หลักธรรมาภิบาล

*************************

                  ปาฐกถาธรรมของ “หลวงป๋า” หรือ พระภาวนาวิสุทธิคุณ เจ้าอาวาส วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ เวลา ๐๘.๐๐ - ๐๘.๓๐ น. ถือว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้มีคำสั่งด้วยวาจา “ห้ามพระเทศนาวิจารณ์การเมือง” และต่อไปนี้คือ “หลักธรรมาภิบาล” ปาฐกถาธรรมที่ถูกล่าวหาว่าวิจารณ์การเมือง

                  สำหรับปาฐกถาธรรมครั้งนี้ หลวงป๋า ได้แสดงเป็นตอนที่ ๒ ต่อจากวันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤาภาคม ๒๕๔๗ โดยได้แสดงไว้ว่า

                  เพื่อความเข้าใจหลักธรรมาภิบาลให้ถ่องแท้ อาตมภาพใคร่ขอทบทวนความหมายโดยย่อของ “หลักธรรมาภิบาล” ว่าเป็นหลักธรรมใช้ประกอบการปฏิบัติงานแบบบูรณาการของหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Chief Executive officer – CEO) ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายด้วยดี มีประสิทธิภาพสูง
                  คำว่า “ประสิทธิภาพ” (Efficiency) เป็นเครื่องวัดผลการบริหารงานของ การปฏิบัติงานของหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์กรหรือหน่วยงานใด มี “ประสิทธิผล” ความพึงพอใจโดยธรรม” ของประชากรโดยส่วนรวมทุกฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายเจ้าของกิจการ หรือ ฝ่ายผู้บริหารระดับสูง และฝ่ายผู้ปฏิบัติงานระดับรองลงมา กับ ฝ่ายประชาชนผู้รับบริการ หรือ ลูกค้าขององค์กรนั้น สูงต่อค่าลงทุนลงแรง และเวลา ที่ใช้ในการปฏิบัติงานขององค์กรหรือหน่วยงานนั้น ต่ำ คือ ประหยัด เพียงไร การปฏิบัติงานของหัวหน้าฝ่ายบริหารองค์กรหรือหน่วยงานนั้น ชื่อว่า มี “ประสิทธิภาพสูง”เพียงนั้น

                  คำว่า “ประสิทธิผล” (Effectiveness) คือผลผลิตของการบริหารกิจการงานขององค์กรหรือหน่วยงานนั้น ถ้าเป็นการบริหารกิจการของต่าง ๆ ทั้งคุณภาพและปริมาณด้วย เป็นต้น

                  แม้ประสิทธิผลของการบริหารรัฐวิสาหกิจ หรือธุรกิจเอกชน ก็จะต้องเป็นไปโดยธรรม คือ เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ได้แก่ทุกฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการหรือเจ้าขององค์กร คือนายทุน หรือนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบุคคลหรือเอกชน

                  ฝ่ายพนักงาน นับตั้งแต่หัวหน้าฝ่ายบริหาร (CEO) และรองๆ ลงมาถึงฝ่ายผู้ปฏิบัติงาน ฝ่ายลูกค้า ผู้รับบริการ และหรือผู้บริโภคสินค้า หรือผู้บริการ และ ฝ่ายประชาชน โดยทั่วไปซึ่งจะได้รับผบกระทบโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากการบริหารองค์กรนั้นๆ จึงจะถูกต้องคุณลักษณะของ “หลักธรรมาภิบาล”

                  องค์กรรัฐวิสาหกิจนั้น เป็นองค์กรกึ่งราชการ ตั้งขึ้นโดยกฎหมายบริหารงานอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาล เพื่อให้บริการอันเป็นธรรมแก่ประชาชน “ประสิทธิผลอันเป็นธรรม” ของการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ จึงมิได้มุ่งแต่จะกอบโกยกำไร แต่ให้มีกำไรเพียงเพื่อให้เลี้ยงตัวได้

                  เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรใช้อภิสิทธิ์เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น หรือขูดรีดเอารายได้จากประชาชนผู้บริโภค หรือ ผู้ใช้บริการจนเกินควร จึงจะเป็นธรรมแก่สังคม หรือ ประชาชนโดยส่วนร่วม

                  ส่วน องค์กรธุรกิจเอาชน นั้น โดยธรรมชาติ ของนายทุนหรือผู้ลวงทุกแสวงผล ก็เพื่อหวังผลกำไร จึงมุ่งที่จะให้ได้ผลกำไรสูงที่สุดเป็นสำคัญ

                  แต่การบริหารแบบบูรณาการตาม “หลักธรรมาภิบาล” ที่นิยมกันทั้งในและต่างประเทศ ทุก ๆ วันนี้หันมามอง มาเอาใจใส่ความพึงพอใจของประชากรทุกฝ่ายด้วย คือ ทั้งฝ่ายนายทุนหรือฝ่ายอำนวยการเองอำนวยการเอง ฝ่ายพนังกาน ฝ่ายลูกค้าโดยตรง และฝ่ายประชาชนโดยส่วนรวม ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งที่เป็นส่วนดี และหรือทั้งที่เป็นสวนเสีย อีกด้วย

                  เพราะถ้าองค์กรธุรกิจนั้นขาดทุนหนักเข้า นายทุนก็ไม่อยากลงทุนองค์กรนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ พนักงานหรือคนงานขององค์กรธุรกิจนั้น ก็เดือดร้อนเพราะตกงาน แต่ถ้าเอารัดเอาเปรียบพนักงาน เอารัดเอาเปรียบลูกค้า และหรือ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนโดยส่วนรวมมากเกินไปย่อมถูกคัดค้าน ถูกประณามจากสังคม และ ถูกเอนตี้โดยประการต่างให้องค์กรธุรกิจเอกชนนั้นไม่เจริญ หรือ ถึงเลิกล้มกิจการไปได้เหมือนกัน

                  ฝ่ายรัฐบาลก็เช่นกัน ถ้ารัฐบาลใดบริหารราชการแผ่นดินมี “ประสิทธิภาพต่ำ” คือ มีประสิทธิผลอันเป็นธรรมแก่ประชาชนน้อย กล่าวคือ ไม่ได้บำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้เกิดประโยชน์และความสันติสุขแก่ประชาชนโดยส่วนรวม ให้สมค่าลงทุน คือ งบประมาณทรัพยากรต่างๆ กำลังคน แลเวลาที่ใช้ในการบริหารราชการไปมากแล้ว

                  แต่กลับไปอำนวยประโยชน์สุขแต่เฉพาะบุคคล หรือ คณะบุคคลผู้เป็นญาติมิตร หรือ พรรคพวกของคน ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ โดยส่วนรวม ที่ไม่ได้รับประโยชน์สันติสุขอันเป็นธรรม ย่อมผิดหวัง ท้อแท้ และ ย่อมไม่เลือกตั้งพรรคการเมืองที่จัดตั้งรัฐบาลนั้นให้เข้ามาทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลอีกได้

                  เพราะเหตุนั้น การบริหารราชการแผ่นดินแบบบูรณาการของหัวหน้าฝ่ายบริหารทุกระดับ จึงต้องอาศัยหลักความถูกต้อง เหมาะสม บริสุทธิ์ และ ยุติธรรม อันเป็นคุณลักษณะ ของ “หลักธรรมาภิบาล” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ตรงคุณประเสริ๗ของเรา ได้ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงมาแล้ว ตั้งแต่วันเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์สิริราชสมบัติ ที่พระองค์ได้ทรงประกาศพระราชปฎิธานเป็นพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม” นั้นแล้ว และพระองค์ก็ได้ทรงถือเป็นหลักปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อยังความเจริญและสันติสุขแก่พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึงมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

                  โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐของไทยเรานั้น ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นพระอัครศาสนูปถัมภก ได้ทรงศึกษาอบรมหลักธรรม ตามพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างดี พระราชจริยาวัตรของพระองค์ตามหลักธรรมภิบาลนี้ จึงสงเคราะห์เข้าได้กับ “หลักธรรมาภิบาล” อันเป็นหลักปฏิบัติที่พระราชามหากษัตริย์ทรงใช้ปกครองพระราชอาณาจักรให้อาณาประชาราษฎร์ มีความเจริญและสันติสุขมาแต่โบราณกาล และยังประกอบด้วยหลักธรรมอื่นๆ อันโบราณบัณฑิตได้กล่าวแสดงไว้ โดยปริยายอีก ได้ แก่ ราชสังคหวัตถุจักรวรรดิวัตร และพละ คือ กำลังของพระมหากษัตคราธิราชเจ้าเป็นต้น

                  ดังที่อาตมภาพได้กล่าวถึง “หลักทศพิธราชธรรม” ไปแล้ว ๒ ข้อ คือ ข้อ “ทาน” และข้อ “ศีล” เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้สำหรับวันนี้จะได้กล่าวต่อไปในหัวข้อที่ ๓ “ปริจาค” คือ การเสียสละ และ ข้อ ๔ “อาชชว” คือ ความซื่อตรง และข้ออื่นๆ ตามสมควรแก่เวลาสืบต่อไป

                  อนึ่ง เนื่องด้วยในระยะหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นมาก เพราะชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน วัยรุ่น วัยเรียน และแม้ผู้ใหญ่ พากันติดอยู่ในอบายมุข อันเป็นทางให้เสื่อมเสียทรัพย์ เสื่อมเสียชื่อเสียง เสื่อมเสียอนาคต เสื่อมเสียสุขภาพกายสุขภาพจิต และแม้ถึงเสียชีวิต ได้แก่ การเล่นและติดการพนัน การเสนและติดสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท การไม่สำรวมในการสำส่อนในกาม เป็นต้น มากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากแก่การป้องกันและแก้ไขอยู่ในทุกวันนี้

                  จึงมีประเด็นของปัญหาว่า รัฐบาลและหัวหน้าฝ่ายบริหารแบบบูรณาการทุกระดับ ได้ดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประโยชน์และความสันติสุขแก่ประชาชนโดยส่วนรวม หรือส่วนใหญ่ มาถูกทาง คือถูกหลักธรรมาภิบาลนี้หรือไม่ เพียงไร อาตมภาพจึงจะขอกล่าวประเด็นอันเป็นปัญหาดังกล่าวนี้ก่อน

             ปัญหาข้อแรก คือว่า รัฐบาลควรสนับสนุนให้มี หรือว่า ไม่ควรสนับสนุนให้มีแหล่งการพนันในประเทศของเรา หรือไม่ เพียงไร

                  ตามข่าวที่ได้ยินได้ฟังมา ได้มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้มีแหล่งการพนันเพิ่มขึ้น และมีทั้งฝ่ายคัดค้านไม่ให้มีเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างก็มีเหตุผลด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย

                  ฝ่ายสนับสนุนก็ยกเหตุผลที่จะพึงได้ว่า เงินจะได้ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และแถมยังจะได้เงินมาเข้ารัฐ เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น และอ้างว่าในต่างประเทศที่เจริญแล้วเขาก็ทำกันบริการอย่างนี้จึงเป็นธรรมควรที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุน

                  ฝ่ายค้านก็ยกเหตุผลที่จะเสื่อมเสียว่า บริหารอย่างนี้ไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการมอมเมาประชาชน และรังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ติดตามมาเพิ่มขึ้นภายในประเทศ ให้ประชาชนเดือดร้อน และว่า แท้รัฐบาลจะได้เงินมาจากแหล่งการพนัน ก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเป็นธรรมชาติว่า ที่ใดมีการพนัน ที่นั้นย่อมมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงสารพัด และแม้จะได้เงินมารบ้างก็จริง แต่ต้องนำไปใช้จ่ายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่ยุ่งเหยิงมากขึ้นจนเกินแก้ไขอีกนั้นแหละเพราะฉะนั้นผลที่ได้จึงไม่คุ้มเสียอยู่ดี

             รัฐบาลจึงไม่ควรสนับสนุนให้มีขึ้น ที่มีอยู่แล้วควรจำกัดให้น้อยลงได้เท่าใดก็ยิ่งดี เพราะจะได้ทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุขด้วยความสงบดีขึ้น

                  นี่คือประเด็นที่ฝ่ายบริหารราชการแผ่นดิน และฝ่ายนิติบัญญัติจะพึงพิจารณา “ประสิทธิผลโดยธรรม” ในการบริหารแบบบูรณาการให้ถูกความต้องการอันเป็นธรรมของประชาชนโดยส่วนรวม อันเป็นคุณลักษณะของ”หลักธรรมาภิบาล”

                  ในฐานะที่ประเทศไทยเราเป็นเมืองพุทธ หัวหน้าฝ่ายบริหารทุกระดับและสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ก็เป็นพุทธ ควรจะได้อาศัยหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลก เป็นหลักพิจารณาประสิทธิผลของรัฐบาล ว่าจะต้องบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้บริการอันเป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวม โดยประการที่จะต้องให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชานโดยส่วนรวมอย่างถาวรมั่นคง แล้วไม่กลับเป็นผลร้ายแก่ประชาชน หรือไม่กลับเป็นปัญหาของสังคมต่อไปในกาลข้างหน้าได้อีก

                  ตรงนี้เป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา ที่ฝ่ายสนับสนุนมองเห็นประโยชน์ที่ถึงจะได้ คือ “เงิน” ที่จะได้แต่ด้านเดียว แต่มองไม่ค่อยเห็น “ผลร้าย” ที่จะติดตามมาเป็นปัญหาสังคมที่ยุ่งเหยิง จนยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ ดังที่ปรากฏเห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้อยู่แล้ว

                  ผลงานใดของรัฐบาลที่แม้จะเกิดผลดีแก่ประชาชนทางด้านหนึ่งหรือในระยะเวลาหนึ่งแต่อีกด้านหนึ่งเป็นผลเสีย หรือกลับกลายเป็นผลร้ายต่อไปในภายหลัง ถึงระดับว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย”

                  ผลงานของรัฐบาลเช่นนั้น ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนโดยส่วนรวมเลย การบริหารงานให้บริการแก่ประชาชนอันไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นกรรมที่ไม่ดี ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัส (ขุ.ธ.๒๔/๑๔/๑๔) ว่า

               “บุคคลทำกรรมใดแล้วย่อมเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี บุคคลมีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ย่อมเสวยผลของกรรมใดกรรมนั้นทำแล้วไม่ดี”

                  ส่วนผลงานใดของรัฐบาลที่บังเกิดผลดีแก่ประชาชนโดยส่วนรวม โดประการที่ให้เกิดความเจริญและสันติสุขอย่างถาวรมั่นคง “ประสิทธิผล” ของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเช่นนี้ ชื่อว่า เป็นธรรม และจัดว่าเป็นกรรมดี ดังพระพุทธดำรัสว่า

               “บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนภายหลัง กรรมนั้นแลทำแล้วเป็นการดี บุคคลมีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน ย่อมเสวยผลของกรรมใด กรรมนั้นทำแล้ว เป็นการดี”

                  โทษของการพนันนั้นก็มีมาก ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โทษของการเล่นการพนันบ่อยๆ และติดการพนันไว้ (ที.ปาฏิ ๑๑/๑๔๒/๑๙๔) ว่า

                  (๑) ชยํ เวรํ ปสวติ ชิโน ผู้ชนะย่อมก่อเวร คือ อยากได้อีกมาๆ จึงติดเล่นต่อๆ ไปอีก จนอาจแพ้ถึงหมดตัวได้
                  (๒) วิตตมนุโสจติ ผู้แพ้ย่อมเสียดายทรัพย์ที่เสียไป จึงหวนกลับไปเล่นใหม่อีก ด้วยหวังว่าจะได้คืน สุดท้ายก็หมดตัวจนได้
                  (๓) สนทิฏฐิกา ธนชานิ ความเสื่อมเสียทรัพย์ในปัจจุบันทันตาเห็น
                  (๔) สภาคตสส วจนํ น รูหติ ถ้อยคำของคนเล่นการพนัน ซึ่งพูดในที่ประชุม ฟังไม่ขึ้น กล่าวคือ ไม่มีคนเชื่อถือในถ้อยคำ
                  (๕) มิตตามจจานํ ปริภูโต โหติ ถูกมิตรอำมาตย์ คือ ถูกเพื่อนราชการด้วยกันดูหมิ่นเหยียดหยาม
                  (๖) อาวาหวิวาหกานํ อปปตถิโต โหติ ไม่มีใครประสงค์จะแต่งงานด้วยเพราะคนส่วนมาเห็นว่า นักเลงการพนันรังแต่จะนำไปสู่ความเสียทรัพย์ดังคำกล่าวที่ว่า ไปไหม้เรือนยังเหลือที่ดิน แต่คนที่ผีพนันสิงแล้ว แม้แผ่นดินที่อยู่อาศัยก็หมด คือ ไม่มีที่จะอยู่

              ปัญหาที่ ๒ คือว่า รัฐบาลควรสนับสนุน หรือว่า ไม่ควรสนับสนุนให้มีการผลิต และจำหน่ายสิ่งเสพติดมืนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทประเภทบุหรี่ ยาสูบ สุรา เบียร์ ไวน์ เป็นต้น หรือไม่ เพียงไร

                  จริงอยู่ รัฐบาลได้ทุ่มเททรัพยากรต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม โดยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฝิ่น เฮโรอีน โคเคน ยาบ้า ยาอี อย่างจริงจังอยู่แล้ว แต่สิ่งเสพติดประเภทบุหรี่ ยาสูบ สุรา เบียร์ ไวน์ เหล่านี้ก็นับเป็นมัจจุราชผ่อนส่ง ที่มีโทษแก่ผู้เสพติดมาก ไม่น้อยหน้าไปกว่าประเภทยาบ้า ยาอี เหล่านั้นเลย

                  เพียงแต่บุหรี่ ยาสูบ สุรา เบียร์ ไวน์ นั้นสังคมยอมรับ ทั้งๆ ที่รู้เห็นว่าเป็นโทษ แต่ก็เคยชินต่อการเสพ แม้จะมีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการเสพสิ่งเสพติดเหล่านี้บ้าง เช่น พยายามรณรงค์ให้เลิกบุหรี่และสุรา แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ถึงรากถึงโคนได้ เพราะรัฐบาลก็ยังส่งเสริมการผลิตสิ่งเสพติด เหล่านี้อยู่

                  เมื่อเป็นรัฐบาล CEO ที่เชิดชูนโยบาย “ความรู้คู่คุณธรรม” และที่กำลังปฏิรูประบบราชการให้เป็นแบบบูรณาการ ให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพสูง ตามหลัก “ธรรมาภิบาล” อยู่แล้ว ก็ควรจะเห็นโทษของสิ่งเสพติดประเภทบุหรี่ ยาสูบ สุรา เบียร์ ไวน์ เป็นต้น โดยความเป็นโทษตามที่เป็นจริงอีกด้วย ถึงแม้จะมีรายได้จากการผลิต และจำหน่ายสิ่งเสพติดเหล่านี้เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว ผลได้คุ้มผลเสียไหม? ประเทศไทยกำลังพัฒนาประเทศเข้าสู่คลื่นลูกที่ ๓ คือ ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว ไฉนจึงไม่ฉวยโอกาสทองนี้เปลี่ยนพฤติกรรมการส่งเสริมแหล่งการพนัน

                  การผลิต และการจำหน่ายสิ่งเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้ มาเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเกษตรให้เจริญ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ของประเทศให้ทดแทนรายได้จากอบายมุขอันเป็นภัยแก่สังคมเหล่านั้น จะไม่ดีและคุ้มค่ากว่าหรือ?

                  ถ้าจะพิจารณาหลักธรรมข้อ “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์” ให้รู้จักอดออมและประหยัด แม้เพียงรณรงค์ให้มีการผลิตและใช้ยานพาหนะด้วยพลังงานไฟฟ้าหรืออย่างอื่น ทดแทนการใช้น้ำมัน และให้ใช้รถจักรยานขับขี่ไปโรงเรียน ไปทำงาน ในระยะทางที่ไม่ไกลนักให้มากขึ้น แทนการใช้ยวดยานพาหนะที่ต้องใช้น้ำมันได้มากเพียงไร ก็ยังจะช่วยประหยัดเงินเป็นค่าน้ำมันได้มาก

                  และเป็นการปลดแอกจากการเป็นทาสพ่อค้าน้ำมันได้ด้วย แถมยังช่วยลดมลภาวะ และอุบัติเหตุ ได้อีกมากด้วย ควรแก่การรณรงค์และสนับสนุนอย่างยิ่ง

                  อนึ่ง เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ได้ตรัสโทษของสิ่งเสพติดมึนเมารให้โทษอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเหล่านี้ (ที.ปาฏิ ๑๑/๑๔9/๑9๔) ว่า

                   (๑) สนทิฏฐิกา ชนธานิ เป็นเหตุให้เสียทรัพย์
                   (๒) กลหปปวฑฒนี เป็นเหตุก่อการทะเลาะวิวาท
                   (๓) โรคานํ อายนํ เป็นบ่อเกิดแห่งโรค คือ เป็นทั้งโรคที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดที่เสพ และโรคเรื้อรังต่อๆไป ให้เสียทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต และอาจให้ถึงตายได้
                   (๔) อกิตติสญชนนี เป็นเหตุให้เสื่อมเสียชื่อเสียง
                   (๕) หิริโกปินนิททํสนิ เป็นเหตุให้ไม่รู้จักละอาย คือ ให้กล้าทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ
                   (๖) ปญญาย ทุพพลี เป็นเหตุทอนกำลังสติปัญญา

                  ปัญหายาเสพติดมึนเมา เป็นที่ตั้งแห่งความประมาทในปัจจุบัน ได้กลายเป็นภาระหนักของสังคมนับตั้งแต่สังคมย่อยภายในครอบครัว ถึงสังคมใหญ่ระดับประเทศชาติ ระดับโลกที่น่ากลัวที่สุด เพราะประชาชนผู้หลงผิดทั้งเด็กและผู้ใหญ่เหล่านั้น ได้กลายเป็นคนขี้ยา ขี้บุหรี่ ขี้เหล้า กันเพิ่มมากขึ้นๆ อย่างนี้จะเหลือคนดีๆมีคุณภาพ คือที่จะมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดีๆ กอปรด้วยสติปัญญาความรู้ความสามารถและคุณธรรมสักเท่าใด? การผลิต การค้ายาเสพติดมึนเมาให้โทษ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาททุกชนิด จึงนับเป็นการจงใจฆ่าผู้อื่นอย่างเลือดเย็นและเหี้ยมโหดที่สุด

                  ปุถุชนผู้มีกิเลสเพียงดังเนินเขา เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้สิ่งที่เป็นแก่นสารสารประโยชน์ และที่มิใช่แก่นสารสาระ และไม่รู้ทางเจริญ ทางเสื่อมแห่งชีวิตตามที่เป็นจริง ก็พากันหลงประพฤติไปตามอำนาจของกิเลส คือ หลงลองเสพแล้วก็ติด นำตนไปสู่ความทุกข์เดือดร้อนนั้นมีอยู่มาก

              เพราะเหตุนั้นการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและของหัวหน้าฝ่ายบริหาร (CEO) ทุกระดับ จึงพึงต้องกำหนดเป้าหมายให้เกิดประสิทธิผลที่ดี คือโดยความเป็นธรรม กล่าวคือให้เกิดประโยชน์และความสันติสุขแก่ประชาชนโดยส่วนรวม หรือส่วนใหญ่อย่างมั่นคงถาวรแท้จริง ไม่กลับกลายเป็นปัญหายุ่งเหยิงแก่สังคมประเทศชาติ จนยากแก่การเยียวยาแก้ไข ดังที่เห็นๆ กันอยู่ในทุกวันนี้ได้อีก จึงจะถูกต้องตาม “หลักธรรมภิบาล” อย่างแท้จริง

ที่มา : นสพ.คม ชัด ลึก ฉบับวันศุกร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๗ คอลัมน์ “พระเครื่อง” หน้า ๓๙