คู่มือทำความดี
เรียบเรียงโดย น. พึ่งพระธรรม

             คนดี เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของสังคม ดังนั้นทุกคนจึงอยากจะเป็นคนดี มีเยาวชนของชาติเป็นจำนวนมากอยากจะทำความดี แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำความดีอย่างไร จะรอให้คนทำของตกแล้วเก็บไปคืนเจ้าของรึก็นานๆ จะมีสักรายหนึ่ง

             ใครๆ ก็อยากจะเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้นเพราะเมื่อเป็นคนดีแล้ว ก็จะได้ผลตอบแทน เช่น 1. อยากจะอยู่ที่ไหน ก็อยู่ได้สบาย เพราะมีคนอยากให้อยู่ 2. อยากจะไปไหน ก็ไปได้สะดวก เพราะมีคนอยากให้ไป 3. อยากจะทำอะไร ก็ทำสำเร็จ เพราะมีคนอยากช่วยเหลือ แต่ก็มีเพียงบางคนเท่านั้นที่เป็นคนดีได้ เยาวชนส่วนใหญ่ถึงแม้อยากจะเป็นคนดี สักเท่าใดก็เป็นไปได้ เพราะเหตุว่า มีการเริ่มต้นที่ไม่ถูกและไม่ทราบว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นคนดีควรเริ่มต้นที่ตรงไหน

             การจะเป็นคนดีได้สำเร็จ จะต้องเริ่มต้นที่การเป็น “ลูกดี” ถ้าเป็นลูกที่ดีได้ก็เป็นคนดีสำเร็จ ถ้าเป็นลูกดีไม่ได้ ก็เป็นคนดีไม่สำเร็จ

             ฉะนั้น คนจะดีจึงต้องเริ่มต้นที่การเป็นคนดี คุณสมบัติของลูกดี มี 2 ประการ คือ 1. เห็นคุณค่าและความสำเร็จของพ่อแม่ 2. ปฏิบัติตอบต่อพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกกเวที ลูกทุกคนโปรดทราบเถิดว่า ไม่มีใครในโลกนี้ จะมีคุณค่าต่อเราเท่าพ่อและแม่ เพราะท่านให้สิ่งที่คนทั้งหลายให้แก่เราไม่ได้ คือ 1. ให้ความมีชีวิตแก่เรา 2. ให้ความเมตตากรุณาอย่างสุดซึ้ง ไม่มีวันสิ้นสุด ในยามที่เราผิดหวังหรือมีทุกข์ 3. ให้ความยินดีจากใจจริง เมื่อคราวที่เราได้ดีมีสุข 4. ให้ความรักจริง จริงใจแก่ลูก ๆ ทุกคน จริงอยู่คนรักเรามีมากมาย แต่ความรักของคนทั้งหลายเหล่านั้น รักเพราะเขาต้องการสิ่งตอบแทนจากเรา ถ้าเขาต้องการจากเรามาก เขาก็รักเรามาก ถ้าเขาต้องการจากเราน้อย ก็รักเราน้อย ถ้าเขาหมดความต้องการ เขาก็หมดรักเรา ความรักจากคนอื่นจึงมีได้หมดได้มากหรือน้อยตามกำลังแห่งความต้องการของเขา แต่ความรักของพ่อแม่เป็นรักแท้ ไม่ได้รักเพราะต้องการสิ่งใดจากเรา ท่านรักเราเพื่อความสำเร็จของเรา อันเป็นความปรารถนาสูงสุดของท่าน ในเวลาที่เราตกระกำลำบาก อาจจะมีหลายคนมาแสดงความเสียใจกับเราหรือมาปลอบเรา บางคนก็ทำโดยมารยาท หรือธรรมเนียมประเพณีเท่านั้น ใจของเขาอาจจะสมน้ำหน้าเราก็ได้ แต่คนที่จริงใจ ไม่ทอดทิ้ง ติดตามเราไปได้ทุกแห่งหน จะลำบากยากแค้นประการใด ก็ทนได้ จะหมดเปลืองเท่าใดก็ยอมได้ มีเฉพาะพ่อกับแม่ของเราเท่านั้นที่ไม่มีวันทอดทิ้งเรา ในเวลาที่เราได้ดี ประสบความสำเร็จมีความสุขความเจริญ อาจมีคนมากมายมาดีใจกับเรา บางคนก็ดีใจเพราะคิดว่า เขาอาจจะได้ส่วนแบ่งจากความสำเร็จของเราบ้าง หรือบางคนมาแสดงความยินดี แต่อาจจะมีความริษยาปนอยู่บ้างก็ได้ แต่คนที่ดีใจจริง ๆ ดีใจจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่ไดก็คือ พ่อกับแม่ของเรานั่นเอง พ่อกับแม่ดีใจ เพราะความมุ่งหมายของท่านต้องการเห็นเราเป็นเช่นนี้มานานแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงที่ลูกทุกคนได้รับจากพ่อแม่ เพราะฉะนั้น พ่อแม่จึงเป็นคนประเสริฐของลูกทั้งหลาย

             การคิดถึงคุณค่าและความสำคัญของ พ่อแม่ดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็น “เชื้อแห่งความดี” ของชีวิต และเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น “คนดี”

             ดังนั้น สิ่งที่ลูกดี ควรประพฤติปฏิบัติตอบแทนคุณของท่านก็คือ
              1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ ให้ความสุขกายสบายใจแก่ท่าน แม้เป็นลุกยังเล็กอยู่ในวัยเป็นนักเรียน นักศึกษาอยู่ก็สามารถเลี้ยงดูน้ำใจของท่านได้ อย่าให้ท่านทุกข์ใจ เสียใจ กลุ้มใจ เพราะการกระทำของเรา

             2. ช่วยเหลือในกิจการงานของท่าน

             โดยการปฏิบัติการทำงานตามที่ท่านใช้ให้ทำ การแบ่งเบาภารกิจของท่าน ด้วยการรับงานซึ่งเป็นภาระอันหนักของท่านไปทำ เป็นต้น

             3. ดำรงวงศ์สกุล
             สกุลนั้นมีบุคคลเกี่ยวข้องอยู่เป็นอันมาก บุตรธิดาแห่งสกุลใด เมื่อเกิดมาร่วมวงศ์สกุลกับบุคคลอื่นจะต้องมีความสำนึกรับผิดชอบต่อสกุลวงศ์ แม้ตระกูลจะเสื่อมทรามตกต่ำลงไป ก็ต้องไม่ใช่เกิดจากการกระทำของตน ฉะนั้น บุตรธิดาที่พึงปรารถนาก็คือ บุตรธิดาที่ดำรงวงศ์สกุล กับบุตรธิดาที่เชิดชูวงศ์สกุลทำสกุลให้สูงขึ้น ดำรงวงศ์สกุลก็คือ การรักษาสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ ของสกุลเอาไว้ไม่ให้เสื่อมในยุคในสมัยของตน

             4. ประพฤติตนให้เป็นคนเหมาะควรแก่การไว้เนื้อเชื่อใจของพ่อแม่ที่จะรับทรัพย์มรดกสืบต่อวงศ์สกุลไปได้
             ให้พ่อแม่มีความมั่งใจว่า แม้ท่านจะตายไปแล้ว ฐานะของสกุลก็คงไม่ตกต่ำ ลูกสามารถรักษาไว้ได้

             5. เมื่อบิดามารดาตายจากไป ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้ เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อท่านผู้เป็นบิดามารดา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นการบูชาต่อความดีของมารดาบิดา เป็นการสะสมบุญให้เพิ่มพูนขึ้นมาอีกเป็นอันมาก

             ฉะนั้นหน้าที่เหล่านี้จึงเป็นหน้าที่โดยกำเนิดของทุกชีวิตที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าละเลยหรือไม่ประพฤติปฏิบัติก็ได้ชื่อว่าเป็นคนอกตัญญูต่อหน้าที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า คนดีทำความดีได้ง่าย แต่ทำความชั่วได้ยาก คนชั่วทำความชั่วได้ง่าย แต่กลับทำความดีได้ยาก คน กับ มนุษย์ นั้นต่างกัน มนุษย์ คือ สัตว์โลกที่มีจิตใจสูง มีเหตุผล มีศีลธรรม ส่วนคน คือ สัตว์โลกที่มีจิตใจต่ำ ไม่มีศีลธรรม ไม่มีเหตุผล

             คำว่า มนุษยธรรม จึงแปลว่า ธรรมะที่ทำคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อพัฒนาจิตใจจากคนขึ้นมาเป็นมนุษย์ได้ก็คือการเป็นคนดีนั่นเอง ที่นี้ ทำอย่างไรจึงจะเป็นคนดีได้ตลอดไป

             1.ต้องฝึกตนเองให้เป็นคนมีเมตตา ไม่ข่มเหงรังแกสัตว์ ไม่ทรมานสัตว์ ไม่กักขังหน่วงเหนี่ยวให้หมดอิสรภาพ ไม่ยกย่องสรรเสริญคนที่ประทุษร้ายสัตว์เมื่อจิตเราพัฒนาขึ้นจนเกิดเมตตาในสรรพสัตว์หวังความสุขความเจริญแก่คนและสัตว์ทั้งหลายจนเคยชินเป็นปกตินิสัยแล้ว จะทำให้เรามีจิตใจสูงขึ้น จนไม่คิดอยากจะข่มเหงรังแกเพื่อนหรือผู้ที่อ่อนแอกว่าเรา

             2. คือ เว้นจากการลักขโมยทรัพย์ สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ในที่ใดก็ตาม คิดเตือนใจเตือนตนไว้เสมอว่า เราหวงแหนในทรัพย์สิ่งของ ๆ เราอย่างไร คนอื่นเขาก็หวงแหนในทรัพย์สิ่งของ ๆ เขาเหมือนเราเช่นกัน ตั้งใจไว้ให้มั่นคงตลอดไปว่า เราจะไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ และจะไม่ใช้ให้ผู้อื่นทำแทนเราด้วย และจะไม่ยกย่องสรรเสริญคนที่ทำเช่นนั้นด้วย
             3. มีความซื่อสัตย์จริงใจ โอบอ้อมอารี ต่อเพื่อนร่วมชั้น ร่วมโรงเรียน หรือเพื่อนนักเรียน นักศึกษาต่างโรงเรียน ต่างสถาบันทุกคน และไม่ยกย่องสนับสนุนผู้ที่ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ผู้ที่คิดทรยศหักหลังเพื่อนฝูง ถ้าหากได้ฝึกตนให้มีปกตินิสัยได้ดังกล่าวมานี้แล้ว เมื่อผ่านวัยเด็กจบการศึกษาเล่าเรียนเจริญเติบโตจนถึงวัยมีเหย้าเรือน ก็จะเป็นคนดีมีนิสัยที่ซื่อสัตย์ต่อคู่ครองของตน วิถีชีวิตก็จะพบแต่ความสันติสุขตลอดไป

             4. งดเว้นจากการพูดเท็จ คำไม่จริงโกหก หลอกลวง
             พูดเฉพาะคำสัตย์คำจริง พูดไปตามที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ทราบ ได้รู้มาอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้น หากไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้ทราบ ไม่รู้ ก็ปฏิเสธไป โดยไม่พูดขยายเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก นอกจากจะไม่พูดปดด้วยตนเองแล้ว จะต้องไม่สนับสนุนหรือยกย่องสรรเสริญให้คนอื่นพูดปดด้วย ฝึกฝนให้มีปกตินิสัยติดตัวก็จะสามารถดำรงตนอยู่ในสัจจะวาจาอย่างมั่นคง

             5. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด คำส่อเสียด
             คือการนำความข้างนี้ไปบอกข้างโน้นนำความข้างโน้มมาบอกข้างนี้ เพื่อต้องการให้คนสองฝ่ายแตกแยกกัน ทะเลาะกัน การมีเจตนาเช่นนี้ อาจจะเกิดจากความโลภในผลประโยชน์ที่ตนจะได้จากคนทั้งสองฝ่ายหรือความโกรธต้องการทำลายคนทั้งสองฝ่าย หรือมีความต้องการให้สะใจ ต้องการดูคนแตกแยกกัน มีลักษณะเป็นสัญชาตญาณดิบในใจของสัตว์โลก คือชอบดูความเดือดร้อนของคนอื่น สัตว์อื่น ในทางปฏิบัตินอกจากจะงดเว้นไม่พูดลักษณะนั้นแล้ว จะต้องไม่ส่งเสริมให้คนอื่นพูด และไม่ยกย่องคนที่พูดเช่นนั้นด้วย จะพูดเฉพาะในทางที่ส่งเสริมความสามัคคี ด้วยความรักความเมตตา หวังดีต่อคนอื่นเป็นสำคัญ

             6. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
             คำหยาบ คือคำพูดที่พูดด้วยความโกรธ ความริษยา ความเบียดเบียน มุ่งให้เกิดความวิบัติเสื่อมเสียไม่สบายกายใจแก่คนที่ตนพูดด้วย เช่น คำด่าในลักษณะต่าง ๆ แต่ในเรื่องคำหยาบนั้นบางกรณีถ้อยคำอาจจะหยาบ แต่เจตนาแล้วมุ่งในธรรม มุ่งสั่งสอน เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนอื่นที่ตนพูดด้วยเป็นคนดี เช่น มารดา บิดา ครู อาจารย์ กัลยาณมิตร ตำหนิด่าว่าคนอันเป็นที่รักของตน เมื่อคนเหล่านั้นทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ท่านไม่จัดเป็นคำหยาบ เพราะเป็นคำพูดที่เกิดจากความเมตตา ความหวังดี การงดเว้นวาจาหยาบนั้น นอกจากไม่พูดด้วยตนเองแล้ว ต้องไม่แนะนำให้คนอื่นพูด ไม่ยกย่องชมเชยคนที่พูดคำหยาบด้วย และฝึกฝนตนเองให้เป็นคนพูดวาจาที่ไพเราะอ่อนหวานเป็นปกตินิสัย

             7. งดเว้นการพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้สาระ
             คำเพ้อเจ้อนั้น คือคำพูดที่ไม่มีเหตุผลไม่เป็นอรรถเป็นธรรม ทั้งคนพูดคนฟังเสียเวลาไปโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่คนทั่วไปจะนิยมคำพูดในลักษณะนี้มาก คนดีนั้นนอกจากจะไม่พูดเพ้อเจ้อด้วยตนเอง ยังไม่สนับสนุนคนอื่นให้พูดเพ้อเจ้อด้วย ทั้งไม่ยกย่องชมเชยให้ความสำคัญแก่คนที่พูดในลักษณะนี้ด้วย เมื่อถึงคราวที่ตนจะพูดก็พูดเฉพาะเรื่องที่มีประโยชน์แก่ผู้ฟัง ที่ท่านเรียกว่า มีวาจาเป็นสุภาษิต

             8. ไม่เพ่งเล็งโลภอยากได้ของเขาในทางทุจริต
             ต้องฝึกฝนอบรมปรับสภาพจิตของเราให้สามารถควบคุมความโลภไว้ได้ อย่าให้ถึงกับโลภอยากได้ของ ๆ คนอื่นในทางที่ไม่ชอบไม่ควร มีคนเป็นส่วนมากที่เข้าใจผิดในคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนไม่ให้โลภ เมื่อไม่โลภแล้วจะรวยได้อย่างไร จริงอยู่พระพุทธองค์ทองสอนให้ละความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ถ้าผู้ใดยังละไม่ได้ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคลผู้นั้นเอง มิใช่เป็นเรื่องเสียหาย ถ้าหากว่าผู้นั้นรู้จักควบคุมความโลภของตนให้อยู่ในขอบเขตที่ชอบที่ควร ไม่ถึงกับโลภอยากได้ของ ๆ คนอื่นในทางที่ผิด หรือโลภมากเกินขอบเขต คิดรวยทางลัดถึงกับค้าขายของเถื่อน ของเสพติดที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น ก็ต้องเดือดร้อนแน่นอน อย่าลืมว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คนทั้งหลายหมั่นขยันในการประกอบอาชีพในทางสุจริต ทรงชี้ให้เห็นโทษของความเกียจคร้านทำการงาน หากต้องการจะได้ทรัพย์สิน เงินทอง ลาภ ยศ ก็ใช้ความพยายามแสวงหาเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาในทางสุจริตชอบด้วยกฎหมาย จะได้ว่ากี่ร้อยล้าน กี่พ้นล้าน ก็ไม่เสียหายไม่ผิดศีลผิดธรรมแต่ประการใด เพราะได้มาในทางสุจริต ทรงสอนให้พัฒนาจิตของตนให้อยู่ในศีลในธรรม มีความพร้อมที่จะเสียสละ บริจาค สงเคราะห์คนทั้งหลายด้วยความเมตตากรุณา มีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่โอบอ้อมอารีต่อคนทั้งหลาย ที่เรียกว่าเป็นคนมีน้ำใจงามนั่นเอง

             9. ไม่คิดพยาบาทปองร้ายใคร
             แน่นอนในขั้นมิได้หมายความว่าสามารถละความโกรธได้เด็ดขาด แต่ว่าแม้จะโกรธ ไม่พอใจ ไม่ยินดี หรือหงุดหงิดไปบ้าง ก็ไม่ถึงกับเก็บเรื่องเหล่านั้นมาเป็นเรื่องที่ต้องอาฆาต พยาบาท คิดจองล้างจองผลาญ ทำลายล้างกัน สามารถควบคุมอารมณ์ข่มใจได้ มีความพร้อมที่จะอดทนให้อภัย รอคอย และพิจารณาเห็นความจริงตามกฎของกรรม จนถึงสามารถมองเห็นความจริงว่า เวรย่อมไม่สงบระงับไปเพราะการจองเวร แต่จะสามารถสงบไปได้เพราะการไม่จองเวร แม้คนอื่น จะจองเวรกับเรา ก็ไม่สนใจที่จะจองเวรตอบ จนสามารถพัฒนาจิตใจให้เปี่ยมด้วยเมตตาในคนในสัตว์ทั้งหลายเป็นปกตินิสัย

             10. มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม
             ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะความเห็นชอบประเภทที่เรียกว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาอันเห็นชอบในกฎแห่งกรรมเท่านั้น คำว่า กรรม เป็นคำกลาง ๆ แปลว่า การกระทำ ทำดีก็เรียกว่า กรรมดี หรือ กุศลกรรม ทำชั่วก็เรียกว่า กรรมชั่ว หรือ อกุศลกรรม ทั้งกรรมดีกรรมชั่วนี้ ทำได้ 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ (คิด) คำว่า วิบาก หรือ ผลของกรรม ก็คือ ผลที่เกิดจากการกระทำทั้ง 3 ทาง ดังกล่าวนั่นเอง ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เรารับประทานอาหารเป็นกรรม ความอิ่มเป็นผลของกรรม (คือ วิบากของการรับประทาน) แล้วความอิ่มก็เป็นของเรา คนอื่นจะอิ่มแทนเราไม่ได้ จึงเป็นกฎตายตัวเลยว่า ใครก็ตามที่ทำกรรมแล้วจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมเสมอ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และให้คิดอยู่เสมอว่า

             “เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น”

             ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นี้เป็นกฎความจริงธรรมดาที่จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เราปลูกต้นมะม่วงก็จะออกผลมาเป็นมะม่วง จะเป็นผลมะพร้าวไปไม่ได้

             มีผู้คิดอย่างคนพาลว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป นั้นไม่จริงหรอก คนที่พูดอย่างนี้ เพราะเขาทำความดีไม่เป็น ไม่เข้าใจว่าการทำความดีนั้นจะต้องทำให้ ถูกดี ถึงดี และ พอดี ถูกดี ก็คือ ทำดีให้ถูกกาละเทศะให้ถูกจังหวะ และพอเหมาะพอสม ถึงดี ก็คือ ทำดียังไม่ทันถึงดี ก็เบื่อหน่ายเกียจคร้านเลิกทำดีเสียแล้ว พอดี ก็คือ บางคนทำดีเกินพอดี ล้ำหน้าเพื่อนฝูงเอาเด่นเอาดังเพียงคนเดียว อย่างนี้จะดีได้อย่างไร การทำความดีนั้น นอกจากจะต้องรู้กาละเทศะ และโอกาสที่เหมาะสมแล้ว ยังจะต้องดูความเกี่ยวข้องกับบุคคลกับกลุ่มคนกับสังคมด้วย การวางตัวดีตามความเหมาะสมอย่างตอนนี้ต้องให้ของ ตอนนี้ต้องพูดจากัน ตอนนี้ต้องช่วยเหลือในกิจการงาน เป็นต้น และต้องไม่มีลักษณะอันใดส่อให้เห็นว่า ออกจะประเจิดประเจ้อมากไป เสนอหน้ามากไปหน่อย สรุปว่าเรื่องของการทำความดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าอะไรมันเกิน ๆ เลย ๆ ไปก็ไม่ดี เพราะในสังคมคนธรรมดา มีคนบางพวกพร้อมที่จะทำลาย พร้อมที่จะคอยจับผิดอยู่ อย่างที่หลวงวิจิตรวาทการท่านว่า

                          “อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี
                          แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
                          จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
                          ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”

             จงพิจารณาให้เห็นความจริง เรื่องกฎของกรรมตามที่กล่าวมาแล้วว่า “ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” เพราะอะไร ก็เพราะว่าทำความดีมันจะดูดดีเข้ามา ทำความชั่วมันก็จะดูดชั่วเข้ามาเช่นกัน เรียกว่า ดีดูดดี ชั่วดูดชั่ว ตามกฎของแรงดึงดูดในทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง เช่น แม่เหล็กมันก็จะดูดได้แต่เหล็ก จะไม่ดูดไม้หรือวัตถุอื่น ๆ ซึ่งมีอญูต่างกัน เราทำแต่ความดีมีความซื่อสัตย์สุจริตขยันขันแข็งในการทำงาน ไปทำงานที่ไหน บริษัทห้างร้านไหนก็ยินดีรับเข้าทำงานทั้งนั้น นี่คือ ดีดูดดี ดูดทั้งงาน ดูดทั้งเงิน ดูดเจ้านายผู้บังคับบัญชาให้มารักใคร่เอ็นดู อันเป็นผลของการทำความดีนั่นเอง

             ในทางตรงกันข้าม คนที่สร้างความชั่วไว้มาก ๆ ก็เป็นแรงดึงดูดเหมือนกัน แต่มันดูดเอาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาให้มาทำลายตน เช่น ดูดเอาความเกลียดชัง ดูดเอาโทษทัณฑ์ ดูดเอาโซ่ตรวน คุกตะราง ดูดลูกปืน ลูกระเบิด เป็นต้น บางคนที่ร้ายมาก ๆ สามารถดูดเอาตำรวจทั้งโรงพักให้วิ่งตามไปจับ ไปทำลาย ก็มี นี่คือ ชั่วดูดชั่ว ซึ่งเป็นผลของการทำความชั่ว ดังนั้น เราทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ก็ตาม จะเชื่อเถิดว่า ถ้าได้กระทำความชั่วแล้วจะไม่ได้รับผลชั่วที่เป็นบาปเป็นทุกข์นั้นเป็นไปไม่ได้ จะต้องได้รับแน่ ๆ เร็วหรือช้าเท่านั้น ถึงแม้ชาตินี้ผลกรรมชั่วยังไม่ให้ผลก็จะต้องได้รับในชาติต่อ ๆ ไปอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มทำความดี ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติโดยสม่ำเสมอจนเป็นปกตินิสัยแล้ว นั่นก็คือเราได้พัฒนาจิตของเราให้สูงขึ้น เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ และจะเป็นคนดีได้ตลอดไปด้วย การกระทำใด ๆ ที่เป็นความชั่ว การกระทำอย่างไรที่เป็นความดี ทางใดให้ผลเป็นความสุข และความทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้วโดยวิธีการต่าง ๆ ขอเพียงแต่เราทั้งหลายพยายามเป็นผู้รู้ด้วยปัญญาอันชอบ เว้นการทำความชั่วทั้ง 10 ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จนสามารถปลุกตนให้ตื่น เกลียดกลัวอำนาจของความชั่ว ดำรงชีวิตอยู่ในโลกร่วมกับคนอื่นด้วยการทำแต่ความดี ทั้งทางกาย ทางวาจาและใจ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเมตตากรุณา ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรกัน ละการใช้อารมณ์และใช้เหตุผลตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ก็จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สมความปรารถนาด้วยกันทุกคน และอย่างลืมว่า ...... ความดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง

............................................................

คัดลอกจากหนังสือ “คู่มือทำความดี” น. พึ่งพระธรรม เรียบเรียง
สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ รพ.ตากสิน
พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ........
คัดลอกและเผยแผ่โดย http://www.watthasai.net