ระเบียบปฏิบัติศาสนพิธีกฐิน

ความหมายของกฐิน

         คำว่า “กฐิน” เป็นชื่อของไม้แม่สะดึง ซึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึงแล้วเย็บหรือปักตามความต้องการ เป็นพระบรมพุทธานุญาตที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแก่พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาไม่ขาดถ้วนไตรมาส ให้มีโอกาสได้กรานกฐิน (รับผ้ากฐิน) ในท้ายฤดูฝนเพื่อจักได้ขยายเขตจีวรกาลออกไปตลอดฤดูเหมันต์ ซึ่งมีอธิบายไว้แล้วในวินัยมุขเล่ม ๓ กัณฑ์ที่ ๒๖

ประเภทกฐิน

         กฐินแบ่งประเภทเป็น ๒ คือ กฐินหลวง ๑ กฐินราษฏร์ ๑
กฐินหลวง แบ่งประเภทออกไปเป็น ๓ คือ

         ๑.พระกฐินหลวง คือ พระกฐินซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงทอดด้วยพระองค์เอง ในพระอารามหลวง ในกรุงเทพมหานคร ๑๙ พระอาราม แต่จะเสด็จเพียง ๙ พระอาราม นอกนั้นพระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์นำไปพระราชทานแทนพระองค์

         ๒.พระกฐินต้น คือ พระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ถวายกฐินเป็นกรณีพิเศษแก่วัดใดวัดหนึ่ง

         ๓.พระกฐินพระราชทาน คือ พระกฐินซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมอบหมายให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชการ กรม กอง นำไปถวายแทนพระองค์ในพระอารามหลวงทั้งกรุงเทพมหานครและหัวเมือง

         กฐินราษฏร์ คือ กฐินที่ทายกทายิกา หรือสหธรรมิกด้วยกัน มีศรัทธานำไปถวายในวัดราษฏร์ ซึ่งมีทั้งเป็นของเอกชนและทั้งเป็นของคณะสามัคคี

ก่อนถึงวันถวายกฐิน

         เมื่อเจ้าอาวาสทราบกำหนดวันถวายกฐินแน่นอนแล้ว ควรซักซ้อมพระสงฆ์ผู้ที่จะรับกฐิน การอปโลกน์กฐิน การสวดให้ผ้ากฐิน การกรานกฐิน การอนุโมทนากฐิน ให้อยู่ในเกณฑ์เรียบร้อยสัก ๒-๓ ครั้งก่อน

         เมื่อใกล้จะถึงวันทอดกฐินอีก ๑-๒ วัน ให้จัดการทำความสะอาดบริเวณวัดให้สะอาดเรียบร้อยก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มความพอใจให้เจ้าภาพอย่างมาก

สิ่งจำเป็นที่จะต้องจัดจะต้องทำ

         ๑.ศาลาการเปรียญ ต้องปัดกวาดให้สะอาด กำจัดขยะมูลฝอยในบริเวณใกล้เคียง
         ๒.อุโบสถ ต้องปัดกวาดทำความสะอาด พระประธาน แม้ผ้าห่มพระซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ก็ควรนำออกเสียด้วย สิ่งสกปรกที่มีอยู่ตามฐานชุกชี ดอกไม้เหี่ยวแห้งที่อยู่ในแจกันหน้าพระหรือที่โต๊ะบูชา ต้องนำออกให้หมดชำระแจกันเสียให้สะอาด และจัดที่บูชา ธูป เทียน ดอกไม้ แจกัน ดอกไม้พานให้อยู่ในเกณฑ์น่าดูน่าชม
         ๓.เครื่องปูลาดอาสนะ และของใช้ที่จำเป็น ต้องจัดเตรียมหาไว้ให้เพียงพอแก่ความต้องการ ถ้าในวัดมีไม่พอ ควรจัดหามาให้พอ ในที่บางแห่งนิยมถวายผ้ากฐินที่ศาลาการเปรียญ ควรจัดที่ตั้งผ้ากฐิน และบริวารกฐิน อุปกรณ์อื่น และไทยทานที่จะถวายพระสงฆ์ ไว้รับรองเจ้าภาพด้วย เพื่อสะดวก
         เมื่อเจ้าภาพมาถึงวัด และควรจัดหาโต๊ะพอวางพานแว่นฟ้าได้ ๑ ตัว พร้อมทั้งผ้าคลุมโต๊ะ ๑ ผืน ตั้งไว้ในที่ใกล้อาสน์สงฆ์ ตรงหน้าพระเถระรูปที่ ๒ เพื่อเจ้าภาพจักได้วางผ้ากฐินบนโต๊ะนั้น
         ๔.เจ้าอาวาสต้องสั่งให้พระสงฆ์ในวัดโกนหนวด ตัดเล็บ ซักฟอกสะบงจีวรเสียให้เรียบร้อย

การจัดอาสน์สงฆ์รับกฐิน

         มีธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งสำหรับพระอารามหลวงทุกอาราม เวลาจัดรับกฐินต้องจัดในพระอุโบสถ และตั้งอาสน์สงฆ์ด้านขวาพระหัตถ์พระประธานเสมอไป เมื่อถึงคราวจัดให้พระสงฆ์นั่ง ถ้าวัดนั้นมีพระน้อย พึงนั่งแถวเดียว ถ้ามีพระมาก พึงจัดนั่งเป็น ๒ แถว หรือ ๓ แถว หรือ กว่านั้น ให้นั่งเว้นระยะห่างกันประมาณ ๑ คืบ ตามสมณศักดิ์ วิทยฐานะ พรรษาอาวุโส (โดยนั่งสับฟันปลา เพื่อมิให้นั่งหน้ากันและกัน และพัดยศซ้อนกัน หรือแม้จะตั้งพัดเหลื่อมล้ำไปบ้างก็ดูไม่เสียระเบียบ ส่วนด้านสุดอาสน์สงฆ์ แถวหลังที่ ๒-๓ ต้องร่นให้ชิดบนเล็กน้อย ถึงแม้จะเสียแนวไปบ้างก็ไม่ถึงกับไม่น่าดู) แถวหน้าต้องนั่งซ้ายทับขวา (เช่าซ้ายทับเท้าขวา) เพื่อมิให้ปลายเท้าออกไปภายนอก
         รูปใดเป็นผู้สวดให้ผ้ากฐิน รูปนั้นควรนั่งต้นแถวที่ ๒ และที่ ๓ เพื่อเมื่อถึงคราวสวดกรรมวาจา จักไม่ต้องโยกย้ายที่นั่ง

การวางพัดยศ

         เมื่อจัดแถวที่นั่ง ต้องเว้นที่พอวางพัดยศได้ เมื่อจะวาง ต้องวางด้านหน้าจากที่นั่ง ให้ใบพัดอยู่ระหว่างเข่าต่อเข่า ใบพัดของรูปที่ ๑ ตรงเข่าซ้ายของตน ต่อไประหว่างของรูปที่ ๑ กับรูปที่ ๒ ของรูปที่ ๒ กับรูปที่ ๓ ฯลฯ เป็นลำดับไป

         ถ้าเป็นกฐินราษฏร์ มักนิยมจัดรับที่ศาลาการเปรียญ เพราะผู้ร่วมอนุโมทนามีจำนวนมาก การถวายกฐินก็ถวายที่ศาลาการเปรียญ การจัดอาสน์สงฆ์ไม่จำกัด คงใช้อาสน์สงฆ์เดิม พระสงฆ์คงนั่งเป็นแถวเดียวห่างกันพอสมควร

การรับกฐิน

         เมื่อพระสงฆ์นั่งพร้อมบนอาสน์สงฆ์แล้ว พึงนั่งในท่าสงบ ตั้งตัวตรงมือประสานกันท่าสมาธิ ห้ามนั่งเท้าแขนเป็นอันขาด เพราะไม่งาม

         ถ้าเป็นพระกฐินหลวง หรือพระกฐินต้น หรือกฐินพระราชทาน ต้องใช้พัดยศและไม่มีการรับศีล กล่าวคำถวายเฉพาะผู้เป็นประธานแต่ผู้เดียว ถ้าเป็นกฐินราษฎร์ใช้พัดยศไม่ได้ และมีการรับศีลด้วย

         เมื่อเจ้าภาพกล่าวคำนมัสการแล้ว พอกล่าวถึงคำว่า อิมํ สปริวารํ ฯเปฯ พระสงฆ์ทั้งหมดประนมมือพร้อมกัน ให้ตั้งอยู่ในระหว่างอก นิ้วประสานกันแนบสนิทชิดติดกัน เมื่อทายกกล่าวจบคำว่า โอโณชยาม พึงรับว่า “สา-ธุ” พร้อมกัน บางแห่งใช้คำถวายยาว พอถึงคำว่า “หิตายะ สุขายะ” พึงรับว่า “สา-ธุ” พร้อมกัน

         ในที่บางแห่งเจ้าภาพประสงค์จะประเคนผ้ากฐิน ถ้าเขาไม่ได้ประเคนแล้ว เขาไม่สบายใจ ฉะนั้น พระภิกษุรูปที่ 2 หรือ รูปที่ 3 ซึ่งอยู่ใกล้ที่ตั้งผ้ากฐินนั้นรับประเคนได้ แต่การรับประเคนแทนสงฆ์ต่อจากนั้น พระภิกษุที่ 1 พึงหยิบพัดขึ้นตั้งเพื่ออปโลกน์

การจับพัด

    1. จับพัดใต้นมพัด (ลูกแก้วใต้ใบพัดมีแกะลาย และไม่แกะลาย) ประมาณ 4-5 นิ้ว
    2. ตั้งพัดให้อยู่ในระดับเข่า
    3. ตั้งใบพัดให้ตรง อย่าให้เอนเข้า หรือง้ำออก

วิธีการอปโลกน์กฐินราษฎร์

         มีวิธีดังนี้ เมื่อทายกกล่าวคำถวายจบ และพระสงฆ์ทั้งปวงรับ “สาธุ” แล้วเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสหรือพระภิกษุผู้สามารถ พึงตั้งพัดขึ้น พร้อมกับพระสงฆ์ทั้งปวงประนมมือขึ้น แล้วกล่าวคำอปโลกน์ เป็นรูปที่ 1 ดังนี้

         ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ เป็นของ (..๑..) ประกอบด้วยศรัทธาปสาทาทิคุณ พร้อมด้วยญาติสาโลหิตมิตรสหาย และท่านที่เคารพนับถือนำมาถวายแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษากาลถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้. ก็แล ผ้ากฐินทานนี้เป็นของบริสุทธิ์ดุจเลื่อนลอยมาโดยนภากาศแล้วและตกลงในท่ามกลางสงฆ์ จะได้จำเพาะเจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก่อนนั้นหามิได้ โดยมีพระบรมพุทธานุญาตไว้ว่า ให้พระสงฆ์ทั้งปวง พร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่พระภิกษุรูปหนึ่ง เพื่อกระทำกฐินนัตถารกิจ และมีคำพระอรรถกถาจารย์ผู้รู้พระบรมพุทธาธิบายสังวรรณนาไว้ว่า “พระภิกษุรูปใดกอปร์ด้วยศีลสุตาทิคุณ มีสติปัญญาสามารถรู้ธรรม 8 ประการ มีบุพพกรณ์ เป็นต้น พระภิกษุรูปนั้นจึงควรเพื่อรับผ้ากฐินทานนี้ได้
         บัดนี้ พระสงฆ์ทั้งปวงเห็นสมควรแก่พระภิกษุรูปใด จงพร้อมกันยอมอนุญาตให้แก่พระภิกษุรูปนั้นเทอญ”

         เมื่อรูปที่ ๑ กล่าวจบ พระภิกษุทั้งปวงไม่ต้องรับ “สาธุ” ให้พระภิกษุรูปรองลงไปตั้งพัดขี้น พร้อมกับพระสงฆ์ทั้งปวงคงประนมมืออยู่อย่างนั้น แล้วกล่าวคำอปโลกน์เป็นรูปที่ ๒ ต่อไปดังนี้

         “ผ้ากฐินทาน กับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นสมควรแก่ท่าน (…๒…) เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถเพื่อจะกระทำกฐินนัตาถารกิจให้ถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาตได้ ถ้าพระภิษุรูปใดเห็นไม่สมควร จงทักท้วงขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ ถ้าเห็นสมควรแล้ว จงให้สัททสัญญาสาธุการขึ้นให้พร้อมกัน”

         เมื่อรูปที่ ๒ กล่าวจบแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงพึงเปล่งสัททสัญญาขึ้นให้พร้อมกันว่า “สา-ธุ” ต่อจากนั้น หากเป็นการับผ้ากฐินในโบสถ์ พระสงฆ์ทั้งปวงพึงหันหน้าเข้าหาพระพุทธประธาน พระภิกษุองค์ครองพร้อมกับพระภิกษุคู่สวด พึงกราบพระพุทธประธาน ๓ หน แล้วพระภิกษุองค์ครองพึงหันหน้าเข้าหาพระภิกษุคู่สวด พระภิกษุคู่สวดยกผ้าไตรครองกฐินมาตั้งไว้ตรงหน้า เวลาจะสวด จะใช้ผ้าผืนใดเป็นผ้ากฐิน พระคู่สวดจะต้องชักผ้าผืนนั้นจากไตรออกมาพาดขวางวางบนไตร แล้วตั้งนโมและสวดญัตติทุติยกรรมวาจาให้ผ้ากฐินเลยทีเดียว เมื่ดสวดญัตติทุติยกรรมวาจาจบแล้ว พระภิกษุองค์ครองนำผ้าไตรจีวรนั้นไปครอง พระสงฆ์ทั้งปวงหันหน้ากลับไปหาทายก และเมื่อพระภิกษุองค์ครองกลับมานั่งอาสน์สงฆ์แล้ว รับวัตถุไทยธรรม และอนุโมทนาตามระเบียบ แต่ถ้าเป็นการับผ้ากฐินบนศาลาการเปรียญ เมื่อรูปที่ ๒ กล่าวคำอปโลกน์ และพระสงฆ์ทั้งปวงรับ “สาธุ” แล้ว พึงรับวัตถุไทยธรรม และอนุโมทนาเลยทีเดียว สำหรับการสวดญัตติทุติยกรรมวาจานั้นพึงนำไปกระทำในโบสถ์ ภายหลังเมื่อเสร็จพิธีอื่น ๆ แล้ว ส่วนพิธีกรรมอนุโมทนาการกรานกฐินนั้น พึงกระทำในเวลาอื่น แต่ถ้าสวดญัตติกรรมในโบสถ์ จะกระทำติดต่อไปเลยก็ได้ ทั้งนี้ ต้องทำให้เสร็จในวันนั้นเท่านั้น จะทำในวันอื่นไม่ได้ ฯ

แบบกรรมวาจาสวดให้ผ้ากฐิน

ตั้ง นโม ๓ จบ ตามวิธีของกรรมวาจา (นโม ๕ ชั้น หรือ นโม แฝด)

         สุณาตุ/ เม ภนฺเต สงฺโฆ// อิทํ สงฺฆสฺส กฐินทุสฺสํ อุปฺปนฺนํ// ยทิ/ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ// สงฺโฆ/ อิมํ กฐินทุสฺสํ อายสฺมโต เขมจาริสฺส ทเทยฺย/ กฐินํ อตฺถริตุํ// เอสา ญตฺติ//

         สุณาตุ/ เม ภนฺเต สงฺโฆ// อิทํ สงฺฆสฺส กฐินทุสฺสํ อุปฺปนฺนํ// สงฺโฆ/ อิมํ กฐินทุสฺสํ อายสฺมโต เขมจาริสฺส เทติ/ กฐินํ อตฺถริตุํ// ยสฺสายสฺมโต ขมติ/ อิมสฺส กฐินทุสฺสสฺส อายสฺมโต เขมจาริสฺส ทานํ/ กฐินํ อตฺถริตุํ// โส ตุณฺหสฺส// ยสฺส/ นกฺขมติ// โส ภาเสยฺย//

         ทินฺนํ อิทํ สงฺเฆน/ กฐินทุสฺสํ/ อายสฺมโต เขมจาริสฺส/ กฐินํ อตฺถริตุํ// ขมติ/ สงฺฆสฺส// ตสฺมา ตุณฺหี// เอวเมตํ ธารยามิ// ฯ

การกรานกฐิน

         พระสงฆ์ทั้งหมด หันหน้าเข้าหาพระประธาน ตั้ง นโม พร้อมกันทุกรูป (นโม ๓ ชั้น) แล้วรูปที่เป็นผู้ครองกฐินหันหน้ากลับมาหาพระสงฆ์ จับผ้า (สังฆาฏิ) หรือลูบผ้าแล้วกล่าว คำว่า “อิมาย สงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ” ๓ ครั้ง (นี่ใช้สังฆาฏิกราน) เมื่อจบแล้ว ประนมมือกล่าวให้พระสงฆ์อนุโมทนาว่า

         “อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินํ// ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร// อนุโมทถ”// ฯ (๓ ครั้ง)
นี้เป็นการกล่าวแก่สงฆ์ ถึงแม้รูปกล่าวจะมีอายุพรรษาแก่กว่า ก็ต้องใช้คำว่า “ภนฺเต”
พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาว่า
         อตฺถตํ ภนฺเตý สงฺฆสฺส กฐินํ// ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร// อนุโมทาม// ฯ (๓ ครั้ง)

อาวุโส คำอาลปนะว่า “อาวุโส หรือ ภนเต” ให้กำหนดพรรษา ของรูปที่เป็นองค์ครองเป็นประมาณฯ

************

ระเบียบปฏิบัติศาสนพิธีกฐิน
แผนผังการจัดสถานที่รับกฐินราษฎร์

หมายเลข ๑

                                         
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
                                         
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
                                         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
                                         

                                 

   

๑. เจ้าอาวาส
๒. พระคู่สวด
๓. พระอันดับ
๔. พานแว่นฟ้าวางผ้าไตร

หมายเลข ๓

                                             
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 
                                             
   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   
                                             
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                           
                                       

   

๑. เจ้าอาวาส
๒. พระคู่สวด
๓. พระอันดับ
๔. พานแว่นฟ้าวางผ้าไตร

แผนผังการกรานกฐิน
หมายเลข ๕

                                 
 

 

 

 

 

             
                                 
 

 

 

 

 

             
                     

         
 

 

 

 

 

     

 

 

                   

         
 

 

 

 

 

             

                               
 

 

 

 

 

             
                                 

๑. องค์ครอง
๒. พานแว่นฟ้าวางผ้าไตร
๓. พระคู่สวด
๔. พระอันดับ

*********************

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี