งานบุญสารทเดือนสิบเมืองคอน 76 ปีแห่งการอนุรักษ์

@@@@@@@@@@@@

ประเพณี"สารทเดือนสิบ" ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือกันว่าเป็นประเพณีที่เป็นรูปแบบและศูนย์รวมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จึงเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งชาวไทยถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของสังคมไทย ประเพณีสารทเดือนสิบจึงเกิดขึ้นจากคติความเชื่อที่ว่า "ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วนั้น มีผู้ที่สร้างบาปกรรมเอาไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และต้องไปทนทุกข์ทรมานเป็นเปรตอยู่ในนรกภูมิ โดยต้องถูกลงโทษทัณฑ์ในลักษณะต่าง ๆตามโทษทัณฑ์ที่นรกภูมิได้กำหนดไว้ จะหนักหรือเบานั้นขึ้นอยู่กับบาปกรรมที่ได้กระทำเอาไว้เมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์"

มีความเชื่อกันว่า ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 พยายมราชผู้ที่ทำหน้าที่ลงโทษทัณฑ์ในยมโลกจะทำการปลดปล่อยพวกเปรตทั้งหลาย ให้ขึ้นมาเยือนโลกมนุษย์เพื่อเยี่ยมเยือนลูกหลานพร้อมทั้งขอรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศไปให้ปีละครั้ง คือในช่วงประเพณีงานบุญสารทเดือนสิบ หลังจากนั้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เปรตทั้งหลายก็จะถูกเรียกตัวกลับนรกภูมิ ตามเดิม ซึ่งเปรตที่ได้รับบุญกุศลที่ลูกหลานอุทิศไปให้ในวันสารทเดือนสิบ ก็จะสามารถนำบุญกุศลดังกล่าวไปใช้ในการลดโทษไถ่ถอนโทษจนพ้นผิดหรือมีโทษเบาบางลง แต่หากเปรตตนใดที่ขึ้นมาขอส่วนบุญกุศลจากลูกหลานแต่ไม่มีลูกหลานทำบุญอุทิศไปให้ตอนเดินทางกลับนรกภูมิก็จะเก็บเอาใบไม้กลับไปด้วยและนำใบไม้โปรยไปตลอดทางและก็จะสาปแช่งลูกหลานและคนในตระกูลที่ละเพิกเฉยไม่ทำบุญอุทิศไปให้ ชาวนครศรีธรรมราชเชื่อถือกันว่าคำสาปแช่งของบรรพบุรุษดังกล่าวนั้นทำให้การดำรงชีวิตอยูในสังคมไม่ปกติสุข ดังนั้นเมื่อถึงช่วงงานบุญสารทเดือนสิบทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมทำบุญอย่างขาดไม่ได้โดยเด็ดขาด

"พิธีงานบุญสารทเดือนสิบนั้น ได้มีการปฏิบัติกันไปทั่วประเทศเพียงแต่มีชื่อเรียกต่างกันไปเท่านั้น โดยเฉพาะในภาคใต้ทุกจังหวัดก็จะมีการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง แต่ที่ยิ่งใหญ่และถือปฏิ บัติกันมาเป็นประเพณีที่ยาวนานที่สุดก็คือที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยประเพณีนี้ได้เริ่มปฏิบัติขึ้นเป็นงานประเพณีประจำปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2465 ที่บริเวณวัดพระบรมธาตุวรวิหาร เมื่อถึงวันนี้ พ.ศ.2541 จึงนับว่าเป็นการปฏิบัติติดต่อกันมานานเป็นปีที่ 76 เข้าไปแล้ว

พิธีบุญวันสารทเดือนสิบ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งวันนี้จะถือกันว่าเป็น "วันจ่าย" โดยจะมีบรรดาพ่อค้า แม่ค้า นำสินค้าที่จะใช้ในการทำบุญมาจำหน่ายกันมากมาย ทั้งที่เป็นของสดและของแห้ง พืชผักและผลไม้ เพื่อใหผู้ที่จะทำบุญได้ได้จับจ่ายซื้อหาสิ่งของไปจัดเตรียมใส่ภาชนะหรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกกันว่า "การจัดหมฺรับ" ในช่วงวันดังกล่าวนี้ตามย่านตลาดสดต่าง ๆ จึงคึกคักคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนที่แห่กันมาจับจ่ายซื้อหาสิ่งของไปใช้สอย เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ถือกันว่าเป็น "วันยกหมฺรับ หรือแห่หมฺรับ" โดยหมฺรับที่จัดทำขึ้นนั้นจะประกอบไปด้วยของกิน ของใช้ที่จำเป็นมากมายหลาย 10 ชนิด แต่ที่จะขาดเสียไม่ได้นั้นจะต้องมีขนม 5 อย่าง ซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของการทำบุญวันสารทเดือน 10 ขนม 5 อย่าง นั้นได้แก่.-

1.ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์หมายถึง แพฟ่อง สำหรับให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
2.ขนมลา ใช้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้บรรบุรุษได้สรวมใส่
3.ขนมกงหรือขนมไข่ปลา ให้บรรพบุรุษได้แทนเครื่องประดับร่างกาย
4.ขนมบ้า ให้บรรพบุรุษใช้แทนลูกสะบ้าเล่นในเทศกาลสงกรานต์ และ
5.ขนมดีซำ ให้บรรพบุรุษใช้แทนเงินเบี้ยเพื่อใช้สอย

สำหรับข้าวของอื่น ๆ นั้นมักจะประกอบไปด้วย ข้าวสาร ปลาเค็ม เนื้อเค็ม พริก กะปิ หอม กระเทียม เกลือ น้ำตาล ขิง ข่า ตะไคร้ เป้นต้น ส่วนพวกผลไม้ก็มี เงาะ ทุเรียน มังคุด หรือผลไม้ตามฤดูกาลอื่น ๆ รวมไปถึงพวกยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสิ่งของที่นำมาจัดหมฺรับนั้นมักจะเป็นสิ่งของที่เก็บไว้ใช้ได้นาน ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้พระสงฆ์สามารถเก็บไว้ใช้เป็นเสบียงในช่วงฤดูฝนที่กำลังมาเยือน ซึ่งทำให้พระสงฆ์ออกบิณฑบาตไม่ได้หรือออกบิณฑ บาตด้วยความยากลำบาก

ในปัจจุบันนี้การจัดหมฺรับนั้นได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการจัดใส่ภาชนะขนาดเล็กและตกแต่งเป็นรูปต่าง ๆ อย่างสวยงามมาเป็นการจัดเป็นหมฺรับขนาดใหญ่ใส่ไว้ในรถยนต์ แล้วมีการตกแต่งประดับประดาอย่างสวยสดงดงามเพื่อนำไปประกวดแข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม ในสังคมชนบทรอบนอกก็ยังคงมีการจัดหมฺรับแบบดั้งเดิมกันอยู่ เพียงแต่ในส่วนกลางคือที่ตัวจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น จะมีการยกหมฺรับไปรวมกันที่บริเวณสนามหน้าเมืองและศาลาประดู่หก

จากนั้นในวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 ก็จะมีการจัดขบวนหมฺรับแห่ไปตามถนนราชดำเนินอย่างยาวเหยียดหลายกิโลเมตร เพื่อนำไปยังสนามสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 "ทุ่งท่าลาด" ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการจัดงานประเพณีบุญวันสารทเดือนสิบในปัจจุบัน ซึ่งในจุดนี้นับว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ และยิ่งใหญ่ที่สุดในกิจกรรมทั้งหมดของงานนี้ เมื่อแห่หมฺรับไปรวมกันที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 แล้ว ก็จะมีคณะกรรมการตัดสินการประกวดหมฺรับในวันเดียวกัน

รุ่งเช้าวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ก็จะมีการยกหมฺรับไปยังวัดต่าง ๆ เรียกว่า "หมฺรับตา- ยาย" โดยเมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ก้จะนำอาหารและข้าวของในหมฺรับไปวางไว้ตามกำแพงวัด ใต้ต้นไม้ หรือวางไว้บนศาลาที่จัดทำขึ้นเรียกว่า"หลาเปรต"ให้พระสงฆ์สวดบังสุกุลอุทิศส่วนบุญกุศล เสร็จเรียบร้อยแล้วผู้ที่เข้าร่วมในพิธีทั้งหมดก็จะมีการเข้าไปแย่งชิงอาหารและสิ่งของในหมฺรับที่นำไปวางไว้ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้เป็นของที่เหลือจากบรรพบุรุษ หากผู้ใดได้กินแล้วจะได้กุศลแรง พิธีนี้เรียกว่า"ชิงเปรต"

ในปี 2539 ที่ผ่านมา จังหวัดนครศรีธรรมราชได้กำหนดจัดงานประเพณีบุญวันสารทเดือนสิบขึ้นในระหว่างวันที่ 5 - 14 ตุลาคม 2539 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 "ทุ่งท่าลาด" ภายในบริเวณนั้นได้การจัดมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการรวบรวมเอาการละเล่นพื้นบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน เพลงบอก หนังตะลุง มโนราห์ มาแสดงให้ชมกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ก็ยังได้มีการจัดมหรสพทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ทุกชนิดมาให้ชมกันอย่างมากมาย เรียกได้ว่าเป็นงานประเพณีที่ได้รวบรวมเอาศิลปวัฒนธรรมจากทั่วประเทศมารวมอยู่ในงานนี้ด้วย และ เพื่อให้สมกับงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดให้มีการถ่ายทอดสดการ "แห่หมฺรับ ยกหมฺรับ" ให้ได้ชมกันทั่วประเทศทางช่อง 7 สี ในวันที่ 10 ตุลาคม 2539 ระหว่างเวลา 09.30-11.30 น.รวมเวลา 2 ชั่วโมงเต็มอีกด้วย

และ ในปี พ.ศ. 2541 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้กำหนดจัดงานประเพณีบุญวันสารทเดือนสิบขึ้นในระหว่างวันที่ 14 - 23 กันยายน 2541 ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 "ทุ่งท่าลาด" และที่ บริเวณวัดพระบรมธาตุ ภายในบริเวณนั้นได้การจัดมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการรวบรวมเอาการละเล่นพื้นบ้าน ศิลปินพื้นบ้าน เพลงบอก หนังตะลุง มโนราห์ มาแสดงให้ชมกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ก็ยังได้มีการจัดมหรสพทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ทุกชนิดมาให้ชมกันอย่างมากมาย เรียกได้ว่าเป็นงานประเพณีที่ได้รวบรวมเอาศิลปวัฒนธรรมจากทั่วประเทศมารวมอยู่ในงานนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารูปแบบการจัดงานบุญวันสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปบ้าง ก็คงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแค่รูปลักษณ์ภายนอกบางส่วน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยเท่านั้น แต่ในส่วนสาระสำคัญของงานประเพณีนี้ยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ทั้งหมด ระยะเวลาที่ผ่านมายาวนานสามารถพิสูจน์ได้ว่า "งานบุญวันสารทเดือนสิบ" เป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่เพียงใด และสมควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นประเพณีคู่บ้านคู่เมืองได้หรือไม่ ปีนี้เป็นปีที่ 76 ของงานุญวันสารทเดือนสิบเมืองคอน ซึ่งเราถือว่าระยะเวลาที่ผ่านมาถึง 76 ปีนั้น เป็นระยะเวลาที่ยาวนานไม่น้อยในการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่ดีงามเอาไว้

ดังนั้น การที่จะอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยอันดีงามอย่างนี้ให้สืบทอดไปชั่วลูกชั่วหลานจึงควรปฏิบัติกันอย่างยิ่ง"อย่าให้บรรพบุรุษสาปแช่งได้ว่าลูกหลานกูมันอกตัญญู"

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

ที่มา :ไพฑูรย์ อินทศิลา,นสพ.เดลินิวส์รายวัน(ฉบับที่ 17,157 วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2539)หน้า 26


กลับไปหน้าแรก
ไป Web วัดท่าไทร