สัจจะแห่งกรรม
โดย ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า
*************************************************************
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เชื่อในเรื่องของกรรมใครทำกรรมอะไรไว้ ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือชั่วก็ตาม
จะต้องได้รับผลจากการกระทำนั้น ไม่เร็วก็ช้า
ผู้คนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ก็คงจะเชื่อในเรื่องกรรมเหมือนกัน เพราะสอดคล้องกับประสบการณ์เชิงประ-
จักษ์ในชีวิต เพียงแต่อาจเข้าใจความสลับซับซ้อนของสัจจะแห่งกรรมไม่ตรงกันเท่านั้น เช่น ผู้คนทั่วไปคงอยากมี
ความสุขจากการได้บริโภค รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งต้องใช้เงินแลกเปลี่ยนซื้อหามา เมื่ออยากร่ำรวยและมีความ
สุขก็ต้องกระทำ "กรรม" บางอย่างในลักษณะทิศทางที่จะทำให้ได้เงินจำนวนมาก ๆ และได้รับความสุข ถ้าอยู่เฉย ๆ
ไม่ทำ "กรรม"อะไรเลยก็คงไม่มีโอกาสได้เงินแน่ ๆ การกระทำกรรมบางอย่างทำแล้วอาจได้เงินจำนวนมากทันตา
เห็น เช่น การค้ายาเสพติดหรือค้าขายสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ เป็นต้น แต่บางคนทำแล้วถูกจับติดคุกหมดอนาคต ขณะ
ที่บางคนทำแล้วอาจจะได้เป็นเศรษฐี แถมมีเงินไปลงทุนต่อในธุรกิจการเมืองจนได้เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรีที่ตำรวจ
ต้องคอยพินอบพิเทา
การกระทำกรรมแบบเดียวกันจึงไม่ใช่จะได้รับผลเหมือนกันเสมอไป เนื่องจากมีรายละเอียดของเงื่อนไข
องค์ประกอบต่าง ๆ ในแต่ละกรณีที่ไม่เหมือนกัน ขี้นกับภูมิหลังของแต่ละคนที่สั่งสมกรรมมาแตกต่างกัน การไม่เข้า
ใจกลไกการทำงานของกรรมชัดเจน ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความสับสนเข้าใจสัจจะแห่งกรรมผิด บางคนก็
อาจเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เข้าใจว่ากระทำสิ่งที่เป็นอกุศลกรรมแล้วจะได้รับผลเป็นกุศลวิบากประสบความสุขความ
เจริญต่าง ๆ
กลไกการทำงานส่วนหนึ่งของกรรม อาจอธิบายได้จากกรอบความคิดของทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์ เพราะ
ใครทำกรรมอะไรไว้ถึงจะหลอกคนอื่นได้ แต่หลอกตัวเองไม่ได้ เมื่อข้อมูลของการกระทำถูกเก็บบันทึกไว้ในจิตใต้
สำนึก หรือจิตไร้สำนึกส่วนลึก ก็จะก่อรูปเป็น โครงร่างของจิตวิญญาณ ที่มีคุณลักษณะแบบใดแบบหนึ่งอันจะส่งผล
ให้โครงสร้างส่วนบนของพฤติกรรม ซึ่งถูกกำหนดโดยโครงสร้างส่วนลึกของจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึกนี้ มีแบบแผน
เป็นไปในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ตัวอย่างเช่น บางคนเพิ่งเคยพบหน้ากันครั้งแรกก็รู้สึกขัดหูขวางตา ไม่ค่อยพอใจ
กับบุคลิกลักษณะของคน ๆ นั้น ความไม่ชอบใจนี้อาจจะนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์ แล้วก็คลี่
คลายต่อไปเป็นการเบียดเบียนทำร้ายกันจนเกิดเป็นบทบาทเรื่องราวต่าง ๆ ตามมา
ขณะที่บางคนเพียงพบหน้าครั้งแรกก็อาจรู้สึกถูกชะตาเหมือนรู้จักคุ้นเคยกันมานานปี ซึ่งก็จะนำไปสู่การ
แสดงพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่ง อันส่งผลให้เกิดเป็นบทบาทของเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตอีกลักษะหนึ่งเช่นกันพระพุทธ
ศาสนาเชื่อว่าจิตวิญญาณเป็นประธานของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไรก็จะส่งผลกระทำต่อ
เนื่องไปถึงพฤติกรรมทางกายและวาจา ที่จะแสดงออกในทิศทางที่สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดนั้น ๆ จนเกิดเป็น
บทบาทเรื่องราวต่าง ๆ ในลักษณะที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะของจิตวิญญาณ (หรือสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกส่วนลึก
ซึ่งเกิดจากกรรมที่เคยกระทำไว้) กรรมหรือการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา จึงเป็นกรรมที่ส่งผลกระทบมากกว่าที่
กระทำโดยไม่เจตนา ทันทีที่กระทำกุศลกรรมก็จะมีผลกระทบไปกำหนดโครงสร้างของจิตส่วนลึกในลักษณะทิศทาง
ที่จะส่งผลเป็นกุศลวิบาก ขณะที่เมื่อกระทำอกุศลกรรมก็จะมีผลกระทำต่อโครงสร้างของจิตส่วนลึก ในทิศทางตรง
ข้ามที่จะส่งผลเป็นอกุศลวิบาก
ฉะนั้นเมื่อกระทำกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือชั่วก็ตามผลของการกระทำที่ถูกบันทึกไว้ในหน่วย
ความจำของจิตใต้สำนึกส่วนลึกนั้น ๆ จะกำหนดโครงร่างของจิตวิญญาณให้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะหนึ่ง ๆ จนมี
อิทธิพลกำหนดบทบาทพฤติกรรมของชีวิตในทิศทางที่สอดคล้องสัมพันธ์กับกรรมที่กระทำลงไปนั้น ๆ
การทำความดีจึงมีผลเป็นกุศลวิบากเสมอ ขณะที่การทำความชั่วจะส่งผลเป็นอกุศลวิบาก
โดยที่ไม่มีใครสามารถบิดเบือนเปลี่ยนแปลง
***********************************

กลับหน้าหลัก