๒๓. ประวัติ พระขทิรวนิยเรวตเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระขทิรวนิยเรวตเถระ นามเดิม เรวตะ แต่เมื่อบวชแล้วท่านพำนักอยู่ในป่าไม้ตะเคียน จึงมีชื่อว่า ขทิรวนิยเรวตะ
บิดาชื่อ วังคันตพราหมณ์
มารดาชื่อ นางสารีพราหมณี
เกิดที่บ้านนาลันทา แคว้นมคธ เป็นคนวรรณะพราหมณ์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เรวตะ เป็นบุตรชายคนเล็กของครอบครัว เหลืออยู่คนเดียว ส่วนคนอื่นบวชกันหมดแล้ว บิดาและมารดาจึงหาวิธีผูกมัด โดยจัดให้แต่งงานตั้งแต่มีอายุได้ ๘ ขวบ

๓. มูลเหตุของการบวชในพระพุทธศาสนา

ครั้นถึงวันแต่งงาน บิดาและมารดาแต่งตัวให้เรวตะอย่างภูมิฐาน นำไปยังบ้านของนางกุมาริกา ขณะทำพิธีมงคลสมรสรดน้ำสังข์ ได้นำญาติผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายไปอวยพร ถึงลำดับยายแห่งนางกุมาริกา ซึ่งมีอายุ ๑๒๐ ปี เข้ามาอวยพร คนทั้งหลายให้พรคู่สมรสทั้งสองว่า ขอให้มีอายุมั่นขวัญยืนเหมือนกับยายนี้

เรวตะได้ฟังดังนั้น มองดูคุณยาย ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโกง เนื้อตัวสั่นเทา รู้สึกสลดใจกับการที่ตนเองจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนั้นในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเสร็จพิธีญาติจึงพาเขากลับบ้าน ในระหว่างทางเขาได้หาอุบายหนีไปยังสำนักของภิกษุผู้อยู่ป่า ขอบรรพชากับท่าน ภิกษุนั้นก็จัดการบวชให้ เพราะพระสารีบุตรได้สั่งไว้ว่า ถ้าน้องชายของท่านมาขอบวชให้บวชได้เลย เพราะโยมบิดาและมารดาของท่านเป็นมิจฉาทิฏฐิ

๔. การบรรลุธรรม

สามเณรเรวตะ ครั้นอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ เรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์อาจารย์แล้ว ได้ไปอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน บำเพ็ญเพียรภาวนา ในไม่ช้าก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระเรวตเถระนี้ แม้ตำนานไม่ได้กล่าวว่าท่านได้ใครมาเป็นสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกก็ตาม แต่ปฏิปทาเกี่ยวกับการอยู่ป่าของท่าน ก็นำมาซึ่งความเลื่อมใสของผู้ที่ได้รู้จักในสมัยนั้น และได้ศึกษาประวัติของท่านในภายหลังต่อมา แม้แต่องค์พระศาสดาและมหาสาวกยังไปเยี่ยมท่านถึงป่าไม้ตะเคียนที่ท่านจำพรรษาอยู่

๖. เอตทัคคะ

เพราะท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ชอบอาศัยอยู่ในป่า องค์พระศาสดาจึงทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า

๗. บุญญาธิการ

แม้พระขทิรวนิยเรวตเถระนี้ ก็ได้เห็นพระปทุมุตตรศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า สนใจอยากได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้สร้างกุศลมีทานเป็นต้น อันพระทศพลทรงพยากรณ์ว่าจะสำเร็จแน่นอน ในกาลแห่งพระสมณโคดม จึงได้สร้างสมความดีอีกช้านาน แล้วได้สมดังปณิธานที่ตั้งไว้ทุกประการ

๘. ธรรมวาทะ

ตั้งแต่อาตมภาพ สละเรือนออกบวช ยังไม่เคยรู้จักความคิดอันเลวทราม ประกอบด้วยโทษ ไม่เคยรู้จักความคิดว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงเดือดร้อน จงถูกฆ่า จงประสบความทุกข์ อาตมภาพรู้จักแต่การเจริญเมตตาจิต อย่างหาประมาณมิได้ ซึ่งอาตมภาพค่อย ๆ สะสมมาโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

๙. นิพพาน

พระขทิรวนิยเรวตเถระ ครั้นสำเร็จพระอรหัตผลแล้ว ได้ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่มหาชนตามสมควรแก่เวลา แล้วได้นิพพานจากไปตามสัจธรรมของชีวิต


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗