มรดกชาวพุทธ มรดกชาวใต้ มรดกไทย มรดกโลก มรดกมนุษยชาติ
โดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) ป.ธ.๕,น.ธ.เอก,ศษ.บ.,MPA.
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
************************


        ผ้าป่า ครั้งพุทธกาลเรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้าง ตามป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทางและห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้างที่สุดจนกระทั่งที่เขาอุทิศวางไว้แทบเท้า รวมเรียกว่า ผ้าป่า

        ประเพณีการทอดผ้าป่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ใหม่ ๆ ยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับคฤหบดีจีวร คือ จีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ ทรงอนุญาตแต่เพียงให้ภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของ เขาทิ้งแล้ว หรือผ้าที่เขาห่อซากศพทิ้งไว้ตามป่าช้า และเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง นำมาซักฟอกตัดเย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งที่ต้องการ แล้วใช้นุ่งห่ม ชนผู้นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมากในสมัยนั้นเห็นความลำบากของภิกษุในเรื่องนี้ มีความประสงฆ์จะบำเพ็ญกุศลไม่ให้ขัดต่อพระพุทธบัญญัติ ในขณะนั้น จึงได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่สมณบริโภคไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ โดยมากเป็นในป่าช้าที่รู้ว่าภิกษุผู้แสวงหาเดินไป เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงได้เรียกว่า ผ้าป่า ในภาษาไทยเรา

        แต่ครั้งนั้นการทอดผ้าป่าไม่ได้นิยมกาล แล้วแต่ใครมีศรัทธาจะทำเมื่อไรก็ทอดมันเมื่อนั้น เมื่อทรงบัญญัติจีวรกาล คือ การแสวงหาและทำจีวรขึ้นจำกัด ๑ เดือน นับแต่ออกพรรษาแล้ว และถ้าได้กรานกฐินด้วยขยายออกไปอีก ๔ เดือน จนถึง วันเพ็ญเดือน ๔ การทอดผ้าป่าจึงนิยมทำกันในระยะนี้ ส่วนมากในฤดูออกพรรษา ใหม่ ๆ แม้ทางราชการในประเทศไทยก็เคยปรากฏว่า มีทำในระหว่างเดือน ๑๒ พร้อมกับพระราชพิธีลอยพระประทีป

        การทอดผ้าป่าที่ทำกันในประเทศไทย มีทำกันหลายอย่าง อย่างที่เรียกว่า ผ้าป่าแถมกฐิน คือ ทอดกฐินแล้วเลยทอดผ้าป่าด้วยก็มี ทำกันอย่างสัณฐานประมาณ คือ เอาเครื่องไทยธรรมบรรจุกระถาง กระบุง กระจาด หรือถังสังกะสี แล้วเอากิ่งไม้ปักเอาผ้าห้อย อุทิศตั้งไว้ตามทางที่พระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมา หรือนำไปตั้งไว้ตาม พระอารามแล้วให้พระรู้ว่ามีผ้าป่ามาถึงที่ก็มี เครื่องผ้าป่านี้อย่างน้อยมีแต่ผ้าผืนหนึ่งห้อยกิ่งไม้ ไปปักตามที่ดังกล่าวแล้วก็มีที่ทำกันอย่างขนาดใหญ่ถึงป่าวร้องหรือ แจกฎีกาให้ทายกรับไปคนละองค์สององค์จนครบจำนวนภิกษุสามเณรทั้งวัด แล้วนำมาทอดพร้อมกันตามกำหนด ทำกันครึกครื้นถึงแห่แหนสนุกสนานประกวดประชันกันพอถึงวัดแล้วก็ประชุมถวายอุทิศต่อหน้าพระสงฆ์เช่นนี้ก็มี

        บางแห่งในชนบท ผู้มีจิตศรัทธาได้จัดทำขึ้น โดยนำผ้าป่าบรรทุกเรือพ่วงไปทางน้ำ เรียกกันว่า ผ้าป่าโยง ผ่านไปถึงวัดไหน ก็ทอดวัดนั้นเรื่อยไปดังนี้ก็มี
  พิธีทอดผ้าป่านี้จะแบบไหก็ตามข้อสำคญมีอยู่ว่าให้อุทิศเป็นผ้าป่าจริง ๆ อย่าถวายแก่ใครโดยเฉพาะ ถ้าทอดลับหลังพระสงฆ์ผู้รับเพียงแต่ตั้งใจขณะทอดว่าขออุทิศผ้าและเครื่องบริวารเหล่านี้แก่ภิกษุผู้ต้องการผ้าบังสุกุลมาถึงเฉพาะหน้า เท่านี้ก็ได้ชื่อว่าทอดและถวายผ้าป่าแล้ว
        แต่ถ้าเป็นการทอดหมู่ต่อหน้าสงฆ์ผู้รับ หัวหน้าทายกพึงนำว่าคำอุทิศถวายเป็นคำ ๆ ทั้งคำบาลี และคำแปล
        สำหรับภิกษุผู้ชักผ้าป่า ไม่ว่าผ้าป่าแบบไหน พึงยืนสงบตรงหน้าผ้าเอื้อมมือขวาจับผ้า ให้จับหงายมือ อย่าจับคว่ำมือ แล้วกล่าววาจาหรือบริกรรมในใจว่า "อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ" ผ้าบังสุกุลผืนนี้ เป็นผืนที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนย่อมถึงแก่ข้าพเจ้า ดังนี้ (บางอาจารย์เติมคำชักผ้าป่าเข้าในระหว่าง อสฺสามิกํ... มยฺหํ เป็นคำว่า "อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ โหติ อชฺช มยฺหํ ปาปุณาติ" ก็มี) กล่าววาจาหรือทำบริกรรมในใจจบแล้วชักผ้านั้นมา เป็นอันเสร็จพิธีแต่ถ้าเป็นผ้าป่าถวายหมู่เมื่อชักแล้ว พึงอนุโมทนาด้วยบท วิเสสอนุโมทนา ในทานนี้นิยมใช้ บท สพฺพพุทธานุภาเวน... หากเป็นผ้าป่าเฉพาะรูป อนุโมทนาด้วยสามัญอนุโมทนาเท่านั้นก็ได้ ถ้าพระสงฆ์อนุโมทนา ทายกพึงกรวดน้ำขณะพระว่า ยถา... แล้วประณมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี.

        การทอดผ้าป่านี้ ในทางพระพุทธศาสนานับเป็นการกุศลอันสำคัญ เพราะพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายต้องใช้ผ้าบังสุกุลจีวรเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยประการหนึ่ง พึงเห็นว่าเมื่อพระอุปัชฌาย์ให้อุปสมบทแก่กุลบุตรแล้ว ก็บอกอนุศาสน์ คือ คำสอนเบื้องต้น ในบัดนั้น ในอนุศาสน์นั้น มีการสอนให้ใช้ผ้าบังสุกุลจีวรเป็นนิตย์อยู่ด้วย แต่ก็ทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าเป็นอติเรกลาภอย่างอื่นได้เหมือนกัน ผู้ทอดผ้าบังสุกุลจีวร (ผ้าป่า) นั้น ก็ได้ชื่อว่าช่วยให้พระภิกษุสงฆ์ได้รักษาประเพณีข้อนี้ให้มั่นคงอยู่ได้

        การทอดผ้าป่านั้น เคยมีมาแต่ครั้งพุทธกาล ที่เป็นครั้งสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อครั้งนางบุณณทาสี ธิดาของเศรษฐีตระกูลหนึ่งถึงแก่มรณะ เจ้าภาพก็เอาผ้าเนื้อดี ทอดเป็นผ้ามหาบังสุกุลนี้ ได้บังเกิดมหาอัศจรรย์ มีแผ่นดินไหวถึงเจ็ดครั้ง มหาชนต่างก็นมการทอดผ้าป่าแต่นั้นเป็นลำดับมา แต่ก็ไม่ได้จำกัดเวลาว่า จะทอดกันเวลาไหน เมื่อใครจะมีศรัทธา และพร้อมเมื่อไรก็สามารถทอดถวายแด่พระสงฆ์ได้ทันที

        ส่วนการทอดผ้าป่าแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดต่าง ๆ ในวันออกพรรษาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ นิยมจัดผ้าอันเป็นบังสุกุลจีวร พร้อมด้วยเครื่องบริวารต่าง ๆ ที่จะขาดเสียมิได้ก็คือผ้าหนึ่งผืนเพื่อให้พระสงฆ์พิจารณา และปิ่นโต ๑ เถา พร้อมภัตตาหาร เพื่อถวายให้พระที่มาพิจารณาผ้าป่าได้ฉัน โดยเหตุนี้จึงเรียกพุ่มผ้าป่าในวันนี้ว่า "ผ้าป่าข้าวสุก" ส่วนสิ่งของนอกจากที่กล่าวมานั้นก็มีการจัดถวายพระสงฆ์ตามกำลังศรัทธา โดยนิยมจัดพุ่มผ้าป่าไว้บริเวณหน้าบ้าน มีเลขหมายประจำพุ่มไว้ บางบ้านก็จัดทำพุ่มผ้าป่าอย่างงดงามและมีการประกวดกัน มีกรรมการซึ่งทางเทศบาลได้จัดตั้งขึ้นพิจารณาให้ได้รับรางวัล เป็นเกียรติ เป็นที่ระลึกในการบำเพ็ญกุศล ผู้จัดการคือเทศบาลและอำเภอร่วมกัน ได้นำสลากนั้น ๆ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่จำเพาะเจาะจงแล้วแต่ท่านจะจับสลากได้แล้ว ก็นิมนต์ไปชักผ้าป่าตามสถานที่นั้น ๆ ในเวลาเช้าตั้งแต่ ๐๖.๐๐ น. เป็นต้นไป อันนับว่าเป็นกุศลสังฆทานในพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง


ภาพถ่าย นางพยอม สารสิน
ผู้ริเริ่มงานประเพณีทอดผ้าป่าออกพรรษาของ
วัดท่าไทร และ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งเป็นมรดกไทย มรดกโลก

        ประเพณีการทอดผ้าป่าในเทศกาลวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามที่ได้กระทำกันอยู่ ณ บัดนี้ ได้มี นางพยอม นามสกุลเดิมคือ เริ่มก่อสกุล (ธิดาของนายเอม นางขำ เริ่มก่อสกุล) ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ตลาดท่าทองใหม่ ตำบลท่าองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้ริเริ่มจัดให้มีประเพณีทอดผ้าป่าออกพรรษาขึ้น ณ วัดท่าไทร ตำบลท่าองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุกวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังออกพรรษา ๑ วัน) ขณะเดียวกันได้จัดให้มีการชักพระ (ชักลากพระ) โดยใช้เรือทางน้ำ เรือทางบก เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะบูชาให้เกิดสิริมงคลในโอกาสออกพรรษา เทียบเคียงการจัดฉลองวันเทโวโรหณะในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และมีการละเล่นกีฬาทั้งทางบกและทางน้ำอย่างสนุกสนาน ซึ่งประเพณีดังกล่าวยังคงได้รับการอนุรักษ์ให้มีอยู่จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

        ต่อมานางพยอม เริ่มก่อสกุล ต่อมาภายหลัง สมรสกับ นายฉาย สารสิน จึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น สารสิน ตามสามี ได้ย้ายไปอยู่ กับสามี ที่ตรอกไม้ไผ่งาช้าง ข้างวัดกลาง ในตลอดบ้านดอน และได้ได้จัดให้มีประเพณีดังกล่าวขึ้นอีกที่บ้านดอน (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน) โดยเริ่มแรกได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากวัดท่าไทรเป็นหลักในการไปพิจารณาผ้าบังสุกุล ซึ่งภายหลังเจ้าอาวาสวัดท่าไทรในขณะนั้น ก็ได้แนะนำให้นิมต์พระภิกษุซึ่งจำพรรษาอยู่ในวัดที่อยู่ในบ้านดอนซึ่งใกล้บ้านไปพิจารณาชักผ้าบังสุกุล (ผ้าป่า)ด้วย จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งได้กระทำกันสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

        ครั้นกาลล่วงมาถึง หลวงพ่อชม คุณาราโม (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูดิตถารามคณาศัย) ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าไทร พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้พิจารณาเห็นว่าไม่เป็นการสะดวกแก่พระภิกษุสามเณรในการที่จะไปพิจารณาผ้าบังสุกุล (ชักผ้าป่า) ซึ่งนางพยอมได้นิมนต์เอาไว้ เพราะจัดในวันเดียวกันกับประชาชนพุทธบริษัทบ้านท่าทองใหม่ จึงได้เลื่อนการจัดประเพณีดังกล่าวของวัดท่าไทรจากวันแรม ๑ ค่ำ ไปเป็น แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังจากที่นางพยอมจัดทำและทอดผ้าป่าที่ตลอดล่าง บ้านดอนเป็นเวลา ๗ วัน)
 และต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๒ (๑๒ พ.ย. ๒๕๒๒) พระครูดิตถารามคณาศัย ได้มรณภาพลง
        พ.ศ. ๒๕๒๒ พระมหาสนอง วิโรจโน ป.ธ. ๙ ได้รับหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดท่าไทร และได้สืบสานประเพณีดังกล่าวไว้เช่นเดิม
        ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๓ พระมหาชูชาติ กนฺตวณฺโณ (พระราชทินนามปัจจุบันคือ พระเทพพิพัฒนาภรณ์) ได้เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้พิจารณาเห็นว่าเพื่อให้เกิดกายสามัคคีจึงได้ริเริ่มให้จัดตั้งพุ่มผ้าป่าในบริเวณวัดท่าไทรแทนการตั้งพุ่มที่บ้านของชาวบ้านเหมือนครั้งในอดีต ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นต้นมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน (นิยมตั้งพุ่มที่หน้าบ้านเฉพาะพุ่มพิเศษและพุ่มประกวดบางพุ่มเท่านั้น)

        ปัจจุบันประเพณีชักพระ - ทอดผ้าป่าวัดท่าไทร ยังคงปฏิบัติสืบทอดอย่างต่อเนื่อง แต่มีการปรับเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมบ้าง โดยการจัดกิจกรรมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ เรือพระน้ำของวัดท่าไทรจะมาเคลื่อนจากอำเภอเมือง ฯ มายังท่าน้ำวัดท่าไทร ส่วนรถพนมพระบกของวัดท่าไทรและต่าง ๆ ในพื้นที่อำเภอกาญจนกดิษฐ์และใกล้เคียง จะจอดรวมกันบริเวณลานวัดท่าไทร และมีการจัดเตรียมพุ่มผ้าป่าบริเวณวัดท่าไทร คืนวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดท่าไทรจัดให้มีพิธีสมโภชพุ่มผ้าป่าขึ้นและมีมหรสพให้ประชาชนได้ชมเพื่อความสนุกสนาน

        ตอนเช้าวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. ภายในวัดท่าไทรจะมีพิธีทอดผ้าป่าและถวายผ้าป่าแด่พระสงฆ์ สามเณรตามหมายเลขที่จับฉลากได้ แต่เดิมหลังจากทอดผ้าป่า เสร็จแล้วจะร่วมกันชักลากรถพนมพระเข้าไปในตลาดท่าทองใหม่ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญ หลังจากลากเรือพระกลับมาถึงวัดท่าไทร ประชาชนจะจัดให้มีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านขึ้นในบริเวณวัดท่าไทร แต่ปัจจุบันเนื่องจากเรือพระแต่ละลำมีขนาดใหญ่และมีความสูงมากขึ้น การลากพระเข้าสู่ตลาดท่าทองใหม่เป็นการไม่สะดวก เนื่องจากถนนแคบ ติดสายไฟฟ้าที่ข้ามถนน จึงงดการชักรถพนมพระเข้าตลาดท่าทองใหม่ คงไว้เพียงจอดรถพนมพระในบริเวณวัดให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ

        ตอนค่ำของวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. จะมีการนิมนต์พระสงฆทั้งจากวัดท่าไทรและวัดใกล้เคียง มาเจริญพระพุทธมนต์สมโภชรถพนมพระและเรือพนมพระ เพื่อให้เกิดสิริมงคล เสร็จแล้วมีมหรสพให้ชมฟรี และในวันต่อมา ภาคกลางวันจะมีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านภายในบริเวณท่าไทร ภาคกลางคืนจะมีมหรสพให้ชมฟรี โดยมีประชาชนทั้งชาวตำบลท่าทองใหม่ และใกล้เคียงทั้งในอำเภอกาญจนดิษฐ์ และอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าร่วมกิจกรรมสืบสานประเพณีกันอย่างต่อเนื่องมิเสื่อมคลายจนกระทั่งทุกวันนี้

************************************

ประวัติของ
นางพยอม สารสิน
(เริ่มก่อสกุล)
ผู้ริเริ่มงานประเพณีทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร และจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ซึ่งเป็นมรดกไทย มรดกโลก

***********

         นางพยอม สารสิน เกิดเมื่อ วันพฤหัสบดี ปีขาล พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นธิดาของ นยเอม นางขำ เริ่มก่อสกุล (ชาวบ้านท่าทองใหม่) ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๔ คน ได้แก่..
        ๑.คุณยายเล็ก
        ๒.คุณยายเฟือง
        ๓.คุณยายกลับ
        ๔.นางพยอม สารสิน
มีบุตรกับนายทองหวาน (สามีคนก่อน) จำนวน ๖ คนทราบชื่อเพียง ๓ คนเท่านั้น ได้แก่
        ๑.นางหอม (ถึงแก่กรรมแล้ว) ไม่มีบุตรธิดา
        ๒.นายยุคล (ถึงแก่กรรมแล้วและไม่ปรากชื่อสามี) มีบุตร ๒ คน (ไม่ปรากฏชื่อและถึงแก่กรรมแล้ว)
        ๓.นางหนูชื่น (ถึงแก่กรรมแล้ว และไม่ปรากชื่อสามี) มีบุตร ธิดา รวม ๗ คน ได้แก่
              (๑) นางลัดดาวัลย์ วัชรนพวิภา (นามสกุลหลังสมรส) มีบุตร ธิดารวม ๔ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
              (๒) นางผ่องศรี ติณจินดา (นามสกุลหลังสมรส) มีบุตร ธิดารวม ๕ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
              (๓) นางราตรี (ไมทราบนามสกุล และไม่ปรากฏชื่อสามี) มีบุตรธิดารวม ๓ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
              (๔)นายกวี แซ่กวาง
              (๕) นายปิยะธัช ธัชประดิษฐ์ (ไม่ปรากฏชื่อภรรยา) มีบุตรธิดารวม ๔ คน (ไม่ปรากฏชื่อ)
              (๖) นางสาวทิพวรรณ วัชรนพวิภา
              (๗) นางสาวพรทิพย์ แซ่กวาง

        ในปี ๒๔๖๗ นางพยอม ได้ริเริ่มได้ริเริ่มประเพณีการทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร คราวแรกกระทำนั้น โดยการแนะนำของพระธรรมวิโรจน์เถระ ซึ่งท่านได้แนะนำวิธีทำและพรรณนาอานิสงส์ให้ฟัง นางพยอม จึงชักชวนคนที่รู้จัก คุ้นเคยกันและมีจิตศรัทธาทั้งหลายตั้งพุ่มผ้าป่าที่หน้าบ้านของตน ทำต่อมาจนกระทั่งมีคนศรัทธา เห็นดีเห็นงามและร่วมตั้งพุ่มผ้าป่ากันมากขึ้น

        นางพยอม เริ่มก่อสกุล ต่อมาภายหลัง สมรสกับ นายฉาย สารสิน จึงได้เปลี่ยนนามสกุลเป็น สารสิน ตามสามี ได้ย้ายไปอยู่ กับสามี ที่ตรอกไม้ไผ่งาช้าง ข้างวัดกลาง ในตลอดบ้านดอน มีบุตรด้วยกัน ๒ คน แต่ไม่ปรากฏชื่อ และได้จัดให้มีประเพณีดังกล่าวขึ้นอีกที่บ้านดอน (อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ในปัจจุบัน) โดยเริ่มแรกได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์จากวัดท่าไทรเป็นหลักในการไปพิจารณาผ้าบังสุกุล ซึ่งภายหลังเจ้าอาวาสวัดท่าไทรในขณะนั้น ก็ได้แนะนำให้นิมต์พระภิกษุซึ่งจำพรรษาอยู่ในวัดที่อยู่ในบ้านดอนซึ่งใกล้บ้านไปพิจารณาชักผ้าบังสุกุล (ผ้าป่า)ด้วย จึงถือเป็นประเพณีปฏิบัติซึ่งได้กระทำกันสืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

        ส่วนการที่ให้มีการประกวดพุ่มผ้าป่า ครั้งแรกนางพยอมเป้นผู้คิดทำ เพื่อเป็นการชักจูงให้ผู้ทำพุ่มผ้าป่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น โดยนางพยอมได้ไปขอของรางวัลจากมิตรสหายและห้างร้านต่าง ๆ เพื่อเป้นรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดพุ่มผ้าป่า และได้ขอร้องผู้รู้คติการทอดผ้าป่ามาเป็นกรรมการ โดยออกตรวจพุ่มผ้าป่าต่าง ๆ ตอนใกล้รุ่งสว่างตามหน้าบ้านของผู้ทำพุ่มผ้าป่า แล้วจดชื่อ นามสกุลของผู้ตกแต่งที่เห็นว่าเป็นคตินั้นมาพิจารณาร่วมกัน แล้วจึงให้รางวัลในภายหลัง

        ต่อมาภายหลัง นางพยอม สารสิน ได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงเทพฯ พักอยู่กับสามีที่บ้านนายพจน์ สารสิน และได้นำหลานชื่อ ลัดดาวัลย์ และ ผ่องศรี ไปอยู่ด้วยเพื่อส่งให้เรียนหนังสือ ทำให้ไม่สามารถจัดงานประเพณีทอดผ้าป่าได้เพราะอยู่ไกลและชราภาพ จึงมอบให้หลานชายชื่อ นายเอื้อน เริ่มก่อสกุล (ปัจจุบันถึงแก่กรรม) ให้ช่วยดูแล และต่อมาทางเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีจึงได้รับเป็นดำเนินการแทน ซึ่งเป็นเทศกาลของเทศบาลเสียเอง พร้อมทั้งได้รับเอางานแห่พระทางน้ำมาเป็นงานเทศกาลท้องถิ่นร่วมกับการทอดผ้าป่าด้วย งานจึงตกทอดและปรากฏเป็น "ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า แข่งเรือยาว" และจัดเป็นประจำทุกปีจนกระทั่งปัจจุบีนนี้

        ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒นางพยอม สารสิน ได้ย้ายกลับมาอาศัยอยู่ที่จ.สุราษฎร์ธานีอีกครั้งหนึ่ง โดยพักอยู่กับลูกชื่อ นางหอม ที่บ้านท่าทองใหม่ ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ และบางครั้งก็พักอยู่ที่บ้านดอน อ.เมืองสุรษษฎร์ธานี ก็จะพักอยู่กับหลานชื่อลัดดาวัลย์ วัชรนพวิภา และผ่องศรี ติณจินดา (ปัจจุบันทั้ง ๒ คนนี้ ยังมีชีวิตอยู่)

        นางพยอม สารสิน ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ตรงกับวันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก คำนวณอายุได้ ๙๑ ปี และได้ทำพิธีฌาปนกิจศพที่เมรุวัดธรรมบูชา ตำบลตลาด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ตรงกับวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก

รูปในหนังสือแจกงานศพของ นางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
ภาพหีบศพของ นางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
ญาติ พี่น้อง และประชาชนที่มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
อีกมุมหนึ่งของญาติ พี่น้อง และประชาชนที่มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
ภาพญาติ พี่น้อง ที่มาร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลศพ
ครอบครัวคุณลัดดาวัลย์ วัชรนพวิภา
ส่วนหนึ่งของ หลาน เหลน ของนางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
ส่วนหนึ่งของ ลูก หลาน เหลน ของนางพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
คณะ
ครอบครัว หลาน เหลน โหลน ของคุณยายพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล) ได้พร้อมใจกันจัดทำพุ่มผ้าป่าถวายแก่คณะสงฆ์วัดท่าไทร
เพื่อสืบสานประเพณีทอดผ้าป่าของวัดท่าไทรและจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเป็นมรดกทางอารยธรรมของ
คุณยายพยอม สารสิน (เริ่มก่อสกุล)
โดยมี พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร เป็นผู้ให้คำแนะนำและประสานงาน

ครอบครัว หลาน เหลน โหลน คุณยายพยอม, ได้จัดพิมพ์หนังสือ
คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี
ของ พระมหาบุญโฮม ปริปุณณสีโล ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าไทร
(พิมพ์ครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๘)
จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม
เพื่อสนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ของวัดท่าไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.
ครอบครัว หลาน เหลน โหลน คุณยายพยอม ได้จัดพิมพ์หนังสือ
กำเนิดประเพณีการทอดผ้าป่าของวัดท่าไทรและของจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม

เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานประเพณีชักพระทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.

(แจกที่วัดท่าไทร ๗๐๐ เล่ม มอบแก่ห้องสมุดและผู้สนใจ ๓๐๐ เล่ม)

เอกสารอ้างอิง.-
        กรมการศาสนา, นางวันดี จันทร์ประดิษฐ์, นายสุวรรณ กลิ่นพงศ์, พิธีกรรมและประเพณี,กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด,๒๕๕๒
        กรมศิลปากร กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์(๒๕๓๗), ประเพณีชักพระ, กรมศิลปากร กรุงเทพฯ,๒๕๓๗
       
ครอบครัว หลาน เหลน โหลน คุณยายพยอม,กำเนิดประเพณีการทอดผ้าป่าของวัดท่าไทร และของจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ไม่ปรากฏชื่อโรงพิมพ,์ ซึ่งพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานประเพณีชักพระทอดผ้าป่าออกพรรษาของวัดท่าไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘.
        จังหวัดสุราษฎร์ธานีและเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี, สูจิบัตรงานประเพณีชักพระ-ทอดผ้าป่าและแข่งเรือยาว ประจำปี ๒๕๔๖ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, โรงพิมพ์สุวรรณอักษร, สุราษฎร์ธานี ๒๕๔๖
       
จันทร์ เขมจารี, พระมหา. ประวัติผ้าป่าของจังหวัดสุราษฎร์ธานี, (ฉบับพิมพ์แจกในพิธีฌาปนกิจศพ นางพยอม สารสิน), โรงพิมพ์พิมอำไพ, ถนชนเกษม สุราษฎร์ธานี, ๒๕๑๑
        นายพร้อม ถาวรสุข, สุนทรพจน์ในงานแห่พระประจำปีของจังหวัดสุราษฎร์ธานี, ๘ ตุลาคม ๒๔๙๒ ซึ่งพิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานแห่พระประจำปี ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. ๒๔๙๓, โรงพิมพ์รัตนมีศรี, บ้านดอน สุราษฎร์ธานี, ๒๔๙๓
        บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา, คู่มืออุบาสกอุบาสิกาวัดท่าไทร, สุราษฎร์ธานี, ๒๕๔๐
        บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี(พิมพ์ครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๘), โรงพิมพ์รัตนศิลป์การพิมพ์, กรุงเทพฯ, ๒๕๕๘ (จัดพิมพ์ถวายโดย
คณะลูก หลาน เหลน โหลน ญาติมิตร ของนางพยอม สารสิน(เริ่มก่อสกุล)
        บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,คู่มือเรียนนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี(พิมพ์ครั้งที่ ๘/๒๕๕๘), สำนักศาสนศึกษาวัดท่าไทร, สุราษฎรธ์านี, ๒๕๕๘
        บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,ประวัติพระครูดิตถารามคณาศัย(พลวงพ่อชม คุณาราโม) วัดท่าไทร, สุราษฎร์ธานี, ๒๕๔๓
        บุญโฮม ปริปุณณสีโล,พระมหา,ประวัติประเพณีทอดผ้าป่าวัดท่าไทร,
นสพ.กระแสข่าวทักษิณ ปีที่ ๑ ฉบับประจำเดือน พฤศจิกายน ๒๕๔๗ หน้า ๑๒ คอลัมน์ศาสนา
        ประเพณีไทย ฉบับพระมหาราชครู,กรุงเทพฯ, โรงพิมพ์ ลูก ส.ธรรมภักดี, ๒๕๑๘
        รัตน์ ยืนนาน, งานวิจัยเรื่องประเพณีชักพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี,๒๕๒๖
        สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์,ประเพณีท้องถิ่นภาคใต้, กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.๒๕๔๘
        สากล สุขสวัสกดิ์,ปริญญานิพนธ์ เรื่องศึกษาประเพณีลากพระของจังหวัดสุราษฎร์ธานี : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ,๒๕๓๗
        สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี.ชักพระ-ทอดผ้าป่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี, โครงการมหัศจรรย์วัฒนธรรมศรีวิชัย ศิลป์ไทย ศิลป์ถิ่น ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ๒๕๕๗ จังหวัดสุราษฎร์ธานี,๒๕๕๗

---------------------------

หมายเหตุ.-ปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด วันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๙