พระสงฆ์กับการเมือง(ภารกิจเพื่อแผ่นดิน)
โดย...


              เราจะเห็นได้ว่าในศาสนาพราหมณ์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ฯลฯ นักการศาสนาหรือผู้นำในศาสนาดังกล่าวในเบื้องต้นนั้น จะเป็นผู้นำทางการเมืองด้วย คือเป็นทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำทางการเมืองในเวลาเดียวกัน จึงมีจุดเด่นที่ผู้นำศาสนานั้นๆ มีความรอบรู้มีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ แต่มีจุดด้อยคือ การกระทำใดๆ ทางการเมืองมักจะอ้างว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้า แล้วก็สร้างกระแสให้เห็นจริงเห็นจังไปตามนั้น ก็เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนแท้ที่จริงเป็นความประสงค์ของบุคคล หรือคณะนั้นๆ ทุกครั้งไป

              ส่วนนักการเมืองชาวพุทธไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ยังน้อยมาก ไม่เป็นผู้นำ, ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชาวพุทธด้วยกัน มีนโยบายทางการเมืองที่ขัดกับหลักคำสอนพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ เช่น ส่งเสริมอบายมุขให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น บ่อน, หวย, ซ่องตามโรงแรมม่านรูดต่างๆ ส่งเสริมการผลิตสุรา ยาเสพติดต่างๆ และไม่นานมานี้ออก พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินวัด นัยว่าเพื่อนำไปพัฒนาเป็นโรงแรม, ศูนย์การค้า ฯลฯ ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ล้วนเป็นนโยบายที่เหยียบย่ำหัวใจชาวพุทธ เหยียบย่ำดูหมิ่นคำสอนพระพุทธศาสนาอย่างไม่น่าเป็นไปได้ แต่เป็นไปแล้วและกำลังรุกคืบครอบงำ มอมเมาประชาชนและเยาวชนผู้อ่อนแอ เพียงเพื่อผลกำไรร่ำรวยบนความหายนะของคนในชาติ น่าละอายต่อบรรพชนบ้าง

              ในศาสนาพุทธ นับแต่ องค์ศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเกี่ยวข้องทางการเมืองหรือไม่ พระองค์ทรงเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่ทรงอยู่เหนือการเมือง พระองค์ทรงเป็นผู้นำทางสัจธรรม เต็มเปี่ยมไปด้วย พระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระบริสุทธิคุณ คือ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ พระมหาราชา ให้ตั้งอยู่ในธรรมโดยไม่บังคับ ทรงแจกแจง ให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมอย่างลึกซึ้ง จนพระมหาราชา ทั้งหลาย ต่างก็ยอมรับ และตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ

              พระองค์ทรงเปลี่ยนความเห็นเดิม มาเป็นความเห็นตามวิถีธรรมหรือธรรมวินัย ที่พระองค์ได้สั่งสอน

              พระมหาราชา ทรงตั้งอยู่ในธรรม (ทศพิธราชธรรม) ข้าราชบริพาร ต่างก็ปฏิบัติธรรมตาม เมื่อการปกครองบ้านเมืองโดยธรรม ประชาชนก็อยู่เย็นเป็นสุข

              จะเห็นว่าทรงวางพระองค์อยู่เหนือการเมืองการปกครอง เพราะพระองค์คือ ผู้นำทางสัจจะ ผู้นำทางจิต และวิญญาณ และผู้นำทางปัญญา ฯลฯ ย่อมสูงกว่าเหนือกว่า พระมหาราชาหรือผู้นำทางการเมืองทั้งหลาย

              คำว่า การเมืองคืออะไร อาจจะมองได้หลายมิติ หลายคำพูด แต่ที่เป็นความหมายโดยตรง คือกิจกรรมเกี่ยวกับธรรมะ ความเห็น ความคิด หลักการ นโยบาย เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ และเพื่อความผาสุกของประชาชน

              แต่นโยบายของรัฐบาลในระบอบเผด็จการระบบรัฐสภา ล้วนเหยียบย่ำทำลายประชาชนแทบทั้งสิ้น

              แต่เดิมเรามีพระมหากษัตริย์ เป็นผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดทางการเมืองการปกครองเพียงผู้เดียว แต่สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น มีทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

              มาในยุคสมัยใหม่หันมาใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลาง, เป็นเครื่องมือในการปกครอง และรัฐธรรมนูญไทยเรานั้น 16 ฉบับไม่มีธรรมะเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นตัวตั้งในการยกร่างมาตราต่างๆ ย่อมเป็นระบอบการเมืองที่จะนำมาแต่ ความอยุติธรรม ทับท่วมแผ่นดิน "เพราะระบอบเป็นเหตุแห่งกระบวนการทางการเมืองและการปกครอง เมื่อระบอบเลวเป็นเหตุ ระบอบจึงเป็นเหตุแห่งความเลวร้ายทั้งปวงในแผ่นดิน"

              เมื่อพูดถึงพระสงฆ์ย่อมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการเทศน์สอนที่ทำให้ประเทศขาติมีความมั่นคง กิจกรรมที่ทำให้นักการเมือง, ประชาชนมีปัญญา กิจกรรมที่ทำให้ประชาชนรู้จักตนเอง รู้จัก ลด ละ เลิก สิ่งอบายมุขทั้งปวง กิจกรรมที่ทำให้ประชาชนอุทิศตน เสียสละ เพื่อชาติบ้านเมือง เป็นหน้าที่โดยตรงของผู้นำทางสัจจะ ผู้นำทางจิตและวิญญาณ ผู้นำทางปัญญา เป็นภารกิจของพระสงฆ์ที่จะทำได้ดีกว่าฆราวาส เพราะประชาชนมีศรัทธาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และพระสงฆ์ล้วนมีเจตนาที่บริสุทธิ์ต่อประชาชนและประเทศชาติ เพราะไม่ได้หวังอำนาจใดๆ

              แต่กิจกรรมเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกพรรค, การเข้าร่วมประชุมพรรคฯ, การขั้นปราศรัย, การเลือกตั้ง พระสงฆ์ไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้อง จะมีแต่ความเสื่อมมาสู่ตนและหมู่คณะ แค่แบ่งเป็นนิกาย ต่างก็ริษยา กลั่นแกล้งกล่าวร้ายต่อกันทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ก็ยุ่งพอแล้ว ขืนแบ่งเป็นพรรคการเมืองกันอีก จะไม่ยุ่งกันใหญ่หรือ?

              และขอทำความเข้าใจกับความเห็นทั้งที่เป็นฆราวาส, นักวิชาการบางท่าน และพระสงฆ์เรียกร้องต้องการที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้ง ต่อความเห็นนี้ ผลเสียมากกว่าผลดี อย่างที่กล่าวแล้วว่า พระสงฆ์ต้องอยู่เหนือการเมือง คือไม่ฝักฝ่ายใด และไม่ใช่เป็นกลาง เช่น เป็นกลางระหว่างฝ่ายถูกกับฝ่ายผิด หรือฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลอันเป็นมิจฉาทิฐิทั้งสองฝ่าย เพราะพรรคการเมืองเหล่านี้มาจากระบอบมิจฉาทิฐินั้นเอง แต่พระสงฆ์เป็นผู้ทรงธรรมทางการเมือง จึงไม่ควรไปเกี่ยวข้อง ลดตัว ลดสถาบันลงไปเกลือกกลั้วผสมโรงกับระบอบการเมืองที่อยุติธรรมต่อประชาชน

              อีกอย่างหนึ่งถ้า พระสงฆ์บางหมู่ ที่เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง หรือเชื่อตามความเห็นของนักวิชาการบางคนผู้ไม่เคยบวชพระมาก่อนเลย ก็เท่ากับ ยอมรับรัฐธรรมนูญนี้เป็นศาสดา ละทิ้งพระธรรมวินัยอันเป็นหลักชัยที่แท้จริงของพุทธสาวก

              เมื่อบวชเป็นภิกษุอยู่ใต้พระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีบทบาทสากล จึงอยู่เหนือลัทธิทางการเมืองต่างๆ ลัทธิย่อมเป็นของต่ำกว่าสัจธรรมเสมอไป อย่าลดตัวลงต่ำไปอยู่ใต้ระบอบการเมืองน้ำเน่าเลย จะสูญเสียความเป็นผู้นำทางสัจจะ ผู้นำทางจิตและวิญญาณ

              และ ถ้าพระสงฆ์ได้สิทธิในการเลือกตั้ง มีคะแนนประมาณ 300,000 เสียง อย่างกระจัดกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตกไปทั่วประเทศ ย่อมไม่มีผลสะเทือนใดๆ ในระบอบเผด็จการระบบรัฐสภานี้เลย ขอสรุปในเบื้องต้นว่า ยังมีวิธีการที่ชาญฉลาดอีกตั้งมากมาย ที่จะสรรค์สร้างระบอบการเมืองที่เป็นอยู่นี้ให้เป็นระบอบการเมืองที่ให้ความยุติธรรมต่อปวงชนทั้งแผ่นดินได้

              แต่ถ้ารัฐบาล, ประธานรัฐสภา, หัวหน้าพรรคฯ มาขอคำปรึษา ก็ให้ความรู้ไปตามความจำเป็น หรือว่าพรรคการเมืองจัดโครงการให้คณะกรรมการ, สมาชิกพรรคเข้าร่วมรับฟังพระธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์นั้นๆ สิ่งเหล่านี้ พระสงฆ์ทำได้และทำได้ดี จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ศาสนิกชนตั้งมั่นอยู่ในธรรม ไม่คิดเบียดเบียนต่อกันและกันในเชิงนโยบายและกฎหมายต่างๆ

              พระสงฆ์ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง คือมีหน้าที่เทศนาสั่งสอนให้ผู้ปกครอง นักการเมืองทุกระดับ ให้ตั้งอยู่ในธรรม เพราะธรรม (บรมธรรม, นิพพาน, ธรรมาธิปไตย) เป็นศูนย์กลางของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยกเว้นคนบางจำพวกเท่านั้นที่ถือกิเลสเป็นใหญ่

              ทุกวันนี้พระสงฆ์ไม่ค่อยมีโอกาสสอนนักการเมือง และนักการเมืองเอง ก็ชอบเข้าหาพระสงฆ์จอมเครื่องรางของขลังอันงมงาย ไร้ปัญญาที่จะนำมาเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน อย่างเช่น เข้าไปกราบเพื่อให้สมมติสงฆ์เคาะหัวให้ เข้าใจว่าเป็นสิริมงคล นั่นคือความเหลวไหลที่กำลังท่วมท้นแผ่นดิน

              พระสงฆ์จะต้องตื่นตัว ในเรื่องการเมืองการปกครอง จะต้องมีความเข้าใจในองค์ประกอบของสังคมนั้นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยอันเป็นเมืองพระพุทธศาสนา อันมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ที่ตั้งอยู่ในจิตใจคนไทยมายาวนานนับแต่ พ.ศ. 300 เป็นต้นมา

              ถ้าพระสงฆ์ไม่ตื่นตัวทางการเมือง ไม่มีความรู้ทางการเมือง มองไม่เห็นวิธีคิด มองไม่เห็นว่านโยบายของพรรคนั้นๆ จะเป็นคุณ หรือเป็นโทษ จริงใจต่อชาติบ้านเมือง หรือว่าเล่นการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขา พระสงฆ์จะต้องรู้เท่าทันและมองเห็น เพื่ออะไร? ก็เพื่อนำไปเป็นข้อมูลเทศนาสั่งสอนให้ประชาชนได้รู้เท่าทัน ในวิธีการนั้นๆ

              อุปมาได้ว่า การเมืองเหมือนน้ำ ประชาชนเหมือนปลา ถ้าน้ำเน่า พิษร้ายจากน้ำเน่าย่อมกระทบต่อชาวพุทธมากที่สุด พระสงฆ์ก็เหมือนฝูงปลาฝูงหนึ่งในน้ำเน่านั้น ฉะนั้นพระสงฆ์ต้องฉลาดในการสอนผู้นำทางการเมือง แนะแนวทางเรื่องระบอบการเมืองที่จะเป็นคุณต่อประเทศชาติและปวงชนทั้งแผ่นดิน

              ในอดีตจะเห็นว่าพระสงฆ์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะเกี่ยวข้องกับการเมือง นับแต่ พระมหากัสสปะเถรเจ้า ผู้นำในการปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย ในปีแรกหลังพุทธปรินิพพาน พระพุทธเจ้า มิได้ทรงตั้งใครเป็นผู้นำศาสนาหรือศาสดาองค์ต่อไป แต่ทรงให้ถือเอาพระธรรมวินัยเป็นศาสดา แต่พระธรรมวินัยยังกระจัดกระจาย ยังมิได้จัดเป็นหมวดหมู่ชัดเจน เห็นควรจัดทำสังคายนา จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์

              ในการจัดทำสังคายนาเป็นงานใหญ่ ต้องจัดเตรียมสถานที่ จัดคณะสงฆ์ผู้ทรงภูมิอรหันต์เข้าร่วม 500 รูป ต้องเตรียมอาหารถวายสงฆ์ตลอดเวลาสังคายนา เป็นต้น จะเห็นว่าเป็นงานใหญ่ พระมหากัสสปะเถรเจ้า ผู้อาวุโสในหมู่พระอรหันตสาวก พระอุบาลีเถรเจ้า พระอานนท์เถรเจ้า จึงได้ถวายพระพรต่อ พระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ ถึงเหตุผลในการทำสังคายนาพระธรรมวินัย

              พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาทรงเล็งเห็นคุณประโยชน์ในการปกครอง แผ่นดินมคธและชาวโลกในอนาคตข้างหน้า จึงทรงรับเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก จึงตรัสว่า "ฝ่ายธรรมจักรเป็นธุระของพระผู้เป็นเจ้า ฝ่ายอาณาจักรเป็นธุระของโยม" การประชุมสงฆ์ล้วนพระอรหันตสาวกทั้งสิ้น เพื่อทำสังคายนา ณ ถ้ำสัตบรรคูหา จนสำเร็จ

              จะเห็นว่าพระสงฆ์ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง นำการเมือง, อิงการเมือง รวมทั้งการเทศน์สอนแนะนำให้ธรรมะนำการเมือง ให้นายกรัฐมนตรี, หัวหน้าพรรคฯ, นักการเมืองต่างๆ รู้แจ้งในปรมัตถธรรมและถือมั่นในอุดมการณ์แห่งชาติ คือ ชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อความเข้มแข็งมั่นคงของชาติและความผาสุกของปวงชน

 

ที่มา.-http://74.125.153.132


**************************

กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖
ไป Web ศูนย์ฝึกอบรมคอมพิวเตอร์วัดท่าไทร