ทศชาติชาดก
เรื่องที่ ๑๐.เวสสันดรชาดก (อ่านว่า เวด-สัน-ดอน-ชา-ดก)

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มหาชาติ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงมหาชาติ ๑๓ กัณฑ์
ในสมาคมพระญาติศากยวงศ์และพระอริยสงฆ์

           เวสสันดรชาดก เป็นชาดกที่มีผู้รู้จักกันมาก เพราะตั้งแต่โบราณกาลมาทีเดียว ทีการเทศน์ที่เรียกกันว่า มหาชาติ ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งแต่งเป็นร่ายยาวด้วยท่วงทำนองอันเพราะพริ้ง และแต่ละกัณฑ์ทำนองไม่เหมือนกันเลย ซึ่งนักเทศมหาชาติ ทั้งหลายจะรู้จักกันดี มิใช่แต่เท่านั้น สมัยพระบรมโกศากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้แต่งมหาคำหลวง อันประกอบไปด้วยร่ายและโคลงเป็นทำนองสำหรับสวดให้ผู้ที่มาจำอุโบสถศีลฟัง ในโรงเรียนก็ใช้มหาชาติเป็นหนังสือเรียน ทั้งกลอนเทศน์และคำหลวง แต่ก็เฉพาะบางกัณฑ์เท่านั้น
ผู้ที่นิยมนับถือ เรื่องเวสสันดรกันมากนี้ เพราะมีเรื่องจากหนังสือฎีกามาลัยกล่าวไว้ว่า หากผู้ใดได้ฟังมหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ในวันเดียวและบูชาธูปเทียนดอกไม้ ๑.๐๐๐ เท่าจำนวนคาถานั้นแล้ว จะได้พบศาสนาพระศรีอาริย์ และศาสนาพระศรีอารีย์นั้นพรรณนาไว้อย่างวิเศษ เป็นต้นว่าผู้หญิงงดงามเสมอกันหมด จนกระทั่งลงจากเรือนแล้วจำกันไม่ได้ แม่น้ำลำคลองจะมีน้ำไหลขึ้นมาข้างหนึ่ง และไหลลงข้างหนึ่ง จึงทำให้เปี่ยมฝั่งอยู่เสมอ แผ่นดินก็ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อเรียบเป็นหน้ากลอง และอะไรอีกมากมาย เลยทำให้คนอยากพบศาสนาพระศรีอารีย์กันมาก
           พากเราหากประสงค์จะพบบ้างก็ไม่ยาก ฟังทศชาติให้จบในวันเดียว ตั้งใจให้ดีเหมือนในเรื่องนิทานแล้วก็จะได้พบศาสนาพระศรีอาริย์ ฯ
           
พระพุทธเจ้า สมัยเมื่อสมเด็จจากมหาวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ อันเป็นราชธานีแห่งมคธ ไปสู่นครกบิลพัสดุ์ แขวงสักกชนบทเพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยาโปรดพระญาติ มีพระเจ้าสุทโธทนพุทะบิดาเป็นประธาน อันพระกาฬุทายีเป็นผู้สื่อสารและนำเสด็จทรงประทับยังนิดครธาราม ไม่ห่างจากมหานคร ตามที่ศากยราชจัดถวายต้อนรับพร้อมด้วยหมู่พระภิกษุ์บริวารเป็นอันมาก (๑ แสน) ยังมีความยินดีให้แผ่ไปทั่วทั้งกบิลพัสดุ์ ในกาลนั้นความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้นเหตุให้ทรงประกาศเรื่องเวสสันดรชาดก

           โดยปกติ พระตถาคตเจ้าเสด็จสู่ ณ ที่ใดก็ย่อมเกิดความสุขสวัสดี ณ ที่นั้นเพราะอานุภาคแห่งคำสั่งสอนที่ตรัสประทานด้วยพระมหากรุณา อุปาเสมือนมหาเมฆหลั่งโปรยสายฝนอันเย็นฉ่ำลงมายังโลก ยังความอ้าวระอุของไอแดด ไอดินให้ระงับ ชุบชีพพฤกษชาติที่เหี่ยวเฉา ให้ฟื้นสู่ความตระการด้วยดอกช่อและก้านใบฉะนั้น แต่สำหรับกบิลพัสดุ์ดินแดนที่ทรงถือพระกำเนิด และเจริญวัยมามวลพระญาติและราษฎร์ประชาหาได้ยินดีพุทธวิสัย ธรรมมานุภาพไม่

           พระองค์ทรงอุบัติมา เป็นความหวังของคนทั้งแว่นแคว้น ทุกคนพากันรอคอยอย่างกระหาย ใคร่จะชมพระบารมีจักรพรรดิราช แต่แล้วท่ามกลางความไม่นึกฝันทรงอยู่ในพระเยาว์กาล เกศายังดำสนิทไม่มีร่องรอยแห่งสังขาร เท่าที่สมบัติประจำวิสัยบุรุษจะพึงมี พระชายาสิริโฉมป็นเลิศ ให้กำเนิดโอรสอันเป็นสิริแห่งวงศ์ตระกูลอีกเล่า

           ทรงคงพิจารณาดังนี้ จึงเห็นว่ากิจอันควรก่อนอื่น คือทำรายความกระด้างล้างความถือดีเสียด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงกำเนิดจิตเจริญฌาน มีอภิญญาเป็นภาคพื้นลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศ เสด็จลิลาสจงกรมไปมาน่าอัศจรรย์ เพียงเท่านี้เองความคิดข้องใจที่ว่าใครอาบน้ำร้อนก่อนหลัง ก็เสื่อมสูญอันตรธาน พากันก้มเศียรคารวะ แสดงถึงยอมรับนับถืออย่างเต็มใจ เมื่อเสด็จลงประทับ ณ พุทธอาสน์เบื้องนั้น ฝนอันมหัศจรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลง ความมหัศจรรย์มีลักษณะดังนี้

           ๑. สีเม็ดน้ำฝน แดงเรื่อ เหมือนแก้วทับทิม
           ๒. ผู้ใดปรารถนาให้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนาแม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย
           ๓. ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด
           ๔. ตกลงเฉพาะสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย

คติในความมหัศจรรย์ โดยอุปมา เท่าที่คิดเห็นและประกาศแล้ว ในที่ทั่วไปดังนี้
           ข้อที่ ๑. สีของน้ำฝน ได้แก่สีโลหิตแห่งความชื่นชมยินดี วันนี้เป็นวันที่ศากยราชทั้งปวงรอคอย ก็สมหวังแล้ว เมื่อพระองค์เสด็จคืนกลับมา ให้เขาได้เห็นพระรูปพระโฉมจึงพอกันชื่นบานผิวพรรณก็ซ่านด้วยสายเลือดอย่างที่เรียกราศีของคนมีบุญว่า ผิวพรรณอมเลือดอมฝาด
           ข้อที่ ๒. ความชุ่มชื่นของสายฝน ก็ได้แก่พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงประกาศออกไป มีเหตุมีผลสมบูรณ์ด้วยหลักการ ถ้าผู้ใดตั้งใจฟังด้วยความเคารพธรรม ก็เข้าสัมผัสจิตสำนึก และสามารถจะปรับปรุงจิตของตนตามหลักแห่งเหตุผลนั้น จนกระทั่งจิตตั้งอยู่ในภาวะเยือกเย็นเหมือนผิวกายต้องละอองฝนแต่สำหรับบุคคลที่ฟังสักแต่ว่าฟังธรรมนั้นก็จะไม่กระทบใจ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาอุปมาด้วยฝนไม่เปียก
           ข้อที่ ๓. ปกติธรรมะเป็นของสะอาดไม่ก่อทุกข์โทษอันพึ่งรังเกียจ แก่ใครๆ ไม่ว่ากาลไหนๆ
           ข้อที่ ๔. พระพุทธจริยาครั้งนี้ ทรงมุ่งบำเพ็ญเฉพาะหมู่พระญาติ ศากยะล้วนๆ

           เมื่อเหล่าศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝนเย็นใจด้วยกระแสธรรมและกราบบังคมลา พากันกันคืนสู่พระราชนิเวศน์แล้ว แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เขตสนธยากาลแสงแดดอ่อนสาดฝ่าละอองฝน ที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับจะกลายเป็นยามอรุณ ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนลงเผลอ แม้นกบินกลับรวงรังอย่างลังเล

           วันนั้น พระภิกษุทั้งหลาย กำลังชุมนุมสนทนากัน ถึงฝนอันมหัศจรรย์ในเวลาเย็น พระพุทธองค์ ทรงเสด็จสู่วงสนทนาของภิกษุพุทธสาวก เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทศแห่งการสนทนานั้น ก็ทรงตรัสแย้มว่า ฝนนี้เรียกว่าฝนโบกขรพรรษ ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่ แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์นามว่า เวสสันดร ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมานั้นสิ อัศจรรย์ยิ่งกว่า
           ภิกษุทั้งหลายต่างพากันกราบทูลพรธมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง ซึ่งพระพุทธองค์เจ้าก็ทรงโปรด เรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็นสามสิบกัณฑ์ พันคาถา เรื่องของพระเวสสันดรโดยย่อมีดังต่อไปนี้

           ในสมัยก่อนมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง พระนามว่าสีพีราชเสวยราชสมบัติในกรุงสีพีราชบุรี มีพระโอรสพระองค์หนึ่งนามว่า สญชัย และให้ครองราชสมบัติเมื่อมีอายุสมควรแล้วได้อภิเษกกับพระนางผุสดีราชธิดากษัตริย์มัททราช
เรื่องของพระนางผุสดีนั้นก็เรื่องออกจะยืดยาว โดยกล่าวว่าเมื่อพระวิปัสสีพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว พระเจ้าพันธุมราชเสวยราชสมบัติอยู่ในพันธุมดีนคร มีเมืองขึ้นส่งดอกไม้ทอง และแก่นจันทร์มาถวายเป็นเครื่องบรรณการ พระองค์ก็ทรงพระราชทานดอกไม้ทองให้แก่ราชธิดาผู้น้อง ส่วนแก่นจันทร์แดงให้แก่ราชธิดาผู้พี่

           ราชธิดาทั้งสองนั้นเลื่อมใสในพุทธศาสนา ผู้น้องก็เอาดอกไม้ทองให้ช่างทำเป็นเครื่องประดับอก ซึ่งสมัยนี้ก็อาจจะทำเป็นจี้ห้อยคอก็เป็นได้ แล้วนำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า พร้อมกับตั้งปรารถนาไว้
“เกิดชาติหน้าฉันใด เมื่อข้าเกิดในชาติใดขอให้ดอกไม้ทองนี้จงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าทุกชาติ” ส่วนราชธิดาผู้พี่นั้น ให้เขาบดจันทร์แดงเป็นผง แล้วนำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า พร้อมกับตั้งความปรารถนาว่า
“หากข้าพเจ้าเกิดในชาติใด ๆ ขอให้ได้เป็นมารดาของพระพุทธเจ้าเถิด”

           ทั้งสองได้จุติจากชาตินั้น ผู้น้องได้ไปเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ากิงกิสราช มีเครื่องประดับอกเกิดพร้อมกับปฎิสนธิ เมื่อเจริญวัยได้ฟังเทศน์ของพระกัสสปพุทธเจ้าก็สำเร็จอรหันต์นิพพานในสมัยกาลนั้น ส่วนนางราชธิดาผู้พี่ ก็ได้มาเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ากิงกิสราชเหมือนกัน แต่ต่างมารดา จุติจากชาตินั้นแล้วก็ไปบังเกิดในดาวส์ดึงสวรรค์ เป็นมเหสีของท้าวอมรินทราธิราช ทรงพระนามว่า ผุสดี

           อยู่มาจนกระทั่ง วันหนึ่งท้าวอมรินทราราชได้เห็นว่าพระนางจะจุติลงไปแล้ว จึงพานางลงไปยังสวนนันทวัน เพื่อให้รื่นเริงไม่ระลึกถึงอะไร พอได้โอกาสก็ตรัสว่า “เจ้าจงไปเกิดในเมืองมนุษย์โลกแล้ว เราจะให้พรเจ้า ๑๐ ประการ” “ทำไมกระหม่อมฉันจะต้องลงไปเกิดในมนุษย์โลก” “เพราะว่าเจ้าสิ้นบุญของน้องที่จะอยู่ที่นี่แล้ว จงรับเอาพร ๑๐ ประการเถิด” เมื่อนางได้สดับก็คิดสลดใจ และได้ขอพรแก่ท้าวสหัสนัยดังนี้

           ๑. ขอให้ไปเกิดในปราสาทเมืองมัทราช
           ๒. ขอให้ตาข้าพเจ้าดำขลับดุจเนื้อทราย
           ๓. ขอให้ขนคิ้วข้าพเจ้าเขียวขำ เปรียบดุจสร้อยคอนกยูง
           ๔ .ขอให้ได้นามว่า ผุสดีเหมือนเดิม
           ๕. ขอให้มีโอรสที่ยิ่งใหญ่กว่าเจ้าพระยาทั้งหลายในสากลชมภูทวีป
           ๖. เมื่อทรงครรถ์อย่าให้ครรภ์ข้านูนเหมือนหญิงสามัญให้คงปกติราบเรียบเหมือนก่อน
           ๗. ถันของข้าพระองค์ยามเมื่อมีโอรสอย่าได้หย่อนยานและดำผิดไปจากเดิม
           ๘ ขอให้เกศาข้าพเจ้าดำขลับไม่รู้จักหงอก
           ๙. ขอให้ผิวกายข้าพระเจ้าบริสุทธิ์สอาด ธุลีหรือผงละอองไม่สามารถจะติดผิวกายอันละเอียดอ่อนนุ้มได้
           ๑๐. ขอให้ข้าได้ช่วยชีวิตผู้ที่ต้องราชอาญาได้

           รวมเป็นพร ๑๐ ประการ ที่พระนางทูลขอท้าวอมรินทร์ซึ่งท้าวเธอก็ปราสาทให้ดังประสงค์ พระนางก็จุติลงมาเกิดในปราสาทกษัตริย์มัททราช เมื่อประสูติออกมาแล้วพรทั้งปวงก็ปรากฎแก่นางเช่นกัน แต่ยังมีบางข้อซึ่งพระนางยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่สามารถจะมีพระสวามีได้ ครั้นพระชนม์ได้ ๑๖ ปี ก็เป็นมเหสีของพระเจ้าสญชัยกรุงสีพีราช สมเด็จท้าวอมรินทร์รู้ว่าพระนางผุสดีอภิเษกแล้ว ก็คิดว่าพรทั้ง ๑๐ ยังไม่สมบรูณ์แก่พระนาง จำจะต้องสงเคราะห์ เพื่อให้ได้พรครบบริบูรณ์ จำจะต้องอารักษ์ทั้งหลายพากันไปทูลเชิญอาราธนาพระโพธิสุตว์จากดุสิตลงสู่พระครรภ์ของพระนาง

           พระเจ้าสัญชัย ทรงครองราชสมบัติเมืองสีวี โดยมีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางผุสดี ธิดาพระเจ้า กรุงมัททราช พระนางผุสดีนี้ ในชาติก่อนๆ ได้เคยถวายแก่นจันทน์หอม เป็นพุทธบูชาและอธิษฐานขอให้ได้เป็น พุทธมารดาพระพุทธเจ้าในกาลอนาคต ครั้นเมื่อนางสิ้นชีวิตก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เมื่อถึงวาระ ที่จะต้องจุติมาเกิดในโลกมนุษย์ พระอินทร์ได้ประทานพรสิบประการแก่นาง
เมื่อพระนางทรงครรภ์ถ้วนทศมาสใกล้คลอด เกิดอยากจะเสด็จประพาสพระนคร จึงได้ทูลลาพระภัสดา ซึ่งท้าวสญชัยก็ตามพระทัยให้ เสด็จพระพาสโดยขบวน ตราบจนพระทั่งถึงตรอกพ่อค้า ก็เกิดปวดพระอุทรจะประสูติ พนักงานก็จัดที่ถวายพระนางก็ประสูติพระราชโอรส ณ ที่นั้น พระโอรสก็เลยได้พระนามว่า เวสสันดร ซึ่งแปลว่าระหว่างพ่อค้า พระโอรสจึงทรงพระนามว่า
เวสสันดร หมายถึง ในท่ามกลางระหว่าง ย่านค้าขาย พร้อมกับที่พระโอรสประสูติ ช้างต้นของ พระเจ้าสญชัยก็ตกลูกเป็นช้างเผือกเพศผู้ ได้รับชื่อว่า ปัจจัยนาค เป็นช้างต้น คู่บุญพระเวสสันดร
            เมื่อพระกุมารเวสสันดรทรงเจริญวัยขึ้น ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบริจาคทาน มักขอพระราชทานทรัพย์ จากพระบิดามารดา เพื่อบริจาคแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงขอให้พระบิดาตั้งโรงทานสี่มุมเมือง เพื่อบริจาคข้าวปลาอาหารและสิ่งของจำเป็น แก่ประชาชน และหากมีผู้มาทูลขอสิ่งหนึ่ง สิ่งใด พระองค์ก็จะทรงบริจาคให้โดยมิได้ เสียดาย ด้วยทรงเห็นว่า การบริจาคนั้น เป็นกุศลเป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ทั้งแก่ ผู้รับและผู้ให้ ผู้รับก็จะพ้นความเดือดร้อน ผู้ให้ก็จะอิ่มเอิบเป็นสุขใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น และยังทำให้พ้นจากความโลภความตระหนี่ ถี่เหนียวในทรัพย์สมบัติของตนอีกด้วย
            พระเกียรติคุณของพระเวสสันดรเลื่องลือไป ทั่วทุกทิศว่าทรงมีจิตเมตตาแก่ผู้อื่นมิได้ ทรงเห็นแก่ความสุขสบายหรือเห็นแก่ทรัพย์ สมบัติส่วนพระองค์ มิได้ทรงหวงแหนสิ่งใด ไว้สำหรับพระองค์ อยู่มาครั้งหนึ่ง ในเมืองกลิงคราษฏร์ เกิดข้าวยากหมายแพง เพราะฝนแล้ง ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ ราษฎรอดอยาก ได้รับความเดือนร้อนสาหัส ประชาชน ชาวกลิงคราษฏร์พากันไปเฝ้าพระราชา ทูลว่า ในเมืองสีวี นั้นมีช้างเผือกคู่บุญ พระเวสสันดร ชื่อว่า ช้างปัจจัยนาค เป็นช้างมีอำนาจพิเศษ ถ้าอยู่เมืองใด จะ ทำให้ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลพืชพันธุ์ จะบริบูรณ์ ขอให้พระเจ้ากลิงคราษฏร์ ส่งทูตเพื่อไปทูลขอช้างจาก พระเวสสันดร พระเวสสันดรก็จะทรงบริจาคให้เพราะ พระองค์ไม่เคยขัดเมื่อมีผู้ทูลขอสิ่งใด พระเจ้ากลิงคราษฏร์จึงส่งพราหมณ์แปดคน ไปเมืองสีวี ครั้นเมื่อพราหมณ์ได้พบ พระเวสสันดรขณะเสด็จ ประพาสพระนคร ประทับบนหลังช้างปัจจัยนาค พราหมณ์จึง ทูลขอช้างคู่บุญ เพื่อดับทุกข์ชาวกลิงคราษฏร์
            พระเวสสันดรก็โปรดประทานให้ตามที่ขอ ชาวสีวีเห็นพระเวสสันดรทรงบริจาคช้าง ปัจจัยนาคคู่บ้านคู่เมืองไปดังนั้น ก็ไม่พอใจ พากันโกรธเคืองว่า ต่อไปบ้านเมืองจะลำบาก เมื่อไม่มีช้างปัจจัยนาคเสียแล้ว จึงพากันไป เข้าเฝ้าพระเจ้าสญชัย ทูลกล่าวโทษ พระเวสสันดรว่าบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมือง แก่ชาวเมืองอื่นไป ขอให้ขับพระเวสสันดร ไปเสียจากเมืองสีวี
            พระเจ้าสญชัยไม่อาจขัดราษฏรได้ จึงจำ พระทัยมีพระราชโองการให้ขับพระเวสสันดร ออกจากเมืองไป พระเวสสันดรไม่ทรงขัดข้อง แต่ทูลขอพระราชทานโอกาสบริจาคทาน ครั้งใหญ่ก่อนเสด็จออกจากพระนคร พระบิดาก็ทรงอนุญาตให้ พระเวสสันดร ทรงบริจาค สัตสดกมหาทาน คือบริจาค ทานเจ็ดสิ่ง สิ่งละเจ็ดร้อย แก่ประชาชนชาวสีวี
            เมื่อพระนางมัทรี พระมเหสีของพระเวสสันดร ทรงทราบว่า ประชาชนขอให้ขับพระเวสสันดร ออกจาก เมือง ก็กราบทูลพระเวสสันดรว่า "พระองค์เป็นพระราชสวามีของหม่อมฉัน พระองค์เสด็จไปที่ใด หม่อมฉันจะขอติดตาม ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง มิได้ย่อท้อต่อความ ลำบาก ขึ้นชื่อว่าเป็นสามีภรรยาแล้ว ย่อมต้อง อยู่เคียงข้างกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่ายามสุข หรือทุกข์ โปรดประทานอนุญาติให้หม่อมฉัน ติดตามไปด้วยเถิด"
            พระเวสสันดรไม่ทรงประสงค์ให้พระนางมัทรี ติดตามพระองค์ไป เพราะการเดินทางไปจาก พระนครย่อม มีแต่ความยากลำบาก ทั้งพระองค์ เองก็ทรงปรารถนาจะเสด็จไปประทับบำเพ็ญ ศีลภาวนาอยู่ในป่าพระนางมัทรีไม่คุ้นเคยต่อ สภาพเช่นนั้น ย่อมจะต้องลำบากยากเข็ญทั้ง อาหารการกินและความเป็นอยู่ แต่ไม่ว่า พระเวสสันดรจะตรัสห้ามปรามอย่างไร พระนางก็มิยอมฟัง บรรดาพระประยูรญาติ ก็พากัน อ้อนวอนขอร้อง พระนางก็ยังทรงยืนกรานว่า จะติดตามพระราชสวามีไปด้วย
            พระนางผุสดีจึงทรงไปทูลขอพระเจ้าสญชัย มิให้ขับพระเวสสันดรออกจากเมือง พระเจ้า สญชัยตรัสว่า "บ้านเมืองจะเป็นสุขได้ก็ต่อ เมื่อราษฏรเป็นสุข พระราชาจะเป็นสุขได้ก็ เมื่อราษฏรเป็นสุข ถ้าราษฏรมีความทุกข์ พระราชาจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร ราษฏรพากัน กล่าวโทษพระเวสสันดรว่าจะทำให้บ้านเมือง ยากเข็ญ เราจึงจำเป็นต้องลงโทษ แม้ว่า พระเวสสันดรจะเป็นลูกของเราก็ตาม" ไม่ว่าผู้ใดจะห้ามปรามอย่างไร พระนางมัทรี ก็จะตามเสด็จพระเวสสันดรไปให้จงได้
            พระเจ้าสญชัยและ พระนางผุสดีจึงขอเอา พระชาลี พระกัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรไว้ แต่พระนางมัทรีก็ไม่ยินยอม ทรงกล่าวว่า "เมื่อชาวเมืองสีวีรังเกียจพระเวสสันดร ให้ขับไล่ไปเสียดังนี้ พระโอรสธิดาจะอยู่ ต่อไปได้อย่างไร ชาวเมืองโกรธแค้นขึ้นมา พระชาลีกัณหาก็จะทรงได้รับความลำบาก จึงควรที่จะออกจากเมือง ไปเสียพร้อม พระบิดาพระมารดา"

 


           
ในที่สุดพระเวสสันดร พร้อมด้วยพระมเหสี และโอรสธิดาก็ออกจากเมืองสีวีไป แม้ใน ขณะนั้นชาวเมือง ยังตามมาทูลขอรถพระที่นั่ง ทั้งสี่พระองค์จึงต้องทรงดำเนินด้วยพระบาทออก จากเมืองสีวีมุ่งไปสู่ป่า เพื่อบำเพ็ญพรตภาวนา ครั้นเสด็จมาถึงเมืองมาตุลนคร บรรดากษัตริย์ เจตราชทรงทราบข่าว จึงพากันมาต้อนรับ พระเวสสันดร ทรงถามถึงทางไปสู่เขาวงกต กษัตริย์เจตราชก็ทรงบอกทางให้และเล่าว่า เขาวงกตนั้นต้องเดินทางผ่าน ป่าใหญ่ที่เต็ม ไปด้วยอันตราย แต่เมื่อไปถึงสระโบกขรณีแล้ว ก็จะเป็นบริเวณร่มรื่นสะดวกสบาย มีต้นไม้ผล ที่จะใช้เป็นอาหารได้ นอกจากนี้กษัตริย์เจตราช ยังได้สั่งให้ พรานป่าเจตบุตร ซึ่งเป็นผู้ชำนาญ ป่าแถบนั้น ให้คอยเฝ้าระแวดระวังรักษาต้นทาง ที่จะไปสู่เขาวงกต เพื่อมิให้ผู้ใดไปรบกวน พระเวสสันตรในการบำเพ็ญพรต เว้นแต่ทูต จากเมืองสีวีที่จะมาทูลเชิญเสด็จกลับนครเท่านั้น ที่จะยอมให้ผ่านเข้าไปได้ เมื่อเสด็จไปถึงบริเวณสระโบกขรณีอันเป็นที่ ร่มรื่นสบาย พระเวสสันดร พระนางมัทรี ตลอดจน พระ โอรสธิดา ก็ผนวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตภาวนาอยู่ ณ ที่นั้น โดยมีพรานป่า เจตบุตรคอยรักษาต้นทาง ณ ตำบลบ้านทุนนวิฐ เขตเมืองกลิงคราษฏร์
           มีพราหมณ์เฒ่าชื่อ ชูชก หาเลี้ยงชีพด้วยการ ขอทาน ชูชก ขอทานจนได้เงินมามาก จะเก็บไว้ เองก็กลัวสูญหาย จึงเอาไปฝากเพื่อนพราหมณ์ไว้ อยู่มาวันหนึ่ง ชูชกไปหาพราหมณ์ที่ตน ฝากเงินได้ จะขอเงินกลับไป ปรากฎว่า พราหมณ์นั้นนำเงินไปใช้หมดแล้ว จะหา มาใช้ให้ชูชกก็หาไม่ทัน จึงจูงเอาลูกสาวชื่อ อมิตตดา มายกให้แก่ชูชก พราหมณ์กล่าว แก่ชูชกว่า "ท่านจงรับเอาอมิตตดาลูกสาว เราไปเถิด จะเอาไปเลี้ยงเป็นลูกหรือภรรยา หรือจะเอาไปเป็น ทาสรับใช้ปรนนิบัติก็สุด แล้วแต่ท่านจะเมตตา" ชูชกเห็นนางอมิตตดาหน้าตาสะสวย งดงามก็หลงรัก จึงพานางไปบ้าน เลี้ยงดู นางในฐานะภรรยา นางอมิตตดาอายุ ยังน้อย หน้าตางดงาม และมีความกตัญญู ต่อพ่อแม่ นางจึงยอมเป็นภรรยาชูชกผู้แก่ เฒ่า รูปร่างหน้าตาน่ารังเกียจ อมิตตดา ปรนนิบัติชูชกอย่างภรรยาที่ดีจะพึงกระทำ ทุกประการ นางตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร ดูแลบ้านเรือนไม่มีขาดตกบกพร่อง ชูชกไม่เคย ต้องบ่นว่าหรือตักเตือนสั่งสอนแต่ อย่างใดทั้งสิ้น ความประพฤติที่ดีเพียบพร้อมของนาง อมิตตดาทำให้เป็นที่สรรเสริญของบรรดา พราหมณ์ทั้งหลายในหมู่บ้านนั้น ในไม่ช้า บรรดาพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันตำหนิ ติเตียนภรรยาของตนที่มิได้ประพฤติตนเป็น แม่บ้านแม่เรือนอย่างอมิตตดา บางบ้านก็ถึง กับทุบตีภรรยาเพื่อให้รู้จักเอาอย่างนาง
           เหล่านางพราหมณีทั้งหลายได้รับความ เดือดร้อน ก็พากันโกรธแค้นนางอมิตตดา ว่าเป็นต้นเหตุ วันหนึ่ง ขณะที่นางไปตักน้ำ ในหมู่บ้าน บรรดานางพราหมณีก็รุมกัน เย้ยหยันที่นางมีสามีแก่ หน้าตาน่าเกลียด อย่างชูชก นางพราหมณีพากันกล่าวว่า "นางก็อายุน้อย หน้าตางดงาม ทำไมมา ยอมอยู่กับเฒ่าชรา น่ารังเกียจอย่างชูชก หรือว่ากลังจะหาสามีไม่ได้ มิหนำซ้ำยังทำ ตนเป็นกาลกิณี พอเข้ามาในหมู่บ้านก็ทำให้ ชาวบ้านสิ้นความสงบสุข เขาเคยอยู่กันมาดีๆ พอนางเข้ามาก็เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า หาความสงบ ไม่ได้ นางอย่าอยู่ในหมู่บ้านนี้เลย จะไปไหนก็ไปเสียเถิด" ไม่เพียงกล่าววาจาด่าทอ ยังพากันหยิก ทึ้งทำร้ายนางอมิตตดา จนนางทนไม่ได้ ต้องหนีกลับบ้านร้องไห้ มาเล่าให้ชูชกฟัง
            ชูชกจึงบอกว่า ต่อไปนี้นางไม่ต้องทำการ งานสิ่งใด ชูชกจะเป็นฝ่ายทำให้ทุกอย่าง นางอมิตตดาจึงว่า "ภรรยาที่ดีจะทำเช่นนั้น ได้อย่างไร จะปล่อยให้สามีมาปรนนิบัติรับใช้ เราทำไม่ได้หรอก ลูกหญิงที่พ่อแม่อบรมสั่งสอน มาดี ย่อมจะไม่นั่งนอนอยู่เฉยๆ ดีแต่ชี้นิ้วให้ผู้ อื่นปรนนิบัติตน นี่แน่ะ ชูชก ถ้าท่านรักเราจริง ท่านจงไปหาบริวารมาปรนนิบัติรับใช้เราดีกว่า"
            ชูชกได้ฟังดังนั้นก็อัดอั้นตันใจ ไม่รู้จะไปหา ข้าทาสหญิงชายมาจากไหน นางอมิตตดา จึงแนะว่า "ขณะนี้ พระเวสสันดรเสด็จออกมา จากเมืองสีวี มาทรงบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า เขาวงกต พระองค์เป็นผู้ใฝ่ในการบริจาคทาน ท่านจงเดินทางไปขอบริจาคพระชาลีกัณหา โอรสธิดาของพระเวสสันดรมาเป็นข้าทาส ของ เราเถิด" ชูชกไม่อยากเดินทางไปเลยเพราะกลัว อันตรายในป่า แต่ครั้นจะไม่ไปก็กลัวนาง อมิตตดาจะทอดทิ้ง ไม่ ยอมอยู่กับตน ในที่สุดชูชกจึงตัดสินใจเดินทางไปเขา วงกตเพื่อทูลขอพระชาลีกัณหา
            เมื่อไปถึงบริเวณปากทางเข้าสู่เขาวงกต ชูชกก็ได้พบพรานเจตบุตรผู้รักษาปากทาง หมาไล่เนื้อที่พราน เลี้ยงไว้พากันรุมไล่ต้อน ชูชกขึ้นไปจนมุมอยู่บนต้นไม้ เจตบุตรก็เข้า ไปตะคอกขู่ ชูชกนั้น เป็นคนมีไหวพริบ สังเกตดูเจตบุตรก็รู้ว่าเป็นคนซื่อสัตย์ มีฝีมือเข้มแข็ง แต่ขาดไหวพริบ จึงคิด จะใช้วาาจาลวง เจตบุตรให้หลงเชื่อ พาตนเข้าไปพบพระเวสสันดรให้ได้
            ชูชก จึงกล่าวแก่เจตบุตรว่า "นี่แนะ เจ้าพราน ป่าหน้าโง่ เจ้าหารู้ไม่ว่าเราเป็นใคร ผู้อื่นเขา จะเดินทางมาให้ยากลำบากทำไมจนถึงนี่ เรามาในฐานะทูต ของพระเจ้าสญชัย เจ้าเมืองสีวี จะมาทูลพระเวสสันดรว่า บัดนี้ชาวเมืองสีวีได้คิดแล้ว จะมาทูล เชิญเสด็จ กลับพระนคร เราเป็นผู้มาทูล พระองค์ไว้ก่อน เจ้ามัวมาขัดขวางเราอยู่ อย่างนี้ เมื่อไรพระเวสสันดรจะได้ เสด็จคืนเมือง"
            เจตบุตรได้ยินก็หลงเชื่อ เพราะมีความ จงรักภักดี อยากให้พระเวสสันดรเสด็จกลับ เมืองอยู่แล้ว จึงขอโทษชูชก จัดการหา อาหารมาเลี้ยงดูแล้วชี้ทางให้เข้าไปสู่อาศรม ที่พระเวสสันดรบำเพ็ญพรตภาวนา อยู่เมื่อ ชูชกมาถึงอาศรมก็คิดได้ว่า หากเข้าไปทูลขอ พระโอรสธิดาในขณะพระนางมัทรีอยู่ด้วย พระนางคงจะไม่ยินยอมยกให้เพราะความรัก อาลัยพระโอรสธิดา จึงควรจะรอจนพระนาง เสด็จไปหาผลไม้ในป่าเสียก่อน จึงค่อยเข้า ไปทูลขอต่อพระเวสสันดรเพียงลำพัง
            ในวันนั้น พระนางมัทรีทรงรู้สึกไม่สบาย พระทัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในตอนกลางคืน พระนางทรงฝันร้าย ว่า มีบุรุษร่างกายกำยำ ถือดาบ มาตัดแขนซ้าวขวาของพระนางขาด ออกจากกาย บุรุษนั้นควักดวงเนตร ซ้ายขวา แล้วยังผ่าเอาดวงพระทัยพระนางไปด้วย พระนางมัทรีทรงสังหรณ์ว่าจะมีเหตุร้าย เกิดขึ้น จึงทรง ละล้าละลังไม่อยากไปไกลจาก อาศรม แต่ครั้นจะไม่เสด็จไปก็จะไม่มีผลไม้ มาให้พระเวสสันดรและโอรส ธิดาเสวย พระนางจึงจูงโอรสธิดาไปทรงฝากฝังกับ พระเวสสันดรขอให้ทรงดูแล ตรัสเรียกหา ให้เล่นอยู่ ใกล้ๆ บรรณศาลา พร้อมกับเล่า ความฝันให้พระเวสสันดรทรงทราบ พระเวสสันดรทรงหยั่งรู้ว่าจะมีผู้มาทูลขอ พระโอรสธิดา แต่ครั้นจะบอกความตามตรง พระนางมัทรีก็คงจะทนไม่ได้ พระองค์เองนั้น ตั้งพระทัยมั่นว่าจะบริจาคทรัพย์สมบัติทุกสิ่ง ทุกประการในกายนอกกาย แม้แต่ชีวิตและ เลือดเนื้อของพระองค์ หากมีผู้มาทูลขอ ก็จะ ทรงบริจาคให้โดยมิได้ทรงเสียดายหรือหวาดหวั่น
            พระเวสสันดรจึงตรัสกับพระนางมัทรีว่าจะดูแล พระโอรสธิดาให้ พระนางมัทรีจึงเสด็จไปหา ผลไม้ในป่าแต่ลำพัง ครั้นชูชกเห็นได้เวลาแล้ว จึงมุ่งมาที่อาศรม ได้พบพระชาลีพระกัณหาทรงเล่นอยู่หน้าอาศรม ก็แกล้งขู่ ให้สองพระองค์ตกพระทัยเพื่อข่มขวัญ ไว้ก่อน แล้วชูชกพราหมณ์เฒ่าก็เข้าไปเฝ้า พระเวสสันดร กล่าว วาจากราบทูลด้วยโวหาร อ้อมค้อมลดเลี้ยว ชักแม่น้ำทั้งห้า เพื่อทูลขอ พระโอรสธิดาไปเป็นข้าช่วงใช้ ของตน พระเวสสันดรทรงมีพระทัยยินดีที่จะทรง กระทำบุตรทาน คือการบริจาคบุตรเป็นทาน อันหมายถึงว่า พระองค์เป็นผู้สละกิเลส ความหวงแหนในทรัพย์สมบัติทั้งปวง แม้กระทั่งบุคคลอันเป็นที่รัก ก็สามารถสละ เป็นทานเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่พระองค์ทรงผัดผ่อนต่อชูชกว่า ขอให้ พระนางมัทรีกลับมาจากป่า ได้ร่ำลาโอรสธิดา เสียก่อนชูชกก็ไม่ ยินยอม กลับทูลว่า "หากพระนางกลับมา สัญชาตญาณแห่งมารดา ย่อมจะทำให้พระนางหวงแหนห่วงใย พระโอรสธิดา ย่อมจะไม่ทรงให้พระโอรส ธิดาพรากจากไปได้ หากพระองค์ทรง ปรารถนาจะบำเพ็ญทานจริง ก็โปรดยก ให้หม่อมฉันเสียแต่บัดนี้เถิด"
            พระเวสสันดรจนพระทัยจึงตรัสเรียกหา พระโอรสธิดา แต่พระชาลีกัณหาซึ่งแอบฟัง ความอยู่ใกล้ๆ ได้ ทราบว่า พระบิดาจะยกตน ให้แก่ชูชก ก็ทรงหวาดกลัว จึงพากันไปหลบ ซ่อน โดยเดินถอยหลังลงสู่สระบัว เอาใบบัว บังเศียรไว้ ชูชกเห็นสองกุมารหายไป จึงทูล ประชดประชันพระเวสสันดรว่า ไม่เต็ม พระทัย บริจาคจริง ทรงให้สัญญาณสอง กุมารหนีไปซ่อนตัวเสียที่อื่น พระเวสสันดร จึงทรงต้องออกมาตามหาพระชาลีกัณหา ครั้นทอดพระเนตรเห็นรอยเท้าเดินขึ้นมา จากสระ จึงตรัสเรียกพระโอรสธิดาว่า "ชาลีกัณหา เจ้าจงขึ้นมาหาพ่อเถิด หากเจ้า นิ่งเฉยอยู่ พราหมณ์เฒ่าก็จะเยาะเย้ยว่าพ่อนี้ ไร้วาจาสัตย์ พ่อตั้งใจจะบำเพ็ญทานบารมี เพื่อสละละกิเลสให้บรรลุพระโพธิญาณ จะได้เป็นที่พึ่งแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ในภาย ภาคหน้า ให้พ้นจากทุกข์แห่งการเวียนว่าย ตายเกิด เจ้าจงมาช่วยพ่อประกอบการบุญ เพื่อบรรลุ ผล คือ พระโพธิญาณนั้นเถิด" ทั้งสองกุมารทรงได้ยินพระบิดาตรัสเรียก ก็ทรงรำลึกได้ถึงหน้าที่ของบุตรที่ดี ที่ถึง เชื่อฟังบิดามารดา รำลึกได้ถึงความ พากเพียรของพระบิดาที่จะประกอบ บารมีเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส ทั้งยังรำลึกถึง ขัตติยมานะว่าทรงเป็น โอรสธิดากษัตริย์ ไม่สมควรจะหวาดกลัว ต่อสิ่งใด จึงเสด็จขึ้นมาจากสระบัว

 


           
พระบิดาก็จูงทั้งสองพระองค์มาทรงบริจาค เป็นทานแก่ชูชก ชูชกครั้นได้ตัวพระชาลีกัณหาเป็นสิทธิ ขาดแล้ว ก็แสดงอำนาจฉุดลากเอาสอง กุมารเข้าป่าไป เพื่อจะให้ เกิดความยำเกรง ตน พระเวสสันดรทรงสงสารพระโอรสธิดา แต่ก็ไม่อาจทำประการใดได้ เพราะทรง ถือว่า ได้บริจาคเป็นสิทธิแก่ชูชกไปแล้ว ครั้นพระนางมัทรีทรงกลับมาจากป่า ในเวลาพลบค่ำ เที่ยวตามหาโอรสธิดา ไม่พบ ก็มาเฝ้าทูลถามจาก พระเวสสันดร พระเวสสันดรจะทรงตอบความจริงก็เกรงว่า นางจะทนความเศร้าโศกมิได้ จึงทรงแกล้ง ตำหนิว่า นางไปป่าหาผลไม้ กลับมาจน เย็นค่ำ คงจะรื่นรมย์มากจนลืมนึกถึง โอรสธิดาและสวามีที่คอยอยู่ พระนางมัทรี ได้ทรงฟัง ก็เสียพระทัย ทูลตอบว่า "เมื่อหม่อมฉันจะกลับอาศรม มีสัตว์ ร้ายวนเวียนดักทางอยู่ หม่อมฉันจะมา ก็มามิได้จนเย็นค่ำ สัตว์ร้ายเหล่านั้น จึงจากไป หม่อมฉันมีแต่ความสัตย์ซื่อ มิได้เคยจึกถึงความสุขสบายส่วนตัวเลย แม้แต่น้อยนิด บัดนี้ลูกของหม่อมฉันหายไป จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็มิทราบ หม่อมฉัน จะเที่ยวติดตามหาจนกว่าจะ พบลูก"
            พระนางมัทรีทรงออกเที่ยวตามหาพระชาลี กัณหาตามรอบบริเวณศาลา เท่าไรๆ ก็มิได้ พบจนในที่สุด พระนางก็สิ้นแรง ถึงกับสลบไป พระเวสสันดรทรงเวทนา จึงทรงนำน้ำเย็นมา ประพรมจนนางฟื้นขึ้น ก็ ตรัสเล่าว่าได้บริจาค โอรสธิดาแก่พราหมณ์เฒ่าไปแล้ว ขอให้ พระนางอนุโมทนาในทานบารมีที่ทรงกระทำ ไปนั้นด้วยบุตรทานที่พระราชสวามีทรงบำเพ็ญ และมีพระทัยค่อยบรรเทาจากความโศกเศร้า
            ฝ่ายท้าวสักกะเทวราชทรงเล็งเห็นว่า หากมี ผู้มาทูลขอพระนางมัทรีไป พระเวสสันดร ก็จะทรงลำบาก ไม่อาจบำเพ็ญเพียรได้เต็ม ความปรารถนา เพราะต้องทรงแสวงหาอาหาร ประทังชีวิต ท้าวสักกะจึงแปลงองค์เป็นพราหมณ์ มาขอรับบริจาคพระนางมัทรี พระเวสสันดร ก็ทรงปิติยินดีที่จะได้ประกอบทารทานคือการ บริจาคภรรยาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น พระนาง มัทรีก็ทรงเต็มพระทัยที่จะได้ทรงมีส่วนในการ บำเพ็ญทานบารมีตามที่พระเวสสันดร ทรงตั้งพระทัยไว้

 


           
เมื่อได้รับบริจาคแล้ว ท้าวสักกะก็ทรงกลับ คืนร่างดังเดิม และตรัสสรรเสริญอนุโมทนา ในกุศลแห่งทาน บารมีของพระเวสสันดร แล้วถวายพระนางมัทรีกลับคืนแด่พระเวสสันดร พระเวสสันดรจึงได้ทรงประกอบบุตรทารทาน อันยากที่ผู้ใดจะกระทำได้ สมดังที่ได้ตั้งพระทัย ว่าจะบริจาคทรัพย์ของพระองค์ เพื่อประโยชน์ แก่ผู้อื่น โดยปราศจากความหวงแหนเสียดาย
            ฝ่ายชูชกพาสองกุมารเดินทางมาในป่า ระหกระเหินได้รับความลำบากเป็นอันมาก และหลงทางไปจนถึง เมืองสีวี บังเอิญผ่าน ไปหน้าที่ประทับพระเจ้าสญชัย ทรงทอด พระเนตรเห็นพระนัดดาทั้งสองก็ทรงจำได้ จึงให้เสนาไปพาเข้ามาเฝ้า ชูชกทูลว่า พระเวสสันดรทรงบริจาคพระชาลีกัณหา ให้เป็นข้าทาสของตนแล้ว
            บรรดาเสนาอำมาตย์และประชาชนทั้งหลาย ต่างก็พากันสงสารพระกุมารทั้งสอง และ ตำหนิพระเวสสันดรที่มิได้ทรงห่วงใย พระโอรสธิดา พระชาลีเห็นผู้อื่นพากัน ตำหนิติเตียนพระบิดา จึงทรงกล่าวว่า "เมื่อพระบิดาเสด็จไปผนวชอยู่ในป่า มิได้ทรงมีสมบัติใดติดพระองค์ไป แต่ทรงมีพระทัยแน่วแน่ที่จะ สละกิเลส ไม่หลงใหลหวงแหนในสมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้บุคคลอันเป็นที่รักก็ย่อมสละได้เพื่อประโยชน์ แก่ผู้อื่น เพราะทรงมีพระทัยมั่นในพระโพธิญาณ ในภายหน้า ความรัก ความหลง ความโลภ ความโกรธ เป็นกิเลสที่ขวางกั้นหนทางไปสู่ พระโพธิญาณ พระบิดาของหม่อมฉันสละกิเลส ได้ดังนี้จะมาตำหนิติเตียน พระองค์หาควรไม่"
            พระเจ้าสญชัยได้ทรงฟังดังนั้นก็ยินดี จึงตรัสเรียกพระชาลีให้เข้าไปหา แต่พระชาลี ยังคงประทับอยู่กับ ชูชก และทูลว่า พระองค์ ยังเป็นทาสของชูชกอยู่ พระเจ้าสญชัยจึงขอไถ่ สองกุมารจากชูชก พระชาลี ตรัสว่า พระบิดา ตีค่าพระองค์ไว้พันตำลึงทอง แต่พระกัณหานั้น เป็นหญิง พระบิดาจึงตีค่าตัวไว้สูง เพื่อมิให้ ผู้ใดมาไถ่ตัวหรือซื้อขายไปได้ง่ายๆ พระกัณหา นั้นมีค่าตัวเท่ากับทรัพย์เจ็ดชีวิตเจ็ดสิ่ง เช่น ข้าทาส หญิงชาย เป็นต้น สิ่งละเจ็ดร้อย กับทองคำอีกร้อยตำลึง
            พระเจ้าสญชัยก็โปรดให้เบิกสมบัติท้องพระคลัง มาไถ่ตัวพระนัดดาจากชูชก และโปรดให้จัด ข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูชูชก เพื่อตอบแทนที่พา พระนัดดากลับมาถึงเมือง ชูชกพราหมณ์เฒ่าขอทาน ไม่เคยได้บริโภค อาหารดีๆ ก็ไม่รู้จักยับยั้ง บริโภคมาจนทนไม่ไหว ถึงแก่ ความตายในที่สุด

           พระเจ้าสญชัยโปรด ให้จัดการศพแล้วประกาศหาผู้รับมรดกก็หา มีผู้ใดมาขอรับไม่ หลังจากนั้น พระเจ้าสญชัย จึงตรัส สั่งให้จัดกระบวนเสด็จเพื่อไปรับ พระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับคืนสู่ เมืองสีวี เพราะบรรดาประชาชนก็พากันได้คิดว่า พระเวสสันดรได้ทรงประกอบทานบารมี อันยิ่งใหญ่ กว่าทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อประโยชน์ แห่งผู้คนทั้งหลาย หาใช่เพื่อพระองค์เองไม่ เมื่อกระบวนไปถึงอาศรมริมสระโบกขรณี กษัตริย์ทั้งหกก็ทรงได้พบกันด้วยความโสมนัส ยินดี
            พระเจ้าสญชัยจึงตรัสบอกพระเวสสันดร ว่าประชาชนชาวสีวีได้เห็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว และพากันร่ำร้องได้ ทูล เชิญเสด็จกลับเมืองสีวี พระเวสสันดร พระนางมัทรี และพระชาลี กัณหาจึงได้เสด็จกลับเมือง


            พระเจ้าสญชัย ทรงอภิเษก พระ เวสสันดรขึ้นครองเมืองสืบ ต่อไป ครั้นได้เป็นพระราชาแห่งสีวี แล้ว พระเวสสันดรก็ทรงยึดมั่นในการประกอบ ทานบารมี ทรงตั้งโรงทานบริจาคเป็นประจำ ทุกวัน
            ชาวเมืองสีวีตลอดจนบ้านเมืองใกล้เคียง ก็ได้รับพระ เมตตากรุณา มีความร่มเย็นเป็นสุข ชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันมิได้โลภ กระหายในทรัพย์สมบัติ ต่างก็มีจิตใจผ่องใสเป็น สุข เหมือนดังที่พระเวสสันดรทรงตั้งพระปณิธาน ว่า พระองค์จะทรงบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น ด้วยทรัพย์ทั้งหลาย ทำให้เกิดกิเลส คือความโลภ ความหลงหวงแหน เมื่อบริจาคทรัพย์แล้ว ผู้รับก็จะได้ประโยชน์ จากสิ่งนั้น และมีความชื่นชม ยินดี ผู้ให้ก็จะ อิ่มเอมใจว่าได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เกิดความ ปิติยินดีเช่นกัน ทั้งผู้ให้และผู้รับย่อมได้รับ ความสุขความพึงพอใจดังนี้

 
คติธรรม : บำเพ็ญทานบารมี
            สั่งสอนให้คนเราเพียรประกอบคุณความดีโดยมิท้อถอย หากรู้จักสละทรัพย์บริจาคทานเนื่องนิจ ก็จะเป็นที่สรรเสริญทั่วไป คนโลภ คนจิตบาปหยาบร้าย ก็ต้องได้รับทุกข์ภัย เพราะการกระทำของตัวเองเหมือนกับชูชกนั้นเอง