๔๘. ประวัติ พระอนุรุทธเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระอนุรุทธะเถระ พระนามเดิม เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นพระนามที่พระญาติทั้งหลายขนานให้
พระบิดา พระนามว่า อมิโตทนะ เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ
ประสูติที่พระราชวังนครกบิลพัสดุ์ เป็นวรรณะกษัตริย์

๒. ชีวิตก่อนบวช

เจ้าชายอนุรุทธะ มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน ๒ พระองค์ คือ ๑. พระเชษฐา พระนามว่า เจ้าชายมหานามะ ๒. พระกนิษฐภคินี พระนามว่า โรหิณี

เจ้าชายอนุรุทธะ เป็นผู้มีบุญญาธิการสูง เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง และเป็นผู้มีปัญญามาก ไม่รู้จักแม้ แต่คำว่า ไม่มี

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำการสงเคราะห์ พระญาติ ตามหน้าที่แล้วได้ให้พระราหุลกุมารบรรพชา ไม่นานนักทรงจาริกออกจากนครกบิลพัสดุ์ไปยังมัลลรัฐ แล้วประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน

ทางฝ่ายพระนครกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสเรียกเจ้าศากยะทั้งหลายมาประชุมกัน ตรัสว่า บัดนี้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว มีกษัตริย์เป็นอันมากเป็นบริวาร ท่านทั้งหลายจงให้ เด็กชายจากตระกูลหนึ่ง ๆ บวชบ้าง ขัตติยกุมารชาวศากยะเป็นอันมากได้ออกบวชตามพระศาสดา

สมัยนั้น เจ้าชายมหานามะ เสด็จเข้าไปหาเจ้าชายอนุรุทธะ ตรัสว่า พ่ออนุรุทธะ บัดนี้ ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ตระกูลของเรายังไม่มีใครบวชเลย เธอหรือพี่จะต้องบวช ในที่สุดเจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยบวชเอง จึงพร้อมด้วยกษัตริย์อีก ๕ พระองค์คือ ภัททิยะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต พร้อมกับอุบาลีภูษามาลา ได้ไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน ทูลขอบรรพชาอุปสมบท โดยให้อุบาลีบวชก่อน เพื่อกำจัดขัตติยมานะ

๔. การบรรลุธรรม

พระอนุรุทธเถระนี้ ครั้นบวชแล้วได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดี แล้วได้ไปประจำอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม ตรึกมหาปุริสวิตกได้ ๗ ข้อ คือ

๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก
๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ
๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารถนาความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของคนหลง
๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา

พระศาสดาทรงทราบว่า ท่านลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่ ๘ จึงเสด็จไปยังที่นั้น ตรัสอริยวังสปฏิปทา ว่าด้วยการอบรมความสันโดษในปัจจัย ๔ และยินดีในการเจริญกุศลธรรม แล้วตรัสมหาปุริสวิตก ข้อที่ ๘ ให้ บริบูรณ์ว่า

๘. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า

พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปยังเภสกลาวัน ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ เป็นพระอรหันต์ มีวิชา ๓

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระอนุรุทธเถระ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา เพราะท่านชำนาญในทิพพจักษุญาณ จึงเป็นพระที่เทวดาและมนุษย์เคารพนับถือ ท่านมีอายุอยู่มานาน หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ได้เป็นอาจารย์ของหมู่คณะ มีสัทธิวิหาริก และอันเตวาสิกมาก แม้ในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒ ก็ยังมีศิษย์ที่สืบเชื้อสายจากท่านเข้าร่วมด้วยที่ปรากฎชื่อ คือ พระอาสภคามีและพระสุมนะ

ชีวประวัติของท่านก็น่าศรัทธาเลื่อมใส จากผู้ที่เป็นสุขุมาลชาติที่สุด ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า ไม่มี ต้องการอะไรได้ทั้งนั้น แต่เมื่อเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วกลับเป็นผู้มักน้อยสันโดษ เก็บผ้าจากกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม โดยไม่มีความรังเกียจ กลับมีความยินดีว่านั่นเป็นการ ปฏิบัติตามนิสัย คือที่พึ่งพาอาศัยของภิกษุ ๔ ประการ

๖. เอตทัคคะ

ดังได้กล่าวแล้วว่า พระอนุรุทธเถระได้บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชา ๓ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทิพพจักขุญาณ และอาสวักขยญาณ ตามปกตินอกจากเวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น นอกนั้นท่านจะพิจารณา ตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพพจักขุญาณ (เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกับ ผู้มีใจเอื้ออาทรคอยเอาใจใส่ดูแล ทุกข์สุขของผู้อื่นตลอดเวลา) เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ได้ทิพพจักขุญาณ

๗. บุญญาธิการ

พระอนุรุทธเถระนี้ ได้สร้างสมบุญกุศลที่จะอำนวยผลให้เกิดทิพยจักษุญาณในพุทธกาลเป็นอันมาก คือได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารที่พระสถูปเจดีย์ ด้วยผลบุญอันนี้จึงทำให้ได้ บรรลุทิพยจักษุญาณ สมกับปณิธานที่ตั้งไว้

๘. ธรรมวาทะ

ครั้งหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธเถระพร้อมกับพระนันทิยะและพระกิมพิละไปจำพรรษา ณ ป่าโคสิงคสาลวัน พระศาสดาเสด็จไปเยี่ยม ตรัสถามถึงความเป็นอยู่ ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้ง ๓ อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ต่างก็อยู่ด้วยกันอย่างตั้งเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจต่อกัน พยายามไม่ทำอะไรตามใจตน แต่รู้จักทำตามใจผู้อื่น ข้าพระองค์ทั้ง ๓ แม้จะมีกายต่างกัน แต่มีจิตใจเสมือนเป็นอันเดียวกัน

๙. นิพพาน

พระอนุรุทธเถระ ครั้นได้เป็นพระขีณาสพ สิ้นชาติสิ้นภพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จหน้าที่ส่วน ตัวของท่านแล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา จนถึงพระศาสดาปรินิพพาน ก็ได้ร่วมอยู่ใน เหตุการณ์นั้นด้วย เป็นผู้ที่รู้ว่าพระศาสดานิพพานเมื่อไร อย่างไร สุดท้ายท่านเองก็ได้ละสังขารนิพพาน ไปตามสัจธรรม


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗