๒๒. ประวัติ พระจุนทเถระ (บางครั้งเรียก พระมหาจุนทเถระ)
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

O ชาติภูมิ

             ท่านพระจุนทะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่านางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่านาลันทะ แคว้นมคธ เดินชื่อว่าจุนทะฯ

O เหตุการณ์หลังบวช

             เมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว ภิกษุทั้งหลายมักเรียกท่านว่า “มหาจุนทะ” ถึงแม้เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์นั้น ๆ โดยมากใช้คำว่า “อายสฺมา มหาจุนฺโท” แปลว่า ท่านมหาจุนทะ แต่ที่เรียกว่า “จุนทสมณุทเทศ” ก็มี ท่านเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร และได้เป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่ง เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ท่านก็เป็นอุปัฏฐากติดตามเสด็จไปด้วย เรื่องราวของท่านมีปรากฏในปกรณ์หลายแห่ง เมื่อพิจารณาตามเรื่องราวของท่านแล้ว สันนิษฐานได้ว่าคงเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง เช่นสัลเลขสูตร ในมัชฌิมนิกายหน้า ๖๖ ความย่อว่า เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ท่านเข้าไปกราบทูลถามถึงทิฐิที่ประกอบด้วยคำของตน และถ้อยคำโลกว่าภิกษุจะพึงทำอย่างไรดี จึงจะละทิฐิเหล่านั้นได้เด็ดขาด

             พระบรมศาสดาทรงแสดงวิธีขัดเกลากิเลสให้ท่านฟังโดยอเนกปริยาย ท่านพระมหาจุนทะมีความปลาบปลื้มใจอนุโมทนารับภาษิตของพระองค์ เรื่องที่ท่านให้โอวาทแก่ภิกษุโดยตรงก็มี เช่นมาในฉักกนิบาตอังคุตตรนิกายหน้า ๒๑ โดยความก็คือ สั่งสอนไม่ให้ภิกษุถือพวกถือเหล่ากัน ยกภิกษุสองพวกนี้ขึ้นเป็นตัวอย่าง คือพวกภิกษุผู้เรียนคันถธุระฝ่ายหนึ่ง พวกภิกษุผู้เรียนวิปัสสนาธุระฝ่ายหนึ่ง

             ตามปกติธรรมดาภิกษุย่อมจะสรรเสริญแต่ฝ่ายข้างตน ติเตียนอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านสอนไม่ให้ทำเช่นนั้น สอนให้สำเหนียกศึกษาว่า ตนจะเป็นฝักฝ่ายไหนก็ตาม พึงให้พอใจในอีกฝ่ายหนึ่งสรรเสริญคุณความดีของกันและกันทั้งสองฝ่ายฯ ท่านพระมหาจุนทะนั้น เมื่อครั้งพระสารีบุตรเถระผู้พี่ชายไปนิพพานที่บ้านเดิม เพื่อโปรดมารดา ท่านได้ติดตามไปด้วย และได้รวบรวมบาตรและจีวรพร้อมทั้งอัฐิธาตุของท่านพระสารีบุตร แล้วนำมาถวายพระบรม ศาสดาด้วย

             พระจุนทเถระรูปนี้ ได้บำเพ็ญบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ไว้เป็นอันมาก ดังนี้


๐ บุรพกรรมในสมัยพระสิทธัตถพุทธเจ้า

             ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ท่านบังเกิดในตระกูลอันสมบูรณ์ด้วยสมบัติ เมื่อเติบใหญ่จนบรรลุนิติภาวะแล้ว บังเกิดความเลื่อมใสในพระศาสดา ได้ให้สร้างวัตถุอันควรมีค่าด้วยทอง ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ ตกแต่งวัตถุนั้นด้วยดอกมะลิอันมีกลิ่นหอม เพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ พระองค์ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

             "ผู้ใดได้ถวายดอกไม้มีค่า มีกลิ่นหอมฟุ้งแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว บุคคลผู้นี้เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้แล้ว จักไปบังเกิดในเทวโลก แวดล้อมด้วยหมู่เทวดา วิมานทั้งหลายอันเกิดด้วยกุศลกรรมสำเร็จด้วยทองและแก้วมณี เกลื่อนกล่นด้วยดอกมะลิ จักปรากฏ เขาจักได้เสวยเทวรัชสมบัติ ๗๔ ครั้ง จักแวดล้อมด้วยนางอัปสร จักได้เสวยสมบัติเป็นพระราชาในแผ่นดิน ครอบครองพสุธา ๓๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ครั้ง ในศาสนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดม บุคคลนั้นจักบังเกิดในกำเนิดเป็นพราหมณ์ เป็นบุตรผู้มีปัญญาของวังคันตพราหมณ์ เป็นโอรสผู้เป็นที่รักของนางสารีพราหมณี และภายหลังเขาจักบวชในศาสนาของพระอังคีรส จักได้เป็นพระสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่า จูฬจุนทะ เขาจักได้เป็นพระขีณาสพแต่ยังเป็นสามเณรทีเดียว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ และจักนิพพาน


๐ บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

             ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ท่านบังเกิดในตระกูลช่างหม้อ ครั้นเติบใหญ่บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เลี้ยงชีพด้วยการเป็นนายช่างหม้อ วันหนึ่งเห็นพระบรมศาสดาแล้ว บังเกิดใจเลื่อมใส จึงได้ทำบาตรดินลูกหนึ่งแล้วตกแต่งเป็นอย่างดี ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

             จากนั้นท่านก็ได้กระทำกรรมอันเป็นกุศลอยู่เป็นนิจ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย


๐ กำเนิดเป็นจุนทะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

             ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านก็ได้มาปฏิสนธิในครรภ์ของนางสารีพราหมณีในบ้าน อุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ (นาลันทะ) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ บิดาคือ วังคันตพราหมณ์ มารดาคือ สารีพราหมณี ญาติทั้งหลายขนานนามท่านว่า จุนทะ มีพี่ชายคือ อุปติสสะ หรือต่อมาคือ พระสารีบุตร (ตามชื่อมารดา) พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอุปเสน (หรือในพระบาลีเป็น พระอุปเสนวังคันตบุตร ตามชื่อบิดา) ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวกผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ มีน้องชาย ๑ คนชื่อ เรวตะ (หรือในพระบาลีเป็น พระเรวตขทิรวนิยเถระ ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านมีน้องสาว ๓ คน ชื่อ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา และหลานชายสามคนคือ จาลี อุปจาลี สีสูปจาลี ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวแต่ละคน ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด

             มารดาของพระเถระคือนางรูปสารีนั้น ตามประวัติกล่าวว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้พระสารีบุตรผู้เป็นบุตรชายคนโตก็พูดสั่งไว้กับพวกภิกษุเมื่อครั้ง น้องชายคือท่านเรวตะจะออกบวชไว้ว่า “ผู้มีอายุ ถ้าเรวตะมาเพื่อประสงค์จะบวช ไซร้ พวกท่านจงให้เขาบวช (เพราะ) มารดาของกระผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะมีประโยชน์อะไรที่เรวตะจะบอกลาท่านทั้งสองนั้นเล่า ? ขอให้ถือว่าผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น”

             และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พระสารีบุตรจะปรินิพพาน ภายหลังที่ท่านได้ปลงอายุสังขารแล้วท่านได้คำนึงว่า ”มารดาของเราแม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์”

             จนกระทั่งท่านพระสารีบุตร ได้ไปเทศนาโปรดท่านจนได้บรรลุโสดาปัตติผล ตามเรื่องที่จะได้กล่าวต่อไป

             แต่เรื่องราวของท่านในการออกบวช ว่าออกบวชอย่างไร และเมื่อไหร่ ไม่มีปรากฏในพระบาลี ทราบแต่เพียงว่าท่านออกบวชเมื่อครั้งยังเป็นสามเณร ภิกษุทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า จุนทะ สมณทเทส แม้ในเวลาท่านเป็นพระเถระก็ยังคงเรียกอย่างนั้นอยู่ การบวชท่านได้บวชในสำนักของพระสารีบุตรผู้เป็นพี่ชาย โดยมีพระอานนท์เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็บำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนา ไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต พร้อมทั้งคุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร


๐ พระเถระเป็นพระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคและพระสารีบุตร

             ในจุนทเถราปทาน ได้แสดงคาถาที่ท่านพระเถระกล่าวถึงประวัติที่ผ่านมาของท่านไว้ว่า

             “เราได้บำรุงพระมหาวีรเจ้าและพระสาวกอื่นๆ ผู้มีศีลเป็นอันมาก และบำรุงพระเถระผู้พี่ชายของเรา”

             ความข้างต้นหมายความว่า ท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากอยู่ระยะหนึ่ง ในสมัยต้นพุทธกาล เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวพระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระเมฆิยะ

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ทรงประชวร ไม่สบายเป็นไข้หนัก ท่านพระมหาจุนทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระจุนทะว่าดูกรจุนทะ โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งกะเธอ ท่านพระเถระได้ท่องโพชฌงค์ ๗ ถวายพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาคทรงหายจากประชวรนั้นและอาพาธนั้น

             แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดให้พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำแล้ว ในบางคราว ก็ทรงโปรดให้พระจุนทะถวายการรับใช ้เช่น เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้ว ทรงเสด็จไปที่เมืองกุสินารา ระหว่างทางเสด็จผ่านแม่น้ำกกุธานที

             [๑๒๕] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดา ผู้พระตถาคต หาผู้เปรียบมิได้ในโลก ทรงเหน็ดเหนื่อย เสด็จถึงแม่น้ำกกุธานที มีน้ำใส จืด สะอาด เสด็จลงแล้วทรงสรงและเสวยน้ำแล้ว อันหมู่ภิกษุแวดล้อม เสด็จไปในท่ามกลาง พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดาทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงเป็นไปในธรรมนี้ เสด็จถึงอัมพวันแล้ว รับสั่งกะภิกษุนามว่าจุนทกะว่า เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราจะนอน พระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาคผู้อบรม พระองค์ทรงเตือนแล้ว รีบปูผ้าสังฆาฏิพับเป็นสี่ชั้นถวาย พระศาสดาทรงบรรทมแล้ว หายเหน็ดเหนื่อย ฝ่ายพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น ฯ

             ในเรื่องของการอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระผู้เป็นพี่ชายของของท่านนั้น พระเถระเมื่อบวชแล้วก็พักอยู่ในสำนักของพระสารีบุตร ได้อยู่ปรนิบัติพระเถระผู้เป็นพี่ชาย รวมทั้งพระเถระอื่นเช่นพระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ แม้พระสารีบุตรจะไปไหนก็มักชวนพระเถระไปด้วยเช่นเมื่อคราวพระสารีบุตรไปโปรดพระภิกษุองค์หนึ่งคือพระฉันนะ (คนละองค์กับพระฉันนะที่เคยเป็นมหาดเล็กของเจ้าชายสิทธัตถะ) ซึ่งป่วยหนักเป็นต้น

             เมื่อครั้งพระสารีบุตรได้ปลงอายุสังขาร ปรารถนาจะไปโปรดนางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดาให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ในครั้งนั้นท่านก็ได้ให้พระจุนทะไปกับท่านด้วย และพระจุนทเถระก็ได้ปรนนิบัติถวายพระเถระแม้จนวาระสุดท้าย ดังนี้

             พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า "ท่านมหาอุบาสิกา สมัยพระศาสดาของเรา ประสูติ ออกมหาภิเนษกรมณ์ ตรัสรู้ และประกาศพระธรรมจักร หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ขึ้นชื่อว่าผู้เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติญาณทัสสนะไม่มี แล้วท่านพระเถระจึงกล่าวพระธรรมเทศนาอันประกอบ ด้วยพระพุทธคุณอย่างพิสดาร แสดงต่อยางสารีพราหมณี

             เมื่อเวลาจบพระธรรมเทศนาของบุตรที่รัก นางพราหมณีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วจึงได้กล่าวกะบุตรว่า "พ่ออุปติสสะ เหตุไร เจ้าจึงได้กระทำอย่างนี้ล่ะลูก เหตุใดก่อนหน้านี้เจ้าจึงไม่ให้ อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า"

             พระเถระคิดว่า "บัดนี้ค่าน้ำนมข้าวป้อน ที่นางสารีพราหมณีมารดาของเราให้ไว้ก็ได้รับชดใช้แล้ว" จึงส่งนางพราหมณีไป ด้วยการกล่าวว่า "ไปเถิดมหาอุบาสิกา" แล้ว พระสารีบุตรจึงถามพระจุนทะ ว่า "จวนสว่างหรือยัง"

             พระจุนทะตอบว่า จวนสว่างแล้วขอรับ

             พระสารีบุตรเถระสั่งว่า "ถ้าอย่างนั้น จงประชุมพระภิกษุสงฆ์เถิด"

             พระจุนทะ เรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์แล้ว เรียนพระว่า "พระสงฆ์ประชุมกันแล้วขอรับ"

             พระสารีบุตร สั่งพระจุนทะว่า "ยกเราขึ้นนั่งทีซิ" พระจุนทะ ก็ยกท่านขึ้นให้นั่ง

             พระสารีบุตรเถระเรียกภิกษุทั้งหลายว่า "ผู้มีอายุ พวกท่านอยู่กับเรามาถึง ๔๔ ปี ไม่ชอบใจกรรมทางกาย หรือกรรมทางวาจาของเราอันใด ผู้มีอายุจงงดโทษนั้นเสียเถิด"

             ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า "ท่านขอรับ พวกเราเที่ยวไปไม่ละท่านเหมือนเงา ชื่อว่ากรรมที่ไม่ชอบใจถึงเพียงนี้ย่อมไม่มีแก่พวกเรา แต่ขอท่านโปรดงดโทษแก่พวกเราเสียด้วย"

             ครั้นแสงอรุณปรากฏ พระเถระยังมหาปฐพีให้เลื่อนลั่นแล้ว พระสารีบุตรเถระก็นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เทพดาและ มนุษย์เป็นอันมาก พากันกระทำสักการะในสถานที่ปรินิพพาน

             ท่านพระจุนทะถือบาตรและจีวรและผ้าห่อพระธาตุไปยังพระเชตวัน พาพระอานนท์เถระเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

             พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุ กล่าวคุณของพระเถระด้วยคาถา ๕๐๐ คาถา โปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์


๐ สามเณรจุนทะอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนพระพุทธองค์

             เมื่อครั้งเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้ปุ่มไม้แดงซึ่งมีค่ามากมาปุ่มหนึ่ง จึงได้ให้กลึงเป็นบาตรไม้ นำไปแขวนไว้บนปลายไม้สูงประมาณ ๖๐ ศอก แล้วประกาศว่า ถ้าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ก็จงเหาะมาเอาบาตรไม้นี้ไปเถิด นิครณฐนาฏบุตรผู้เป็นเดียรถีย์ กับเหล่าสาวกได้พยายามด้วยเล่ห์อุบายต่างๆ เป็นเวลาถึง ๗ วัน เพื่อเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นมาครอบครองแต่ก็ไม่สำเร็จ

             ในวันที่ ๗ ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะได้ไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ได้ยินพวกชาวเมืองคุยกัน ในเรื่องที่เศรษฐีประกาศให้พระอรหันต์เหาะมาเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นไป ก็บัดนี้ล่วงเข้าไปวันที่ ๗ แล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาเอาบาตรนั้นไปได้ เรารู้แล้วว่าพระอรหันต์นั้นไม่มีในโลกแล้ว

             ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ยินถ้อยคำนั้นแล้วจึงกล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า "พวกนักเลงเหล่านี้ พูดเป็นทีว่าจะย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านจงไปเถิด จงมาทางอากาศ แล้วถือเอาบาตรนั้น"

             ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะจึงได้แสดงฤทธิ์ต่อหน้ามหาชนทั้งหลายเหาะไปเอาบาตรนั้นมา

             ครั้นความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงตำหนิท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามสาวกทั้งหลายมิให้ทำปาฏิหาริย์

             เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายครั้นทราบว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามสาวกทำปาฏิหาริย์แล้วก็คิดว่าคงไม่มีผู้ใดกล้าแสดงปาฏิหาริย์อีกเป็นแน่ จึงได้ประกาศว่าตนจะแสดงปาฏิหาริย์แข่งกับพระผู้มีพระภาคเจ้า

             พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบดังนั้นจึงได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่าได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามทำปาฏิหาริย์เสียแล้ว บัดนี้ พวกเหล่าเดียรถีย์ประกาศว่า ทำปาฏิหาริย์แข่งกับพระองค์ พระองค์จักทรงทำอย่างไร ?

             พระบรมศาสดาก็ตรัสว่าพระองค์ก็จะทรงกระทำปาฏิหาริย์ด้วย โดยทรงมีพระพุทธาธิบายแก่พระเจ้าพิมพิสารว่า การห้ามกระทำปาฏิหาริย์นั้น เป็นการห้ามพระสาวก มิได้ห้ามแก่พระองค์เอง เปรียบเสมือน พระราชาห้ามการเก็บผลไม้ในพระอุทยาน ก็เป็นการห้ามแก่ชนผู้อื่น มิได้ทรงห้ามพระองค์เองดังนี้เป็นต้น แล้วทรงตรัสตอบพระราชาเกี่ยวกับวันที่และสถานที่ที่จะทรงกระทำปาฏิหาริย์ว่า จะทรงทำในวันเพ็ญเดือน ๘ ที่เมืองสาวัตถี แล้วจึงได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถี

พวกเดียรถีย์ก็ได้ติดตามไป

             ฝ่ายพวกเดียรถีย์ก็ให้สร้างมณฑปด้วยไม้ตะเคียนขึ้น ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วประกาศว่าจะทำปาฏิหาริย์ ณ ที่นี้

             พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อปวารณาสร้างมณฑปถวาย แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสียโดยทรงตรัสว่าท้าวสักกเทวราชจะมาทรงสร้างให้ และจะทรงทำปาฏิหาริย์ที่ไต้ร่มไม้มะม่วง

             เหล่าเดียรถีย์ทราบดังนั้นจึงสั่งเหล่าสาวกให้ตัดต้นมะม่วงในบริเวณโดยรอบหนึ่งโยชน์เสียทั้งหมด แม้มะม่วงต้นเล็กๆ ก็ถอนทิ้งหมด เพื่อมิให้คำที่พระพุทธองค์ตรัสนั้นเป็นความจริงไปได้

             ในวันนั้น นายคัณฑะผู้รักษาพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เก็บมะม่วงสุกผลหนึ่งได้ จึงได้นำมาถวายพระพุทธองค์ ครั้นเมื่อทรงเสวยมะม่วงผลนั้นแล้วจึงให้ทรงขุดดินฝังเมล็ดมะม่วงนั้นและทรงรดด้วยน้ำล้างพระหัตถ์ ทันใด

             ต้นมะม่วงมีลำต้นเท่างอนไถ มีส่วนสูงประมาณ ๕๐ ศอก งอกขึ้นแล้ว กิ่งใหญ่ ๕ กิ่ง คือใน ๔ ทิศๆ ละกิ่ง เบื้องบนกิ่งหนึ่ง ได้มีขนาดประมาณกิ่งละ ๕๐ ศอกเทียว ต้นมะม่วงนั้นสมบูรณ์ด้วยช่อและผล ได้ทรงไว้ซึ่งพวงแห่งมะม่วงสุกในที่ แห่งหนึ่ง ในขณะนั้นนั่นเอง

             เวลานั้นท้าวสักกเทวราช จึงได้สั่งให้เทพบริวารทั้งหลายทำลายมณฑปของเหล่าเดียรถีย์เสียด้วยฤทธิ์ ปูรณกัสสปผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าเดียรถีย์เห็นแผนของตนโดนทำลาย ดังนั้นจึงได้หนีไปกระโดดน้ำตาย

             ในส่วนของบรรดาสาวกสาวิกาต่างก็รับอาสาทำปาฏิหาริย์แทนพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น

             อุบาสิกาคนหนึ่งชื่อฆรณี ผู้เป็นอนาคามี ท่านจุลอนาถบิณฑิกอุบาสกผู้เป็นอนาคามี สามเณรีชื่อว่า วีรา มีอายุได้ ๗ ขวบ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา สามเณรชื่อจุนทะ พระเถรีชื่ออุบลวรรณา และมหาโมคคัลลานะ ในส่วนของสามเณรชื่อจุนทะ พระอรรถกถาจารย์ได้บรรยายไว้ว่า

             ลำดับนั้น สามเณรชื่อจุนทะผู้เป็นขีณาสพ บรรลุปฏิสัมภิทารูปหนึ่งมีอายุ ๗ ขวบแต่เกิดมา เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์ พระเจ้าข้า” ถูกพระศาสดาตรัสถามว่า “เธอจักทำอย่างไร ?” จึงกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักจับต้นหว้าใหญ่ที่เป็นธงแห่งชมพูทวีปที่ลำต้นแล้วเขย่า นำผลหว้าใหญ่มาให้บริษัทนี้เคี้ยวกิน และข้าพระองค์จักนำดอกแคฝอยมาแล้ว ถวายบังคมพระองค์” พระศาสดาตรัสว่า “เราทราบอานุภาพของเธอ” ดังนี้แล้วก็ทรงห้ามการทำปาฏิหาริย์ แม้ของสามเณรนั้น

             พระศาสดาจึงได้ตรัสจึงได้ตรัสห้าม สาวก สาวิกาเหล่านั้น แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่จงกรมแก้วนั้น ข้างหน้าได้มีบริเวณประมาณ ๑๒ โยชน์ ข้างหลัง ข้างซ้าย และข้างขวาก็เหมือนอย่างนั้น ส่วนโดยตรง มีประมาณ ๒๔ โยชน์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ในท่ามกลางบริษัทเหล่านั้น


๐ สามเณรจุนทะเป็นผู้เริ่มเหตุให้
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรสำคัญ

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทในสวนอัมพวันของเวธัญญาศากยะ ในสักกชนบท สมัยนั้นนิครณฐ์นาฏบุตร ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองนาลันทา นาฏบุตรนั้นเมื่อได้สดับพุทธคุณที่อุบาลีคฤหบดีแสดงให้ตนฟังด้วยคาถา ๑๐ คาถา จึงกระอักโลหิตออกมา ครั้งนั้นสาวกทั้งหลายจึงได้พานาฏบุตรไปยังเมืองปาวา และได้ถึงแก่กรรมในเมืองนั้น แต่ก่อนที่นาฏบุตรจะถึงแก่กรรมนั้น เขาได้สำนึกว่าลัทธิของเราเป็นลัทธิที่ไม่นำออกไปได้ เป็นลัทธิที่ขาดสาระ ตัวเราจะฉิบหายไปก็ช่างเถิด แต่อย่าให้ผู้ที่เชื่อคำของเราได้ไปอยู่ในอบายด้วยเลย แต่ถ้าเราจะกล่าวว่า คำสอนของเรา เป็นคำสอนที่ไม่นำออกไปได้ ชนทั้งหลายก็จะไม่เชื่อ ถ้าเช่นนั้นเราไม่ควรให้ศิษย์ทั้งหลายมีความเชื่อแบบเดียวกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อเราล่วงลับไป ศิษย์เหล่านั้นจะวิวาท แตกแยกกัน เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้นพระศาสดาจักตรัสธรรมกถาบทหนึ่งเนื่องเพราะข้อวิวาทนั้น จากนั้นชนทั้งหลายจักรู้ความที่พระศาสนาเป็นศาสนาที่มีคุณใหญ่ดังนี้

             เมื่อคิดดังนั้นเมื่อศิษย์คนหนึ่งเข้าไปหานาฏบุตรนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ ขณะนี้ท่านป่วยหนักขอจงบอกสาระในธรรมนี้แก่กระผมบ้างเถิดดังนี้ นาฏบุตรกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เมื่อเราล่วงลับไปเธอพึงถือว่า “เที่ยง” ดังนี้ ครั้นต่อมาศิษย์ออีกคนหนึ่งเข้าไปหา นาฏบุตรก็ให้อันเตวาสิกนั้นถือว่า “สูญ”

             ครั้นเมื่อนาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว เมื่อศิษย์ทั้งหลายกระทำฌาปนกิจนาฏบุตรนั้นเสร็จแล้ว จึงประชุมถามกันและกันขึ้นว่าดูก่อนผู้มีอายุ อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระให้แก่ใคร คนหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่าแก่เรา ศิษย์อื่นก็ได้ถามว่า บอกไว้อย่างไร ศิษย์นั้นก็บอกว่า “เที่ยง” อีกคนหนึ่ง คัดค้านแล้วกล่าวว่า อาจารย์ได้บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรานั้นว่า “สูญ” เมื่อเป็นดังนี้ ศิษย์ทั้งหมดต่างก็วิวาทกันรุนแรงขึ้นว่า อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรา เราเป็นใหญ่ ถึงขั้น ด่ากัน บริภาษกัน และทำร้ายกันด้วยมือและเท้าเป็นต้นไม่ร่วมทางเดียวกัน เลี่ยงกันไปคนละทิศละทาง

             ครั้งนั้นแล พวกมหาชนต่างก็พูดกันอย่างอื้อฉาวว่า นิคัณฐนาฏบุตรนั้นประกาศตนเป็นศาสดาผู้เดียว เมื่อเขาถึงแก่กรรม พวกสาวกก็เกิดวิวาทกันถึงปานนี้ ก็บัดนี้พระสมณโคดมปรากฏแล้วในชมพูทวีป แม้พระสาวกของพระองค์ก็ปรากฏแล้วเหมือนกัน เมื่อพระสมณโคดมปรินิพพานแล้ว พวกสาวกจักวิวาทกันเช่นไรหนอ ดังนี้ พระเถระสดับถ้อยคำนั้นแล้วคิดว่าเราจักนำถ้อยคำนี้ไปทูลแด่พระทสพล พระศาสดาจักทำคำพูดนั้นให้เป็นเหตุเกิดเรื่องราว แล้วจักทรงกล่าวเทศนา ๑ กัณฑ์ พระเถระนั้นจึงออกไปหาพระอานนท์ ณ ตำบลสามคาม

             ครั้นกราบไหว้ท่านพระอานนท์แล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เล่าเรื่องนั้นให้ท่านพระอานนทเถระฟัง เมื่อสามเณรจุนทะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสามเณรจุนทะว่า อาวุโสจุนทะ มีมูลเหตุแห่งถ้อยคำนี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าละ อาวุโส จุนทะ มาเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นแล้ว พึงทูลบอกเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาค

             ท่านพระอานนท์และสามเณรจุนทะจึงได้เดินทางเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ซึ่งอยู่ที่ปราสาทในสวนอัมพวันของเวธัญญาศากยะ ในสักกชนบท ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า นิครณฐ์นาฏ บุตรทำกาละแล้วที่เมืองปาวาไม่นานนัก จากนั้นพวกเหล่าศิษย์ก็เกิดแตกแยกกันเป็นสองพวก ฯลฯ นี้เพราะเหตุที่ธรรมวินัย อันนิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งพาอาศัยดังนี้ ฯ

             ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้แสดงพระสูตรชื่อว่า ปาสาทิกสูตร อันว่าด้วย

ธรรมวินัยของศาสดาผู้เป็นและไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ

การตายของศาสดาที่ทำและไม่ทำให้สาวกเดือดร้อน

องค์ที่ทำให้พรหมจรรย์บริบูรณ์

ศาสดาที่เลิศด้วยลาภยศ

อภิญญาเทสิตธรรม

การแสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะ

การประกอบตนให้ติดความสุข ๔ อย่าง

อานิสงส์ ๔

ผู้ไม่ควรล่วงฐานะ ๙

เหตุที่มีพระนามว่าตถาคโต

ปัญหาที่ไม่พยากรณ์และทิฏฐิต่างๆ

ทิฏฐินิสัยเกี่ยวกับกาลอนาคต

สติปัฏฐาน ๔


สามคามสูตร

             ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ทูลพระบรมศาสดาดังนี้ ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป ความวิวาทอย่าได้เกิดขึ้นในสงฆ์เลย ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแก่เธอทั้งหลายแล้ว คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูกรอานนท์ เธอเคยเห็นภิกษุของเราแม้สองรูป มีวาทะต่างกันได้ในธรรมเหล่านี้หรือ ฯ

             ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เคยเห็นภิกษุแม้สองรูปมีวาทะต่างกันในธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ก็มีได้แล ที่บุคคลทั้งหลายนั้น พอสมัยพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป ก็จะพึงก่อวิวาทให้เกิดในสงฆ์ได้ เนื่องจากอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์อันยิ่ง

             พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำรัสว่า ดูกรอานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์อันยิ่งนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นต่างหากที่มีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก

             จากนั้นได้ทรงแสดงสามคามสูตร ตรัสถึง มูลเหตุแห่งความวิวาท ดังนี้

             ดูกรอานนท์ มูลเหตุแห่งความวิวาท นี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน ดูกรอานนท์
            
(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ
            
(๒) ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ
            
(๓) ภิกษุเป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่
            
(๔) ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา
            
(๕) ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด
            
(๖) ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้นสละคืนได้ยาก

ทรงตรัสถึงอธิกรณ์และการระงับอธิกรณ์ ไว้ดังนี้

             ดูกรอานนท์ อธิกรณ์ นี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน คือ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล อธิกรณ์ ๔ อย่าง ฯ              ดูกรอานนท์ ก็อธิกรณ์สมถะ นี้มี ๗ อย่างแล คือ เพื่อระงับอธิกรณ์อันเกิดแล้วๆ สงฆ์พึงใช้ สัมมุขาวินัย สติวินัย อมุฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ ฯ

             ทรงตรัสถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไว้ดังนี้

             ดูกรอานนท์ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน

             (๑) ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
            
(๒) ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
            
(๓) ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
            
(๔) ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร เป็นผู้ไม่แบ่งกันเอาลาภนั้นไว้แต่เฉพาะผู้เดียว ย่อมเป็นผู้เฉลี่ยทั่วไปกับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล
            
(๕) ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยศีล กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ
            
(๖) ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยทิฐิ กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ

             นี้คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันเป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อ สงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

             นอกจาก ปาสาทิกสูตร และสามคามสูตร ที่ได้แสดงต่อท่านพระจุนทเถระแล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงพระสูตรที่สำคัญอีกพระสูตรหนึ่งแก่ท่านพระจุนทเถระ คือ สัลเลขสูตร อันว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

             รูปฌาน ๔
             ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลา
             ว่าด้วยทางหลีกเลี่ยงคนชั่ว
             ว่าด้วยอุบายบรรลุนิพพาน

             ดูกรจุนทะ เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปบาทเราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้

             และในตอนท้ายพระสูตร แม้ในพระบาลีเองก็กล่าวว่า พระสูตรนี้ ลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร ฉะนี้

๐ บั้นปลายชีวิต
            ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านนิพพานที่ใหน และเมื่อใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว จึงนิพพาน


อ้างอิง.-
          ๑.กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.
          ๒.ชีวประวัติพุทธสาวก ประวัติพระอัจฉริยะมหาเถระเมื่อครั้งพุทธกาล เล่ม 1 จำเนียร ทรงฤกษ์ , 2542 , พิมพ์โดยสำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้ว (สาขาวัดปากน้ำ), พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ธรรมสภา
          ๓.ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          ๔.บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          ๕.บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          ๖.แม่กองธรรมสนามหลวง. ธรรมศึกษาชั้นโท ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน. กรุงเทพ. สำนักพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (สำนักพิมพ์กรมการศาสนา), พ.ศ. ๒๕๕๐
          ๗.ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗
          ๘.เว็บไซต์ 84000
          ๙.เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์
          ๑๐.พระอสีติมหาสาวก, จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
          ๑๑.http://www.dharma-gateway.com/
          ๑๒.http://www.manager.co.th/Dhamma/