ประเพณีบวชพระเจ้า
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิริวรรณ วงษ์ทัต


             สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง ท่านผู้ฟังที่เคยไปเที่ยวในภาคเหนือของประเทศเรา ตามวัดต่าง ๆ ถ้าท่านผู้ฟังสังเกต ก็จะเห็นพระพุทธรูปจำนวนมากที่ทำด้วยโลหะบ้าง หิน ไม้แกะสลักบ้างที่ ฐานชุกชีพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวัด ท่านผู้ฟังเคยนึกสงสัยบ้างไหมคะว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

             การที่เราเห็นพระพุทธรูปจำนวนมาก ที่ฐานชุกชีของพระพุทธรูปภายในวัดในภาคเหนือ ก็เนื่องมาจากประเพณีบวชพระเจ้า คือ ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นพระบูชาประจำตัวตามดวงชะตากำเนิด พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้น มักจะทำด้วยโลหะต่าง ๆ เช่น ทองเหลือง ทองสัมฤทธิ์ ทองแดง เป็นต้น บางคนที่มีฐานะร่ำรวย อาจสร้างขึ้นด้วยเงินหรือทองคำ บางทีก็อาจใช้วัสดุ เช่น หิน ไม้ แก้ว มาสลักเป็นพระพุทธรูป เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็จะมีการสมโภช และเมื่อเสร็จพิธีแล้ว บางคนก็ถวายไว้ที่วัดเป็นพุทธบูชา บางคนก็จะนำไปสักการะบูชาที่บ้าน

             พระพุทธรูปที่สร้างตามดวงชะตากำเนิด จำแนกออกได้เป็น 3 อย่างคือ

             ๑. พระประจำวันเกิด เรียกว่า พระชะตาวัน
             ๒. พระประจำเดือนเกิด เรียกว่า พระชะตาเดือน
             ๓. พระประจำปีเกิด เรียกว่า พระชะตาปี

พระประจำวันเกิดหรือพระชะตาวัน ผู้เกิดในวันใด สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามวันเกิด ดังนี้คือ
             วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร เป็นพระยืน ลืมตาทั้งสองข้าง มือทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ที่หน้าเพลา มือขวาทับมือซ้าย เท้าชิดกัน ยืนตรง
             วันจันทร์ ปางห้ามญาติ เป็นพระยืน มือซ้ายห้อยลง มือขวายกขึ้น ฝ่ามือแบตั้งยื่นออกไป ข้างหน้า แสดงการห้าม
             วันอังคาร ปางไสยาสน์ เป็นพระนอนตะแคงข้างขวา พระบาทซ้ายทับพระบาทขวาเสมอกัน มือซ้ายทอดไปตามกาย รักแร้ทับบนหมอน มือขวาประคองเศียรให้ตั้งขึ้น
             วันพุธ ปางอุ้มบาตร เป็นพระยืน มือทั้งสองอุ้มบาตรไว้ข้างหน้า
             วันพฤหัสบดี ปางสมาธิ เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือขวาหงายทับมือซ้ายบนตัก
             วันศุกร์ ปางรำพึง เป็นพระยืน มือทั้งสองประสานกันอยู่ที่อก มือขวาทับมือซ้าย
             วันเสาร์ ปางนาคปรก เป็นพระนั่งขัดสมาธิ หงายมือซ้อนกันอยู่บนตัก มีพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอยู่บนเศียร พญานาคนั้นสร้างเป็นเศียรเดียวก็มี สามถึงห้าถึงเจ็ดเศียรก็มี

พระประจำเดือนเกิด หรือพระชะตาเดือน มีดังนี้
             เดือนอ้าย หรือเดือนธันวาคม พระปางปลงกัมมัฏฐาน เป็นพระยืน มือซ้ายห้อยลง มือขวายื่นออกไปข้างหน้า แสดงอาการชักผ้า
             เดือนยี่ หรือเดือนมกราคม พระปางชี้มาร เป็นพระยืน มือซ้ายห้อยลง มือขวายกขึ้นชี้นิ้วไปข้างหน้า แสดงอาการชี้มาร
             เดือนสาม หรือเดือนกุมภาพันธ์ พระปางประทานโอวาท เป็นพระนั่งขัดสมาธิ ยกมือขึ้นชี้นิ้วเสมอออกไปทั้งสองข้าง
             เดือนสี่ หรือเดือนมีนาคม พระปางนาคาวโลก เป็นพระยืน มือซ้ายห้อยเยื้องมาข้างหน้า วางทาบบนขาซ้าย มือขวาห้อยลงไปตามปกติ
             เดือนห้า หรือเดือนเมษายน พระปางขอฝน เป็นพระยืนก็มี พระนั่งก็มี ที่เป็นพระยืน มือขวายกขึ้นกวัก มือซ้ายแบหงาย ยกขึ้นเสมอเอว ที่เป็นพระนั่ง ยกมือขวาเช่นเดียวกัน แต่มือซ้ายวางอยู่บนตัก
             เดือนหก หรือเดือนพฤษภาคม พระปางมารวิชัย เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายวางอยู่บนตัก มือขวาวางอยู่บนหัวเข่า ชี้นิ้วลงพื้นดิน
             เดือนเจ็ด หรือเดือนมิถุนายน พระปางเรือนแก้ว เป็นพระนั่งขัดสมาธิเพชร อยู่ในเรือนแก้วหงายมือทั้งสองวางซ้อนกันอยู่บนตัก มีเรือนแก้วล้อมกาย
             เดือนแปด หรือเดือนกรกฎาคม พระปางปฐมเทศนา เป็นพระนั่ง มือขวายกขึ้นจีบนิ้วเป็นรูป วงกลม ยกมือซ้ายประคอง
             เดือนเก้า หรือเดือนสิงหาคม พระปางภัตตกิจ เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายประคองบาตรอยู่บนตัก มือขวาหย่อนลงในบาตร
             เดือนสิบ หรือเดือนกันยายน พระปางประดิษฐ์รอยพระพุทธบาท เป็นพระยืน เท้าซ้ายเหยียบหลังเท้าขวาแสดงอาการกดรอยเท้า มือทั้งสองประสานกันอยู่หน้าเพลา
             เดือนสิบเอ็ด หรือเดือนตุลาคม พระปางลีลา เป็นพระยืน เท้าขวายกขึ้นสูงจากพื้น อยู่ในท่าจะก้าวต่อไปข้างหน้า มือขวาห้อยลงในท่าไกว มือซ้ายยกขึ้นเสมออก ตั้งฝ่ามือป้องไปข้างหน้า
             เดือนสิบสอง หรือเดือนพฤศจิกายน พระปางประทานอภัย พระปางนี้มี 2 แบบ ยืนก็มี นั่งก็มี มือทั้งสองข้างยกขึ้นป้องเสมออก หันฝ่ามือเข้าหากัน เบนออกไปข้างหน้าเล็กน้อย

             ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นพระประจำเดือนเกิด

ส่วนพระประจำปีเกิด หรือพระชะตาปี พระพุทธรูปสำหรับผู้ที่เกิดในปีนั้น ๆ มีดังนี้
             ปีชวด สร้างพระโปรดอาฬวกยักษ์ เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายวางหงายบนเข่า มือขวายกขึ้นเสมออกจีบนิ้วเป็นการแสดงธรรม
             ปีฉลู พระปางห้ามญาติ เป็นพระยืนยกมือทั้งสองขึ้นเสมออก ฝ่ามือทั้งสองแบยื่นออกไปข้างหน้า แสดงอาการห้าม
             ปีขาล พระปางโปรดพกาพรหม เป็นพระยืน ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ มือทั้งสองประสานกันที่
พระเพลา มือขวาทับมือซ้าย ยืนอยู่บนหัวพกาพรหม
             ปีเถาะ สร้างพระปางปัญจเวกขณ์ เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายหงายอยู่บนตัก มือขวายกขึ้นตั้งฝ่ามือตรงอก เบนฝ่ามือไปทางซ้าย
             ปีมะโรง พระปางโปรดองคุลีมาลโจร เป็นพระยืน มือซ้ายห้อยลง มือขวายกขึ้นเสมออก ตั้งนิ้วตรง หันฝ่ามือไปทางซ้ายตรงหน้าอก
             ปีมะเส็ง พระปางรับอุทกัง เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายวางบนตัก มือขวาถือบาตร วางบนเข่า แสดงอาการรับน้ำ
             ปีมะเมีย พระปางสนเข็ม เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือทั้งสองยกขึ้นเสมออก มือซ้ายแสดงอาการจับเข็ม มือขวาแสดงอาการจับฝ้ายอยู่ในท่าสนเข็ม
             ปีมะแม พระปางประทานพร พระปางนี้มี 2 แบบ แบบนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายวางบนตัก แบมือขวาวางบนเข่า แบบยืนยกมือซ้ายขึ้นเสมออก หงายฝ่ามือไปข้างนอก ยกขึ้นเสมอไหล่บ้าง ถือชายจีวรบ้าง มือขวาห้อยหันฝ่ามือออกไปข้างหน้า แสดงอาการประทานพร
             ปีวอก พระปางปฐมบัญญัติ เป็นพระนั่งขัดสมาธิ ยกมือทั้งสองตะแคง ยื่นออกไปข้างหน้า แสดงอาการบัญญิตัวินัย
             ปีระกา พระปางทรงสุบิน เป็นพระนอนตะแคงขวา มือซ้ายทอดไปตามกาย มือขวาแนบกับพื้น หลังมือยกขึ้นแนบคาง หลับตา แสดงอาการนอนหลับ
             ปีจอ พระปางชี้อัครสาวก เป็นพระนั่งขัดสมาธิ มือซ้ายหงายวางบนตัก มือขวายกขึ้นชี้นิ้วออกไปข้างหน้า แสดงอาการประกาศอัครสวาก ให้ปรากฏในที่ประชุม
             ปีกุน พระปางโปรดพระยาชมภู พระปางนี้นั่งขัดสมาธิตามปกติ มือซ้ายหงายวางบนตัก มือขวาคว่ำลงบนเข่า พระปางนี้เป็นพระทรงเครื่อง

             การสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประจำวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด เป็นประเพณีของชาวล้านนา ที่แสดงถึงความยึดมั่นในพระพุทธศาสนาเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้คนเมืองเหนือมีจิตใจที่เต็มไปด้วยกุศลกรรม มุ่งทำความดี เพื่อสั่งสมนาบุญไว้ในชาติต่อไป สำหรับพวกเรา ก็สามารถทำได้เช่นกัน ไม่เฉพาะแต่คนเมืองเหนือเท่านั้น เราอาจสร้างพระประจำวันเกิด หรือเดือนเกิด หรือปีเกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิตและเป็นอานิสงส์ผลบุญหนุนเนื่องให้ชีวิตมีความสุขตลอดไป

หนังสืออ้างอิง.-
             -สงวน โชติสุขรัตน์. ประเพณีไทยภาคเหนือ กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2512

ข้อมูลที่ควรอ่านเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
              พระพุทธรูปประจำวันเกิด
             
 พระพุทธรูปประจำเดือนเกิด

               พระพุทธรูปประจำปีเกิด


**************************

 

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร