เหตุการณ์ในอดีตประจำเดือน มกราคม
รวมเรื่องราวที่เกิดในอดีตทุกเดือนเพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจศึกษา ค้นคว้า
โดย... พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร จ.สุราษฎร์ธานี


เกร็ดน่ารู้.-

- มกราคม เป็นเดือนแรกของปี ตามปฏิทินเกรกอเรียน และเป็นหนึ่งในเดือน ๗ เดือนที่มี ๓๑ วัน
- ตามหลักโหราศาสตร์ เดือนมกราคมเริ่มต้นขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีมกร และสิ้นสุดเมื่อยกเข้าสู่ราศีกุมภ์ แต่ในทางดาราศาสตร์ ต้นเดือนมกราคมดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู และไปอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเลในปลายเดือน
- เดือนมกราคมในภาษาอังกฤษ January มาจากเทพเจ้าโรมันนามว่า Janus ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งประตูทางผ่าน การเริ่มต้น และการสิ้นสุด ปฏิทินโรมันดั้งเดิมที่เริ่มต้นปีในเดือนมีนาคมมีเดือนเพียง ๑๐ เดือน (๓๐๔ วัน) โดยไม่มีเดือนในช่วงฤดูหนาว ต่อมาได้มีการเพิ่มเดือน ๒ เดือน คือ เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ทำให้ ๑ ปีมี ๑๒ เดือน ประเทศไทยเริ่มใช้ชื่อเดือนมกราคมในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นผู้เสนอให้ใช้ราศีกำหนดชื่อเดือน
- ตรุษจีน - ตรงกับวันแรกในเดือนแรกของปฏิทินจีน ซึ่งตรงกับวันเดือนดับครั้งแรกหลังจากเหมายัน อาจตรงกับเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์
- วันเสาร์ที่ ๒ - วันเด็กแห่งชาติ

วันเด็กแห่งชาติ เด็กเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของชาติ เป็นพลังสำคัญที่จะพัฒนาชาติให้เจริญ ก้าวหน้าและมั่นคง เด็กจึงต้องขยันศึกษาหาความรู้ ประพฤติตนให้เป็นคนดี มีความขยันขันแข็งในการทำงาน ตระหนักถึงอนาคตของตนและชาติ เพื่อเป็นเด็กดีของชาติ

กิจกรรม ทุกปีเมื่อถึงวันเด็กแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรดประทานพระคติธรรม และนายกรัฐมนตรี จะมอบคำขวัญวันเด็กให้กับเด็กไทย ส่วนกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ก็จะเป็นงานที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน มีการจัดงานเพื่อความรู้ ความบันเทิง การจัดนิทรรศการ การประกวดวาดภาพ การร้องเพลง เป็นต้น

ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพ อาจจัดการประกวดสุขภาพเด็ก มีกิจกรรมเพื่อให้เด็กมีความรู้ ทัศนคติ และมีการปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีต่อไป

หน่วยประสานงาน คณะกรรมการการจัดงานวันเด็กแห่งชาติของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ

๑ มกราคม วันขึ้นปีใหม่, วันวชิราวุธ, วันแห่งการป้องกันอุบัติเหตุ

๑ มกราคม ๒๔๒๓

วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ พระองค์ได้รับสมัญญานามว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”

วันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคมเป็นวันสิ้นปี ต่อเนื่องกับวันที่ ๑ มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ (New Year Day) ตามสากลนิยม ประชาชนทุกชาติทุกภาษาจะมีการเฉลิมฉลองในวันนี้

กิจกรรม เช่น ทำความสะอาด ทำบุญให้ทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา เยี่ยมเยียน บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ขอพร – รับพร มอบของขวัญ ส่งบัตรอวยพร อย่าลืมรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุและอุบัติภัยด้วย ทั้งอุบัติภัยในบ้าน เช่น ไฟไหม้ อุบัติภัยจากการจราจรและอุบัติภัยจากการเฉลิมฉลองต่างๆ

๑ มกราคม ๒๔๓๕

หมอยอร์ช บี. แมคฟาร์แลน (อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม) เริ่มกิจการโรงเรียนแพทย์ศิริราช ท่านยังมีเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย สมิทพรีเมี่ยร์ อันเป็นเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรก และมีพจนานุกรม (ดิคชั่นนารี) อีก ๒ เล่มคือ ฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยและภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ และยังเขียนตำราแพทย์ให้นักเรียนใช้อีกด้วย

๑ มกราคม ๒๔๕๔

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานธงประจำกอง (ธงชัยเฉลิมพล)แก่กรมทหารรักษาวัง พื้นธงสีแดงมีรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนบนแท่น มุมธงมีอักษรย่อ”วปร”

๑ มกราคม ๒๔๖๙

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานพระรามที่๖ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรก อยู่ตอนเหนือขึ้นไปใกล้จังหวัดนนทบุรี เขตตำบลบางกรวย

๑ มกราคม ๒๔๘๔

เป็นวันเริ่มใช้วันขึ้นปีใหม่ ๑ มกราคมเพื่อให้เหมือนกับนานาอารยประเทศ จากเดิมใช้วันที่ ๑ เมษายน ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงมีแค่ ๙ เดือน คือนับตั้งแต่๑ เมษายน ๒๔๘๓ สิ้นปี ๓๑ ธันวาคม ๒๔๘๓

๑ มกราคม ๒๔๘๘

ไทยได้ยินยอมลงนามในความตกลงสมบูรณ์แบบ เพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรและอินเดีย รวมทั้งบันทึกแลกเปลี่ยนระหว่างไทยกับ ออสเตรเลีย เพื่อเลิกสถานะสงคราม ความตกลงสมบูรณ์แบบมี ๒๔ ข้อ เน้นเรื่องการถอนกำลังทหารออกจากสหรัฐไทยเดิม และสี่รัฐมาลัย การคืนดินแดนให้อังกฤษ และไทยต้องส่งข้าวจำนวน๑.๕ ล้านตันให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า

๒ มกราคม ๒๔๘๒

โรงเรียนสอนคนตาบอดแห่งแรกในประเทศไทย กำเนิดขึ้นโดย มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์(Genevieve Colfield) สตรีตาบอดชาวอเมริกัน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด

๒ มกราคม ๒๔๘๘ สะพานพระรามหก ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร

สะพานพระราม ๖ เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียวที่เรามี่อยู่ นับเป็นจุดยุทธศาสตรอีกแห่งหนึ่งที่ยังไม่ถูกทิ้งระเบิด ไทยเราและญี่ปุ่นต่างก็รุ้ดีว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งสพานนี้จะต้องถูกทิ้งระเบิดเป็นแน่ แต่ก็คงไม่รู้จะทำไง และจะป้องกันอย่างไรได้ ก็ได้แต่ป่าวร้องให้ประชาชนละแวกใกล้เคียงอพยพออกไปที่อื่นเสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง ถ้าสะพานนี้ถูกทิ้งระเบิดจะทำให้การขนส่งทางรถไฟไปจังหวัดทางตะวันตกเช่นนครปฐม,ราชบุรี,กาญจนบุรี ตลอดจนจังหวัดต่าง ๆ ใต้ลงไปจนสุดแดนต้องหยุดชงักสิ้นเชิง สำหรับญี่ปุ่นนั้น มีความหมายมากเพราะจะทำให้การส่งยุทธสัมภาระไปทำศึกทางด้านพะม่าต้องถูกตัดขาด ไปอีกทางหนึ่ง แม้จะยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือสถานีรถไฟบางกอกน้อยแต่ก็อาจจะถูกทิ้งระเบิดได้อีกทุกเมื่อ ยิ่งจะทำให้การลำเลียงเหล่าชเลยศึกไปช่วยสร้างทางรถไฟสายไปพะม่าต้องหยุดชงักไปด้วย พวกเขาจึงเร่งรีบในการขนย้ายดังกล่าวแล้วทวีมากขึ้นเพื่อแข่งกับเวลาที่จะถูกทิ้งระเบิดเมือไหร่ก็ไม่รู้

แต่ฝ่ายสัมพันธมิตร เลือกจะทิ้งระเบิดสพานพระราม ๖ ก่อน ดังนั้น หลังจากการทิ้งระเบิดสพานพุทธฯแล้วไม่นาน วันหนึ่ง, วันที่มีท้องฟ้ากระจ่างในตอนบ่าย ๆ ฝูงบินทิ้งระเบิดทางใกล คือฝูงบิน B๒๙ จากฐานทัพใกลโพ้น เข้ามาปฏิตบัติการนี้ มันมาด้วยกัน รวม ๓ ฝูง ๆ ละ ๓ ลำ เข้า มาทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือหลังเสียงสัญญาณภัยทางอากาศดังเพียงไม่นานนัก ไม่ปรากฏเสียงปืนต่อสู้อากาศยานของเรายิงต่อสู้แต่อย่างใด และไม่ปรากฏว่ามีเครื่องบินของเราหรือญี่ปุ่นขึ้นขัดขวางแม้แต่ลำเดียว เครื่องบินเหล่านี้สีขาวเหมือนกันทุกลำ ยามเมื่อลำตัวของพวกมันสะท้อนแสงอาทิตย์ จะเกิดเเสงแว๊บว๊าบมาเข้าตาพวกเราจนต้องหันหลบไปทางอื่นก่อน นอกจากนี้ พวกมันยังบินเกาะหมู่กันด้วยความเร็วค่อนข้างช้า ในสายตาของพวกเรา ซึ่งความจริงมันไม่ได้ช้าเลย เมื่อระเบิดถูกหย่อนลงมา จะมีเสียงดังคว้าง ๆ บอกไม่ถูก ทราบภายหลังว่ากลุ่มระบิดถูกโซ่ผูกรวมกันไว้เป็นกลุ่มก้อน ยามเมื่อแหวกอากาศลงมาจึงเกิดเสียงดัง ๆ กล่าว ตามมาด้วยเสียงครืน ๆ ๆ ของระเบิดที่กระทบเป้าหมายเสียงเหล่านี้ดังแล้วดังเล่ายามเมื่อแต่ละเครื่องปล่อยระเบิดลงมาจนครบทุกฝูง แล้วพวกมันก็บินตามกันไปจนลับสายตา โดยไม่มีเครื่องบินลำอื่นใดมาโจมตีซ้ำอีก รวมเวลาที่พวกมันทิ้งระเบิดครั้งนี้ประมาณ ๑๕ นาทีเท่านั้นเอง

ข้อมูลเกี่ยวกับสุพานพระราม ๖

สะพานพระราม ๖ ซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครในเขตบางพลัด และจังหวัดนนทบุรีในอำเภอบางกรวย เหมือนสะพานพระราม ๗

สะพานพระราม ๖ เป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาสะพานแรกของประเทศไทย ลงนามในสัญญาก่อสร้าง เมื่อ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ เริ่มการก่อสร้างเมื่อ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ วางหีบพระฤกษ์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ โดย กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ติดต่อกัน

สะพานนี้ได้อำนวยประโยชน์ด้านการขนส่ง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองทางภาคใต้อย่างมาก ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (๒ มกราคม ๒๔๘๘) สะพานได้ถูกระเบิดทำลายเสียหายอย่างหนัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้ดำเนินการให้ทำการซ่อมแซมสะพานขึ้นใหม่ในปี ๒๔๙๓ ซึ่งลักษณะของสะพานที่ซ่อมใหม่นั้นแตกต่างจากของเดิมหลายประการ

โดยดัดแปลงจากสะพานรูปวอร์เรน ( Warren Type with Posts & Hangers )

ตัวสะพานมีความยาว ๔๔๔๒.๐๘ เมตร กว้าง ๑๐ เมตร สูงจากระดับน้ำ ๑๐ เมตร เรือขนาดธรรมดาสามารถลอดผ่านได้ บนสะพานมีทางรถไฟ ๑ สาย ทางหลวง ๑ สายทำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กและทางคนเดิน ๒ ฟากปูด้วยไม้อยู่นอกโครงสะพานด้านเหนือและด้านใต้

ในปัจจุบันสะพานพระราม ๖ ถูกใช้เป็นเส้นทางรถไฟอย่างเดียว ส่วนเส้นทางเดินรถยนตร์จะใช้สะพานพระราม ๗ แทน

ที่ตั้ง แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ๑๐๘๐๐

๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ ร.๖ ทรงวางศิลาฤกษ์ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๖ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการของ “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” (โรงเรียนมหาดเล็กเดิม) ต่อมาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ นี้ได้รับการจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย พระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ร.๕ ทั้งนี้ตึกบัญชาการดังกล่าวคือตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ต่อมาได้เปลี่ยนการสะกดชื่อเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ตาม พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๒๒

๓ มกราคม ๒๕๒๑

ตั้ง ค่ายพระยอดเมืองขวาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ ๓ จังหวัดทหารบกอุดร(ส่วนแยก ๒ นครพนม) อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม

๔ มกราคม ๒๓๐๙

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะทรงเป็นพระยาวชิรปราการ ทรงสู้รบกับทหารม้าของพม่าที่บ้านพรานนก(อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ได้ชัยชนะอย่างงดงาม

๕ มกราคม ๒๓๑๖

พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัยยกทัพต่อสู้ โดยถือดาบ ๒ เล่ม เข้าจ้วงพันพม่าอย่างไม่ลดละ จนดาบหักทั้ง ๒ เล่ม และทัพพม่าแตกกระเจิงไป เกียรติคุณพระยาพิชัยจึงเลื่องลือ และได้รับนามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก”

๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖

สหรัฐอเมริกาเริ่มก่อสร้างสะพาน Golden Gate ข้ามอ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ตัวสะพานยาว ๑,๒๘๐ เมตร กว้าง ๒๗ เมตร สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๗ เมตร มีทางรถยนต์ ๖ ทาง รถบรรทุก ๓ ทาง รถไฟ ๒ ทาง ใช้งบประมาณก่อสร้างราว ๓๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

๕ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๘ วันเกิด คิง แคมป์ จิลเลตต์ ชาวอเมริกันผู้คิดประดิษฐ์มีดโกนหนวดแบบใหม่

วันเกิด คิง แคมป์ จิลเลตต์ (King Camp Gillete) ชาวอเมริกันผู้คิดประดิษฐ์มีดโกนหนวดแบบใหม่ที่ปลอดภัยและไม่ต้องเสียเวลาลับ โดยร่วมมือกับ วิลเลียม นิกเคอร์สัน ออกแบบใบมีดโกนสองคมปลอดอันตรายแบบใช้แล้วทิ้ง ให้สวมเข้าในเดือยสำหรับยึดเกาะ และมีด้ามจับและหัวที่ปรับได้ ต่อมาทั้งสองได้ก่อตั้งบริษัทผลิตใบมีดโกนยี่ห้อ Gillette จนได้รับความนิยมไปทั่วโลกกระทั่งทุกวันนี้

๐๖ มกราคม พ.ศ. ๑๙๕๕ : วันเกิด โยน ออฟ อาร์ค วีรสตรีชาวฝรั่งเศส

๖ มกราคม พ.ศ. ๑๙๕๕

วันเกิด โยน ออฟ อาร์ค (Joan of Arc หรือภาษาฝรั่งเศส Jeanne d’Arc) วีรสตรีชาวฝรั่งเศส เธอเป็นคนเคร่งศาสนา วันหนึ่งได้ยินเสียงจากพระเจ้าให้เธอเป็นผู้ปลดปล่อยฝรั่งเศส และเธอก็ได้นำทัพไปทำสงครามกับอังกฤษ ต่อมาได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดและถูกกองทัพอังกฤษจับได้จึงถูกนำไปเผาทั้งเป็น ภายหลังจึงมีผู้ระลึกว่าโยนได้ช่วยทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญองค์หนึ่งในคริสตจักร

๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๖ : วันเกิด คาลิล ยิบราน ศิลปินชาวเลบานอน

วันเกิด คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) นักปรัชญา นักประพันธ์ กวี และศิลปินชาวเลบานอน ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า “วิลเลียมเบลคแห่งศตวรรษที่ ๒๐” งานชิ้นแรก ๆ ของยิบราน เป็นบทเขียนและบทกวีภาษาอาหรับ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือกวีนิพนธ์ชื่อ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งได้ถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า ๑ล้าน ภาษา และนิยมอ่านแพร่หลายกันทั่วโลก กล่าวได้ว่าผลงานของยิบรานได้มีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก

๖ มกราคม ๒๕๓๒

กองทัพอากาศ ได้จัดสร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์หนึ่ง ขนาดกว้าง ๕๐ เมตรสูง ๖๐ เมตร บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปบูชาจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า พระมหาธาตุนภเมทนีดล และได้น้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษาใน พ.ศ. ๒๕๓๐

๗ มกราคม : วันทหารแพทย์

วันทหารแพทย์ กรมแพทย์ทหารบกก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ ในรูปของกองแพทย์ กรมยุทธนาธิการ ตั้งอยู่ที่ถนนเจ้าฟ้า ปากครองหลอด เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรักษาพยาบาลทหารผู้ป่วย

กิจกรรม หน่วยสายแพทย์ของกองทัพบก อาจพิจารณารณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่หน่วยตั้งอยู่ หรือจัดกิจกรรมบริการทางการแพทย์อื่นๆ ตามความเหมาะสม

๗ มกราคม ๒๔๐๘

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเกล้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตที่วังหน้า พระชนมายุได้๕๘ พรรษา หลังจากทรงประชวรมา ๕ ปี

๗ มกราคม ๒๔๕๖

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาโรงเรียนเพาะช่างขึ้นโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนามาจากกองช่างแกะไม้ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อตอนปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะและพัฒนามาเป็น โรงเรียนเพาะช่าง ตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง สนองพระกรุณาธิคุณ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

๗ มกราคม ๒๔๘๔

เกิดกรณีพิพาทด้วยกำลังระหว่างไทยกับ ฝรั่งเศส รัฐบาลไทยได้ตั้ง จอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ใช้กำลังทหารปรับปรุงเขตแดนไทยและอินโดจีนฝรั่งเศส ผลปรากฎว่าไทยชนะ ได้ดินแดน ๔ จังหวัด คือเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ และนครจำปาศักดิ์ กลับคืนมาเป็นของไทย โดยมีญี่ปุ่นอาสาเข้ามาไกล่เกลี่ย

๗ มกราคม พ.ศ. ๒๑๕๓ : กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน ค้นพบดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี

กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน ค้นพบดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี ๔ ดวง คือ Io. Uropa, Ganymede and Callisto ชื่อดังกล่าวได้รับการตั้งขี้นอย่างเป็นทางการหลังจากกาลิเลโอเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาดาวบริวารทั้ง ๔ มีชื่อเรียกรวมเพื่อเป็นเกียรติแก่กาลิเลโอว่า “Galilean moons”

๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ : จักพรรดิฮิโรฮิโต แห่งญี่ปุ่นเสด็จสวรรคต เมื่ออายุได้ ๘๗ พรรษา

๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ จักพรรดิฮิโรฮิโต (Emperor Hirohito) แห่งญี่ปุ่นเสด็จสวรรคต เมื่ออายุได้ ๘๗ พรรษา โดยมีมงกุฎราชกุมาร อากิฮิโต (Crown Prince Akihito) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นองค์ต่อมา

๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ : ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีไปจนหมด หลังจากยึดครองมาเป็นเวลากว่า ๑๑ ปี

ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีไปจนหมด หลังจากยึดครองมาเป็นเวลากว่า ๑๑ ปี เพื่อค้ำประกันว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๔๓๖ ที่ทำไว้กับฝรั่งเศส กรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในดินแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๑ : ประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศข้อเสนอ ๑๔ ข้อต่อสภาครองเกรส

ประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศข้อเสนอ ๑๔ ข้อต่อสภาครองเกรสเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพื่อสร้างสันติภาพถาวรต่อชาวโลก เมื่อสงครามสงบ ต่อมาได้มีการจัดตั้งสันนิบาตชาติขึ้น ตามข้อเสนอข้อที่ ๑๔ ของเขาที่ให้จัดตั้งองค์กรระหว่างชาติขึ้น เพื่อรักษาความสงบสุขของชาวโลก สันนิบาตชาติจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ แต่องค์กรนี้ก่อตั้งต่อมาอีกไม่กี่ปีก็เกิดความขัดแย้ง และล้มไปเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒

๘ มกราคม ๒๔๘๔

เครื่องบินไทยไปทิ้งระเบิดที่ พระตะบองและเสียมราฐ เป็นครั้งแรก

๘ มกราคม ๒๔๘๔

ญี่ปุ่นบุกรุกไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลาและปัตตานี โดยมีอีกส่วนหนึ่งขึ้นบกที่ทางจังหวัดสมุทรปราการ

(ครูลำยอง ร.ร.สุราษฎร์ธานี นำประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี เข้าสู้กับญี่ปุ่นก็ตายในเหตุการณ์ดังกล่าว)

๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ : วันเกิด สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์

๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ วันเกิด สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถเข้าใจและอธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพ ของไอน์สไตน์ได้ เกิดที่เมืองอ๊อกซฟอร์ดไชร์ ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ในปี ๒๕๐๓ เขาป่วยเป็นโรค amyotrophic lateral sclelar (ALS) ซึ่งระบบประสาทมีความผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ประสาทสั่งการไม่ทำงาน ไม่สามารถเคลื่อนไหวและพูดได้ จึงต้องนั่งรถเข็นที่สั่งการด้วยระบบคอมพิวเตอร์และมีอุปกรณ์ช่วยออกเสียง แต่เขายังคงทำงานวิชาการต่อไป ฮอว์คิงสนใจทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์เป็นพิเศษ เขาเป็นผู้แต่งหนังสือ ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) และ จักรวาลในเปลือกนัท (The Universe in a Nutshell) หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสามารถอธิบายทฤษฎี ควอนตัมฟิสิกส์ ให้คนทั่วไปเข้าใจได้

๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๓ : รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด อู่เรือหลวง ณ กรมอู่ทหารเรือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด อู่เรือหลวง ณ กรมอู่ทหารเรือ เพื่อซ่อมและสร้างเรือรบ เนื่องจากเวลานั้นมีจำนวนเรือหลวงเพิ่มมากขึ้น อู่เรือหลวงนี้สร้างขึ้นที่โรงหล่อซึ่งหมายถึงที่ว่าการกรมทหารเรือ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดระฆังโฆสิตาราม อู่หลวงดังกล่าวเป็นแบบอู่ไม้ ต่อมาได้ขยายเป็นอู่คอนกรีตในปี ๒๔๔๗ ค่าก่อสร้าง ๕๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาอู่เรือหลวงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมอู่ทหารเรือ” และใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และกำหนดให้ทุกวันที่ ๙ มกราคมของทุกปีเป็นวันสถาปนากรมอู่ทหารเรือ

๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ : วันเกิด ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ ๓๗ ของสหรัฐอเมริกา

วันเกิด ริชาร์ด นิกสัน (Richard Mihous Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ ๓๗ ของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งในช่วงปี ๒๕๑๒-๒๕๑๗ นิกสันเป็นผู้ใช้วิธีทางการทูตเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต และจีน นอกจากนั้นยังเป็นผู้ถอนกองทัพอเมริกันจากสงครามเวียดนาม นิกสันเป็นประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวที่ลาออกจากตำแหน่ง ก่อนที่สภาจะลงมติถอดถอน (Impeachment) จากคดีวอเตอร์เกต (Watergate scandal)

๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ : รัชกาลที่ ๗ เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพุทธยอดฟ้า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (Memorial Bridge) โดย กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้าง นาย อี. ฟอร์โน เป็นสถาปนิก สร้างตามแบบของบริษัท ดอร์แมนลอง (DORMAN LONG & CO.LTD) ประเทศอังกฤษ ใช้งบประมาณ ๔ ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี ๒๔๗๑ เนื่องในโอกาสที่สถาปนากรุงเทพมหานครครบ ๑๕๐ ปี ในปี ๒๔๗๕ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร ตัวสะพานเป็นเหล็กยาว ๒๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๑๖.๖๘ เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ ๗.๕๐ เมตร และสามารถยกสะพานช่วงกลางขึ้นด้วยไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง ๖๐ เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก

๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ : หนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ รายสัปดาห์ ออกวางแผนฉบับปฐมฤกษ์

หนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” รายสัปดาห์ ออกวางแผนฉบับปฐมฤกษ์ เป็นฉบับประจำวันจันทร์ที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๓ มี ๑๖ หน้า ราคา ๑ บาท จัดทำโดย กำพล วัชรพล, เลิศ อัศเวศน์ และ วสันต์ ชูสกุล ต่อมาได้พัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์รายสามวัน รายวันชื่อว่าหนังสือพิมพ์ เสียงอ่างทอง และพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ในที่สุด

๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๙ : วันประสูติ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ บิดาแห่งสหกรณ์ไทย

วันประสูติ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นบิดาแห่งสหกรณ์ไทยและรัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าของนามปากกา น.ม.ส. ซึ่งมาจากพระนามเดิม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ทรงเป็นพระโอรสใน กรมพระราชวังบรววิไชยชาญ (พระองค์เจ้า ยอดยิ่งยศ) กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม (เล็ก) ทรงเป็นต้นสกุล “รัชนี” ผลงานเด่นได้แก่ พระนลคำฉันท์, นิทานเวตาล, จดหมายจางวางหร่ำ และยังทรงออกหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น ลักวิทยา, ประมวญมารค ฯลฯ

๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ : ตินติน หรือ แตงแตง ตัวการ์ตูนที่สร้างสรรค์โดย จอร์จ เรมี เปิดตัวเป็นครั้งแรกในยุโรป

ตินติน หรือ แตงแตง (Tintin) ตัวการ์ตูนที่สร้างสรรค์โดย จอร์จ เรมี (Georges Remi) ซึ่งใช้นามปากกาว่า “แอร์เช่” (Herge’ มาจากการสลับอักษรตัวแรกของชื่อและนามสกุล R G แล้วออกเสียงสำเนียงฝรั่งเศส) นักเขียนการ์ตูนและศิลปินชาวเบลเยียม เปิดตัวเป็นครั้งแรกในยุโรปเป็นภาษาฝรั่งเศส เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของนักข่าวหนุ่มตินตินกับสุนัขคู่ใจชื่อ “สโนวี่” ที่ร่วมเดินทางไปในดินแดนต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทะเลทราย รวมถึงในประเทศต่าง ๆ เช่น จีน รัสเซีย อียิปต์ คองโก สหรัฐอเมริกา และยังไปไกลถึงดวงจันทร์ในอวกาศก่อนที่ นีล อาร์มสตรองจะขึ้นไปเยียบดวงจันทร์เสียอีก หลังจากนั้นการ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง ถูกตีพิมพ์กว่า ๒๐๐ ล้านเล่ม และแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า ๕๐ ภาษาทั่วโลก

๑๐ มกราคม ๒๔๙๑

วันประสูติพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ผู้ทรงใช้นามแฝงว่า น.ม.ส. ย่อจากอักษรท้ายพระนาม “รัชนีแจ่มจรัส” ท่านเป็นกวีที่ช่วยให้วรรณคดีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรุ่งโรจน์

๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗:ลูเทอร์ เทอรี่ แพทย์ชาวอเมริกาแถลงข่าวว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและโรคร้ายอื่น ๆ

ลูเทอร์ เทอรี่ (Luther Leonidas Terry) นายแพทย์ใหญ่แห่งกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวเปิดตัวรายงานฉบับแรกของคณะที่ปรึกษาด้านบุหรี่และสุขภาพที่มีข้อสรุปว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและโรคร้ายอื่น ๆ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอเมริกาเปิดเผยถึงพิษภัยของบุหรี่ให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างเป็นทางการ และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่ในอเมริกา

๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๒๙ : วิลเลียม เฮอร์เชล ค้นพบ ทิเทเนีย และ โอเบอรอน ดวงจันทร์บริวารของดาว ยูเรนัส

วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบ ทิเทเนีย และ โอเบอรอน (Titania and Oberon) ดวงจันทร์บริวารของดาว ยูเรนัส (Uranus) ก่อนหน้านั้นในปี ๒๓๒๔ เขาค้นพบดาวยูเรนัสโดยบังเอิญขณะที่กำลังส่องกล้องโทรทัศน์ศึกษาดาวฤกษ์ หลังจากที่เขาได้ค้นพบดวงจันทร์ของดาวยูเรนัส ๒ ดวงแรกแล้วก็ได้มีนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ ค้นพบดวงจันทร์เพิ่มขึ้นอีกรวมกันถึง ๒๐ ดวง แต่ก็คาดกันว่าดาวยูเรนัสน่าจะมีดวงจันทร์บริวารมากกว่านั้น

๑๒ มกราคม ๒๓๘๕

มีการพิมพ์ปฏิทินภาษาไทย ขึ้นใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยหมอ บรัดเลย์

๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสยุโรป

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จประพาสยุโรป และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ และเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยพิการ ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รวม พระชนมายุ ๔๘ พรรษา

๑๒ มกราคม ๒๕๑๒ : เจเนวิฟ คลอฟิลด์ สุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกันเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในประเทศไทย

เจเนวิฟ คลอฟิลด์ (Genevieve Caulfield) สุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกันเริ่มก่อตั้ง โรงเรียนสอนคนตาบอด ที่ศาลาแดง กรุงเทพฯ นับเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนั้นเธอยังเป็นผู้นอักษรเบรลล์มาเผยแพร่แก่คนตาบอดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จากนั้นเธอก็ยังคงทำกิจกรรมช่วยเหลือคนตาบอดในประเทศไทยตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี ๒๕๑๕

๑๓ มกราคม วันการบอนแห่งชาติ

๑๓ มกราคม ๒๓๗๙

หมอบรัดเลย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ได้ทำการผ่าตัดผู้ที่ถูกกระสุนปืนใหญ่ ระเปิดเข้าใส่ในงานฉลองวัดประยูรวงศาวาส ของเจ้าพระยาพระคลัง นับเป็นการเริ่มการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทย

๑๓ มกราคม ๒๔๕๒

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดสถานีวิทยุโทรเลข ของทางราชการเป็นแห่งแรกในประเทศไทย (ขณะนี้เป็นอาคารที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติแล้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหาร กรมยุทธศึกษาทหาร)

๑๓ มกราคม ๒๔๕๖

ร.๖ เสด็จไปทรงกระทำพิธีเปิด สถานีวิทยุโทรเลขของทางราชการแห่งแรกในไทย

๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ : บริษัท Wham-O ผลิต ฟริสบี้ หรือ จานร่อน ออกจำหน่าย

บริษัท Wham-O ซึ่งเป็นบริษัทผลิตของเล่น นำของเล่นชนิดใหม่ที่ทำจากจานพลาสติกทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘-๑๐ นิ้ว ออกจำหน่าย ของเล่นชนิดนี้ชื่อว่า ฟริสบี้ (Frisbee) หรือจานร่อน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคสมัยนั้น และยังเล่นกันอยู่จนถึงปัจจุบัน

๑๔ มกราคม : วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขออนุมัติให้วันที่ ๑๔ มกราคม ของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ โดยพิจารณาว่าเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงปรมาภิไธยในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๘๔ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ

พ.ศ. ๒๕๐๔ พระราชกำหนดดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการให้สัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลงทั้งแปลงได้ อันเนื่องจากอุทกภัยภาคใต้ที่เกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑

กิจกรรม รณรงค์ให้เห็นความสำคัญของป่าและอันตรายของการตัดไม้ทำลายป่า

หน่วยประสานงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙ : รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาท นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แทนตำแหน่ง พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่า วังหน้า ซึ่งมีมาแต่สมัยอยุธยา

๑๕ มกราคม ๒๔๗๑

กรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดการสื่อสาร ทางวิทยุโทรเลขโดยตรงกับยุโรปโดยติดต่อกับกรุงเบอร์ลินเป็นครั้งแรก

๑๖ มกราคม – วันครู, วันราชประชาสมาสัย, วันโคนมแห่งชาติ

วันครู เป็นระลึกถึงความสำคัญของครู ประเทศส่วนใหญ่เป็นวันหยุดของครูและนักเรียน และบางประเทศมีการจัดงานเลี้ยงสำหรับครู

ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ของสังคมและประเทศชาติ,

ครูนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งการนำพาสังคมประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

ด้วยเห็นความสำคัญของครูดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงได้กำหนดให้มีวันครูขึ้น ในวันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปี เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที และให้ครูเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง” จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกันประชาชน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้

การจัดงานวันครู

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน งานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู จะมีกิจกรรม ๓ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

๑. กิจกรรมทางศาสนา

๒. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

๓. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่งประเทศ สำหรับในส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วยบุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอก็ได้

รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการจัดงานวันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วพิธีบูชาบูรพาจารย์โดยครูอาวุโสนอกประจำการจะเป็นผู้กล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงประคุณบูรพาจารย์

มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู

๑. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

๒. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

๓. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

๔. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

๕. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

๖. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

๗. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

๘. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

๙. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

๑๐. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน

คำปฏิญาณตนของครู

ข้อ ๑. ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

ข้อ ๒. ข้อจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

ข้อ ๓. ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็น

กิจกรรมทางศาสนา.-

-พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

-กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็นนายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการจรรยา

วันราชประชาสมาสัย โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อน จึงได้พระราชทานทุนอานันทมหิดลให้กระทรวงสาธารสุข เพื่อเป็นกองทุนก่อตั้งสถาบันราชประชาสมาภัย สำหรับใช้เป็นสถานศึกษา ค้นคว้า วิจัย ฝึกอบรม และเผยแพร่ความรู้โรคเรื้อน โดยได้เสด็จวางศิราฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๐๑ และได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารสถาบันราชประชาสมาสัยและได้พระราชทานเงินส่วนที่เหลือจากการก่อสร้างสถาบันราชประชาสมาสัยเป็นทุนจัดตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในบรมราชูปถัมภ์ ดังนั้น มูลนิธิราชประชาสมาสัย จึงได้ถือเอา วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็นวันราชประชาสมาสัย

กิจกรรม.-จัดสัปดาห์ราชประชาสมาสัย มีกิจกรรมเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องโรคเรื้อน ปัจจุบันได้มีการรณรงค์เรื่องการดูแลเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ติดเอดส์ด้วย

หน่วยประสานงาน มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

วันโคนมแห่งชาติ การเลี้ยงโคนมในประเทศไทยเริ่มขึ้นประมาณปี ๒๕๐๓ ต่อมาในปี ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าเฟรเดริคที่ ๘ แห่งเดนมาร์ค ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย- เดนมาร์ค อย่างเป็นทางการ นับเป็นจุดเริ่มต้นการเลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมโคนมอย่างจริงจัง รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ ๑๖ มกราคมของทุกปีเป็นโคนมแห่งชาติ

กิจกรรม.-

- เผยแพร่ความรู้กิจการฟาร์มโคนม อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปนม จัดประกวดธิดาโคนม
- ขายผลิตภัณฑ์นมและสินค้าราคาถูก และการประกวดอื่นๆ เกี่ยวกับสุขภาพ อาจพิจารณาให้ความรู้เรื่องนมในแง่ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

๑๖ มกราคม ๒๔๘๘

รัฐบาลซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตราพระราชบัญญัติครูขึ้นเป็นฉบับแรกด้วยความมุ่งหมาย ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงพระคุณครูอาจารย์
๒. เพื่อส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครู
๓. เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน ทางราชการได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันครู ขึ้นเป็นครั้งแรก

๑๖ มกราคม ๒๓๓๖

ไทยเสียเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี ให้แก่พม่า

๑๗ มกราคม วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

๑๗ มกราคม ๒๔๖๖

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ตรา กม. ว่าด้วย ประกาศจัดการตรวจรักษาของโบราณ นับเป็น กม. ฉบับแรกในเรื่องนี้

๑๗ มกราคม ๒๔๘๘

การรบทางเรือที่เกาะช้าง และในวันนี้ของทุก ๆ ปี กองทัพเรือถือว่าเป็นวันสดุดีและบำเพ็ญกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในการรบแห่งราชนาวี

๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. ๑๙๔๑) –

ยุทธนาวีเกาะช้าง: กองเรือรบราชนาวีไทยเข้าปะทะต่อสู้กับกองเรือรบฝรั่งเศสที่ล่วงล้ำเข้าสู่น่านน้ำด้านจังหวัดตราด

๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. ๑๙๔๖) –

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประชุมกันครั้งแรกที่กรุงลอนดอน แคว้นอังกฤษ

๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๔ (ค.ศ. ๑๙๙๑) –

สงครามอ่าวเปอร์เซีย: ปฏิบัติการพายุทะเลทรายเริ่มต้นขึ้น

๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ (ค.ศ. ๑๙๙๕) –

เกิดแผ่นดินไหวขนาด ๗.๒ ริกเตอร์ ใกล้เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๖,๐๐๐ คน และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินเป็นมูลค่ากว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ (ค.ศ. ๒๐๐๕) –

ขบวนรถไฟฟ้าใต้ดินที่บรรทุกผู้โดยสาร ๗๐๐ คน ชนกับรถเปล่าจากศูนย์ซ่อม บริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีผู้บาดเจ็บ ๒๐๐ คน ทำให้ต้องหยุดบริการเป็นเวลา ๑ สัปดาห์

๑๘ มกราคม - วันกองทัพไทย

๑๘ มกราคม ๒๔๑๐

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งราชทูตไปประจำ ณ กรุงปารีส

๑๙ มกราคม วันศาสนาโลก

๒๐ มกราคม ๒๔๑๑

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อยอดพระปฐมเจดีย์ณ จังหวัดนครปฐม ถือกันว่าพระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทยเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ภายใน

๒๒ มกราคม ๒๔๐๐

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงประกาศแต่งตั้งพระยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นราชฑูตไปลอนดอน เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีเป็นอุปทูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์เป็นตรีฑูต ประกาศนี้ได้มอบสำหรับ พวกฑูตานุทูต ณ ท้องสนาม ในพระบรมมหาราชวัง

๒๒ มกราคม

กองทัพบกได้ตั้งกองพลทหารอาสาสมัครผลัดที่ ๑ ขึ้น มีพลตรี ทวี ดำรงหัด เป็นผู้บัญชาการกองพล กำลังส่วนนี้ได้เดินทางไปผลัดเปลี่ยน กรมทหารอาสาสมัครที่ไปทำการรบ ในสาธารณรัฐเวียตนามเมื่อเดือน กรกฎาคม -สิงหาคม ๒๕๑๑

๒๓ มกราคม ๒๔๓๑

พลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้เดินทางออกจากหลวงพระบางกลับกรุงเทพ ฯ หลังจากที่ได้จัดระเบียบการปกครองดินแดนต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว

๒๓ มกราคม ๒๔๙๕

ไทยได้จัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนขึ้นเป็นครั้งแรก

๒๔ มกราคม ๒๓๘๔

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์(ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่ทัพเรือยกทัพไปตีเมืองบันทายมาศของญวน

๒๔ มกราคม ๒๔๐๐

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชสาส์น ถึงสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินีแห่งสหราชอาณาจักร อันได้แก่บริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์และประเทศในอาณานิคม มีใจความว่าพระเจ้ากรุงบริตาเนียได้ส่งทูตานุทูตอังกฤษเข้ามาเจรจาทาง พระราชไมตรีกับกรุงสยามสองครั้งแล้ว ฝ่ายกรุงสยามควรจะให้ทูตานุทูตสยามออกไปคำนับให้ถึงพระเจ้ากรุง พระเจ้ากรุงบริตาเนีย

๒๕ มกราคม : วันสมเด็จพระเรศวรมหาราช , วันกองทัพบก

๒๕ มกราคม ๒๑๓๕

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะจาก สมเด็จพระมหารอุปราชพร้อมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ชัยชนะจากมางจาชโร ณ พื้นที่ระหว่าง ตำบลตระพังตรุ จังหวัดกาญจนบุรี กับ ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาทางราชการได้กำหนดให้วันดังกล่วาเป็นวันกองทัพไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ เป็นต้นมา

๒๕ มกราคม ๒๒๒๗

คณะฑูตไทยคณะที่ ๒ ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังประเทศฝรั่งเศส (คณะแรกสูญหายในระหว่างเดินทาง)

๒๕ มกราคม ๒๔๘๕

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ (บริเตนใหญ่) และสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ ในสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยเหตุผลว่าฝ่ายอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ได้ทำการรุกรานประเทศไทย โดยส่งทหารรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย ส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิด เป็นการระเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรม รัฐบาลอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศสงครามกับประเทศทั้งสอง ตั้งแต่เวลาเที่ยงของวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไป

๒๕ มกราคม ๒๕๐๒

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกระทำยุทธหัตถี มีชัยชนะแก่พระมหา อุปราชา

๒๕ มกราคม ๒๕๔๑

พระสงฆ์ไทยทั่วโลก ได้นำประชาชนชาวพุทธและคนไทยทั่วโลกจัดทอดผ้าป่าสามัคคีร่วมใจช่วยชาติ (ทอดผ้าป่าสามัคคี ไอ.เอ็ม.เอพ.ให้รัฐบาล) หลังจากที่ได้ออกอากาศ และประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนชาวไทยทั่วโลกให้ได้ร่วมกันบริจาคเงินทุกสกุลเงินตรา และทองคำ เพื่อเป็นเงินทุนให้รัฐได้ใช้ในการบริหารประเทศ รักษาค่าเงินบาท รักษาค่าดุลเงินระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคนไทยทั่วโลกบริจาคทรัพย์ทั้งที่เป็นเงินตราทุกสกุลเงิน และทองคำทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณ แล้วมอบให้รัฐบาลและตัวแทนของรัฐบาลทั่วโลกในวันเดียวกันจนสามารถทำให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางการเงินโดยทันที

๒๖ มกราคม : วันพ่อขุนเม็งรายมหาราช

๒๗ มกราคม : วันเรื้อนโรค

วันเรื้อนโรค โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Mycobacterium leprae เชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้ที่ไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคเรื้อนทางผิวหนังแล้วค่อยๆ แบ่งตัวเพิ่มจำนวนและทำลายเส้นประสาทบริเวณผิวหนังทำให้มีอาการชา ส่วนใหญ่จะมีอาการที่มือ เท้า ตา และใบหน้า มีผลให้เป็นแผล อ่อนแรง และทำให้เกิดความพิการต่างๆ ในบริเวณดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในสังคมและการทำงาน อาจถูกรังเกียจและมีปัญหาด้านจิตด้วย

ใน พ.ศ.๒๔๙๗ สมาคมต่อต้านโรคเรื้อนนานาชาติโดยการริเริ่มของ Raoul Follereauได้กำหนดให้วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคมเป็นวันโรคเรื้อนโลก เพื่อกระตุ้นให้ชาวโลกร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งรวมทั้งการไม่รังเกียจเดียดฉันท์ผู้ป่วยด้วย

๒๘ มกราคม ๒๔๕๖

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงสมโภชเจดีย์ยุทธหัตถีที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรก โดยเหลือซากแต่เพียงฐานสี่เหลี่ยมกว้าด้านละ๑๙.๕๐ เมตร สูงจากพื้นดินถึงส่วนชำรุด ๖.๕๐ เมตร

๒๘ มกราคม ๒๔๘๔

กรณีพิพาทอินโดยจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ยุติลงโดยญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ย มีการลงนามในข้อตกลงพักรบ

๒๙ มกราคม ๒๓๘๒

หมอบัดเลย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ได้ทำการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ เป็นครั้งแรกในเมืองไทย

๒๙ มกราคม ๒๔๔๕

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ จบการศึกษา จากประเทศอังกฤษ เสด็จกลับคืนสู่พระนคร

 

โปรดเลือก "คลิ๊ก" เพื่ออ่านเหตุการณ์ใน ๑๒ เดือน

มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน
พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม
กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม

 

นำเสนอโดย
วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่
อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 84290