่ หนังสือพิมพ์ หนังสือ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์
         สื่อมวนชนเหล่านี้ ควรมุ่งกระทำเพื่อเป็นผลต่อมวลชนตามบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และจุดประสงค์ของสื่อนั้น ๆ ดังนั้น ถ้าจะมีการปรับปรุงการสื่อสารมวลชน ก็ต้องมีการปรับปรุงทั้งในด้านเนื้อหา สาระของสาร ผู้ส่งสาร ผู้รับสาร สื่อต่าง ๆ ตลอดจนเทคนิคหรือวิธีต่าง ๆ และส่วนประกอบอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้การสื่อสารมวลชน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามมุ่งหมาย และหน้าที่เพื่อพัฒนาสังคม ชีวิต ให้มีคุณภาพจึงขอกล่าวถึงหน้าที่ของการสื่อสารมวลชน เพื่อให้ผู้ทำหน้าที่พัฒนาชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้มองเห็นแนวทางและสำนึกต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็น องค์ประกอบในการนำคติชาวบ้าน จิตวิทยาสังคม สังคมวิทยา ฯลฯ เข้ามาใช้ในการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์

หน้าที่ของสถาบันการสื่อสารหรื่อการสื่อสารมวลชน

         ๑. มีหน้าที่เสนอข่าวสารต่าง ๆ ข่าวสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในสังคมหนึ่งไม่ว่าจะใกล้หรือไกลย่อมมีผลกระทบต่ออีกสังคมหนึ่งเสมอ ไม่มากก็น้อย ข่าวสารเหตุการณ์ ที่สำคัญสามารถแพร่กระจายผ่านสื่อน่าง ๆ ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ฉะนั้นการคอยรับฟังข่าวสารเหตุการต่าง ๆ ของคนในปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก ผู้ที่ไม่สนใจและติดตามจะมีชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในสังคมปัจจุบันค่อนข้างยาก ฉะนั้น สื่อสารมวลชนจึงมีภาระหน้าที่ติดตามแสวงหาข่าวที่สำคัญและจำเป็นและจำเป็น มีค่าควรแก่การเสนอแก่มวลชน และต้องเผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ต่อสังคม

         ๒. มีหน้าที่ประสารสำพันธ์ส่วนต่าง ๆ ของสังคม เสนอแนะข้อคิดเห็น ให้คำเตือน ไขข้อข้องใจ แก่ข่าวลือ และความเข้าใจผิด รวมทั้งช่วยแก้ไขการกระทบกระทั่งที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างส่วนต่าง ๆ ของสังคม

         ๓. มีหน้าที่ให้ความบันเทิงแก่มวลชน เพื่อจะได้ผ่อนคลายความเครียดของชีวิต มองโลกเป็นสิ่ง
สวยงามและในทางที่ดี วามบันเทิงที่ให้นั้นควรจะมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมด้วย

         ๔. มีหน้าที่ในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามแก่มวลชน มีหน้าที่ในการ ให้การศึกษา อนุรักษ์ และถ่ายทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นทุก ๆ ถิ่น รวมทั้งวัฒนธรรมของชาติ เพื่อกระตุ้นให้ผู้รับสารเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมแห่งตนและแห่งชาติ เพื่อความมั่นคงของชาติสืบไป

         ๕. มีหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ผู้รับสารในสังคมปัจจุบัน โดยนำสิ่งที่มีค่า มีประโยชน์ต่อชีวิต มาเผยแพรในลักษณะสอดแทรก อยู่ในการเสนอรายการภาคข่าว ภาคบันเทิง และในวาระที่ เป็นเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ศิลปะ ดนตรี กีฬาและกรีฑา ตามความเหมาะสม เพื่อให้ทุกชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น หน้าที่สื่อมวลชนในการ พัฒนาคุณภาพชีวิต นับว่ามีความสำคัญและเด่นชัดมาก ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของชาติ

         ดังได้กล่าวมาแล้วว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมนุษย์ สร้างกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมขึ้น เป็นระเบียบแบบแผน ประเพณี กฏหมาย ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ ของสังคมขึ้น เพื่อสนองความต้องการในการอยู่ร่วมกันให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีความสงบสุขและปลอดภัย
ประเทศไทยประกอบด้วยท้องถิ่นที่เป็นตำบล หรือหมู่บ้านจำนวนมากมาย แต่ละแห่งมีสภาพความเป็นอยู่ วิถีการดำเนินชีวิตไม่เหมือนกัน จะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบความเป็นอยู่ของคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับคนที่อยู่ต่างจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศ หรือความเป็นอยู่ของคนในเมือง อันเป็นที่ตั้งศูนย์บริหารงานในระดับ จังหวัด กับคนในระดับอำเภอต่าง ๆ หรือคนที่อยู่ในท้องที่ของอำเภอกับคนในตำบลต่าง ๆ เราจะพบเห็นความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่สภาพแวดล้อม ความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต คำพูด สำเนียงภาษา เป็นต้น

         การที่แต่ละท้องถิ่นและชุมชนมีเอกลักษณ์ของตน เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่สถาบันทางสังคมแต่ละสถาบัน จะต้องคิดพิจารณา ในการทำหน้าที่เพื่อ " พัฒนาคุณภาพชีวิต" ของถิ่นนั้น ๆ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า วัฒนธรรมจากถิ่นหนึ่ง เมื่อไปสู่อีกถิ่นหนึ่งนั้น

         คนที่อยู่ในถิ่นผู้รับจะต้องพิจารณาทดสอบดูก่อนว่ารับได้หรือไม่ สอดคล้องกับความคิด ความเชื่อ วิถีชีวิตเดิมหรือไม่ และการที่จะเปลี่ยนแปลงไปนั้น ต้องมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ตามจังหวะและขั้นตอนที่เหมาะสม เราจะเห็นได้ชัดจากประสบการณ์ในการพัฒนาชนทบหลาย ๆ ท้องถิ่น คนในท้องถิ่นต่าง ๆ เหล่านั้น นอกจากไม่ยอมรับสิ่งเปลี่ยนแปลงแล้ว บางครั้งยังต่อต้านด้วย

         เมื่อสิ่งที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามความคิดเห็นและความต้องการของผู้ไปพัฒนา ไม่ได้พิจารณาถึงความจำเป็น ความต้องการพื้นฐาน และชีวิตเดิมของผู้รับการพิจารณา
การมีความรู้ความเข้าใจ ของผู้ที่จะไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นต่าง ๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเดิมของท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ดีทางหนึ่ง ก็คือ การศึกษา " คติชาวบ้าน " ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ คนที่จะพัฒนาชาวเขาได้ดี ก็คือคนที่เป็นชาวเขาเผ่าเดียวกัน ที่ได้รับการศึกษาพอสมควร ชาวเขาที่ได้รับการศึกษาสูง ๆ อาจไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของเผ่าตนไม่สำเร็จ ถ้าลืมสภาพเดิมของตน

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี