๗๑. ประวัติ พระโมฆราชเถระ
นำเสนอโดย...พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี


๑. สถานะเดิม

พระโมฆราชเถระ ชื่อเดิม โมฆราช เป็นวรรณะกษัตริย์ เป็นชาวโกศล บิดาและมารดาไม่ปรากฎชื่อ เพราะมีโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย ได้รับความทุกข์ทรมานมาก แม้จะเป็นคนใหญ่โตและมีทรัพย์สมบัติมากมายก็ช่วยไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า โมฆราช แปลว่า ราชาผู้หาความสุขไม่ได้

๒. ชีวิตก่อนบวชในพระพุทธศาสนา

เพราะท่านได้เห็นโทษของร่างกาย จึงออกบวชเป็นฤาษีมอบตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี พราหมณ์พาวรีนั้นมีศิษย์เป็นจำนวนมาก ท่านกล่าวว่ามีถึง ๑๖,๐๐๐ คน แต่ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่มีอยู่ ๑๖ คน คือ อชิตะ ติสสะ เมตเตยยะ ปุณณกะ เมตตคู โธตกะ อุปสีวะ นันทะ เหมกะ โตเทยยะ กัปป์ปะ ชาตุกัณณี ภัทราวุธ อุทยะ โปสาละ โมฆราช ปิงคิยะ

๓. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระสิทธัตถกุมารเสด็จออกบรรพชา ปฏิญาณว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ สนใจใคร่จะสอบสวนหาความจริง จึงเรียกศิษย์ทั้ง ๑๖ คน มีอชิตะเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวด ส่งไปเฝ้าพระศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ เพื่อทูลถามปัญหา ศิษย์ทั้ง ๑๖ คน ได้ปฏิบัติตามคำของอาจารย์ เมื่อพระศาสดาแก้ปัญหาของพวกเขาจบลง ๑๕ คน ได้บรรลุพระอรหัตผล ส่วนปิงคิยมาณพได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะจิตใจสับสนไม่แน่วแน่ ห่วงแต่พราหมณ์พาวรี ผู้ที่เป็นทั้งลุงและอาจารย์ ไม่ได้ส่งญาณตามเทศนาโดยตลอด

เฉพาะโมฆราชมาณพได้ทูลถามปัญหาว่า ข้าพระองค์จะพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น พระศาสดาได้ตรัสตอบว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความเห็นว่าตัวตนเสีย บุคคลพึงข้ามพ้นมัจจุราชไปได้ด้วยอุบายเช่นนี้ ท่านพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

๔. วิธีอุปสมบท

เมื่อโมฆราชมาณพฟังพระศาสดาแก้ปัญหาจบลง จิตของเขาก็หลุดพ้นจากอาสวะ ทั้งปวง ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระศาสดาตรัสแก่เขาว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยเรากล่าวไว้ดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด

๕. งานประกาศพระศาสนา

พระโมฆราชเถระ เพราะท่านมีร่างกายเป็นแผลที่รักษาไม่หาย จึงถูกกีดกันไม่ให้เข้าอยู่ในเสนาสนะของสงฆ์ ท่านจึงอยู่ตามโคนไม้และที่แจ้ง ไปเก็บผ้าตามกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม ทำให้เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของบุคคลประเภทลูขัปปมาณิกา คือผู้ศรัทธาเลื่อมใสหนักไปทางใช้ชีวิตปอน ๆ

นับว่าท่านได้เป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระศาสนาด้วยปฏิปทาปอน ๆ ของท่านทั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ และเป็นทิฏฐานุคติแก่คนที่เกิดมาภายหลัง เมื่อท่านนิพพานไปแล้ว

๖. เอตทัคคะ

พระโมฆราชเถระนี้ ตั้งแต่บวชในพระพุทธศาสนา ได้ใช้จีวรที่ปอนมาตลอด ต่อมาพระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงตั้งพระเถระทั้งหลายไว้ในฐานันดรต่าง ๆ ได้ตั้งท่านไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมองในศาสนาของพระองค์

๗. บุญญาธิการ

พระโมฆราชเถระ ได้สร้างสมคุณความดีที่เป็นเหตุแห่งนิพพานมาสิ้นกาลนาน ในสมัย พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงจีวรบังสุกุล จึงได้สร้างสมคุณความดีแลัวปรารถนาตำแหน่งนั้น ได้ทำบุญมาตลอดหลายพุทธันดร จนชาติสุดท้ายได้ถือกำเนิดเกิดในเรือนพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี ก่อนที่พระทศพลของเราทั้งหลายจะเสด็จอุบัติ และได้ถึงฝั่งแห่งสาวกบารมีญาณตามปณิธานที่ได้ตั้งเอาไว้ดังกล่าวแล้ว

๘. ธรรมวาทะ

เราได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เบิกบานใจ ถวายบังคมพระพิชิตมารด้วยเศียรเกล้าทำแต่กรรมที่ดีงามในศาสนาของพระชินเจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต

เพราะกรรมที่ได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงเอาไว้ เราละร่างมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เพราะกรรมคือการเอาไฟเผาลนพื้นหอฉัน เราจึงถูกทุกขเวทนาเบียดเบียน ไหม้ในนรกพันปี

ด้วยเศษกรรมนั้นที่ยังเหลือ เราเกิดเป็นมนุษย์ ต้องมีรอยตำหนิในร่างกายถึง ๕๐๐ ชาติ

เพราะอำนาจของกรรมนั้น เราเป็นโรคเรื้อนอย่างหนัก เสวยมหันตทุกข์ถึง ๕๐๐ ชาติ

๙. นิพพาน

พระโมฆราชเถระ ครั้นบรรลุพระอรหัตผลอันเป็นประธาน และได้ช่วยพระศาสดาประกาศพุทธศาสนาตามความสามารถแล้ว ก็ได้นิพพานไปตามสัจธรรมของชีวิต


หนังสืออ้างอิง.-

          -ธรรมสภา,อสีติมหาสาวก๘๐พระอรหันต์,ฉบับจัดพิมพ์เป็นธรรมทานในมงคลวาระคล้ายวันเกิด คุณอำพัน-คุณสุมารัตน์ วิประกาษิต,กรุงเทพฯ, ๒๕๔๘,
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -บุญโฮม ปริปุณฺณสีโล(ไชยฤทธิ์),พระมหา,ปัญหาและเฉลยสำหรับนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์โรเนียวเย็บเล่ม, สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี, ๒๕๓๕
          -ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมะเพื่อพัฒนาสังคม,คู่มือธรรมศึกษาชั้นโท, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๔๗,โรงพิมพ์เอกพิมพ์ไท จำกัด,กรุงเทพฯ,๒๕๔๗