๑๙. ประวัติ พระจูฬปันถกเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานเดิม

พระจูฬปันถกเถระ นามเดิมว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับไปยังบ้านเศรษฐีผู้เป็นบิดา และเพราะเป็นน้องชายของมหาปันถกะ จึงมีชื่อว่า จูฬปันถกะ
บิดาเป็นคนวรรณะศูทร ไม่ปรากฏนาม
มารดาเป็นคนวรรณะแพศย์ หรือไวศยะ
เกิดระหว่างทางขณะที่มารดาเดินทางกลับมายังบ้านของเศรษฐีซึ่งอยู่ในเมืองราชคฤห์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เด็กชายจูฬปันถกะ เพราะบิดาและมารดาต่างวรรณะกัน จึงอยู่ในฐานะเด็กจัณฑาลตามคำสอนของพราหมณ์ แม้ช่วงเวลาหนึ่งจะได้รับความลำบาก เพราะบิดาและมารดายากจนมาก แต่ต่อมาอยู่กับเศรษฐีผู้เป็นตาและยาย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

หลังจากที่พระมหาปันถกเถระบวชในพระพุทธศาสนาและได้บรรลุพระอรหัตแล้วพิจารณาเห็นว่า ความสุขอันเกิดจากมรรคผลนิพพานนั้น เป็นความสุขชั้นสูงสุด อยากให้น้องชายได้รับความสุขเช่นนั้นบ้าง จึงไปขออนุญาตธนเศรษฐีผู้เป็นตาพาน้องชายมาบวช ซึ่งเศรษฐีก็ยินดีอนุญาต จูฬปันถกะจึงได้บวชในพระพุทธศาสนา

๔. การบรรลุธรรม

พระจูฬปันถกะนั้นครั้นบวชแล้ว พระมหาปันถกเถระผู้เป็นพี่ชาย ได้พยายามอบรมสั่งสอน แต่ท่านมีปัญญาทึบ พี่ชายให้ท่องคาถา ๔ บท ใช้เวลา ๔ เดือน ยังท่องไม่ได้ จึงถูกขับไล่ออกจากวัด ท่านเสียใจยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู

พระศาสดาทรงทราบเหตุการณ์นั้น จึงเสด็จมาปลอบเธอ แล้วได้ประทานผ้าขาวผืนหนึ่งให้แล้วตรัสสอนให้บริกรรมว่า รโชหรณํ รโชหรณํ (ผ้าเช็ดธุลี) พร้อมกับให้เอามือลูบผ้านั้นไปมา ท่านได้ปฏิบัติตามนั้น ไม่นานนักผ้าขาวผืนนั้นก็ค่อย ๆ หมองไป สุดท้ายก็ดำสีเหมือนกับผ้าเช็ดหม้อข้าว ท่านเกิดญาณว่า แม้ผ้าขาวบริสุทธิ์อาศัยร่างกายของมนุษย์ยังต้องกลายเป็นสีดำอย่างนี้ ถึงจิตของมนุษย์เดิมทีเป็นของบริสุทธิ์ อาศัยกิเลสจรมาก็ย่อมเกิดความเศร้าหมอง เหมือนกับผ้าผืนนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยงแท้ ท่านบริกรรมผ้านั้นไปจนจิตสงบแล้วได้บรรลุฌานแต่นั้นเจริญวิปัสสนาต่อ ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญา

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระจูฬปันถกเถระ หลังจากที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว แม้ในตำนานจะไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้ช่วยพระศาสดาประกาศศาสนา จนได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก็ตาม แต่ปฏิปทาของท่านก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษา สำหรับคนที่เกิดมาในภายหลัง ท่านมีปัญญาทึบถึงเพียงนั้น แต่อาศัยพระศาสดาผู้ฉลาดในอุบาย และอาศัยท่านเป็นผู้มีความเพียร จิตใจแน่วแน่ ไม่ย่นย้อท้อถอย ก็กลับเป็นคนฉลาดสามารถบรรลุผลที่สูงสุดของชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุปว่าใครโง่ แต่ควรคิดว่าผู้สอนฉลาดจริงหรือเปล่า

๖. เอตทัคคะ

พระจูฬปันถกเถระ เป็นผู้มีฤทธิ์ทางใจ สามารถเนรมิตกายที่สำเร็จด้วยใจได้ และฉลาดในการพลิกแพลงจิต (จากสมาธิให้เป็นวิปัสสนา) ดังเรื่องที่ท่านเนรมิตรภิกษุเป็นพันรูป ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาได้เหมือนกัน เมื่อคนที่หมอชีวกใช้มารับถามว่า พระรูปไหนชื่อจูฬปันถกะ ทั้งพันรูปก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อาตมาชื่อปันถกะ ในที่สุดพระศาสดาทรงแนะนำวิธีให้ว่า รูปไหนพูดก่อนว่า อาตมาชื่อปันถกะ ให้จับมือรูปนั้นมานั่นแหละคือพระจูฬปันถกะองค์จริง พระศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และ ผู้พลิกแพลงจิต

๗. บุญญาธิการ

แม้พระจูฬปันถกเถระนี้ก็ได้บำเพ็ญบารมีอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานมาช้านาน จนในการแห่งพระทุมุตตรพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธองค์ทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เนรมิตกายอันสำเร็จด้วยฤทธิ์และผู้ฉลาดในการพลิกแพลงจิต จึงได้ตั้งความปรารถนาเพื่อจะเป็นเช่นนั้นบ้าง จึงได้ก่อสร้างบุญกุศล สมเด็จพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะได้ในสมัยแห่งพระพุทธโคดม จึงสร้างสมบุญกุศลอีกหลายพุทธันดร มาสมคำพยากรณ์ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายจริงทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ

เมื่อก่อนญาณคติ (ปัญญา) ของเราเกิดช้าไปจึงถูกใคร ๆ เขาดูหมิ่น พระพี่ชายก็ขับไล่ให้กลับไปอยู่บ้าน เรานั้นเสียใจไปยืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตูสังฆาราม เพราะความอาลัยในพระพุทธศาสนา พระศาสดาทรงประทานผ้าให้แก่เราแล้วตรัสว่า เธอจงภาวนาให้ดี เรารับพระดำรัสของพระชินสีห์ ยินดีในพระพุทธศาสนา ภาวนาสมาธิ เพื่อเป็นพื้นฐานการบรรลุประโยชน์อันสูงสุด จึงได้บรรลุวิชชา ๓ ตามลำดับ

๙. นิพพาน

พระจูฬปันถกเถระนี้ก็เหมือนกับอสีติมหาสาวกทั่วไป เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนาตามความสามารถ สุดท้ายก็ได้ปรินิพพานดับสังขารและการเวียนว่ายอย่างสิ้นเชิง


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗