ุกฎหมายกับพุทธศาสนา
โดย... พระไพศาล วิสาโล



              ในอดีตกฎหมายกับพุทธศาสนามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก ทั้งนี้เพราะรัฐไทยอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นขึ้นไปมิได้มองว่าโลกกับธรรมแยกออกจากกันเหมือนสมัยนี้ หน้าที่ของพระมหากษัตริย์มิได้มีเพียงแค่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรเท่านั้น หากยังทรงมีหน้าที่ในทางศีลธรรมเพื่อชักนำและกำกับประชาชนให้เจริญงอกงามในทางธรรมะด้วย แม้มิใช่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่คิดเช่นนั้น แต่นี้ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากพระมหากษัตริย์ ตัวอย่างเห็นได้จากพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า “ทุกวันนี้ตั้งพระทัยแต่ที่จะทำนุบำรุงวรพระพุทธศาสนาไพร่ฟ้าประชากรให้อยู่เย็นเป็นสุข ให้ตั้งอยู่ในคติธรรมทั้ง ๔ ดำรงจิตจัตุรัสบำเพ็ญศีลทาน จะได้สุคติภูมิมนุษย์ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติเป็นประโยชน์แก่ตน”

              กฎหมายสมัยก่อนส่วนหนึ่งจึงมีหน้าที่กำกับผู้คนให้มีศีลธรรมในชาตินี้และเข้าถึงสุคติในชาติหน้าด้วย กฎหมายหลายฉบับถูกตราขึ้นโดยอ้างถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะกฎแห่งกรรม

              อาทิเมื่อทรงตราพระราชกำหนดห้ามมิให้ราษฎรล่วงประเวณี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพรรณนาถึงความน่ากลัวของนรกที่ผู้ละเมิดศีลจะต้องประสบเป็นเวลาหลายหมื่นปี ในทำนองเดียวกันเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงตรากฎหมายห้ามซื้อและสูบฝิ่น เหตุผลที่ยกมากล่าวอ้างก็คือ ผู้ที่สูบฝิ่นเมื่อตายไปจะต้องได้รับทุกขเวทนาในนรกอเวจีเป็นเวลานาน และเมื่อพ้นไปจากนรกแล้ว ยังต้องไปเกิดเป็นเปรตอีก ขนบดังกล่าวยังสืบต่อมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงตราประกาศสงกรานต์ ก็ทรงเตือนว่า “ถ้าบุคคลผู้ใดมิได้รักษาศีลห้าประการแล้วทำบาปสิบสี่ตัว อกุศลกรรมบถสิบประการ ผู้นั้นครั้นตายก็จะไปตกอบายภูมิเป็นเทียวแล”

              อย่างไรก็ตามเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของรัฐ หน้าที่ของผู้ปกครองได้เปลี่ยนไป รัฐมิได้มีหน้าที่นำพาผู้คนพ้นนรก เข้าถึงสวรรค์ และมุ่งสู่นิพพานอีกต่อไป ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่านิพพานเป็นสิ่งที่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะหวังได้ ขณะเดียวกันก็ทรงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนรกสวรรค์ในชาติหน้า (หรือวิธีที่ใช้นรกสวรรค์มาใช้เป็นเหตุผล) หากทรงให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่สัมผัสและเข้าถึงได้ในชาตินี้มากกว่า ทัศนะดังกล่าวซึ่งได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์และความคิดแบบเหตุผลนิยมได้ส่งผลกระทบต่อตัวบทกฎหมายทั้งในรัชกาลนี้และรัชกาลต่อ ๆ มา การอ้างกฎแห่งกรรม นรกสวรรค์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่มาแทนที่คือการอ้างประโยชน์หรือความจำเป็นต่อบ้านเมืองในการออกกฎหมายต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งกฎหมายนับแต่สมัยรัชกาลที่สี่มีลักษณะแบบโลกๆย์ ๆ (secular) มากขึ้น เส้นแบ่งระหว่างโลกกับธรรมปรากฏชัดเจนขึ้นทั้งในทางการปกครองและกฎหมายนับแต่นั้น

              ตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา กฎหมายกับพุทธศาสนาได้เหินห่างจากกันเป็นลำดับ กฎหมายมิได้มีหน้าที่ทางศีลธรรม หากมุ่งเพื่อประโยชน์ทางโลกล้วน ๆ โดยเฉพาะการตอบสนองประโยชน์ในทางอำนาจและโภคทรัพย์ เงินตราได้เข้ามีอิทธิพลครอบงำกฎหมาย ทั้งในแง่เป้าหมายและกระบวนการออกกฎหมาย การตราและแก้ไขกฎหมายจำนวนไม่น้อยเป็นไปเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ในขณะที่สิ่งจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ถูกมองข้ามไป และบางครั้งกลับเป็นภัยต่อปัจจัยเหล่านั้น ตัวอย่างล่าสุดคือความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อทำให้คาสิโนเป็นสิ่งถูกกฎหมาย เช่นเดียวกับที่ได้ทำให้หวยเถื่อนกลายเป็นสิ่งถูกต้องมาแล้ว

              ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นก็คือการตอบสนองประโยชน์เฉพาะของคนบางกลุ่มบางเหล่าที่ได้เปรียบในสังคมอยู่แล้ว ทั้งโดยเพศ โดยฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนมีบางท่านกล่าวว่ากฎหมายไทยนั้น “สวมกางเกงและใส่โรเล็กซ์” นั่นคือให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ชายและคนรวย (ซึ่งรวมไปถึงคนที่มีการศึกษาสูง ๆ ด้วย) แม้ถูกตัดสินว่าผิดข้อหาฆ่าภรรยา แต่จำเลยอาจไม่ต้องติดคุกด้วยเหตุผลว่าเป็นดอกเตอร์หรือเป็นครูบาอาจารย์ แต่คนจนที่ขโมยอาหารมาให้ลูกกลับติดคุกเป็นเดือน ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับว่าสวนทางกับความชอบธรรมและไม่ถูกต้องกับหลักธรรม

              อันที่จริงไม่ถูกต้องทีเดียวนักหากจะพูดว่ากฎหมายปัจจุบันกับพุทธศาสนามิได้เกี่ยวข้องกันเลย ความเกี่ยวข้องนั้นมีอยู่ แต่มิใช่ในลักษณะที่กฎหมายรับใช้พุทธศาสนา หากเป็นการเข้ามาครอบงำพุทธศาสนามากกว่า ในอดีตพุทธอาณาหรือสังฆอาณามีความสำคัญชนิดที่กฎหมายบ้านเมืองมิอาจเข้ามาแทรกแซงได้ ในสมัยอยุธยาผู้ที่ทำผิดกฎหมายขั้นอุกฤษฏ์เช่นเป็นกบฏ หากหลบเข้ามาอยู่ในวัดหรืออุปสมบทเป็นภิกษุ พระราชอาญาย่อมไม่อาจเข้ามาจัดการได้ แต่ในปัจจุบันกฎหมายบ้านเมืองมีอำนาจถึงขั้นกำหนดว่าอะไรเป็นวัด อะไรเป็นสำนักสงฆ์ และอะไรที่เป็น “วัดเถือน” แม้อุปสมบทถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่ถ้ากฎหมายไทยไม่ยอมรับ ก็ไม่ถือว่าเป็นพระซ้ำร้ายอาจถูกกฎหมายเล่นงานข้อหาว่าแต่งกายเลียนแบบพระ

              การหวนกลับไปอดีตนอกจากเป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่ไม่สมควรด้วย กฎหมายในอดีตใช่ว่าจะเป็นแม่แบบที่ดี ก็หาไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่สมควรหรือไม่ที่กฎหมายกับธรรมพึงสอดคล้องกัน กฎหมายไม่ควรตอบสนองประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยที่ได้เปรียบ หากควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมความดีงามร่วมกันของคนทั้งสังคม ความไม่เป็นธรรมที่แฝงหรือเกิดจากกฎหมายมิใช่อะไรอื่นหากคือบ่อเกิดของความรุนแรง อันนำไปสู่การเบียดเบียน ทำร้าย และการประหัตประหารในที่สุด ทั้งระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มชน และระหว่างประเทศในที่สุด

              พุทธศาสนามองว่าสังคมที่ดีงามต้องเจริญงอกงามในสี่มิติ คือทางกาย ทางความสัมพันธ์ ทางจิตใจ และทางปัญญา กฎหมายที่ดีจักต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเจริญงอกงามทั้งสี่ มิใช่เน้นแต่ในเรื่องเม็ดเงินหรือเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังต้องคำนึงถึงสุขภาพกาย อันสัมพันธ์กับธรรมชาติแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ต้องเอื้อเฟื้อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลต่อกัน ไม่เอาเปรียบหรือล่วงละเมิดกันแม้จะต่างกันในทางเพศ ศาสนา เชื้อชาติ ฐานะทางเศรษฐกิจ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ตาม นอกจากนั้นก็ควรส่งเสริมให้เกิดสภาวะแวดล้อมทางสังคมและกายภาพที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะทางจิตใจ (คือผ่อนคลาย เป็นสุข ไม่เป็นโรคจิตหรือโรคเครียด) และเจริญเติบโตในทางปัญญา มิใช่ลุ่มหลงอยู่กับอบายมุขหรือบริโภคนิยม ใฝ่รู้ คิดชอบคิดเป็น

              แน่นอนว่าความเจริญงอกงามทั้งสี่ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ อาทิ เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องมีกฎหมายเป็นตัวรองรับร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย กฎหมายสามารถส่งเสริมให้เกิดระบบ สถาบัน และกลไกต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และสื่อสารมวลชน เพื่อเอื้อเฟื้อต่อการเจริญเติบโตในทางสี่มิติ โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงแค่ควบคุมกำกับพฤติกรรมของคนให้ทำหรือไม่ทำอะไรเท่านั้น ดูเหมือนว่าในทัศนะของคนจำนวนไม่น้อย กฎหมายจะส่งเสริมศีลธรรมในสังคมได้ก็ด้วยการตราข้อบังคับว่าต้องไม่ทำอะไรบ้าง (เช่น ไม่กินเหล้าหรือเที่ยวบาร์หากอายุยังไม่ถึงกำหนด) แต่นั่นเป็นเพียงด้านหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายด้านที่กฎหมายสามารถทำได้เพื่อเสริมสร้างศีลธรรมในสังคม อาทิ การส่งเสริมการรวมกลุ่มทำประโยชน์สาธรณะ หรือการรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน แทนที่จะทำให้ยุ่งยากมากขึ้น (เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสหกรณ์ ซึ่งในทัศนะของผู้นำหมู่บ้านหลายแห่ง เป็นอุปสรรคต่อการรวมกลุ่มเพราะมีกฎหยุมหยิม) การมี “พื้นที่ทำดี” ให้มาก ๆ เช่น ห้องสมุด สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ มิใช่ปล่อยให้ “พื้นที่ทำชั่ว”เกิดขึ้นเต็มไปหมด (เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ ศูนย์การค้า)

              กฎหมายกับพุทธศาสนาสามารถก้าวเดินไปด้วยกันได้ แม้จะไม่อ้างอิงกฎแห่งกรรม หรือนรกสวรรค์เลยก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่การมองให้เห็นสังคมและชีวิตที่ดีงามอย่างรอบด้าน ทั้งในทางกาย สังคม จิตใจ และปัญญา โดยอาศัยมาตรการทั้งบวกและลบ โดยการส่งเสริมโครงสร้างและกลไกต่าง ๆ ของสังคมควบคู่กับการควบคุมพฤติกรรมของบุคคล แต่จะทำเช่นนั้นได้กฎหมายต้องไม่ใช่เป็นเรื่องเทคนิคหรือเรื่องของผู้ชำนัญเฉพาะทางเท่านั้น หากต้องก้าวไปสัมพันธ์กับแวดวงอื่น ๆ ด้วย

ที่มา.-http://www.visalo.org/article/budKodmai.htm
ขอขอบคุณเจ้าของบทความไว้ ณ ที่นี้


กลับไปหน้า Web วัดท่าไทร
ไป Web สำนักงานเจ้าคณะภาค ๑๖

ไป Web ศูนย์พัฒนาคุณธรรมภาคใต้
ไป Web วิทยุชุมชนตำบลท่าทองใหม่
ไป Web ชมรมวีอาร์ร้อยเกาะสุราษฎร์ธานี