วันสงกรานต์

                     สงกรานต์ หมายความว่า การย้ายที่ หรือ การเคลื่อนออก คือ ดวงอาทิตย์โคจรจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ประเพณีสงกรานต์ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเรา เกิดที่ชมพูทวีปในสมัยอดีต เรารับเอาเข้ามา และดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับสภาพการณ์บ้านเมืองของเรา เน้นหนักไปในทางบำเพ็ญกุศลและการรื่นเริง เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ แสดงความยินดีร่าเริง มีการทำบุญให้ทาน รดน้ำขอพรผู้เฒ่า ผู้แก่ ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

                     ตำนานสงกรานต์แสดงไว้ 2 นัย นัยหนึ่งกล่าวถึงพระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าเมื่อพระอาทิตย์ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ มนุษย์จะเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าปกติ จะทำอย่าสงไรจึงจะบรรเทาความเจ็บไข้ให้ลดน้อยลง พระองค์ตรัสตอบว่า อย่าประมาทในการบำเพ็ญทาน สรงน้ำพระสงฆ์ลง พระองค์ตรัสตอบว่า อย่าประมาทในการบำเพ็ญ สรงน้ำพระสงฆ์พระพุทธรูป ตันโพธิ์ ตลอดจนถึงคนเฒ่า ปู่ย่าตายาย ครูอาจารย์

                     ตำนานนี้ พอจะสันนิษฐานได้ว่า เนื่องจากฤดูร้อน น้ำหายากแหล่งเพาะพันธ์เชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย อาหารการกินก็จะบูดเร็ว ถ้าไม่ระวังก็จะทำให้ท้องเสีย ท้องเดินได้ง่าย เพราะอาหารจะบูดเร็วกว่าปกติ อีกนัยหนึ่งเกิดจากนิทานปรำปรา ตำนานกำเนิดเรื่องสงกรานต์ มีสองสามีภรรยามีฐานะค่อนข้างจะร่ำรวยติดอันดับเศรษฐี แต่หาบุตรสืบสกุลไม่ได้ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ถือว่าไม่มีบุตรก็ดีอยู่แล้ว จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ กลัวบุตรจะเป็นคนไม่ดี เกิดมาเพื่อล้างผลาญทรัพย์สมบัติของพ่อแม่

                     ต่อมาเจอเพื่อนบ้านคนหนึ่งพูดให้ฟังว่า ร่ำรวยไปทำไมในเมื่อไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล ตายไปทรัพย์ก็เปล่าประโยชน์อุตส่าห์เสียแรงทำมาหากินเก็บหอมรอมริบเกือบตาย ยากนักที่จะหาผู้ใดทดแทนได้ ผู้อื่นนอกนั้นจะให้ความรัก ความเคารพ แค่ไหนก็ไม่ชื่นใจเหมือนกับที่บุตรให้ต่อพ่อแม่เรื่องนี้เป็นต้นเหตุให้สองสามีภรรยาต้องคิด ทั้ง ๆ ที่ ไม่เคยคิดมาก่อนเลย จะทำอย่างไรดีหนอ ให้ได้มีบุตรไว้คอยชื่นชมกับเพื่อนบ้าง เห็นเพื่อนบ้านอุ้มลูก จูงหลาน ไปในงานรื่นเริงต่าง ๆ หยอกล้อกับลูกแล้วอดใจหายไม่ได้ ทำไมหนอเราจึงไม่มีบุตรเหมือนกับคนอื่นเขาบ้าง คิดแล้วอดเศร้าใจไม่ได้

                     ต่อมาเมื่อย่างเข้าคิมหันต์ เป็นวันนักขัตฤกษ์ ดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ชนชาวชมพูทวีปต่างพากันเล่นสนุกสนาน ร่างเริงยิ่งนัก ในนักขัตฤกษ์เช่นนั้น เศรษฐีสองสามีภรรยา จึงไปทำพิธีกรรม บวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ บรรจงค่อย ๆ วางพลีกรรม ซึ่งมีทั้งข้าวที่ซาวน้ำแล้ว 7 หน หุงด้วยนมให้หอมหวนชวนลิ้มอย่างยิ่ง และขอสักการะอื่น ๆ อันดีเลิศไว้ ณ โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง พร้อมกับให้ข้าบริพารประโคมแตรสังข์ พิณพาทย์ ส่วนตนเองก็อ้อนวอน ขอให้มีบุตรเหมือนกับชาวบ้านทั่วไปบ้าง กาลต่อมาเศรษฐีก็มีบุตรสมตามความตั้งใจ ชื่อว่า “ธรรมบาล”

                     ธรรมบาลกุมาร มีสุขภาพดีเป็นเด็กฉลาดเพียงแค่ 7 ขวบ ก็สามารถรู้สรรพสำเนียงของสัตว์ต่างๆ ได้ กิตติศัพท์ความเก่งกาจสามารถของ ธรรมบาลกุมารไปเข้าหูท่านท้าวมหาพรหม ก่อให้เกิดความอิจฉา อยากจะประลองความรู้จึงจำแลงมาเป็นกบิลพรหม ผูกปัญหาท้าประลองความรู้ความสามารถกับธรรมบาลกุมารในทันที โดยผูกปัญหาเป็น 3 ข้อ ดังนี้

                                          1. เวลาเช้า ราศีอยู่ที่ไหน
                                          2. เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่ไหน
                                          3.เวลาเย็น ราศีอยู่ที่ไหน

                     โดยมีเงื่อนไขว่า “ ถ้าธรรมบาลกุมาร ตอบปัญหาจะให้ตัดศีรษะขอบกบิลพรหมบูชาปัญหาแต่ถ้าตอบไม่ได้ ก็จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารบูชาปัญหานั้นแทน”

                     ฝ่ายธรรมบาลตอบตกลง ขอเวลา 7 วัน จะมาตอบปัญหาท้าประลองอันนั้น ตากปกติ ธรรมบาลกุมาร มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดสามารถตอบปัญหาต่าง ๆ ได้ ทันท่วงที รู้แจ้งแทงตลอดไปเสียหมด แต่เมื่อมาเจอปัญหา 3 ข้อ ของท่านกบิลพรหมก็จนด้วยเกล้า นั่งคิด นอนคิด เดินคิด อย่างไรก็ไม่สามารถ เห็นแง่มุมของปัญหานั้นได้ เวลาก็ล่วงเลย ย่างเข้ามาเหมือนติดปีก เป็นวันที่ 6 เข้าไปแล้ว ก็ยังมืดแปดด้าน เดินคิดเรื่อยเปื่อยไปก็คิดไม่ออก นั้นหมายถึง ตัวเองกำลังเดินเข้าไปใกล้ความตายทุกวินาที อากาศร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย อ่อนเพลีย ธรรมบาลกุมาร เดินไปถึงทุ่งนา ซึ่งมีต้นตาลขึ้นบนคันนาเต็มไปเสียหมด ด้วยความร้อนและความอ่อนเพลียจึงนอนหลับอยู่ใต้ต้นตาลต้นหนึ่ง อย่างคนสิ้นคิด ธรรมบาลกุมาร มาสะดุ้งตื่นเวลาบ่ายคล้อยไปมากแล้ว เมื่อได้ยินศัพท์สำเนียงของนกอินทรีย์สองตัวผัวเมือคุยกันบนต้นตาลที่เขานอนหลับนั้นเอง

                     นกอินทรีย์ตัวเมียถามนกอินทรีย์ตัวผู้ว่า พรุ่งนี้เราจะบินไปหากินที่ไหนกันดี นกอินทรีย์ตัวผู้ก็บอกว่า เราไม้ต้องบินไปหากินในที่ไกลอีกแล้วและจะได้กินอาหารดี ๆ ด้วย นกอินทรีย์ตัวเมียก็สงสัยว่าเป็น เช่นนั้นได้อย่างไร และมาทราบความจริงว่า พรุ่งนี้ ธรรมบาลกุมารผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ถึงคราวชะตาถึงฆาต จะต้องถูกตัดศีรษะเพราะไม่สามารถตอบปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมผูกให้แก้ได้ จะได้กินเนื้อของมนุษย์ผู้แสนจะฉลาดคนนั้นแหละ นกอินทรีย์ตัวเมียก็อดสงสัยไม่ได้ว่าปัญหาอะไรที่มันยากนักหนาจนถึงคนแลาดอย่างธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ นกอินทรีย์ตัวผู้ก็บอกว่าปัญหาง่ายนิดเดียวแล้วก็เฉลยให้ฟังว่า

                     1.ตอนเช้า ราศีของคนอยู่ที่ใบหน้า ตื่นนอนขึ้นมาต้องเอาน้ำล้างหน้า หน้าที่ไม่ได้ล้างจะไม่สดชื่น อวัยวะส่วนอื่น ๆ ก็จะพลอยเศร้าหมองไปด้วย หน้าจึงเป็นส่วนสำคัญที่มนุษย์จะต้องดูแลเอาใจใส่ ชำระล้างให้สะอาดจึงจะเป็นใบเบิกทางให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                     2. ตอนเที่ยง ราศีของคนอยู่ที่หน้าอก ตอนเที่ยงวันอากาศร้อนถ้าได้อาบนี้ รดศีรษะ รดตัว ก็จะทำให้สดชื่นสบายใจ คลายร้อนไปได้มาก แต่เมื่อไม่อยู่ในสถานที่จะทำได้ ก็เพียงแค่เอาน้ำลูกอก ก็จะทำให้สดชื่นได้เทียบเท่ากับอาบทั้งตัวนั้นเชียว หน้าอกจึงเป็นอวัยวะส่วนสำคัญที่จะต้องเอาน้ำลูบให้ได้จึงจะเกิดราศีหน้าตาสดชื่นไปด้วย

                     3. ตอนเย็น ราศีอยู่ที่เท้า แม้คนเราจะอาบน้ำชำระร่างกายให้ดีสักแค่ไหน ก็ต้องทำความสะอาดเท้า เท้าสัมผัสกับพื้นที่ไม่สะอาดมาทั้งวัน จะต้องชำระขัดสีเป็นกรณีย์พิเศษกว่าอวัยวะส่วนอื่น และถ้าแม้ไม่ได้อาบน้ำ ก็เพียงแค่ได้ล้างเท้าก็สามารถนอบหลับสบายแล้ว ธรรมบาลกุมาร ได้ยินนกอินทรีย์ เฉลยปัญหาให้ฟังดังนี้ ก็ปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งเดินกลับบ้านด้วยจิตใจปลอดโปร่ง ปราศจากความวิตกกังวล รุ่งเช้าขึ้นมาวันที่ 7 ก็สามารถตอบปัญหาได้อย่างถูกต้อง ท่าวกบิลพรหมเป็นผู้พ่ายแพ้ถูกตัดศีรษะแทน จึงเรียกธิดาทั้ง 7 คนมาสั่งเสีย “ลูกรักของพ่อเอ๋ย พ่อจะต้องตัดศีรษะของพ่อเองบูชาปัญหาที่ธรรมบาลกุมารสามารถแก้ได้ในวันนี้แล้ว แต่ทว่าหัวของพ่อ ถ้าตกลงพื้นดินไฟจะไหม้ทั้งโลกธาตุ ถ้าเหวี่ยงไปในอากาศฟ้าฝนก็จะแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล หากจะท้องไปกลางมหาสมุทร น้ำจะเหือดแห้งหายไป ลูกของพ่อทั้งเจ็ดคน จงหาพานมารองเศียรของพ่อไว้เถิด”

                     ว่าแล้ว ท้าวกบิลพรหม ตัดเศียรส่งให้นางทุงษะเทวี ผู้เป็นธิดาองค์ใหญ่ วางไว้บนบานทองแล้ว ให้เหล่าบรรดาเทพแห่ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมระเป็นเวลา 60 นาที แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนมณฑปพระวิษณุกรมหาเทพบุตร ก็เนรมิตโรงอันล้วนแล้วด้วยแก้ง 7 ประการให้นามว่า “ ภควดี “ ให้เป็นที่ประชุมเทพยดาทั้งมวล ก็นำเอาเถาฉมูนาค ลงล้างน้ำในสระอโนดาดทั้ง 7 ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุก ๆ องค์ พอครบกำหนด 365 วัน โลกมนุษย์ก็ปีหนึ่ง ว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 นาง ก็ผลัดกันอัญเชิญเศียรกบิลพรหม แห่ประทักษิณรอบ ๆ พระสุเมรุทุก ๆ ปี

นามนางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์

                     1.ทุงษะเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิมเครื่องประดับปัทมราช(แก้วทับทิม) ภักษาหารอุทุมพร(ผลมะเดื่อ) อาวุธมือขวาถือจักร มือซ้ายถือสังข์ พาหนะครุฑ

                     2.โคราคุ นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารเตละ(น้ำมัน) อาวุธมือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือไม้เท้า พาหนะพยัคฆ์(เสือโคร่ง)

                     3.รากษส นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับแก้วโมรา ภักษาหารโลหิต(เลือด) อาวุธมือขวาถือตรีศูล(สามง่าม) มือซ้ายถือธนู พาหนะวราหะ(หมู)

                     4.มณฑา นางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา เครื่องประดับแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธมือขวาถือเข็ม มือซ้ายถือไม้เท้า พาหนะคุทรภะ(ลา)

                     5.กิริณี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับแก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธมือขวาถือขอ มือซ้ายถือปืน พาหนะคชสาร (ช้าง)

                     6.กิมิทา นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับแก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธมือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือพิณ พาหนะมหิงสา (ควาย)

                     7.มโหทร นางสงกรานต์ประจำเสาร์ ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับแก้วนิล ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธมือขวาถือจักร มือซ้ายถือตรีศูล(สามง่าม) พาหนะมยุรา(นกยูง)

                     เทพธิดาทั้ง 7 นางนี้ ต้องมาหมุนเวียนเปลี่ยนเวรกันทุก ๆ รอบปีเมื่อครบ 365 วัน ในวันที่ 13 เมษายน ของทุกๆปี ซึ่งตรงกับวันมหาสงกรานต์

อริยาบถนางสงกรานต์ขี่พาหนะ

                     1.สังสันเต อุทะเย ติฎเฐ พะหุโรเค ชะเน ตะถา. เวลาอุทัยถึงเที่ยง กล่าวคือ ถ้าเป็นรุ่งเช้า ถึงยามเที่ยงวันนางสงกรานต์จะยืนมาบนหลังพาหนะ มีคำทำนายว่า ปวงชนทั้งหลายจะเกิดความเจ็บไข้ด้วยโรคภัยวิปริตผิดธรรมดาต่าง ๆ เป็นอันมาก

                     2.มัชฌันติกะ สายัณเห นิสันโนวา กระนานิ มะระณัง ภะเย เวลาเที่ยวถึงสนธยา กล่าวคือ ถ้าเป็นเวลาเที่ยงวัน จนถึงเวลาย่ำค่ำ นางสงกรานต์จะนั่งมาบนหลังพาหนะ มีคำทำนายว่า ฝูงชนทั้งหลายจะประสบมรณภัยต่าง ๆ

                     3.สายัณเห สะยะเน กาเล สัพเพชะนา พะหูสุขัง เวลาสนธยาถึงเที่ยงคืน กล่างฃวคือถ้าเป็นเวลาย่ำค่ำ จนถึงเวลาเที่ยงคืน นางสงกรานต์นอนลืมตามาบนหลังพาหนะ มีคำทำนายว่า ฝูงชนทั้งปวงจะอยู่เย็นเป็นสุข

                     4.อัฑฒะรัตติ จะ สัพทะกะราชะวัฑฒะนัง ปะวุจจะติ อริบถเหล่านี้ จะสังเกตปฏิทินแบบจันทรคติ จะเห็นภาพนางสงกรานต์เป็นอย่างนี้บนพาหนะที่ดี ประจำปีนั้น ๆ

ปริศนาธรรมในปัญหาของกบิลพรหม

                     เรื่องศิริเป็นการสอนให้รู้จักรักษาความสะอาดร่างกาย โรคภัยไข้เจ็บจะไม่เกิดขึ้น มีร่างกายสมบูรณ์ จะได้ทำมาหากินตั้งหลักฐานได้ กบิลพรหม นัยว่า มี 4 หน้า

                                          -หน้าหนึ่งยิ้มแย้ม
                                          -หน้าหนึ่งเศร้า
                                          -หน้าหนึ่งร่าเริง
                                          -หน้าหนึ่งครุ่นคิด

                     1.หน้าที่ยิ้มแย้ม มีใบหน้าผ่องใส เป็นการแสดงออกให้ถึงความรักความเมตตาต่อผู้อื่น มีความปรารถนาต้องการอยากให้มีความสุข

                     2.หน้าที่เศร้า เป็นใบหน้าที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นห่วงกังวลว่าจะทำอย่างไรให้ผู้อื่น ซึ่งกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก จะต้องช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ยากอันนั้นให้ได้

                     3.หน้าที่มีความร่าเริง เป็นการแสดงออกซึ่งความสบายใจ มีความสุขเมื่อเห็นหรือรู้ว่า ผู้อื่นได้รับความสำเร็จในอาชีพ การงานหรือการเรียน

                     4.หน้าที่แสดงซึ่งความครุ่นคิด คือ กำลังใช้ความคิดว่าจะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไร ถ้าหากเขาเกิดความเพลี่ยงพล้ำ ขึ้นมา แต่ขณะที่ยังใช้เมตตากรุณา หรือแม้กระทั่งมุทิตากับเขาไปได้ ยังต้องใช้ความอุเบกขาไปพลาง ๆ ก่อน

                     หน้าทั้ง 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นส่วนประกอบของเศียรท้าวกบิลพรหมนั้น ถ้าตกลงในพื้นที่ส่วนใดของโลก ก็จะเกิดความเดือดร้อน ถึงขนาดน้ำแห้ง ไฟไหม้ ทำลายล้าง ผลาญ ก็คือถ้าสังคมขาดคุณธรรมทั้ง 4 ประการนั้น โลกจะเดือดร้อนวุ่นวาย ไม่มีความสุข มีแต่รบรา ฆ่าฟัน ฉ้อโกงกัน เบียดเบียนกัน ไม่ได้เป็นประโยชน์ของชาติศาสนา มุ่งเอาแต่ประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว

เริ่มประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย

                     เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่ทราบชัด แต่ปรากฏใน “ตำรับนางนพมาศ” ซึ่งมีเรื่องเล่ามาแต่สมัยสุโขทัย นางนพมาศได้บรรยายถึงประเพณีสงกรานต์สมัยสุโขทัยไว้ จนเป็นขนบประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ เช่น เมื่อถึงวันสงกรานต์ ข้าราชการผู้ใหญ่มีท้าวพระยาข้าราชการ ต่างจะพากันเข้าเฝ้าถวายบังคมรดน้ำแก่เจ้าขุนผู้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน และถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

                     ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยา จะทราบเรื่องประเพณีสงกรานต์ ได้จากบทประพันธ์บทกลอนเรื่อง “นิราศเดือน “ ของนายมี ศิษย์เอกของสุนทรภู่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีข้อความที่กล่าวถึงดังนี้

                     โอ้ฤดูเดือนห้าหน้าคิมหันต์ พวกมนุษย์สุดสุขสนุกครัน
ได้ดูกันพิศวงเมื่อสงกรานต์ ทั้งผู้ดีเข็ญใจใส่อังคาส
อภิวาทพุทธรูปในวิหาร ล้วนแต่งตัวทั่วกันวันสงกรานต์
ดูสะคราญเพริดพริ้งทั้งหญิงชาย ที่เฒ่าแก่แม่หม้ายมิใคร่เที่ยว
                     สู้อดเปลี้ยวกินหวานลูกหลานหลาย ที่กำดัดซัดสีสวยทั้งกาย
เที่ยวถวายน้ำหอมน้อมศรัทธา บ้างก็มีที่สวาสมาตรพระสงฆ์
ต่างจำนงนึกกำจัดขัดสิกขา ได้แต่เพียงดูกันจำนรรจา
นานนานมากลับไปแล้วใจตรอม ล้วนแต่งตัวเต็มงามทราบสวาท
                     ใส่สีฉาดฟุ้งเฟื่องด้วยเครื่องหอม สงกรานต์ที่ตรุษที่ไม่มีมอม
ประดับพร้อมแหวนเพชรเม็ดมุกดา มีเท่าไรใส่เท่านั้นฉันผู้หญิง
ดูเพริดพริ้งเพราะอกเหมือนเมขลา ราสูรเดินดินสิ้นศักดา
เที่ยวไล่คว้าบางทีก็มีเชิง ฯ  

                                   

สงกรานต์ คือวันครอบครัว

                     เดือนเมษายนถือเป็นที่ที่จะขึ้นปีใหม่ โดยยึดถือเอาวันที่ 13-15 เมษายนเป็นวันสำคัญ ทางราชการของไทยกำหนดเพิ่มอีกดังนี้

                     13 เมษายน –วันมหาสงกรานต์-วันครอบครัว-วันผู้สูงอายุ
                     14 เมษายน-วันเนา
                     15 เมษายน-วันเถลิงศก

วันมหาสงกรานต์

                     วันที่ 13 เมษายนของทุก ๆปี เรียกกันว่า วันมหาสงกรานต์เพราะดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนโคจรเข้าสู่ราศีเมษ จะเปลี่ยนจากศักราชเก่าสู่ศักราชใหม่ เดิมเป็นปีชวด ก็จะย่างเข้าสู่ปีฉลู อันนี้นับว่าสำคัญมาก ชาวพุทธจะพากันไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านของตนอย่างพร้อมเพรียงกัน

                     ถ้าวันนี้ตรงกับวันใดในเจ็ดวัน มีผู้ผูกหลักพยากรณ์ไว้ดังนี้

    1.ถ้าเป็นวันอาทิตย์ เรือกสวนไร่นาจะมิใคร่งาม
    2.
    ถ้าเป็นวันจันทร์จะแพ้เสนาบดี ท้าวพระยา นางพระยาทั้งปวง
    3.
    ถ้าเป็นวันอังคาร จะเกิดอันตรายขึ้นกลางเมืองจะเกิดเพลิงไหม้ มีโจรผู้ร้ายชุกชุมและโรคภัยไข้เจ็บหนักที่สุด
    4.
    ถ้าเป็นวันพุธท้าวพระยา จะได้บรรณาการจากต่างเมือง แต่จะแพ้ลูกอ่อนนัก
    5.
    ถ้าเป็นวันพฤหัสบดี จะแพ้ท้าวไท พระสงฆ์ราชาคณะ จะเดือดเนื้อร้อนใจนัก
    6.
    ถ้าเป็นวันศุกร์ ข้าน้ำ ลูกหมาก รากไม้ทั้งหลาย จะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนตกหนักพายุแรง จะเจ็บตายกันมาก
    7.
    ถ้าเป็นวันเสาร์ จะเกิดอันตรายหรือกบฎ แย่งชิงอำนาจกลางเมืองจะมีการวางเพลิงเผาทรัพย์ โจรผู้ร้ายกำเริบเสิบสาน ไม่กลัวอาญาแผ่นดินแล

วันเนา

วันที่ 14 เมษายนของทุก ๆ ปี ถือเป็นวันเนา คือวันระหว่างปีเก่าจะย่างเข้าสู่วันปีใหม่ ถ้าตรงกับวันใดวันหนึ่งในเจ็ด มีคำทำนายไว้ดังนี้

1.ตรงกับวันอาทิตย์ ข้าวจะตายปอบ จะได้ยินคนต่างด้าวต่างภาษามาเจรจาปราศรัยในบ้านเมือง ท้าวพระยาข้าราชการในเมืองเขาจะหนักใจ

2.ถ้าตรงกับวันจันทร์ เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจหนัก มักจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ

3.ถ้าตรงกับวันอังคาร หมากพลูของขบเคี้ยวฉัน จะได้ยากราคาแพง จะแพ้มนตรีอำมาตย์ที่ปรึกษาทั้งปวง

4.ถ้าตรงกับวันพุธ ข้าวจะยากหมากจะแพง ปวงประชาจะเดือดเนื้อร้อนใจ แม่ม่ายจะพลัดที่อยู่อาศัย

5.ถ้าตรงกับวันพฤหัสบดี ผลหมากรากไม้จะแพง ราชสกุลทั้งหลายจะเดือดร้อนหนัก

6.ถ้าตรงกับกับวันศุกร์ พริกจะแพง แร้งกา กสุณา สัตว์ป่า จะหมดที่อยู่อาศัย ล้มตายไปแม่ม่ายจะได้ลาภ

7.ถ้าตรงกับวันเสาร์ ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษหาข้าวยาก น้ำจะน้อยกว่าทุกปี ชีพราหมณ์จะร้อนใจ ปลาผลผักหญ้า จะมีราคาแพง

วันเถลิงศก

วันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวันดวงอาทิตย์โคจรยกขึ้นสู่ราศีเมษ ถ้าตรงกับวันใดวันหนึ่งในเจ็ดวัน ก็จะมีพยากรณ์ไว้ดังนี้

1.ถ้าตรงกับวันอาทิตย์ พระมหากษัตริย์จะเรืองอำนาจ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั้งปวง

2.ถ้าตรงกับวันจันทร์ พระเทวีและหมู่นางบริวารจะมีความสุข และมีสมบัติสมบูรณ์ดี

3.ถ้าตรงกับวันอังคาร อำมาตย์มนตรี จะอยู่เป็นสุข แม้จะต่อยุทธ์

4.ถ้าตรงกับวันพุธ ราชบัณฑิตปุโรหิต และโหราจารย์จะสุขสำราญเป็นอันมาก

5.ถ้าตรงกับวันพฤหัสบดี สมณะพราหมณ์ จะปฏิบัติด้วยธรรมอันประเสริฐ

6.ถ้าตรงกับวันศุกร์ พ่อค้าวานิช ผู้ประกอบธุรกิจการค้าขายทั้งใน และนอกประเทศ จะประกอบไปด้วยลาภผลกำไร มีความสุขทุกประการ

7.ถ้าตรงกับวันเสาร์ หมู่ทแกล้วทหารกล้าทั้งปวง จะประกอบไปด้วยความสุข และวิชาการทั้งปวง แม้จะทำยุทธ์ด้วยข้าศึก จากสารทิศใด ๆ จะมีชัยและสำเร็จสมประสงค์ ทุกประการแลฯ

ประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่

                     เทศกาลสงกรานต์นี้ชาวล้านนาเรียกว่า ปเวณีปีใหม่ หรือ ปาเวณีปีใหม่ (อ่าน-ป๋าเวณีปีใหม่) ในช่วงเทศกาลนี้กินเวลา 4-5 วัน ประชาชนจะหยุดงานเพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้ ทั้งทางด้านศาสนาและพิธีกรรม เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนานั้น จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันสงกรานต์ล่องหรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ตามประกาศของทางการเสมอไป (แต่ปัจจุบันนี้จะยึดตามประกาศของทางการ) เทศกาลนี้จะมีวันต่าง ๆ มีพิธีกรรมและการละเล่นหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกันดังนี้

                     วันสงกรานต์ล่อง (อ่าน-สังขานล่อง) คือวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีนจะย่างเข้าสู่ราศีเมษ ตามความเชื่อแบบล้านนา กล่าวกันว่าในตอนเข้ามืดของวันนี้ ปู่สังกรานต์หรือย่าสังกรานต์จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดง สยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสังกรานต์นี้จะนำเอาสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนจุดประทัด หรือทำให้เกิดเสียงดังต่าง ๆ นัยว่าเป็น “การไล่สังกรานต์” และถือกันว่าปืนที่ใช้ยิงขับปู่หรือย่าสังกรานต์นั้นจะมีความขลังมาก ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันนั้น จะมีการนัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด มีการซักเสื้อผ้าเก็บกวาดและเผาขยะมูลฝอยต่าง ๆ มีการดำหัวหรือสระผมเป็นกรณีพิเศษ คือ เมื่อสระผมแล้วจะต้องเงยหน้า ไปทางทิศที่กำหนดไว้ และจะทัดดอกไม้ ที่เป็นนามของปี ของแต่ละปีจะนุ่งห่มเสื้อผ้าใหม่ ฝ่ายพ่อบ้านก็จะนำเอาพระพุทธรูป พระเครื่องหรือเครื่องราวของขลังต่าง ๆ มาชำระหรือสรงด้วยน้ำอบน้ำหอมหรือเปลี่ยนดอกไม้ในแจกันใหม่ด้วย

                     ในวันสังกรานต์ล่องนี้ ตามประเพณีโบราณแล้ว กษัตริย์แห่งล้านนาจะต้องทำพิธีสรงน้ำตามทิศ ที่โหรหลวงคำนวณไว้ แล้วจะลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำ เช่น ในแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง เป็นต้น ทุกคนจะไปรวมกันที่แม่น้ำเพื่ออาบน้ำสระผม ชำระร่างกายให้สะอาด เรียกว่า ไปสระเกล้าดำหัว บางท่านก็จะเรียกลูกหลานมาพร้อมกล่าวคำมงคลแล้วใช้น้ำสมป่อยลูบศรีษะตัวเองหรือลูกหลานทุกคน และบางท่านจะให้ลูกหลายเอาฝักเขียวหรือฝักทองไปปลูก และให้มูลควายตากแห้งเป็นปุ๋ย โดยบอกเด็กว่าปู่ย่าสังกรานต์พึงพอใจที่ได้เป็นลูกหลานปลูกฟัก บ้างว่า ผู้ที่ปลูกฟักนั้น จะมีสติปัญญาเฉียบแหลมด้วย

                     สำหรับชาวบ้านเชียงใหม่นิยมจัดขบวนแห่พระพุทธรูปประจำเมือง คือ พระพุทธสิหิงค์และพระเสตังคมณีไปตามถนนต่าง ๆ แล้วนำไปประดิษฐานเพื่อให้ประชาชนได้เข้านมัสการสรงน้ำพระพุทธรูปด้วย

                     วันเนา วันเนาว์ หรือ วันเน่า ในแง่ของโหราศาสตร์แล้ว วันนี้ควรจะเรียกว่า วันเนา เพราะเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศรีมีนกับราศรีเมษ อันเป็นวันที่ถัดจากวันสังกรานต์ล่อง แต่ในการออกเสียงแล้วทั่วไปมักเรียก วันเน่า ทำให้เกิดความคิดที่ห้ามมิให้การกระทำที่ไม่เป็นมงคลโดยเฉพราะห้าการด่าทอทะเลาะวิวาทกัน กล่าวกันว่าผู้ใดที่ด่าทอผู้อื่นในวันนี้แล้ว ปากขอผู้นั้นจะเน่า และหากวิวาทกันในวันนั้น บุคคลผู้นั้นจะอัปมงคลไปตลอดปี ส่วนผู้ประสงค์จะปลูกเรือนด้วยไม่ไผ่ ก็ให้รีบตัดในวันนี้เพราะเชื่อว่าจะไม่เน่าและไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว

                     วันนี้จะเป็นวันเตรียมงาน ชาวบ้านจะพากันไปซื้อของเพื่อกินและใช้ในวันพระยาวัน เมื่อถึงตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัดกองรวมกันทำเป็นเจดีย์ การขนทรายเข้าวัดนี้ถือว่าเป็นการนำทรายมาทอแทนส่วนที่ติดเท้าของคนออกจากวัดซึ่งเสมอกับได้ลักของจากวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันดา เพราะเป็นวันที่หาหรือจัดเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ที่จะไปทำบุญ

                     วันพระยาวัน เป็นวันเถลิงศก เริ่มต้นจุลศักราชใหม่ วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ ผู้คนจะนำเอาสำรับอาหาร หวานคาวต่าง ๆ ไปทำบุญถวายพระตามวัดต่าง ๆ ทานข้นเช้า (อ่าน ตานข้นเช้า)เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว บางคนอาจนำสำหรับอาหารไปมอบให้ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่า ผู้แก่ หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่า ทานขั้นเช้าคนเถ้าคนแก่ จากนั้นจะนำทุงหรือธง ซึ่งได้เตรียมไว้ไปปักบนเจดีย์ทราย ทั้งนี้ มีคติการทานทุง นั้นมีอานิสงค์สามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพันจากนรกได้ จากนั้นก็มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

                     ในวันพระยาวันนี้ บางท่านอาจจะเตรียมไม้งามไปถวายสำหรับค้ำต้นโพธิ์ ถือคติว่า เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการช่วยค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และจะมีการสรงน้ำ ทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์รวมทั้งสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ด้วย ในตอนบ่ายจะมีการไปดำหัวหรือไปคาราวะผู้เฒ่าผู้แก่ บิดามารดา ญาติ พี่น้องผู้อาวุโสหรือผู้มีพระคุณหรือผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาและผู้ใหญ่ก็จะให้พร

                     วันปากปี ในวันนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ไปที่วัด ก็จะไปเตรียมสถานที่ หรือทำบุญในบ้าน คือ บริเวณที่ตั้งของเสาใจบ้านหรือ สะดือบ้าน บ้างเรียกว่าแปลงบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บริเวณหอเสื้อบ้าน (อารักษ์หมู่บ้าน) ที่วัดตอนเช้าจะมีการทำพิธีบูชาเข้าลดเคราะห์ โดยจะนำเสื้อผ้าที่ตนสวมใส่แล้วไปทำพิธีลดเคราะห์ที่วัด และในวันนี้ทุกครัวเรือนจะแกงขนุนอ่อนกินกัน เชื่อกันว่า จะทำให้คนค้ำชูอุดหนุนตลอด นอกจากนี้ยังมีการ บูชานพพระเคราะห์ คือบูชาเทวดา 9 หมู่ เป็นต้น เชื่อว่าผู้ที่บูชานพพระเคราะห์ ในวันปากปี จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดปี และชาวบ้างบางคนจะพากันไปดำหัววัด คือไปทำพิธีคาราวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันด้วย

                     ถัดจากนี้ ในอดีตจะมีการละเล่นสนุกสนานหลายอย่างในช่วงสงกรานต์ เช่น เล่นหมากบ้า หรือการเล่นสะบ้า เล่นหมากคอน หรือการเล่นลูกช่วง เป็นต้น แต่การเล่นที่สนุกที่สุดและมีเพียงช่วงเดียวในรอบปีคือ “เล่นหดน้ำปีใหม่” หรือการเล่นรดน้ำในเทศกาลปีใหม่นั้นเอง

สรุปประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่

                     ประเพณีปีใหม่เมือง ตรงกับกลางเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งถือว่าวันที่ 13 เมษายน อันเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสูราศีเมษเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ ชาวล้านนาเรียกว่า ปี๋ใหม่เมือง ในโอกาสนี้ทุกคนต่างมีความเปรมปรีด์ ร่วมกันเฉลิมฉลองด้วยการน้ำน้ำมารด หรือสาดกันเป็นเป็นการอวยพรปีใหม่ เป็นการแสงดไม่ตรีจิตที่ดีงามต่อกัน ในช่วงประเพณีปีใหม่เมือง ชาวล้านนาถือเป็นวันสำคัญดังนี้

                     วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์ล่อง จะมีการจุดประทัด ดีเกราะ เคาะกะลา ยิงปืน เพื่อขับไล่เสนียดจัญไร ส่งชั่วร้ายให้ล่องไปกับปีเก่า จากนั้นจะช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน จัดเสื้อผ้า อาบน้ำสระผม

                     วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนาว์หรือวันเน่า วันนี้ชาวล้านนาจะงดเว้นการกระทำที่ไม่เป็นมงคล เช่น ไม่กล่าวคำหยาบ ด่าทอหรือทะเลาะวิวาทในตอนบายจะมีการขนทรายเข้าวัด เพื่อก่อเจดีย์ทราย

                     วันที่ 15 เมษายน เป็นวันพญาวัน ตอนเช้าจะมีการทำบุญที่วัด สรงน้ำพระถวายตุง (ตานตุง) ถวายไม้ค้ำต้นโพธิ์ (ตานไม้ค้ำสะหรี) จากนั้นจะไปดำหัวผู้ใหญ่ และบุคคลที่เคารพนับถือ

                     วันที่ 16 เมษายน เป็นวันปากปี เป็นวันประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ ส่งเคราะห์ ในวันนี้ชาวบ้านนิยมรับประทานแกงขนุน ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ

                     ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่จะมีกิจกรรมที่ร่วมกันจัดทั้งภาครัฐและเอกชน จนสามารถกำหนดเป็นแผนการท่องเที่ยวประจำปีของเมืองเชียงใหม่ และได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมมาร่วมงานประเพณีนี้เป็นจำนวนมากทุกปี

ประเพณีสงกรานต์ชุมพร

                     ในเดือนห้าหรือตรงกับเดือนเมษายน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยเดิม มีประเพณีและการละเล่นต่าง ๆ ในวันตรุษสงกรานต์ เพื่อเน้นการสนุกสนานรื่นเริง โดยถือเป็นนักขัตฤกษ์ที่ขึ้นหน้าขึ้นตามาแต่โบราณ ก่อนจะถึงวันตรุษสงกรานต์ ก็เตรียมจัดหาเครื่องแต่งกายไว้ไปเที่ยวงานประเพณีตามวัดวาต่าง ๆ ตลอดจนเตรียมข้าวปลาอาหาร ของแห้งข้าวสาร ฟืนไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชนบทจะไม่มีการฆ่าสัตว์อะไรเลย หยุดการทำงาน หรือประกอบกิจการที่ไม่จำเป็น เวลาอย่างน้อย 3 วัน คือ แรม 15 เดือน 4 และขึ้น1 ค่ำ เดือน 5 และวันสงกรานต์ 3 วัน คือ วันที่ 13-14-15 เมษายน

                     จุดมุ่งหมายอันสำคัญก็คือ การทำบุญตามวัดต่าง ๆ มีผู้ไปร่วมทำบุญกันอย่างหนาแน่น และมีการละเล่นต่าง ๆ หลังจากการไปทำบุญที่วัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว

                     ก่อนถึงวันตรุษจะมีการเตรียมสิ่งของในวันแรม 13-14 ค่ำ เดือน 4 แทบทุกบ้านโดยเฉพาะในชนบท มีการเตรียมทำขนมต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปวัด เซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังเตรียมไว้เลี้ยงแขก ที่อาจมาเที่ยวหรือเยี่ยมเยียนกัน ขนมที่นิยมทำกันมากได้แก่ ขนมข้าวเหนียวแดง ซึ่งเป็นขนมที่สำคัญ และทำกันแทบทุกบ้าน นอกจากนั้นยังมีแป้งกวน หรือ กะละแม ขนมจีน แป้งข้าวหมาก ขนมโค ขนมเทียม ฯลฯ

                     ในช่วงวันตรุษสงกรานต์ จะมีการเตรียมมัดครก มัดสาก จอบ มีด เข้าด้วยกัน เพราะความเชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิตจึงได้มีการผูกรวมใส่ไว้ในครก แล้วผูกติดกับเสาบ้าน เพื่อกันไม่ให้สูญหายหรือกระจัดกระจาย และนำขนมต่าง ๆ รวมทั้งข้าวปลาอาหาร เครื่องดื่มต่าง ๆ ใส่ไว้ในครก มีกำหนด 3 วัน มิให้ใครหยิบออกไปใช้เป็นอันขาด และถ้าใครไม่เชื่อ นำมีด จอบไปใช้ในวันตรุษสงกรานต์ ปู่ ย่า ตา ยาย จะสาปแช่ง อาจพลั้งฟันมือ ฟันเท้าเอาได้ การทำเช่นนี้มีความเชื่อว่า เป็นการบูชา หรือเซ่นไหว้ครก สาก มีด ครั้งหนึ่งในรอบปีหนึ่ง ๆ ถ้าหากคิดอีกแง่หนึ่งก็ถือว่ามีส่วนดี คือ เป็นการสำรวจและรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ด้วย

                     ประเพณีอาบน้ำคนแก่และสรงน้ำพระพุทธรูป นิยมกระทำในวันสงกรานต์โดยจะเชิญคนสูงอายุ อาจเป็นบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย หรือบุคคลที่เคารพนับถือมารับการรดน้ำ บางแห่งอาจจัดสถานที่ ซึ่งเรียกว่า เบญจา ให้คนขึ้นได้ 4 ด้าน แล้วให้คนแก่ขึ้นไปนั่ง ประชาชนในหมู่บ้านนั้นก็จะตักน้ำขึ้นไปอาบให้ เป็นการขอพรจากคนแก่ผู้นั้น แล้วทาแป้งแต่งตัวให้ท่าน

ประเพณีสงกรานต์สมุทรปราการ

                     สมุทรปราการ มีประชาชนประกอบอาชีพกสิกรรมมาแต่ดั้งเดิมในหลายพื้นที่ต่างกันบ้างตรงที่ทำเลการกสิกรรม เช่น ทางฝั่งพระประแดงทำสวนเป็นส่วนใหญ่ พอข้ามฝั่งไปทางอำเภอบางพลี บางพอ ก็ทำนา เลี้ยงปลา ทางด้านอำเภอเมืองก็มีอีกส่วนหนึ่งทำนา ที่อยู่ใกล้ดำเนินอาชีพทางประมงทะเล

                     อย่างไรก็ดี สมุทรปราการก็มีประเพณีสงกรานต์ เป็นลักษณะเฉพาะถิ่นอยู่บ้าง เมื่อว่างจากกสิกรรม ก็ได้มีโอกาสสนุกสนานร่วมกันแบบนานทีปีครั้ง กรณีตัวอย่างของสงกรานต์ เฉพาะถิ่น เฉพาะบางที่ เลือกทำกิจกรรมที่ผิดแผกออกไปดังนี้

สงกรานต์ที่บ้านบางปลา แห่งเจว็ด

                     เจว็ด รูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐ์ไว้ในศาลพระภูมิหรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ โดยปริยายหมายความว่า ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นประธานหรือเป็นใหญ่ แต่ไม่มีอำนาจ เช่น ตั้งเป็นเจว็ดขึ้นไว้ บางที่มีใช้คำว่า ตระเว็ด หรือ เตว็ด แต่สำหรับที่บางปลาเป็นเจว็ดที่ประจำอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อพระราม พระลักษณ์ ศาลพ่อปู่ ศาลเจ้าพ่อทุ่ง ศาลพ่อปิ่นเกล้า ฯลฯ ล้วนเป็นแท่งแก่นไม้เนื้อแข็ง ท่อนยางประมาณเท่าตัวคน มีความเก่าแก่จนและดูเนื้อไม้กร่อน เนื้อไม้สีดำเข้ม ผุกร่อน จนเนื้อบางส่วนโปร่งไปหมด มักใช้ผ้าแพรหลากสีผูกติดไว้

                     ชาวบ้านที่อยู่ในเกาะบางปลา ตำบลบางปลา แห่เจว็ดในวันมหาสงกรานต์ของทุกปี ในวันที่ 15 เมษายน โดยเริ่มจากการอัญเชิญเจว็ดจากศาลพระราม พระลักษณ์ ศาลเจ้าปู่ ซึ่งอยู่ที่บริเวณพื้นที่ใกล้หน้าวัดบางปลาและจากศาลอื่น ๆ มารวมกันเตรียมแห่เจว็ดไปรอบเกาะบางปลา

                     วันที่ 13/15 ที่วัดบางปลาจะมีพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันสงกรานต์ สำหรับวันที่ 15 หลังจากทำบุญตักบาตรเช้า หลักจากที่พระสงฆ์ปฏิบัติกิจสงฆ์ตอนเช้า รวมถึงการทำสังฆกรรมในอุโบสถเนื่องในวันมหาสงกรานต์แล้ว ช่วงบ่ายผู้นำชาวบ้านก็จะนำอาหารเคื่รองเซ่นไหว้มาเซ่นไหว้เจ้าพ่อพระราม พระลักษณ์และเจ้าพ่อองค์อื่น ๆ (เจว็ดเป็นตัวแทนองค์เจ้าพ่อ เจว็ดละ 1 องค์) แล้วช่วยกันแห่เจว็ด ซึ่งเป็นตัวแทนองค์เจ้าพ่อ ชายหนุ่มกำยำ จะเป็นผู้แบกเจว็ดแห่ไปรอบเกาะบางปลา เมื่อแห่ผ่านไปที่หลังบ้านใคร ชาวบ้านก็จะตักน้ำดื่มน้ำกินที่สะอาด ตั้งบูชา และผ้าที่น้ำจัณฑ์สำหรับเสนาของเจ้าพ่อให้ได้ดื่มกินกันด้วย และสิ่งที่ตั้งบูชานี้เสร็จแล้ว รดน้ำหอมลงบนเจว็ด ลูกหลานรองน้ำจากเจว็ดใส่ขวดหรือภาชนะอื่น เมื่อน้ำไหลลงมาส่วนล่างของเจว็ด ก็นำน้ำนั้นไปไว้บูชา น้ำไปดื่มกินเป็นน้ำมนต์ ลูกหลานก็ดื่นได้เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ เครื่องบูชาที่ตั้งไว้บูชาเจ้าพ่อ ก็นำไปเป็นอาหารที่เรียกกันว่าเป็น ยา

                     เวลาบ่าย ๆ หรือเย็นที่วัดจะจัดพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ และผู้เฒ่าผู้แก่ที่คนนับถือ ตลอดจนผู้มีอาวุโสทั้งหลาย แล้วจึงค่อยเล่นน้ำสาดกัน

สงกรานต์ของชาวพระประแดง

                     ชาวพระประแดงมีภูมิปัญญาที่ดีงามอีกประการหนึ่ง คือให้มีประเพณีรดน้ำสงกรานต์ 3 วัน และวันสรงน้ำพระของแต่ละวัด โบราณท่านประสงค์จะป้องกันชายหนุ่มใช่วิธีล้อลาบหยาบคาย ในการเข้าไปขอพูดคุยกับสาว แต่ใช้น้ำเป็นสื่อ คือ ชายหนุ่มต้องเข้าไปขออนุญาตสาดน้ำสาว การรดน้ำก็เพียงรดน้ำน้อย ๆ ที่มือหรือไหล่ ในจังหวะเช่นนี้ก็มีโอกาสได้สนทนากัน จนกระทั่งน้ำนั้นหมดขัน ก็ได้ระยะเวลาเพื่อการพูดคุยกันสมควรและเพื่อให้เจ้าสาวเป็นใจที่จะสนทนาด้วย น้ำที่นำมาใช้ก็ควรเป็นน้ำสะอาดลอยดอกมะลิที่ผสมน้ำอาบ ไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน ภาชนะที่ใส่น้ำก็ดูเป็นภาชนะชนิดที่ดูแล้วมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น ขันเงิน ขันลงหิน

                     ชายหนุ่มที่มุ่งมั่นว่าจะต้องไปช่วยงานและได้มีโอกาสสนทนากับสาวก็ต้องตั้งใจจริงตั้งแต่การเตรียมตัว ต้องขัดขันเงินหรือขันลงหินจนเงางามเลือกเสื้อผ้าที่ดีที่สุด ผ้าขาวม้า ผ้าใหม่ซึ่งแสดงถึงฐานะ เตรียมน้ำสะอาด กล่าวได้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจไปคุยจริง ๆ ต้องไม้ตั้งใจถึงขนาดนี้ ยุทธศาสตร์ขนาดนี้จะต้องยกให้กับภูมิปัญญาของคนโบราณ

ประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์ของชาวรามัญ

                     ตำนานสงกรานต์มีอิทธิพลต่อชาวรามัญ ที่พระประแดง ในเรื่องการส่งข้าวสงกรานต์ ตามเค้าเรื่องเดิมของท่านเศรษฐ๊นำเครื่องสังเวยไปถวายเทวดาที่ตันไทรเพื่อขอบุตรใส่ข้าวในหม้อดิน ส่วนกับข้าวต่าง ๆ ใส่กระทงทำด้วยใบตอบคล้ายกับการเซ่นเจ้าหรือบูชาเทวดา ชาวพระประแดงส่งข้าวสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 13,14 และ 15 เมษายน

                     แต่ละหมู่บ้าน มีบ้านใดบ้านหนึ่งเป็นผู้รับหน้าที่หุงข้าวสงกรานต์ ต้องปลูกค้างเพียงตา เรียกว่า ฮอยสงกรานต์ แปลว่าบ้านสงกรานต์ มีวิธีการในรายละเอียดมากมาย ในการเตรียมของคาวหวาน ผลไม้ เพื่อส่งไปถวายพระตามวัด การหุงข้าวต้องหุงตั้งแต่ 03.00 -.4000 น. พอถึง 05.00 น. สาว ๆ ในหมู่บ้านนั้นจะออกมารับข้าวสงกรานต์ ไปส่งตามวัดตนตั้งใจไว้ ไปกันเป็นกลุ่ม ๆ มักไปวัดไกลบ้านเพื่อมีโอกาสพบหนุ่มต่างตำบล เพราะโบราณหนุ่มสาวต่างตำบลพบกันยาก จึงใช้เทศกาลต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์เมื่อส่งข้าวเสร็จแล้ว ตนอกลับก็มีหนุ่ม ๆ มาคอยรดน้ำ หนุ่มสาวได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างอิสระ เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำบุญจึงเป็นโอกาสที่ชาวมอญพระประแดง ได้มีโอกาสผู้สืบสกุล เพราะกุศลจากการบวงสรวงที่ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมเปิดโอกาสให้เป็นจริง

ประเพณีการค้ำต้นโพธิ์

                     ประเพณีของชาวรามัญที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ คือ การค้ำต้นโพธิ์ เพราะถือว่าการค้ำต้นโพธิ์นั้นเป็นการค้ำจุนศาสนา เพราะต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา จึงถือว่าเป็นการทำบุญเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่มิใช่ว่าเมื่อถึงวันสงกรานต์จะไปค้ำกันทุกคน

                     มีหลักอยู่อยู่ว่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันอะไร ผู้ที่เกิดตรงกับวันนั้นเป็นผู้ที่ต้องนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ เช่น วันที่ 13 เป็นวันจันทร์ คนที่เกิดวันอังคารจะเป็นผู้นำไม้ไปค้ำ เป็นต้น เพราะถือว่าในระหว่างสงกรานต์ 3 วันนั้น วันที่ 13 เป็นวันสิ้นปี วันที่ 14 เป็นวันกลาง คือ ไม่ใช่ปีใหม่และไม่ใช่ปีเก่า ส่วนวันที่ 15 นั้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นคนที่เกิดวันที่อยู่ระหว่างกลางที่ชาวรามัญ เรียกว่า “งัวกร๊าบฮนาม” อาจเชื่อการถือฤกษ์ยาม จึงต้องทำบุญที่เป็นสาธารณประโยชน์ เป็นต้น คือ การค้ำต้นโพธิ์หรือการซ่อมทางดินหรือซ่อมสะพาน ที่เป็นทางสาธารณ เป็นต้น หากมิได้ทำสิ่งใดก็ต้อง นำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์ คือ หาไม้ที่เป็นง่ามตรงปลายยาวประมาณ 1 เมตร ปอกเปลือกทาขมิ้นให้สวยงาม แล้วนำไปค้ำที่โคนต้นโพธิ์ในวัดซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่จนถึงปัจจุบัน ภูมิปัญญาชาวบ้านที่แขวงไว้ในประเพณี คือ สร้างโอกาสให้ทุกคนมีโอกาสซ่อมแซมสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์

บทสรุป

                     ภาพรวมของงานสงกรานต์ คือ การใช้น้ำเป็นสื่อ เพื่อให้เหมาะกับฤดูกาล เพราะเดือนเมษายน เป็นเดือนที่ร้อนหนักกว่าทุก ๆ เดือนของปี น้ำจึงเป็นอุปกรณ์ที่เข้ากันได้ดีที่สุดแห่งนักขัตฤกษ์นี้แต่ว่าการใช้น้ำในยุคแรกก็เพียงเพื่อเป็นสื่อแห่งน้ำใจไมตรีของผู้ให้ที่มีต่อผู้รับ โดยการใช้รดที่มือของผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อขอศีลขอพร และใช้รดที่บ่าของผู้ที่ตนอยากจะผูกไมตรีด้วย เป็นไปอย่างประณีตบรรจง

                     เมื่อกาลเวลาเวียนมาถึงปัจจุบัน การรดน้ำสงกรานต์ก็เป็นไปอย่างดุเดือด เพื่อความสนุกสนานและความสะใจของผู้ให้ด้วย การสาดน้ำเข้าใส่อย่างไม่ปราณีปราศัย สะใจเมื่อเป็นฝ่ายถูกสาดเปียกปอน และเลอะเทอะด้วยแป้งผสมสี หรือดินโคลน บางแห่งจึงสิ้นสุดลงด้วยการทะเลาะวิวาท บางรายถึงอาการปางตายก็มี นอกจากนั้นวันสงกรานต์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้าพานิชไปเป็นส่วนใหญ่ จึงถูกฉาบไล่ด้วยโลภจิต สงกรานต์ปี 2547 นี้ ถือเอาเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมทางการค้า รัฐบาลจึงจัดให้มีประเพณีสงกรานต์ของชาติต่าง ๆ เข้ามาร่วมด้วยถึง 6 ชาติ คือ พม่า จีน ลาว เวียดนามและเขมร สิ่งที่คาดว่าจะตามมาคือ จะมีผู้คนไปเที่ยวงานนี้อย่างล้นหลาม ทำให้สินค้าขายได้ดี เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า แต่สิ่งที่ตามโดยที่ใคร ๆ มิปรารถนาคือ อุบัติเหตุ ยังผลให้มีคนตายราว ๆ พันคนและบาดเจ็บเฉียดหมื่น เนื่องเพราะดื่มน้ำเมาและขับรถเล่นสงกรานต์ ได้จะคุ้มเสียหรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบควรจะไตร่ตรอง

หนังสือที่ใช้ในการคัดลอก

                     1.ห้องโหรศรีมหาโพธิ์, ปฏิทินโหร 150 ปี กรุงเทพ. สำนักพิมพ์อำนวยสาส์น. 2532

                     2.โครงการจัดทำหนังสือ เรื่องวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรปราการ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ 2542

                     3.โครงการจัดทำหนังสือ เรื่องวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ 2542.