สังคมไร้สำนึก ประวัติศาสตร์สังคม

          "เมื่อหนุ่มๆ ข้าพเจ้าเห็นการขยายสะพานตามถนนหลายสาย แต่หินอ่อนที่จารึกบอกชื่อสะพานและปีที่สร้างหายไป มีจารึกใหม่บอกว่าซ่อมเมื่อไร"

          ข้าพเจ้าขอเขียนว่าชอบรู้สร้างเมื่อไร ยิ่งกว่าซ่อมเมื่อไร

          และตอนที่เขาซ่อมสะพานหัวช้าง มีการย้ายหัวช้างที่หัวสะพานไป ข้าพเจ้าเห็นแล้วไม่สบายใจ เพราะหัวช้างเหล่านั้นมีประวัติศาสตร์ เกรงจะหายไปอยู่แถวๆ เวิ้ง"

          ข้อความข้างบน คัดจาก บทความธรรมดา ของ หลวงเมือง ชื่อ ก่อนที่จะบ้า ในหน้า 2 มติชน วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน 2548

          ที่ขอคัดข้อความตรงนี้มาให้อ่านชัดๆ เพราะมีนัยยะสำคัญมาก เนื่องจากพฤติกรรมอย่างนั้นยังมีอยู่ และยังมีต่อไป คือไม่ให้ความสำคัญข้อความปีที่ สร้าง แต่ยกย่องปีที่ ซ่อม เพื่อประกาศเกียรติคุณของผู้มีอำนาจการซ่อม โดยทำลายคุณงามความดีของคนสร้างไว้

          ขอให้ดูป้ายตามวัดวาอารามเกิดมีชื่อคนปัจจุบันบริจาคซ่อมเสนาสนะเป็นแถวเป็นแนวอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นเกียรติยศของวงศ์ตระกูล แต่ไม่เคยมีป้ายบอกประวัติวัดว่ามีแต่ครั้งไหน? เมื่อไร? ด้วยเหตุอะไร?

          จะว่าทางวัดฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะกรมศิลปากรเองก็ไม่เคยเผยแพร่ด้วยแผ่นป้ายว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร แต่เดิมคือวังหน้า แล้วบอกประวัติย่อๆ ส่วนโรงละครแห่งชาติเองก็ไม่มีแผ่นป้ายประวัติบอกความเป็นมาย่อๆ แม้ตัวอาคารที่ทำการกรมศิลปากร ซึ่งเป็นบริเวณวังเก่า ก็ไม่มีให้คนทั่วไปเห็นชัดๆ

          มหาวิทยาลัยศิลปากร บริเวณวังท่าพระแท้ๆ มีการเรียนการสอนทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปะสถาปัตยกรรมทั้งมวลอย่างโอ้อวดตัวเองไปทั่ว แต่ไม่เคยมีแผ่นป้ายให้ความรู้อย่างย่อๆ ต่อความเป็นมาของวัง ซึ่งมีความสำคัญมาก

          สำหรับสังคมไทยสมัยนี้ ประวัติศาสตร์มีไว้ "ขาย" นักท่องเที่ยวกับมีไว้ด่าคนอื่นว่าไม่รัก "ความเป็นไทย" เท่านั้น ไม่ได้มีไว้แบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้รากเหง้าเผ่าพันธุ์ตนเอง


ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 ก.ย. 2548 หน้า 34

 

วัดท่าไทร
สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้(สุราษฎร์ธานี)
สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ศูนย์ประสานงานสมาคมป้องกันภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี